วันจันทร์, มีนาคม 13, 2566

19 ปี สมชาย นีละไพจิตร ที่ไม่ "สูญหาย" กับความเสียหาย

Muslim attorney centre foundation มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม was live.
9h
19 ปี ทนายสมชาย ที่ไม่ "สูญหาย"
กับความเสียหาย "กระบวนการยุติธรรม"
No Justice No Peace
"สันติภาพต้องสร้างด้วยการทำให้สังคมมีความเป็นธรรม"
พบกับ
ทนายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ
ทนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ
ทนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ
หัวข้อ
พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
.
#MUSLIM_ATTORNEY_CENTRE_FOUNDATION
#มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
#รวมพลัง_พิทักษ์สิทธิ_เพื่อปวงชน


Angkhana Neelapaijit
22h
#19ปีสมชาย: กฎหมายอุ้มหาย กับบทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐ
12 มีนาคม 2566 ครบ 19 ปีที่ #สมชายนีละไพจิตร ถูกทำให้หายไปโดยเจ้าหน้าที่รัฐ สำหรับครอบครัวแม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่ความทรงจำกลับไม่เคยจางหาย 19 ปีที่ครอบครัวยังรอคอยความจริงและความยุติธรรมจากรัฐ วันนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ จึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อครอบครัวสมชาย และผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกคนในประเทศไทย
.
ที่ผ่านมาคดีสมชายเป็นคดีที่ตำรวจฟ้องตำรวจในข้อหาความผิดต่อเสรีภาพและกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งที่สุดเมื่อปลายปี 2558 ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องตำรวจ 4 นายในคดี (อีก 1 นายที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก ญาติแจ้งว่าสูญหายระหว่างอุทธรณ์) นอกจากนั้นศาลฎีกายังตัดสิทธิครอบครัวในการเป็นผู้เสียหายในคดี ทำให้เอกสารทุกชิ้นที่ครอบครัวยื่นต่อศาลไม่ถูกรับฟัง รวมถึงเมื่อปี 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้งดการสอบสวนคดีสมชาย และยุติการคุ้มครองพยาน หลังรับคดีสมชายเป็นคดีพิเศษ 11 ปีโดยไม่มีความก้าวหน้า อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้นิยามคำว่า “#ผู้เสียหาย” ใหม่ โดยให้หมายถึงครอบครัวด้วย (มาตรา 3 วรรคแรก) และ #กำหนดให้รัฐดำเนินการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหาย หรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้น ถึงแก่ความตายและทราบรายละเอียดของการกระทำความผิดและ #รู้ตัวผู้กระทำความผิด (มาตรา ๑๐) โดยให้ให้หน่วยงานที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนในคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ รายงานให้ผู้เสียหายทราบถึงผลความคืบหน้าของคดีอย่างต่อเนื่อง (มาตรา ๓๒) และ ให้นำความในมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับแก่การกระทำให้บุคคลสูญหายก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับโดยอนุโลม (มาตรา ๔๓ บทเฉพาะกาล) จึงเป็นความท้าทายอย่างมากต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมาย ว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะสามารถบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ และรัฐมีความเต็มใจในการเปิดเผยความจริงกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบังคับให้บุคคลสูญหายหรือไม่
.
เวลาที่ถามหาความรับผิดชอบจากรัฐ มีหลายคนถามดิฉันว่า “#ทำไมไม่ไปถามทักษิณ” ประสบการณ์ 19 ปีทำให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลเพียงอย่างเดียว หากแต่เบื้องหลังรัฐบาลมีระบบโครงสร้างสถาบันองค์กรที่แฝงตัวหยั่งรากลึก อยู่เบื้องหลัง คอยควบคุมสังคมไทย ดังที่นักวิชาการบางคนใช้คำว่า #รัฐพันลึก ซึ่งก็คือรัฐซ้อนรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจ มีอาวุธ และสามารถขัดขวาง นโยบายหรือคำสั่งของรัฐบาลได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิด หน่วยงานที่เป็นเสมือนรัฐซ้อน สามารถดำรงอำนาจได้ในทุกรัฐบาล เติบโตก้าวหน้าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลผด็จการ หรือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจทหาร ดังเช่นองค์กรตำรวจ ที่จะเห็นได้ว่าประเทศไทยไม่เคยปฏิรูปตำรวจได้สำเร็จ แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนมากมายเพียงใด รวมถึงล่าสุดที่ตำรวจสามารถขอให้คณะรัฐมนตรีชะลอการใช้ มาตรา 22 ถึง 25 ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แม้จะถูกคัดค้านจากเหยื่อรวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนมากมายก็ตาม
.
อย่างไรก็ดี แม้พระราชบัญญัตินี้จะชะลอการบังคับใช้บางมาตรา แต่ก็ไม่กระทบต่อการติดตามหาตัวผู้สูญหาย ดังนั้นดิฉันจึงคาดหวังว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่สืบสวนตาม พรบ. นี้ ทั้งอัยการ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จะรื้อฟื้นการสืบสวนคดีสมชาย รวมถึงผู้สูญหายรายอื่นๆ ในความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย และเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องให้ญาติอ้อนวอนร้องขอ นอกจากนั้นรัฐบาลจะต้องรีบเร่งในการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหาย ของสหประชาชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 และที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจต่อประเทศสมาชิกสหประชาชาติในการทบทวนสถานสิทธิมนุษยชน (UPR) เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ที่อยู่ในประเทศไทยจะไม่ถูกอุ้มหายโดยรัฐอีกต่อไป
.
ที่ผ่านมาดิฉันมักพูดเสมอว่า “แม้กระบวนการยุติธรรมจะมิอาจคืนชีวิตให้สมชาย แต่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในการคืนความยุติธรรมแก่เขา” วันนี้ ดิฉันยังคงเชื่อเช่นเดิมว่าหากรัฐบาลมีความจริงใจก็คงไม่เกินความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการเปิดเผยความจริง และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อและครอบครัว
.
ผ่านไป 19 ปีกรณีอุ้มหายทนายสิทธิมนุษยชน สมชาย นีละไพจิตร ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อระบบยุติธรรม และกฎหมายของประเทศไทย ซึ่งดิฉันเชื่อว่าถ้าวันนี้สมชายสามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจะภาคภูมิใจในสิ่งที่ครอบครัว และบรรดากัลยาณมิตรได้ร่วมกันผลักดันให้การบังคับสูญหายเป็นประเด็นสาธารณะ และสร้างกลไกสำคัญในการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาตินี้
.
ในโอกาสครบ 19 ปีของการบังคับสูญหาย สมชาย นีละไพจิตร ดิฉันขอใช้พื้นที่นี้เพื่อขอบคุณบรรดากัลยาณมิตร รวมถึงพี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนทุกท่านสำหรับกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่นำพาดิฉันและครอบครัวมาถึงจุดนี้ จุดที่แม้จะเปราะบาง แต่ความเจ็บช้ำได้ถูกปลอบโยนด้วยไมตรีและความอาทรจากคนรอบข้าง ทำให้มีกำลังในการก้าวเดินต่อไป เพื่อให้เรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทยถูกบอกเล่าจากครอบครัวสู่สาธารณะ และจากรุ่นสู่รุ่น ... การรักษาความทรงจำจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวคนหาย เพราะความทรงจำที่ไม่เคยมอดดับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการก้าวไปข้างหน้าด้วยความหวังว่า สักวัน ... ความอหังการ์ของรัฐจะถูกกลบด้วยพลังที่ไม่ยอมแพ้ของเหยื่อ การอุ้มฆ่าสมชายจึงไม่ใช่การยุติปัญหาดังที่เจ้าหน้าที่บางคนคิด แต่มันคือจุดเริ่มต้นของการไม่ยอมจำนนของครอบครัวโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กๆ สู่การไม่ยอมจำนนของประชาชนในการต่อต้านเจ้าหน้าที่ที่อธรรม
อังคณา นีละไพจิตร
กรุงเทพฯ
12 มีนาคม 2566

Atukkit Sawangsuk
8h
19 ปี สมชาย นีละไพจิตร
จำได้ว่า ประทับจิต เคยมาออกรายการที่ Voice ปี 57 ก่อนรัฐประหาร
เธอยืนยันหนักแน่นไม่เห็นด้วยกับพวกปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง
คิดถึงอกเขาอกเรา
พ่อเธอถูกตำรวจอุ้มหายในยุคทักษิณ
แต่ไม่ได้เอามาเป็นเหตุแห่งความเกลียดชัง
ยืนยันว่าต้องยึดหลักประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชนเท่านั้น
.....
ประทับจิต นีละไพจิตร

ศุภชัย เกศการุณกุล
Mar 12, 2021

ผมยืนฟังเสียงร้องของนกกรงหัวจุกในกรงที่แขวนอยู่ใต้ชายคาข้างบ้านของเธอในเช้าวันหนึ่ง เสียงแหลมของมันดังก้องเป็นพิเศษเพราะสะท้อนในซอยเล็กๆ และตรงข้ามยังมีกำแพงสูงของโบสถ์ซึ่งหันหลังให้ ถัดออกไปเล็กน้อย ผมเห็นสิ่งก่อสร้างคล้ายศาลเจ้าซึ่งมารู้ภายหลังว่าเป็นสำนักเข้าทรง ซอยเล็กๆ แห่งนี้จึงเป็นเหมือนแหล่งรวมของความเชื่อ ความศรัทธาอันหลากหลาย

“ขอโทษนะคะที่ทำให้รอ”

ความสุภาพทำให้ความร้อนชื้นเหมือนจะเหือดแห้งไป ความจริงมันไม่ได้นานอะไร กลับรื่นรมย์ที่ยืนพักให้ลมพัดเอื่อยกระทบใบหน้า ฟังเสียงนกร้อง

เจ้าของเสียงใบหน้าหมดจด ดวงตากลมโต จมูกเรียว ที่เปิดเผยนอกผ้าคลุมสีดำ เป็นสิ่งแรกที่ผมเห็นเมื่อเธอเปิดประตูออกมารับช่างภาพแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกันมาก่อน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอเป็นคนสวย แต่ความสวยงามนั้นมีความเศร้าปนอยู่ด้วย ผมนึกถึงคำว่า melancholic ในบทกวีบางบทที่พร่ำพรรณนาถึงความงามและความเศร้า

หลังจากแนะนำตัวอย่างรวบรัด ผมก็มานั่งฟังเธอเล่าเรื่องชีวิตของเธออยู่ภายในบ้าน บ้านหลังนี้ทำให้ผมนึกถึงบางฉากในภาพยนตร์ที่มีการไต่สวนในห้องพิพากษา เธอเล่าว่าเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นย้ายมาจากสำนักงานกฎหมายของพ่อ ในตู้เรียงรายไปด้วยหนังสือเล่มใหญ่ๆ บนโต๊ะทำงานหนาหนักอย่างสมัยก่อนมีโคมไฟ หนังสือ และภาพถ่ายวางไว้เป็นที่ระลึก แสงสาดเข้ามาผ่านม่านจากหน้าบ้าน ลมจากพัดลมที่พัดเอื่อย

ประทับจิต นีละไพจิตร เรียนจบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เคยเป็นอาจารย์และเคยทำงานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สหประชาชาติซึ่งดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ทำหน้าที่คล้ายเป็นเลขาฯ และผู้ตรวจสอบ ซึ่งคอยสะกิดเตือนรัฐบาลในขณะเดียวกัน ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน จึงมีความรับผิดชอบผูกพันกับข้อตกลงเรื่องสิทธิมนุษยชนซึ่งเซ็นรับรองไว้ถึง 7 ฉบับ หน่วยงานที่เธอสังกัดมีงานต้องทำมากขึ้น เมื่อต้องดีลกับทหารหลังรัฐประหาร 2557 เธอเป็นคนกลางที่ต้องประสานงานติดต่อกับเจ้าหน้าที่หากมีการหายตัวไปของประชาชน เป็นตัวแทนเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง

ข้อมูลอันดับแรกที่เธอต้องการจากเจ้าหน้าที่ทหารคือ คนคนนั้นมีชีวิตอยู่หรือไม่ และอยู่ที่ไหน เพื่อแจ้งต่อญาติของผู้สูญหายหรือถูกจับกุม ซึ่งเป็นงานที่ยากลำบากพอสมควรที่ต้องต่อรองกับผู้มีอำนาจในยุคที่ประเทศปกครองโดยรัฐบาลทหาร ความรับผิดชอบต่อมาคือการสอดส่องมิให้มีการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เห็นแย้งต่อนโยบายรัฐ และรายงานต่อสหประชาชาติ จะว่าไป มันเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก เพราะมีเจ้าหน้าที่เพียง 3 คนที่รับผิดชอบดูแลความเป็นไปในประเทศที่มีความผันผวนทางการเมืองอย่างมากในระยะสิบปีที่ผ่านมา

หากย้อนเวลากลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว ชีวิตของประทับจิตอาจเรียบง่ายกว่านี้ เธออาจจะเป็นครู หรือทำงานบางตำแหน่งในบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เธอร่ำเรียนมา อาจเป็นเพราะชะตากรรมของสมชาย นีละไพจิตร พ่อผู้ซึ่งนำพาให้ชีวิตของเธอมาทำงานในงานสายนี้ ประทับจิตสนิทกับพ่อมาก คล้ายกับเป็นเพื่อนทางจิตวิญญาณ เธอกับพ่อคุยกันบ่อยๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ความยืดหยุ่นของหลักความเชื่อทางศาสนา และครรลองของการดำเนินชีวิต เธอเล่าว่าพ่อแนะนำเสมอเมื่อเกิดความไม่แน่ใจว่าควรจะตัดสินใจอย่างไร ระหว่างความเชื่อทางศาสนาอิสลามในสังคมที่วิถีชีวิตและความเชื่อของคนส่วนใหญ่เป็นพุทธ ครั้งหนึ่งเธอต้องแสดงละครที่โรงเรียน และต้องมีการไหว้ครู ซึ่งศาสนาของเธอไม่อนุญาตให้เคารพสิ่งอื่นใด พ่อบอกว่าอะไรยืดหยุ่นได้ให้ทำ อะไรที่เป็นหลักการต้องยึดมั่น พ่อเขียนจดหมายไปถึงครูว่าอนุญาตให้เด็กหญิงประทับจิตแสดงละคร แต่ไม่สามารถทำการไหว้ครูได้ตามหลักความเชื่อของศาสนา นั่นคือสิ่งที่เธอเรียนรู้และใช้เป็นแนวทางชีวิตต่อมา

ความที่เธอสนิทกับพ่อเป็นพิเศษ พ่อมักกอดเธอแน่นๆ และเดินจูงมือเวลาอยู่นอกบ้าน ผมเข้าใจความผูกพันนี้ดีในฐานะพ่อที่มีลูกสาวคนหนึ่ง ลูกสาวเหมือนดอกไม้บอบบางที่เรารู้สึกอยากทะนุถนอม นอกจากนั้น เธอยังช่วยพ่อขัดเกลางานเขียนบางชิ้นให้อ่านง่ายขึ้น เหมาะสำหรับผู้อ่านที่ไม่ได้เรียนกฎหมาย

พ่อของเธอเป็นทนายความรุ่นแรกๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านชีวิตของเธอ เขากำลังทำคดีผู้ต้องหาถูกซ้อมทรมาน ซึ่งเป็นคดีสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับสามจังหวัดชายแดนใต้ คดีนี้หมิ่นเหม่ต่อความปลอดภัย แม้จะมีเสียงเตือนมาจากผู้มีอำนาจบางคน แต่เธอบอกว่าพ่อมั่นใจในตัวเอง และคิดว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เขาจึงเดินหน้าทำงานของเขาด้วยความเด็ดเดี่ยว ท่ามกลางความตึงเครียดและความวิตกกังวลของครอบครัวถึงความปลอดภัย แม่ (อังคณา นีละไพจิตร) ขอร้องพ่อว่าจะอย่างไรก็ขอให้กลับบ้าน เพื่อความสบายใจของครอบครัว พ่อทำตามคำขอของแม่ กลับบ้านทุกวัน ไม่ว่าจะดึกดื่น เหนื่อยล้าแค่ไหน

กระทั่งค่ำวันหนึ่ง…

เมื่อเธอเล่ามาถึงตอนนี้ เสียงที่น่าฟังของเธอขาดห้วง และเบาลงเหมือนเสียงกระซิบที่แทรกผ่านเสียงสะอื้น ความสนใจของผมย้ายจากเสียงนั้นมาอยู่ที่หยดน้ำตาใสๆ ที่ค่อยๆ รินไหลลงมาข้างแก้ม ผมเห็นมันค่อยๆ เคลื่อนตัวลงมาช้าๆ และทิ้งคราบชื้นจางๆ ไว้

เธอเล่าว่า ในเย็นวันหนึ่ง พ่อตัดสินใจออกจากบ้าน ซึ่งคาดว่าจะไปทำธุระเรื่องคดีสำคัญ ค่ำนั้น พ่อโทร.มาหา แต่เธอในวัย 20 ที่งอนและโกรธพ่ออยู่ในตอนนั้น ไม่ตอบรับ และปล่อยให้เสียงโทรศัพท์ดังอยู่อย่างนั้นกระทั่งเงียบหายไป แม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่ความทรงจำและความรู้สึกผิดยังอยู่กับเธอเสมอ เธอไม่รู้ว่านั่นเป็นโอกาสสุดท้ายที่เธอจะได้คุยกับพ่อ

เพราะราว 1 ทุ่มของวันที่ 12 มีนาคม 2547 พ่อของเธอถูกทำให้หายตัวไป

เสียงปลายสายที่รอการตอบรับหายไปตลอดกาล…

คืนวันนั้น ครอบครัวของประทับจิตได้รับการแจ้งข่าวว่าทนายสมชายหายตัวไป เธอกลับไปคว้าโทรศัพท์ฟังข้อความที่พ่อของเธอฝากไว้ว่าเขากำลังขับรถอยู่แถวอยุธยา และอาจกลับบ้านดึกหน่อย ไม่ต้องเป็นห่วง…. ความรู้สึกผิดที่ผุดพรายขึ้นมาของหญิงสาวคนหนึ่ง หยาดน้ำตาคงรินไหลจากดวงตาดำขลับที่บัดนี้มีสีแดงเรื่อ เธอบอกกับตัวเองว่าเธอจะไม่สามารถมีความสุขได้อีกตลอดชีวิต ความรู้สึกผิดนี้ค้างคาอยู่ในใจเธอนานหลายปี

เราหยุดการสนทนาไว้เพียงเท่านั้น

เช้าวันหนึ่งในสองสามสัปดาห์ต่อมา ผมไปยืนหน้าบ้านหลังเดิม ฟังเสียงร้องของนกกรงหัวจุก เสียงใสสะท้อนก้องอยู่ในซอยไม่แปรเปลี่ยน เธอเปิดประตูรับ เราเดินไปที่มัสยิดใกล้ๆ เพื่อถ่ายภาพเพิ่มเติม เธอบอกว่าเธอรู้สึกสบายใจที่ได้มาถ่ายรูปที่มัสยิด พ่อของเธอชอบมาที่นี่ เขาเป็นคนเคร่งครัดในศาสนา และเธอรู้สึกผูกพันกับกิจวัตรของพ่อ ลมที่พัดผ่านช่องทางเดินทำให้เช้าวันนั้นไม่อบอ้าวเกินไปนัก บรรยากาศหนักๆ คลายลง เธอดูผ่อนคลายมากกว่าตอนอยู่ในบ้าน อาจเพราะที่บ้านมีความทรงจำ มีความสูญเสีย เป็นบรรยากาศที่ห่อหุ้มเอาไว้ แม้จะผ่านมาหลายปี แต่ความผูกพัน การพลัดพราก และความสูญเสีย เป็นเรื่องที่ไม่ได้จางหายไป

“ความรู้สึกผิดคลายไปหรือยัง” ผมถาม

“ยังค่ะ” เธอตอบ

การเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต่อคนทำงานด้านนี้ เมื่อเธอผ่านการอบรม ผ่านการเรียนรู้ที่จะยกโทษให้ตัวเอง เธอเริ่มมีชีวิตที่เบาขึ้น และต่อมาเมื่อต้องไปให้คำปรึกษา อบรม ช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรมเช่นเดียวกับเธอ เธอใช้ความสูญเสียของครอบครัวตัวเองเป็นกรณีศึกษา เธอบอกว่านักสิทธิมนุษยชนต้องเรียนรู้ที่จะสอนตัวเองเหมือนกัน

“อนุญาตให้ตัวเองมีความสุขได้แล้วหรือยัง”

“ได้แล้ว เพราะส่วนหนึ่งเราทำใจว่าพ่อเสียไปแล้ว”

ภาพพอร์ตเทรตและความเรียงโดย ศุภชัย เกศการุณกุล Medium Format 6 x 6 | Black & White Negative Film

FACT BOX:

• ทนายสมชาย นีละไพจิตร (13 พฤษภาคม 2494 – หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2547) เป็นทนายความผู้อุทิศตนเพื่อทำคดีสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

• วันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกามีคำสั่งยกฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจ 5 นายในการรับผิดทางอาญาต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายของทนายสมชาย

• ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้เวลาสอบสวนการหายตัวไปของทนายสมชาย 11 ปี 3 เดือน ก่อนทำหนังสือแจ้งผลการดำเนินคดีถึงนางอังคณา นีละไพจิตร ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2559 โดยระบุว่าเห็นควรงดการสอบสวน เนื่องจากไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด

• สนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยลงนาม 7 ฉบับ: http://www.nhrc.or.th/Human-Rights-Knowledge/InternationalHuman-Rights-Affairs

**ความเรียงชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกที่ The Momentum > https://themomentum.co/category/thought/bright-side-of-the-moon/