วันพุธ, มีนาคม 08, 2566

“เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน.” ดูกลเบื้องหลังเลือกตั้งสกปรก 2500

ภาพเหตุการณ์ที่ จอมพลสฤษดิ์ นำคณะนักศึกษาเข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำเนียบรัฐบาล ภาพหลังจากการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500

“เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน.” ดูกลเบื้องหลังเลือกตั้งสกปรก 2500

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม
7 มีนาคม พ.ศ.2566

ปรากฏการณ์ความไม่ชอบมาพากลที่พบเห็นในการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่เคยถูกบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2500 ซึ่งถูกมองว่าเป็นการเลือกตั้ง “สกปรก” โดยคำบอกเล่าส่วนหนึ่งมาจากคำฟ้องของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ที่เขียนคำฟ้องในนามนายควง อภัยวงศ์ และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์รวม 9 คน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 13.30 ศิลปวัฒนธรรมจัดเสวนาเรื่อง “การเมืองเบื้องหลัง เลือกตั้ง ‘สกปรก’ 2500” มีวิทยากรคือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ดำเนินรายการโดย ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จัดที่ห้องโถง มติชนอคาเดมี

ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ ผู้ดำเนินการเสวนาเริ่มจากการตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า “ทำไมต้องเลือกตั้ง”

อ. ชาญวิทย์ อธิบายว่าการเลือกตั้งคือสิ่งจำเป็นของโลกสมัยใหม่ (Modern World) ซึ่งเป็นวิถีของยุคสมัย อันประกอบไปด้วย ประชาธิปไตย (Democracy) รัฐธรรมนูญ (Constitution) การเลือกตั้ง (Election) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights) โดยให้นิยามว่า “The Way of The Modern World”

วิถีของประชาธิปไตยเหล่านี้ หากมองในมุมของนักประวัติศาสตร์ในภาพกว้างจะเห็นได้ชัดเจนว่าประเด็นเหล่านี้ได้เข้ามาในประเทศไทยมาหลายร้อยปีแล้ว กล่าวคือ ในสมัยปลายรัชกาลที่ 3 หมอบรัดเลย์เป็นผู้นำ “รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา” มาแปลเป็นภาษาไทย จัดพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ

สมัยรัชกาลที่ 5 ก็เกิดกระแสของรัฐธรรมนูญจากกรณี คำกราบบังคมทูล ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เมื่อ ร.ศ. 103 ให้มีรัฐธรรมนูญแบบเมจิตามญี่ปุ่น เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ก็เกิดกรณีกบฏ ร.ศ. 130 วางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามในสมัยรัชกาลที่ 7

ดังนั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า กระแสของโลกใหม่ในวิถีของประชาธิปไตยทั้ง 4 อย่างตามที่ อ. ชาญวิทย์กล่าวนั้น ปรากฏขึ้นในประเทศมาโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยต้องการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศตามทันกับโลกสมัยใหม่อยู่ตลอดเวลา

การเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญของวิถีของโลกใหม่ ในประวัติศาสตร์โลกที่มีการปฏิวัติ ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จีน และรัสเซีย รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ต้องมีและต่อต้านไม่ได้ ประเทศคอมมิวนิสต์ เช่น จีนกับเกาหลีเหนือก็มีการเลือกตั้ง ประเทศที่มีพรรคการเมืองเดียว เช่น เวียดนามกับลาวก็มีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งจึงเป็นวิถีใหม่ โดย อ.ชาญวิทย์กล่าวว่า “ถ้าไม่นุ่งกางเกงขาสั้น ก็นุ่งกางเกงขายาว”

เมื่อถามว่า “ทำไมจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงต้องให้มีการเลือกตั้ง” พลเอก บัญชร เกริ่นว่า สังคมไทยกำลังค้นประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ซึ่งไม่ทราบว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรและจะต้องตามหากันต่อไป ในรูปแบบการเมืองการปกครองของทั้งจีนและสิงคโปร์ก็มีรูปแบบที่เป็นของตัวเอง ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับพวกเขาแล้ว


จอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลา

สำหรับประเทศไทยนั้นหามานานกว่า 80 ปี อาจจะต้องหากันต่อไปในอนาคต เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่ารูปแบบไหนที่เหมาะสม แล้วจะหลุดจากวงจรอุบาทว์นี้ได้อย่างไร (วงจรอุบาทว์คือการเลือกตั้งสลับกับการรัฐประหาร)

พลเอก บัญชร อธิบายย้อนไปถึงสภาวะทางการเมืองของไทยก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ. 2500 ว่าเป็นการแข่งขันการเมือง 3 ฝ่าย ประกอบไปด้วย ฝ่ายอนุรักษนิยม, ฝ่ายรัฐประหาร (พ.ศ 2491 และ 2494 – ผู้เขียน) และฝ่ายลูกศิษย์อ. ปรีดี

ตัวละครที่สำคัญคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กระทั่ง หลัง พ.ศ. 2493 ตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งที่โผล่มาในวงการเมืองไทยคือ “CIA”

พลเอก บัญชร ได้เปรียบเทียบว่า จอมพล ป. เป็น “ดาวฤกษ์” ในช่วง พ.ศ. 2481 แต่กลับกลายเป็น “ดาวเคราะห์” ที่ไร้แสงสว่างในตัวเองเมื่อเกิดขั้วอำนาจใหม่อย่างจอมพลสฤษดิ์ และพลตำรวจเอกเผ่า ภายหลังจากที่จอมพล ป. เดินทางรอบโลกกลับมาถึงไทยแล้วจึงพยายามดึงอำนาจให้กลับมาสู่ขั้วของตนโดยจะใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ

อ. ชาญวิทย์กล่าวว่า การเดินทางรอบโลกของจอมพล ป. เกิดขึ้นตามคำเชิญของสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2498 ซึ่งเริ่มจากการเยือนสหรัฐอเมริกา ตามด้วยประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ที่ล้วนแต่เป็นฝ่ายเสรีในโลกประชาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่มีการเยือนประเทศคอมมิวนิสต์หรือแม้แต่ประเทศที่ประกาศตัวเป็นกลาง

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว จอมพล ป. ให้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2500 ซึ่ง อ. ชาญวิทย์เน้นย้ำว่า ที่จอมพล ป. กลับมาพร้อม “ประชาธิปไตย” นั้นเพราะเป็นเรื่องของยุคสมัยที่ต้องมีคือ “Modern Period, Modern Society” เนื่องด้วย “American Era” (ยุคแห่งอเมริกัน) ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามหรือปฏิเสธได้

เลือกตั้ง 2500 โกงอย่างไร?

ในช่วงที่ 2 ของการเสวนา พลเอก บัญชร ได้อธิบายว่า การเลือกตั้ง พ.ศ. 2500 นั้น “โกง” อย่างไร โดยได้หยิบคำฟ้องของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมทย์ ที่เขียนคำฟ้องในนามนายควง อภัยวงศ์ และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์รวม 9 คน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

ก่อนการเลือกตั้ง

  1. พลเอกตำรวจเอกเผ่า จัดเลี้ยงพวก “ผู้กว้างขวาง” หรือพวกอันธพาล รวมถึงนายตำรวจผู้ใหญ่ให้ช่วยเหลือพรรคเสรีมนังคศิลาที่มีจอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง
  2. มีการเพิ่มชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างผิดปกติ และติดรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่าช้าหรือไม่ติดเลย
  3. ตรวจจับบัตรเลือกตั้งโกงได้จำนวนมาก เรียกว่า “ไพ่ไฟ” คือบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์จากโรงพิมพ์โดยกากบาทเบอร์ผู้สมัครไว้เรียบร้อยแล้ว
  4. การใช้ “พลร่ม” คือใช้กลุ่มบุคคลเวียนลงคะแนนให้พรรคเสรีมนังคศิลาหลายรอบ
  5. คูหาลงเลือกตั้งแต่ละหน่วยอยู่ห่างจากสถานที่รับบัตรมาก
ผ้าเช็ดหน้าหาเสียงของพรรคเสรีมนังคศิลา จังหวัดพระนคร หมายเลข 25 ถึง 33

วันเลือกตั้ง

  1. พวกอันธพาลเข้าก่อกวนหน่วยการเลือกตั้ง ถึงขนาดที่บางหน่วยได้ทำร้ายกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วยจนสลบแล้วเข้าไปลงคะแนนแทน บางหน่วยมีผู้เลือกตั้งออกมาพูดว่า “นายควงชนะแหง” ก็ถูกอันธพาลฟันจนศีรษะแยกเป็นสองซีก
  2. หน่วยเลือกตั้งบางหน่วยเมื่อถึงเวลาเที่ยงแล้วก็ยังไม่เปิดให้ลงคะแนน บางหน่วยเมื่อเลยเวลาห้าโมงเย็นไปแล้วที่ควรแก่การปิดหีบ กลับอนุญาตให้ลงคะแนนได้ต่อไป
  3. ในขณะนับคะแนน หากพบบัตรเสียหมายเลข 25-33 ซึ่งเป็นหมายเลขผู้สมัครทั้ง 9 คนในเขตพระนคร ของพรรคเสรีมนังคศิลา ก็จะนับเป็นบัตรดี แต่หากพบบัตรเสียที่ลงคะแนนให้หมายเลขอื่นก็นับเป็นบัตรเสียตามเดิม (การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งแบบเหมาเขต กล่าวคือ เขตพระนครมีจำนวน ส.ส. ได้ทั้งหมด 9 คน ดังนั้นประชาชนในเขตพระนครต้องเลือก ส.ส. ทั้ง 9 คน)
  4. ในหน่วยเลือกตั้งสวนลุมพินีเกิดไฟดับขณะกำลังนับคะแนน พอไฟมาแล้วนับคะแนนต่อ ปรากฏว่าคะแนนเสียงที่นับเสร็จมีมากกว่าจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนเลือกตั้งในหน่วยนั้น
  5. มี 13 หน่วยเลือกตั้งที่นับคะแนนเสียงล่าช้าไปจนถึงเที่ยงของวันที่ 28 (เลือกตั้งวันที่ 26) เมื่อเอาคะแนนมารวมกันแล้ว พบว่าคะแนนเสียงของหมายเลข 25-33 เพิ่มขึ้นกว่า 200%
อ. ชาญวิทย์แสดงความเห็นว่า จอมพล ป. ไม่จำเป็นต้องโกงการเลือกตั้งก็สามารถชนะการเลือกตั้งได้ แต่เพราะ “ความกลัว” ของฝ่ายรัฐบาลที่ว่าพวกเขาไม่สามารถควบคุมหรือกำหนดได้ว่าประชาชนจะกากบาทลงบัตรเลือกตั้งเลือกใคร นั่นจึงทำให้เกิดการโกงขึ้นมา

อ. ธำรงศักดิ์ กล่าวเสริมว่า “…การเลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรัฐธรรมนูญ ออกแบบกฎหมายเลือกตั้ง ออกแบบกระบวนการเลือกตั้งแล้ว ไม่ใช่แค่พลร่มไพ่ไฟ แต่เป้าหมายก็คือ คณะที่ทำการรัฐประหารนั้น มักจะพยายามรักษาอำนาจหลังจากที่อยู่ในอำนาจไม่มีการเลือกตั้งไประยะหนึ่งแล้ว และก็จะต้องถ่ายถอนให้มีคนมาร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้แหละผมคิดว่า สกปรกตั้งแต่ออกแบบรัฐธรรมนูญ ออกแบบการเลือกตั้ง…”

ซึ่งเหตุการณ์หลังจากการเลือกตั้ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 แล้วก็สรุปได้ว่าเกิดการประท้วงในหมู่ประชาชน นักศึกษา และพรรคการเมืองที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ จอมพล ป. พยายามประนีประนอมกับทุกฝ่าย แม้จะมีการประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งในวันนั้นจอมพลสฤษดิ์กล่าวคำขอบคุณและอำลาประชาชน โดยปิดท้ายด้วยประโยคว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

แต่ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

อ. ชาญวิทย์กล่าวในช่วงถาม–ตอบคำถาม ว่า “เลือกตั้งคือทางออก ไม่เลือกตั้ง การเลื่อนเลือกตั้ง คือทางตัน”


การรัฐประหาร พ.ศ. 2500

อ้างอิง :
คลิปเสวนาช่วงที่ 1
https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/154119282154514/
คลิปเสวนาช่วงที่ 2
https://www.facebook.com/MatichonOnline/videos/370678966856005/