จากบ้านเกิดสู่ริมทางเท้ากรุงเทพฯ
The Voters
จรณ์ ยวนเจริญ: เรื่องและภาพ
การรวมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง ส่งผลให้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมของความเจริญทางวัตถุ ที่นำมาซึ่งโอกาส การงาน และความหวังที่จะพยุงชีวิตให้อยู่รอด ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ การไร้สวัสดิการ ระบบทุนผูกขาด ผู้คนตัวเล็กๆ ต่างทำงานหาเช้ากินค่ำแลกกับเงินที่ไม่ได้สัดส่วนกับค่าครองชีพ หลายคนจากบ้านที่ต่างจังหวัดเข้ามาพำนัก บ้างก็ลงหลักปักฐานเป็นประชากรถาวร
อาชีพค้าขายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนที่ไม่ได้มีต้นทุนมากนัก รวมถึงคนต่างจังหวัดที่เข้ามาหาช่องทางทำกินในกรุงเทพฯ แต่การจะมีหน้าร้านอยู่ในอาคารสักคูหา หรือในห้างสรรพสินค้าติดเครื่องปรับอากาศ ไม่ใช่เรื่องที่คนส่วนมากจะทำได้
ริมทางเท้าจึงเป็นสถานที่ทำงานของพ่อค้าแม่ค้า ไม่ว่าจะเป็นรถเข็น แผงเช่า แผงลอย ซึ่งจากการลงไปสำรวจพูดคุย พ่อค้าแม่ค้ามากกว่าครึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจากจังหวัด อย่างไรก็ตาม พวกเขาถือเป็นคนกลุ่มสำคัญที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เป็นปากท้องของผู้มีรายได้น้อย
เราอาจจะพบพ่อค้าแม่ค้าริมทางเท้ากันอยู่ทุกวัน แต่คงไม่บ่อยนักที่เสียงของพวกเขาจะถูกส่งต่อสู่สังคม ทั้งในเรื่องชีวิตที่ผ่านมา ความรู้สึก และความคาดหวังในอนาคต
“บ้านอยู่อุบล มาอยู่กรุงเทพฯ ได้ยี่สิบกว่าปี ป้าเช่าบ้านเขาอยู่ แต่เดี๋ยวจะกลับแล้วแหละ อยากกลับไปอยู่บ้าน”
“หลายปีที่ผ่านมายังไม่กลับเพราะกลัวลูกเรียนไม่จบ กลัวกลับไปแล้วขายไม่ดีเหมือนกรุงเทพฯ แล้วจะหาค่าเทอมให้ลูกไม่ทัน แต่ตอนนี้ลูกจบแล้ว ว่าจะขายหาเงินอีกสักหน่อยก็จะกลับไปอยู่บ้าน กลับไปขายที่บ้านแค่พอได้กิน ไม่ต้องกลัวจะได้เงินน้อย ลูกมันก็ทำงานทำการแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนมากเหมือนที่ผ่านมา”
“กรุงเทพฯ มีคนเยอะ เราก็อาศัยขายคนทำงาน นักเรียนนักศึกษา แต่มันไม่ใช่บ้านเรา จะว่าเบื่อก็เบื่อ แต่ตอนลูกยังเรียนไม่จบ มันยังกลับไม่ได้”
“คิดถึงบ้านนะ คิดถึงแม่ ถ้าพอมีเงินก็พยายามเทียวไปเทียวมา ดีที่บ้านไม่ไกลจากตัวเมือง ไปไม่ยากมาก แต่ปีนี้น้ำท่วมหนัก นาข้าวก็เน่าไปเยอะ แต่ก่อนมีแอ่งน้ำกว้างอยู่แถวแม่น้ำมูล เวลาน้ำมาจากที่อื่น มันก็ไปอยู่ตรงนั้น แต่ทุกวันนี้เขาเอาดินไปถม ปลูกปั้มน้ำมัน ปลูกตึก พอน้ำมาก็ไม่มีที่ไป”
“เลือกตั้งผู้ว่าฯ เหรอ ก็น่าจะดีนะ ถ้าเป็นคนในจังหวัด เขาน่าจะรู้ว่าบ้านตนเองเป็นยังไง”
“บ้านอยู่จังหวัดชัยภูมิ มากรุงเทพฯ ได้ 8 ปีแล้ว เมื่อก่อนผมเคยทำไร่ แต่ราคามันไม่ดี ต้นทุนมันเพิ่ม ค่าปุ๋ยค่ายาก็แพง ทำไปก็ไม่คุ้ม เลยลองหันเหเข้ากรุงเทพฯ ขายไอติมได้วันละสองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง วันไหนดีหน่อยก็สี่ร้อย พอได้กินเป็นวันไป ถ้าไม่ออกมาหาเราก็ยิ่งไม่ได้”
“ช่วงโควิดนี่หนักเลย ถึงขั้นไม่มีเงินกินข้าว ไม่ได้ขายเลย ไปที่ไหนคนเขาก็ไม่กล้าออกมาซื้อ ช่วงนั้นแย่มาก ๆ ยืมเขากิน หมุนไปหมุนมาแทบไม่ไหว เงินเยียวยาก็ได้แค่รอบแรก รอบสองไม่ได้ ไปลงทะเบียนเขาบอกว่ามันไม่ผ่าน อะไรก็ไม่รู้ ไอ้คนที่ฐานะดีกว่าเรากลับได้ แต่ฐานะอย่างเรากลับไม่ได้ ไม่รู้รัฐบาลเขาทำระบบยังไง โทรศัพท์เราเล่นไม่เป็น ความรู้ต่ำ ทำอะไรไม่เป็นอย่างเขา บางทีก็ท้อนะ แต่บอกตนเองว่าถ้ากูท้อมากไปก็ไม่มีกิน เลยกัดฟันสู้อยู่แบบนี้”
“กะว่าจะหาเงินรวบรวมไว้กลับบ้านตอนวันปีใหม่ ถึงแม้ตอนนี้มันอัตคัดมาก แต่ก็หวังว่าจะได้กลับบ้าน อยากมีเงินติดกระเป๋าสักเล็กน้อยไปให้ลูกให้หลานได้จับจ่าย ปีใหม่ทั้งที ปีละครั้ง”
“ถ้าผมอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่มีงาน เพราะมันหายาก นอกจากหน้าตัดอ้อยที่พอมีคนจ้างไปตัดอ้อยบ้าง ได้วันละสามร้อย แต่มันไม่ได้มีตลอด ช่วงหลังนี้ผมว่าคนเข้ามากรุงเทพฯ เยอะนะ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีนายจ้าง เพราะเศรษฐกิจมันไม่ดี ไม่พอกับจำนวนคนที่อยากทำงาน”
“คนที่รัฐบาลส่งไปเป็นผู้บริหารของจังหวัดอย่างที่ผมอยู่ เขาไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ เขาไม่เข้าใจความเป็นอยู่ของราษฎร ผมคิดว่าถ้าจะให้ใครบริหารพื้นที่ไหน ก็ต้องเป็นคนในพื้นที่นั้น เขาจะรู้มากกว่าว่าทุกข์สุขของราษฎรเป็นยังไงแบบไหน ถ้าทางรัฐบาลส่งคนกรุงเทพฯ หรือคนที่อื่นไป เขาไม่มีทางรู้มากไปกว่าคนในพื้นที่หรอก”
“พี่เป็นคนร้อยเอ็ด มากรุงเทพฯ ครั้งแรกปี 2530 เมื่อ 30 ปีที่แล้วต่างจังหวัดยังไม่เจริญ ถึงทุกวันนี้จะดีขึ้นแล้ว ก็ยังสู้เมืองกรุงไม่ได้ หางานยาก ทำนาก็ไม่ดี”
“ถ้าถามว่าทำไมยังขายของอยู่กรุงเทพฯ คงเพราะพี่หากินที่นี่มานาน พอมีคนรู้จัก ที่ทางก็น่าจะดีกว่ากลับไปขายที่บ้าน ถึงแม้ตอนนี้ที่ต่างจังหวัดจะเจริญขึ้นแล้ว มีตลาดนัดเยอะแยะไม่ต่างจากกรุงเทพฯ แต่พี่ก็ไม่อยากไปนับหนึ่งใหม่ อย่างวันเสาร์อาทิตย์พี่จะไปขายที่สวนจตุจักร”
“เอาจริงๆ ในกรุงเทพฯ มีกำลังซื้อมากกว่าอยู่แล้ว เพราะคนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานกันเยอะ จะมีก็วันหยุดวันเทศกาล ปีใหม่ สงกรานต์ ที่ต่างจังหวัดจะขายดีกว่า เพราะคนกลับบ้านกัน”
“ถ้าต่างจังหวัดมีงานพอให้คนทำ เราไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ เลย แต่นี่ไม่พอ ทำไร่ทำสวนก็ไม่ค่อยได้ สมมติมีนาสี่ห้าไร่ ขายได้แค่สองสามหมื่น มันก็ไม่พอกิน ก็ต้องเข้ากรุงเทพฯ เพราะที่กรุงเทพฯ มีโรงงาน มีบริษัท สามารถเป็นแม่บ้านก็ได้ ทำงานก่อสร้างก็ได้ หรือค้าขายแบบพี่ก็ได้ ถ้าเป็นที่ต่างจังหวัด โรงงานมันน้อย ออฟฟิศก็แม่บ้านไม่กี่คน มันไม่เพียงพอหรอก”
“ยายเป็นคนอยุธยา เข้ากรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2525 หลายสิบปีอยู่นะลูก ตอนนั้นยายเข้ามาขายหวย ใบละยี่สิบ ฉีกครึ่งสิบบาท”
“จนก็ต้องเข้ามา เมื่อก่อนที่นี่มันหากินง่ายกว่า ต่างจากตอนนี้ ที่ไหนยายว่าก็แย่เหมือนกันหมด แต่ก็ยังดีกว่าทำนา ที่นายายก็มีอยู่นิดเดียวให้ลูกชายทำ ปุ๋ยแพง ข้าวของแพง แต่ข้าวเปลือกถูก ส่วนข้าวสารเป็นของคนรวย ข้าวสารไม่เคยถูก ตอนยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ชาวนาทำนาปรังปีละสองสามครั้ง รายได้ดีมากเลย ปลูกบ้านปลูกช่องกันหรู เดี๋ยวนี้มันไม่ได้แบบนั้น”
“คิดถึงบ้านนะลูก อยากถูกหวย อยากกลับไปอยู่บ้าน กรุงเทพฯ มันเป็นสวรรค์ของคนรวย แต่เป็นนรกของคนจน คนจนอยู่ลำบาก ข้าวของแพงขึ้นทุกวัน แต่เงินหายาก คนอยากกลับบ้านกันทั้งนั้นแหละลูก คนมาซื้อลอตเตอรี่ก็บอก ยายให้พรหนูหน่อย หนูอยากกลับบ้าน ไม่อยากอยู่แล้วกรุงเทพฯ เงินเดือนก็ไม่ขึ้น บ้านก็เช่าเขาอยู่ คนบ่นกับยาย”
“คนต่างจังหวัดนะ ถ้าหากเขาอยู่บ้านมีงานทำ ทำไร่ทำนาราคาดี ใครก็ไม่อยากมาอยู่กรุงเทพฯ หรอก ที่เขามานี่เพราะทำนาขายข้าวไม่พอกิน อะไรที่เขาปลูกก็ถูกหมด ไม่มีราคา ครั้นถามว่าชอบไหม ยายว่าเขาไม่ชอบหรอก แต่ก็ต้องทน”
“ชัชชาติเขาก็ดีนะ ถ้าอยุธยามีอย่างชัชชาติก็ดีสิ คนในท้องถิ่นเขาก็ต้องเข้าใจ ยายอยากให้เขาช่วยให้คนจนมีชีวิตดีขึ้นกว่านี้ ทุกวันนี้คนจนจะตายกันหมด พอไม่มีเงินจะทำอะไรมันก็ไม่มีความสุข”
“เดี๋ยวนี้ไม่แน่ใจนะว่าดีขึ้นหรือยัง แต่สมัยก่อนที่ต่างจังหวัดมันหากินยาก งานการไม่ค่อยมีหรอก นอกจากทำไร่ทำนาก็แทบไม่มีอย่างอื่น พี่เลยตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ มาหาขายของเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ขายมาหลายอย่างแล้ว แต่ทุกวันนี้ดีหน่อย มาขายของกิน กรุงเทพฯ มีคนเยอะ คนทำงานทั้งนั้น เย็นมาเขาก็หาข้าวหาปลากิน เราก็พอได้ขาย”
“พี่เป็นคนยโสธร เกิดและโตที่นั่น เข้ากรุงเทพฯ มาจะ 30 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ปักหลักนะ มีเวลาก็จะกลับบ้าน เทียวไปเทียวมาแบบนี้ ปีละครั้งสองครั้ง ปีไหนมีเงินน้อยก็ครั้งเดียว คิดถึงอยู่ตลอดที่บ้านน่ะ”
“ประมาณ 30 ปีได้แล้ว จากหนองคายมาหากินกรุงเทพฯ ตอนอยู่บ้านนอก นอกจากทำนาก็ไม่มีอะไร เลยหันมาขายของ พอดีพรรคพวกแนะนำให้ลองมาขายของในกรุงเทพฯ เราก็ว่าลองดู ใหม่ๆ ผมขายผลไม้ดอง มันก็ได้อยู่ สมัยนั้นของไม่แพง เดี๋ยวนี้เหรอ ต้นทุนอะไรแพงทุกอย่าง ขึ้นทุกอย่าง”
“กลับบ้านปีละครั้ง คิดถึงลูกหลานเนอะ แต่ตอนนี้เขาเรียนจะจบกันหมดแล้ว เขาอยากให้กลับไปอยู่บ้าน เราก็ถามว่าจะทำอะไรกิน ทำนาก็ได้แค่นั้น ปุ๋ยกระสอบละพันกว่าบาท สมัยก่อนสามร้อย ไม่ไหวเลยให้เขาไปดีกว่า”
“ใจจริงอยากกลับบ้าน แต่คิดจะขายไปอีกสักพัก อยู่กรุงเทพฯ เราหาเงินได้ คนซื้อกินเยอะหน่อย ถ้ากลับบ้านไปก็ไม่รู้จะทำอะไร นั่งๆ นอนๆ ปลูกผักปลูกหญ้าจะได้สักเท่าไหร่ ซื้อกินก็หมดแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ต้องซื้อเขาทุกอย่าง”
“ถ้ามีเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็อยากให้เปลี่ยนแปลงได้จริง อะไรทำแล้วดีกว่าที่เป็นอยู่ก็ทำเถอะ คนจะได้อยู่ดีกินดีขึ้นมาบ้าง”