วันจันทร์, พฤษภาคม 17, 2564

ข้อเสนอ Ilaw กลไกเพื่อ "ป้องกันรัฐประหาร" ในอนาคต



iLaw
10h ·

การออกแบบกลไกเพื่อ "ป้องกันรัฐประหาร" ในอนาคต เป็นเรื่องท้าทายที่รัฐธรรมนูญไทยยังไม่เคยทำได้มาก่อน และร่างเสนอ #แก้รัฐธรรมนูญ #รื้อระบอบประยุทธ์ จึงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ด้วย
ร่าง “รื้อระบอบประยุทธ์” ได้เสนอให้ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ของ คสช. และยกเลิกหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ แต่นำเสนอหมวด 16 แบบใหม่ ชื่อว่า “การลบล้างผลพวงรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร”
โดยให้ยกเลิก มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่นิรโทษกรรมให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยกเลิกมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่นิรโทษกรรมให้กับ คสช. ไว้ก่อนหน้านี้ โดยเขียนให้ “เป็นโมฆะ เสียเปล่า เสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลใดๆ ในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมาย”
การเขียนเช่นนี้ มีเจตนาเพื่อให้สามารถเอาผิดย้อนหลังกับการทำรัฐประหารที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และเคยนิรโทษกรรมไปแล้วได้
นอกจากนี้ ยังเสนอการเขียน มาตรา 258 กำหนดให้ ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านการรัฐประหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีสิทธิและหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างประจักษ์ชัด และมีหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหารหรือคณะบุคคลใดที่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ
มาตรา 259 กำหนด ห้ามไม่ให้ศาลทั้งปวง วินิจฉัยหรือพิพากษารับรองความสำเร็จสมบูรณ์ของการรัฐประหาร หรือรับรองสถานะทางกฎหมายให้แก่คณะรัฐประหาร ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรัฐประหาร
นวัตกรรมสำคัญที่เสนอไว้อีก คือ มาตรา 261 ที่เขียนว่า “บทบัญญัติในหมวดนี้มีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญและหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีผลใช้บังคับโดยตลอด แม้รัฐธรรมนูญนี้จะสิ้นผลไป”
“กฎหมายจารีตประเพณี” หมายถึง แนวคิดหรือหลักการที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จนทุกคนในสังคมเข้าใจตรงกันว่า เป็นกฎหมาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
การเขียนมาตรา 261 เช่นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันว่า การต่อต้านการรัฐประหาร การไม่ยอมรับคำสั่งของคณะรัฐประหาร และการดำเนินการเพื่อเอาผิดคณะรัฐประหารจะต้องเป็นหลักการพื้นฐานของสังคม หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคตและคณะรัฐประหารสั่ง “ยกเลิก” รัฐธรรมนูญในหมวดนี้ หลักการเหล่านี้ก็ยังคงมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดใช้บังคับได้ต่อไป
นอกจากเรื่องการต่อต้านการรัฐประหารแล้ว การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ยังมีประเด็นสำคัญ คือ การเสนอให้ “ยกเลิกวุฒิสภา” เปลี่ยนมาใช้เป็นระบบ “สภาเดี่ยว” ที่เหลือแต่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. การ “รื้อ” ที่มาองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด รวมทั้งการเพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีอำนาจ "เข้าชื่อ" เสนอเรื่องต่อสภาได้มากขึ้น
ดูรายละเอียดต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5850
ดูวิธีการร่วมลงชื่อ ได้ที่ https://resolutioncon.com/