วันจันทร์, พฤษภาคม 24, 2564

หลักการ ‘หยุดยั้งวงจรรัฐประหาร’ ต้องปฏิรูปกษัตริย์ จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ห้ามกองทัพค้าขาย ไม่มีความผิดดูหมิ่นศาล


อ่านและย่อย ข้อเสนอ ๔ ปฏิรูปของ ปิยบุตร

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าเขียนบทความเชิงวิชาการถึงหลักการ หยุดยั้งวงจรรัฐประหารว่าต้องทำการปฏิรูป ๔ อย่าง คือ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกองทัพ และปฏิรูปศาลกับองค์กรอิสระ”

ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพราะกษัตริย์เป็น fait accompli จุดสำเร็จ (ความใคร่) ของการรัฐประหาร เนื่องจากกษัตริย์มีอำนาจเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ (ในระบอบรัฐสภา) และมีกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ไว้เป็นศาสตราห้ำหั่นผู้ไม่เห็นพ้อง

ในเนื้อหาการปฏิรูปนี้ เขาลงรายละเอียดว่า หนึ่งกำหนดหน้าที่กษัตริย์ให้ต้อง พิทักษ์รัฐธรรมนูญและปฏิญานตนว่าจะทำหน้าที่นี้ก่อนการสถาปณาขึ้นเป็นประมุข ทั้งนี้โดยกำหนดบทบาทของกษัตริย์ไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องตีความกันอีก

ดังนั้นต้องไม่มีองคาพยพต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องเสริมอำนาจกษัตริย์ เหนือ รัฐธรรมนูญ คือ “ยกเลิกองคมนตรี ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจกำหนดเงินรายปีให้สถาบันกษัตริย์ แก้กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สิน และปรับแก้ ราชการส่วนพระองค์

ในสองกรณีหลังคือการแยก ทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จากกัน ทรัพย์สินในนามสถาบันนั้นเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน ต้องให้ “คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจการจัดการ” สำหรับราชการส่วนพระองค์ ไม่ทรง “บริหารราชการและประกอบธุรกิจ”


ด้านการปฏิรูปรัฐธรรมนูญนั้น จำเป็นต้องยกเลิกและจัดทำใหม่ทั้งฉบับโดยมาจากฉันทามติร่วมกันของประชาชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลบล้างมรดกรัฐประหาร ป้องกันรัฐประหาร และหยุดการสืบทอดอำนาจ” ได้แก่

ยกเลิก ม.๒๗๙ ที่บอกว่าให้ คสช.มีอำนาจตามคำสั่งที่เคยประกาศไว้ตลอดไปชั่วกัปกัลป์ หรืออสงไขย อีกทั้งยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ยกเลิกวุฒิสภาตู่ตั้งไปเลย เหลือสภาเดียว และเพิ่มบทบัญญัติใหม่ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร”

ส่วนบรรดาคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งยังเป็นประโยชน์ โดยสุจริตก็ให้ปรับไปเป็นกฎหมายปกติและระเบียบราชการตามแนวระบอบ รัฐธรรมนูญ-รัฐสภา ประชาธิปไตย จากนั้นให้ตั้ง กรรมการยุติธรรมชำระผลกระทบอำนาจรัฐประหาร

โดยเฉพาะ “ยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องในคดีทางการเมือง และตรากฎหมายนิรโทษกรรมในคดีการเมืองให้แก่ ผู้ต้องหาและนักโทษ ของระบอบ คสช. ตั้งแต่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗” 

 

ส่วนการปฏิรูปกองทัพ เพื่อไม่ให้คอยจ้องแต่จะครองอำนาจด้วยการรัฐประหาร นอกจากระบุจะแจ้งในรัฐธรรมนูญว่ารัฐบาลพลเรือน “อยู่เหนือกองทัพ” แล้ว “แก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหม การแต่งตั้งข้าราชการทหารเป็นอำนาจของรัฐบาล มิใช่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ”

แล้วยัง “กำหนดให้มีคณะผู้ตรวจการกองทัพมาจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ๕ คน ส.ส.ฝ่ายค้าน ๕ คน ทำหน้าที่ตรวจสอบ” ตั้งแต่งบประมาณ รายได้ การจัดซื้อจัดจ้าง การร้องเรียนของข้าราชการทหาร รวมทั้งให้ผู้ตรวจการสองคนไปอยู่ในสภากลาโหม

นอกนั้นให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ ยกเลิกศาลทหาร ยอมรับอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ แก้ไข พรบ.กฏอัยการศึกให้สอดคล้องทั้งหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ยกเลิก กอ.รมน. “ห้ามมิให้กองทัพประกอบธุรกิจการพาณิชย์” เป็นต้น


และในการปฏิรูปศาลและองค์กรอิสระนั้น ปิยบุตรเอ่ยถึงการที่ศาลเป็นผู้ประทับตราให้แก่อำนาจรัฐประหาร (เช่นคำตัดสินที่บอกว่าคณะแย่งอำนาจเมื่อทำสำเร็จก็เป็น รัฏฐาธิปัตย์) แสดงว่า ตลก.นั่นแหละเป็นส่วนหนึ่งในต้นตอปัญหา ไม่ประชาธิปไตย

ข้อเสนอแก้ไขของเขาเจาะจงให้ “กำหนดการได้มาซึ่งผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลปกครองสูงสุด ให้ ก.ต.และ ก.ศป.เสนอรายชื่อ...ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ” ทั้งนี้ กรรมการตุลาการและศาลปกครอง “เชื่อมโยงกับประชาชนหรือสภาผู้แทนราษฎร”

ไม่เท่านั้น ให้ “ปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกผู้พิพากษา ตุลาการ ให้เสมอภาคเท่าเทียม ยกเลิกการสอบ สนามเล็ก-สนามจิ๋ว(ที่เป็นการใช้ อภิสิทธิ์ เอารัดเอาเปรียบกัน) รวมถึงแก้ไของค์ประกอบและการได้มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

ข้อสำคัญต้อง “ยกเลิกกฎหมายความผิดฐานดูหมิ่นศาล จำกัดกฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้อย่างจำกัดอย่างยิ่งเฉพาะกรณีก่อความวุ่นวายในศาลและขัดขวางการพิจารณาคดี” เช่นนี้ศาลสามารถถูกลงโทษเมื่อ “บิดเบือนกฎหมาย”

สุดท้าย แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ศาลสามารถพิจารณาคดีรัฐประหารได้ คือให้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็นผู้เสียหายในความผิดฐาน กบฏ ของคณะรัฐประหาร ตามมาตรา ๑๑๓ เมื่อมีการฟ้องร้อง “ศาลต้องพิจารณาพิพากษาให้แล้วเสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง”

ดูฉบับเต็มได้ที่ https://progressivemovement.in.th/article/4374NkuRI