วันจันทร์, มีนาคม 13, 2566

เจ้าพ่อวงการเจ-ป็อป ข่มขืนอนาจารศิลปินชายในสังกัด แต่ทำไมยังเป็นที่เคารพในญี่ปุ่น



เจ้าพ่อวงการเจ-ป็อป ข่มขืนอนาจารศิลปินชายในสังกัด แต่ทำไมยังเป็นที่เคารพในญี่ปุ่น



โมบีน อาซาร์
บีบีซี นิวส์
8 มีนาคม 2023

คำเตือน : บทความมีเนื้อหาที่อาจทำให้ผู้อ่านบางคนรู้สึกไม่สบายใจ

จอห์นนี คิตะกาวะ ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมป็อปไอดอลของญี่ปุ่น ค่ายบันเทิงศิลปินชายล้วนของเขาที่ชื่อ Johnny & Associates ได้ผลิตวงบอยแบนด์ชื่อดังประดับวงการเพลงมากมาย ทำให้คิตากาวะเป็นเจ้าของสถิติมีศิลปินอันดับหนึ่งในสังกัดมากที่สุด, มีซิงเกิลฮิตอันดับหนึ่งมากที่สุด และจัดคอนเสิร์ตมากที่สุด

ขณะเดียวกันข้อกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในสังกัดก็เป็นเงาตามติดความสำเร็จของเขาเช่นกัน ข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่คนซุบซิบกัน แต่เป็นประเด็นที่ถูกเปิดโปงผ่านสื่อระดับชาติ รวมทั้งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริงในการพิจารณาคดีของศาลญี่ปุ่น แต่นั่นก็ไม่ทำให้คิตากาวะสูญเสียสถานะบุคคลสำคัญผู้เป็นสมบัติชาติ อีกทั้งยังคงได้รับความเคารพนับถือเป็นวงกว้างแม้จะเสียชีวิตไปแล้ว

"เขาคือพระเจ้า" ชายหนุ่มคนหนึ่งพูดถึงคิตะกาวะที่เสียชีวิตในวัย 87 ปี อันที่จริงคนญี่ปุ่นจำนวนมากมีความรู้สึกเดียวกัน

งานศพของเขาในปี 2019 ถือเป็นงานระดับชาติ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ส่งข้อความไว้อาลัยต่อการจากไปของคิตะกาวะ ขณะที่ศิลปินชื่อดังและนักร้องวงบอยแบนด์ต่างร่วมการแสดงอำลาในงานที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่โตเกียวโดม

แม้จะเป็นบุคคลสำคัญของวงการบันเทิงญี่ปุ่น แต่กลับมีภาพถ่ายหรือเรื่องราวของคิตะกาวะปรากฏอยู่น้อยมาก เขาแทบไม่ออกงานสาธารณะหรือให้สัมภาษณ์กับสื่อ

คิตะกาวะเสียชีวิตไปแล้ว 4 ปี แต่ภาพศิลปินในสังกัดของเขายังคงปรากฏโฉมอยู่ตามป้ายโฆษณาในเมืองต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่น ไอดอลเพลงเจ-ป็อปเหล่านี้ไม่ได้ขายแค่ผลงานเพลง แต่ยังเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้สินค้าต่าง ๆ มากมาย

ค่ายบันเทิงของคิตะกาวะยังคงเฟื่องฟูและดำเนินธุรกิจต่อไปราวกับไม่เคยได้รับผลกระทบจากเรื่องอื้อฉาวของเขาที่มีมายาวนานหลายทศวรรษ

สารคดีเรื่องใหม่ของบีบีซี ได้เจาะลึกว่าเหตุใดการไม่ยอมรับความจริงและการนิ่งเงียบของสื่อมวลชนญี่ปุ่นจึงเอื้ออำนวยให้เจ้าพ่อวงการเพลงเจ-ป็อปผู้นี้ลอยนวลและล่วงละเมิดทางเพศวัยรุ่นชายในสังกัดได้ตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ทศวรรษที่อยู่ในวงการ


เด็กหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสังกัดจะเริ่มจากการเป็นนักเต้นให้ศิลปินในค่ายจนกว่าคิตะกาวะจะเห็นว่าเขาพร้อมจะเปิดตัวเป็นศิลปิน

ระบบการทำงานที่คิตะกาวะสร้างขึ้น เอื้อให้เขาสามารถเข้าถึงเด็กในสังกัดได้อย่างไม่มีขีดจำกัด หรือมีพนักงานคนอื่นคอยดูแลอยู่ด้วย

เด็กหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสังกัดจะเริ่มจากการทำงานเป็นนักเต้นให้ศิลปินในค่ายจนกว่าคิตะกาวะจะเห็นว่าเขาพร้อมจะเปิดตัวเป็นศิลปิน ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานหลายปี

ฮายาชิ (นามสมมุติ) ส่งใบสมัครเข้าเป็นศิลปินในค่าย Johnny & Associates ตอนที่เขาอายุ 15 ปี เขาเล่าว่าครั้งแรกที่ได้พบกับจอห์นนี คิตะกาวะ ในตอนออดิชัน เขารู้สึกว่าชายคนนี้เป็น "คนใจดีและช่างเอาใจใส่" แต่ความรู้สึกนี้ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ฮายาชิไม่เคยเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับสื่อไหนมาก่อน และรู้สึกประหม่าที่ต้องย้อนความทรงจำถึงประสบการณ์เลวร้ายที่ได้ประสบมา

เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากการพบกันเป็นครั้งแรก ฮายาชิก็ได้รับเชิญให้เข้าไปพักในบ้านหลังหนึ่งของคิตะกาวะที่เรียกว่า "หอพัก" เพราะมีวัยรุ่นชายในสังกัดเข้าไปพักอยู่หลายคน

"จากนั้นไม่นาน จอห์นนีบอกผมว่า 'ไปอาบน้ำ' เขาจับผมอาบน้ำทั้งตัวราวกับตุ๊กตา" ฮายาชิเล่าด้วยร่างกายอันสั่นเทิ้ม และบอกว่าจากนั้นคิตะกาวะก็ทำออรัลเซ็กส์ให้เขา


ฮายาชิ (นามสมมุติ) เล่าว่าถูกคิตะกาวะล่วงละเมิดทางเพศตอนเป็นวัยรุ่น

ฮายาชิบอกว่าเขาถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกครั้งหลังจากนั้น และดูเหมือนว่าเด็กหนุ่มคนอื่นจะรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น

"พวกเขาบอกผมว่า 'นายต้องอดทน ไม่งั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ' ไม่มีคนรอบตัวผมที่ยอมลาออกเลย และจอห์นนีก็เป็นผู้ใหญ่เพียงคนเดียวในตอนนั้น มันจึงไม่ใช่สถานการณ์ที่ผมจะพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นกับใครได้"

เมื่อมองย้อนกลับไป ฮายาชิเชื่อว่า การยอมอย่างเงียบ ๆ เป็นเพราะเด็กหนุ่มเหล่านี้ต่างมีความฝันที่จะประสบความสำเร็จ และเมื่อพวกเขาได้เป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว พวกเขาต่างรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณคิตะกาวะ

ประสบการณ์ที่ฮายาชิเล่าให้บีบีซีฟังไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยถูกตีแผ่ในสื่อญี่ปุ่นมาแล้ว

ในปี 1999 นิตยสารรายสัปดาห์ "บุนชุน" ได้เปิดโปงเรื่องราวของวัยรุ่นชายคนหนึ่งที่อ้างว่า สมัครเข้าเป็นศิลปินในสังกัด Johnny & Associates ตอนเรียนชั้นมัธยม และถูกคิตะกาวะล่วงละเมิดทางเพศหลังจากนั้นไม่นาน

วัยรุ่นรายนี้ได้แนะนำให้ผู้สื่อข่าวรู้จักเด็กชายและเด็กหนุ่มอีกหลายคนที่มีประสบการณ์คล้ายกัน ทั้งหมดให้ข้อมูลตรงกันจนผู้สื่อข่าวสามารถเขียนแผนผังภายใน "หอพัก" ซึ่งเป็นสถานที่ที่คิตะกาวะก่อเหตุได้

การขุดคุ้ยครั้งนี้นำไปสู่การตีพิมพ์บทความชุดบันทึกคำบอกเล่าของไอดอลเจ-ป็อปกว่าสิบรายที่เปิดเผยว่าตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศของคิตะกาวะในตอนวัยรุ่น ซึ่งบางคนมีอายุเพียง 12 ปีตอนที่เกิดเหตุ

รายละเอียดที่นำมาเปิดเผยรวมถึงการถูกคิตะกาวะบีบบังคับ และการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ เหยื่อรายหนึ่งเชื่อว่าถ้าเขาปฏิเสธคิตะกาวะก็จะเกิดผลเสียต่ออาชีพศิลปินของเขา

เหยื่ออีกรายเล่าว่า คิตะกาวะมีเพศสัมพันธ์กับศิลปินฝึกหัดในบ้านของเด็กเอง

"ผมอยากจะลืมมันไป พ่อแม่ผมเอาฟูกเขามาปูไว้ในห้องนอนของผม คืนนั้นเขาจับอวัยวะเพศผมใส่ปากของเขา คุณคงไม่เชื่อ พ่อแม่ของผมนอนอยู่ห้องข้าง ๆ นั้นเอง"

แม้จะมีคำบอกเล่าของผู้ตกเป็นเหยื่อมากมาย แต่ดูเหมือนสังคมญี่ปุ่นจะไม่กล้ายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากสายสัมพันธ์ระหว่างคิตะกาวะกับสื่อมวลชนญี่ปุ่น


งานศิลปะรูป จอห์นนี คิตะกาวะ ที่ค่าย Johnny & Associates

การพึ่งพาอาศัยระหว่างสื่อมวลชนกับเจ้าพ่อวงการเจ-ป็อปที่ทรงอิทธิพลอย่างคิตะกาวะทำให้เรื่องราวอื้อฉาวนี้ถูกเพิกเฉย เพราะสื่อที่กล้านำเสนอเรื่องนี้จะถูกตัดการเข้าถึงศิลปินชื่อดังในสังกัดของเขา

ยกตัวอย่างตอนที่นิตยสารบุนชุนตีพิมพ์เรื่องของคิตะกาวะ นิตยสารและสื่อในเครือได้ถูก Johnny & Associates ตัดสิทธิเข้าถึงศิลปินในสังกัด จากนั้นในปี 2000 คิตะกาวะและบริษัทของเขาได้ฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทต่อนิตยสารบุนชุน

การพิจารณาคดีดำเนินไปกว่า 4 ปี และมีผู้ตกเป็นเหยื่อของคิตะกาวะขึ้นให้การหลายคน

ในที่สุดศาลสูงกรุงโตเกียววินิจฉัยว่า 9 ใน 10 ข้อกล่าวหาต่อคิตะกาวะที่ปรากฏในนิตยสารบุนชุนเป็นเรื่องจริง ซึ่งรวมถึงข้อกล่าวหาว่าคิตะกาวะล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ในสังกัด ข้อกล่าวหาเดียวที่ศาลชี้ขาดว่าไม่เป็นความจริงคือเรื่องที่คิตะกาวะจัดหาบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กเหล่านี้

แต่ปฏิกิริยาของสังคมต่อคำตัดสินดังกล่าวกลับเต็มไปด้วยความเงียบงัน อีกทั้งผลจากคดีหมิ่นประมาทนี้ยังไม่นำไปสู่การพิจารณาคดีอาญาต่อคิตะกาวะ และเขายังคงดำรงตำแหน่งประธานบริษัทไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 2019

เรียวทาโร นากามูระ หนึ่งในผู้สื่อข่าวที่เปิดโปงเรื่องนี้รู้สึกโกรธกับกรณีที่เกิดขึ้น เขาคิดว่า อคติคือส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นไม่เชื่อเรื่องนี้

"ในญี่ปุ่น ความรัก หรือความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างผู้ชายด้วยกัน เป็นเรื่องที่ผู้คนไม่อยากเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้" เขาบอก

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ภาคภูมิใจกับความสุภาพของตน ชาวญี่ปุ่นหลายคนเชื่อว่าการสร้างความไม่สะดวกให้ผู้อื่นเป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยงในทุกกรณี ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรู้สึกว่าการพูดเรื่องถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นการสร้างภาระความไม่สบายใจให้แก่ผู้อื่น

นอกจากนี้วัยที่สามารถให้ความสมยอมได้ยังอยู่ที่ 13 ปี ขณะที่การข่มขืนผู้ชายเพิ่งจะได้รับการบัญญัติเป็นความผิดตามกฎหมายในปี 2017 ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้สังคมญี่ปุ่นมองว่าการล่วงละเมิดทางเพศผู้ชายและเด็กชายเป็นเรื่องต้องห้ามในการพูดถึงและมักถูกเพิกเฉย

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แม้แต่เหยื่อบางคนที่เคยถูกคิตะกาวะแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ยังไม่ต้องการยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเป็นสิ่งผิด

เรียวเข้าเป็นเด็กในสังกัด Johnny & Associates ในปี 2002 เขาเป็นแดนเซอร์ให้ศิลปินในค่ายอยู่ 10 ปี

"ตอนที่ผมเข้าไปในห้องนอน จอห์นนีเข้ามาแล้วพูดว่า 'เธอทำงานหนักมาก เดี๋ยวฉันนวดให้นะ' จากนั้นเขาก็เริ่มนวดหัวไหล่แล้วค่อย ๆ ขยับต่ำลง ณ จุดหนึ่งผมรู้สึกว่ามันมากเกินไป เลยบอกเขาไปว่า 'อย่าทำอีกเลยครับ' เขาตอบว่า 'ขอโทษ ๆ' แล้วออกไปห้องอื่น" ตอนนั้นเรียวอายุ 16 ปี ส่วนคิตะกาวะอยู่ในวัย 70 ปีเศษ

จนถึงทุกวันนี้ เรียวซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่คิดจะประณามคิตะกาวะ "ผมไม่ได้เกลียดเขา ผมรักเขา จอห์นนีเป็นคนดี และผมติดหนี้บุญคุณเขามากมาย ผมยังคิดว่าพวกเราได้รับการปฏิบัติด้วยความรัก มันไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับผมเลย นี่เลยทำให้ผมยังคงยิ้มและพูดถึงมันได้ในตอนนี้"


เรียว อดีตแดนเซอร์ในสังกัด Johnny & Associates ไม่คิดจะประณามคิตะกาวะ "ผมไม่ได้เกลียดเขา ผมรักเขา จอห์นนีเป็นคนดี และผมติดหนี้บุญคุณเขามากมาย"

ปัจจุบัน Johnny & Associates ยังเป็นค่ายที่ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรมเพลงเจ-ป็อป และยังเทิดทูนให้คิตะกาวะเป็นบุคคลสำคัญขององค์กรแม้เขาจะล่วงลับไปแล้ว

บีบีซีได้ติดต่อให้บริษัทแสดงความคิดเห็นต่อข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นการล่วงละเมิดเด็กชายในสังกัดแต่อย่างใด

แม้มีคำบอกเล่าของเหยื่อหลายคน แต่ก็มีเหยื่ออีกมากที่ไม่ต้องการพูดถึงเรื่องราวที่พวกเขาได้ประสบ นี่จึงทำให้เราไม่มีทางทราบแน่ชัดว่ามีผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปินกี่คนที่ตกเป็นเหยื่อของคิตะกาวะ


โนบูกิ ยามากูชิ นักบำบัดจิตบอกว่า ขั้นแรกของการฟื้นฟูจิตใจคือการยอมรับว่ามีการล่วงละเมิดเกิดขึ้นจริง

โนบูกิ ยามากูชิ คือนักบำบัดจิตในญี่ปุ่นเพียงไม่กี่คนที่เชี่ยวชาญด้านการช่วยเหลือชายที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ เขาบอกว่า "การที่เหยื่อเปิดเผยเรื่องของพวกเขาต่อสาธารณชนเป็นสิ่งที่กล้าหาญมาก"

เขาอธิบายว่า "ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความอับอาย ถ้าคุณมีปัญหาส่วนตัว คุณจะไม่บอกใคร"

แต่ตราบาปและความเงียบนี้อาจยิ่งส่งเสริมให้มีการล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น เพราะผู้กระทำรู้ว่าเหยื่อ โดยเฉพาะผู้ชายไม่กล้าบอกเรื่องที่เกิดขึ้นให้คนอื่นฟัง

"ขั้นแรกของการฟื้นฟูจิตใจคืออการยอมรับว่ามีการล่วงละเมิดเกิดขึ้นจริง" ยามากูชิ กล่าว

สำหรับเหยื่อของคิตะกาวะหลายคนและสังคมญี่ปุ่นโดยรวม การยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการเยียวยาขั้นแรกที่พวกเขายังไม่ได้ทำ