Pipob Udomittipong
11h ·
#แซม เป็นคนที่น่าสงสารมาก พ่อเป็นไทย แม่เป็นกัมพูชา ต่อมาพ่อหาย แม่หาย กลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ stateless person แต่เขาก็ยังมีความเป็นไทยมากกว่าหลายคน แซมบอกว่า ที่ออกมาร่วมชุมนุมจนถูกจับเพราะ “ผมออกมาเพราะว่าเห็นความไม่เท่าเทียม ผมเกิดเป็นคนไทยแต่ไม่มีความเท่าเทียม ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยกว่านี้” เขายังคิดได้มากกว่าพวกเรียนกฎหมายและนั่งสูงกว่าชาวบ้าน
ทุกวันนี้เขาถูกศาลสั่งขังจนติด #โควิด อาเจียนเป็นเลือด ผลงานชิ้นโบว์แดงมาก และคาดว่าคงขังลืม เพราะเขาไม่มีสัญชาติไทย ต้องถูกกักตัวไปตลอดกาล indefinite detention เหมือนคนเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารมากมายที่รอการส่งตัวกลับ แต่สำหรับแซม จนท.ก็คงไม่รู้จะส่งกลับไปไหน จะส่งกลับไปกัมพูชา เขาก็คงลำบาก เพราะไม่มีสัญชาติ และแม้จะมีเชื้อสายกัมพูชา แต่ก็ไม่มีญาติที่นั่น #ปล่อยเพื่อนเรา
โดย admin33
ศูนย์ทน่ยความเพื่อสิทธิมนุษยชน
21/04/2564
ชื่อของแซม สาแมท หรือ “อาร์ท” ปรากฏเป็นข่าว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 หลังผู้สื่อข่าวรายงานว่าเขาถูกจับกุมที่ห้องเช่าย่านดอนเมืองตามหมายจับของศาล เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นชายคนเดียวกับที่ทำท่ายืนปัสสาวะอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาวางขวางหน้ากรมทหารราบที่ 1 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่มีทนายความอยู่ และขอฝากขังต่อศาล ทำให้เขาถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2564
กระทั่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเขาในวันที่ 16 เมษายน 2564 พร้อมกับผู้ชุมนุมในครั้งดังกล่าวอีก 18 ราย ใน 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, มาตรา 216, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน, ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, และเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าเยี่ยมอาร์ทซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำ เพื่อติดตามข้อมูลและให้ความช่วยเหลือทางคดี ขณะเดียวกันเขาก็ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของตนเองให้สังคมรับทราบ
.
วัยเด็กที่ไม่รู้จักพ่อ
อาร์ทเล่าภูมิหลังว่าพ่อของเขาเป็นคนไทย ส่วนแม่เป็นชาวกัมพูชาชื่อ “ริน” แม่บอกว่าเขาเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ทำให้เขาเพิ่งอายุ 19 ปีเศษ เขาไม่ทราบว่าตัวเองเกิดที่โรงพยาบาลใด จำได้เพียงว่าแม่พาเขาย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว ตอนอายุราวๆ สองขวบ
แม่เลิกกับพ่อตั้งแต่เขายังจำความไม่ได้ และไม่เคยเห็นหน้าพ่อ ทราบเพียงแต่ว่าพ่อชื่อ “บุญชง องอาจ” ชื่อเล่นจำได้ลางๆ ว่าชื่ออิฐ เป็นคนจังหวัดเพชรบูรณ์
“แม่บอกว่าเคยทำงานกับพ่อ พ่อกับย่ารักผมมาก แต่แม่ก็พาหนีมาไม่รู้ทำไม แม่เคยบอกว่าจะพาไปหาพ่อ แต่ก็ไม่เคยพาไป ตอนเด็กๆ มีคนล้อว่าลูกไม่มีพ่อ ไม่มีสัญชาติ ผมพยายามบอกว่าพ่อผมเป็นคนไทย ผมเกิดที่ไทย แต่ไม่มีใครฟัง”
อาร์ทจำได้ลางๆ ว่าตอนอายุประมาณ 3-4 ขวบ แม่พาเขามาอยู่กรุงเทพฯ อยู่กับพี่สาวต่างพ่อของอาร์ท แต่พออายุได้ประมาณ 7-8 ขวบ พี่สาวก็ย้ายกลับกัมพูชา แม่จึงพาเขากลับมาอยู่อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว และมีสามีใหม่
“แม่ทำงานรับจ้างรายวัน แล้วแต่ว่าคนจะจ้างทำอะไร ส่วนผมก็ทำทุกอย่างตั้งแต่เด็ก ตื่นเช้ามาไปรับจ้างตัดอ้อย ปลูกอ้อย หาปูหาปลา ดูแลอาหารการกิน”
บุคคลไร้สถานะทางกฎหมาย
ตอนอายุประมาณ 13 ปี เพื่อนบ้านเห็นว่าอาร์ทเป็นคนพูดเก่ง ขายของเก่ง เลยพาไปทำงานช่วยงานขายหอมขายกระเทียมอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี
พออายุใกล้ครบ 15 ปี (อายุครบกำหนดทำบัตรประชาชน ณ ขณะนั้น) ป้าที่ให้ช่วยขายของก็กลัวว่าหากตำรวจมาตรวจแล้ว ไม่มีบัตรจะถูกจับ จึงส่งอาร์ทกลับสระแก้ว บอกว่าหากมีบัตรประชาชนแล้ว ค่อยกลับมาทำงาน
หลังกลับจากจันทบุรี อาร์ทบอกว่าเขาต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ และประสบปัญหาชีวิต ครั้งหนึ่งเขาตัดสินใจลงมือฆ่าตัวตายโดยการกินยาฆ่าแมลง เพราะน้อยใจที่เกิดมาไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่ได้ทำงาน
“ผมร้องไห้ทุกวัน ทำไมเกิดมาไม่ได้เรียนเหมือนเขา ทั้งที่เกิดเมืองไทย โตที่เมืองไทย แต่เรียนไม่ได้ หนังสือก็เขียนไม่ได้ เวลาป่วยก็เข้ารักษาตัวไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ไม่รู้ว่าอยู่เพื่ออะไร อยู่แบบไม่มีตัวตน อยู่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ทำงานไม่ได้ ไม่มีบัตรประชาชน”
อาร์ทรอดมาได้ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน พาไปล้างท้องที่โรงพยาบาล เขาบอกว่านั่นเป็นครั้งแรกที่เขาจำความได้ว่าได้ไปโรงพยาบาล แม้เขาจะรอดมาได้ อาร์ทบอกว่าทุกวันนี้ร่างกายก็ยังมีผลกระทบอยู่บ้าง หากกินอาหารที่แข็งๆ อาจจะถ่ายเป็นเลือด
หลังจากนั้นเขารู้จักเพื่อนทางเฟซบุ๊กจึงชวนมาทำงานกรุงเทพฯ เป็นลูกจ้างร้านทำผม ย่านรัชดา-ห้วยขวาง โดยเขาได้ค่าจ้างเป็นรายวัน แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจในเมืองไทยหลังรัฐประหาร ก็ทำให้กิจการร้านแย่ลงเรื่อยๆ จนต้องปิดตัวมาปีกว่าแล้ว เขาจึงย้ายมาอยู่แถวดอนเมือง
อาร์ทเล่าย้อนกลับไปว่าตอนเขาเพิ่งมากรุงเทพ พ่อเลี้ยงที่มีอาการป่วยอยู่แล้วก็ได้เสียชีวิตลง ส่วนแม่ก็ได้ออกจากบ้านไป บอกว่าจะไปหางาน แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้อีก ตอนนี้จึงเหมือนเขาไม่มีญาติ ไม่มีใครเลย แต่กระนั้น เขาก็รู้สึกว่าประเทศไทยคือบ้าน “ผมเคยถูกจับส่งกัมพูชาด้วย แต่ผมก็กลับมาใหม่ ก็เดินเข้ามาปกติ และก็นั่งรถตู้กลับมากรุงเทพ”
ออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียม
เมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่ถูกจับกุม อาร์ทเล่าว่า “ผมเริ่มไปชุมนุมตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่เขาฉีดน้ำกันวันแรก ติดตามข้อมูลจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มราษฎร เห็นว่าทุกคนเป็นแกนนำ ผมเคยโดนแก๊สน้ำตาด้วย พี่แอมมี่เคยดึงผมออกมาจากแก๊สน้ำตา น่าจะเป็นชุมนุมที่เกียกกาย หลังจากนั้นผมก็ไปมาตลอด
“ผมออกมาเพราะว่าเห็นความไม่เท่าเทียม ผมเกิดเป็นคนไทยแต่ไม่มีความเท่าเทียม ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยกว่านี้
“วันที่ 28 กุมภา ผมก็ไปด้วย เริ่มเดินไปจากอนุสาวรีย์ชัย ถือธง LGBT เดินขบวนไป และคนในม็อบก็ยุให้ขึ้นไป แต่ผมไม่ได้ฉี่ใส่ตำรวจนะ ผมแค่ทำท่าทาง ไม่ได้อนาจารด้วย ไม่ได้เห็นอวัยวะเพศ ผมไม่ได้ทำร้ายใครเลยนะ ผมวิ่งไปห้ามผู้ชุมนุมไม่ให้ปาของไปที่ตำรวจด้วย
“ตอนถูกจับ ตำรวจไม่ให้โทรหาทนายเลย ไม่ได้บอกว่ามีสิทธิที่จะมีทนาย ผมไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ได้”
หลังจากถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่สน.ดินแดง เขาก็ถูกนำตัวมาขอฝากขังที่ศาล และยังไม่ได้ยื่นประกันตัว ทำให้เขาถูกจองจำในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
คิดถึงโลกภายนอก
เมื่อถามถึงความเป็นอยู่ในเรือนจำ อาร์ทเล่าว่าเขากังวลเรื่องโควิด “ในนี้ไม่มีหน้ากากอนามัยแจก ไม่มีแอลกอฮอล์ขาย ต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ (หน้ากากต้องให้คนข้างนอกซื้อฝากเข้าไป) ผมมีหน้ากากเพราะตอนโตโต้อยู่ โตโต้เอามาให้
“ในนี้นอนกันแออัดมาก ห้องน่าจะประมาณนี้ (ห้องเยี่ยมของทนายความขนาดประมาณไม่เกิน 30 ตารางเมตร) แต่คนนอน 50 คน จะเว้นระยะห่างได้อย่างไรเมื่อเรือนจำแออัดแบบนี้ อาหารการกินก็ไม่มีรสชาติ
“คิดถึงโลกภายนอก อยู่ข้างในทำใจยากมาก ยังดีได้แฟรงค์และสมคิด (ผู้ต้องหาคดีล้อมรถผู้ต้องขัง กรณีช่วยไมค์และเพนกวิน) คอยช่วยเหลือ”
เดิมที เราคิดว่าเขาไม่ได้ประกันตัวเพราะไม่มีญาติและเพิ่งได้ติดต่อทนายความ หากยื่นประกันในคดี โอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็มีมาก เพราะคนอื่นๆ ในคดีนี้ก็ได้ประกันตัว แต่กรณีของอาร์ทมีความซับซ้อนกว่าคนอื่นก็ตรงเรื่องสถานะบุคคลและที่อยู่ที่เป็นหลักแหล่ง
ถ้าจะมีใครสักคนรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม แซมหรืออาร์ทก็คงเป็นหนึ่งในนั้น ลูกครึ่งไทยกัมพูชา ที่ตอนนี้ติดต่อทั้งพ่อและแม่ หรือญาติคนอื่นๆ ไม่ได้ ไม่มีสถานะทางกฎหมาย ไม่มีสิทธิใดๆ และถูกจับเพราะออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียม
ประกาศตามหาพ่อและแม่
ว่ากันตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ หาก แซม สาแมท หรืออาร์ท เกิดจากบิดาชาวไทย เขาย่อมได้รับสัญชาติไทยตามหลักสายโลหิต
หากท่านใดมีข้อมูลความเป็นอยู่ปัจจุบันของบุคคลที่อาจเป็นพ่อหรือแม่ของอาร์ท หรือบุคคลที่อาจจะเชื่อมโยงถึงบุคคลดังกล่าว โปรดติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โทร 092 271 3272 หรือ 096 789 3173
1. นายบุญชง องอาจ หรืออิฐ ชายไทย บ้านเกิดในจังหวัดเพชรบูรณ์ (หรือชื่อใกล้เคียง)
2. นางริน ชาวกัมพูชา อายุประมาณ 45 ปี
21/04/2564
ชื่อของแซม สาแมท หรือ “อาร์ท” ปรากฏเป็นข่าว เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 หลังผู้สื่อข่าวรายงานว่าเขาถูกจับกุมที่ห้องเช่าย่านดอนเมืองตามหมายจับของศาล เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเป็นชายคนเดียวกับที่ทำท่ายืนปัสสาวะอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาวางขวางหน้ากรมทหารราบที่ 1 ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่มีทนายความอยู่ และขอฝากขังต่อศาล ทำให้เขาถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2564
กระทั่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องเขาในวันที่ 16 เมษายน 2564 พร้อมกับผู้ชุมนุมในครั้งดังกล่าวอีก 18 ราย ใน 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, มาตรา 216, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน, ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, และเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เข้าเยี่ยมอาร์ทซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำ เพื่อติดตามข้อมูลและให้ความช่วยเหลือทางคดี ขณะเดียวกันเขาก็ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของตนเองให้สังคมรับทราบ
.
วัยเด็กที่ไม่รู้จักพ่อ
อาร์ทเล่าภูมิหลังว่าพ่อของเขาเป็นคนไทย ส่วนแม่เป็นชาวกัมพูชาชื่อ “ริน” แม่บอกว่าเขาเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2544 ทำให้เขาเพิ่งอายุ 19 ปีเศษ เขาไม่ทราบว่าตัวเองเกิดที่โรงพยาบาลใด จำได้เพียงว่าแม่พาเขาย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว ตอนอายุราวๆ สองขวบ
แม่เลิกกับพ่อตั้งแต่เขายังจำความไม่ได้ และไม่เคยเห็นหน้าพ่อ ทราบเพียงแต่ว่าพ่อชื่อ “บุญชง องอาจ” ชื่อเล่นจำได้ลางๆ ว่าชื่ออิฐ เป็นคนจังหวัดเพชรบูรณ์
“แม่บอกว่าเคยทำงานกับพ่อ พ่อกับย่ารักผมมาก แต่แม่ก็พาหนีมาไม่รู้ทำไม แม่เคยบอกว่าจะพาไปหาพ่อ แต่ก็ไม่เคยพาไป ตอนเด็กๆ มีคนล้อว่าลูกไม่มีพ่อ ไม่มีสัญชาติ ผมพยายามบอกว่าพ่อผมเป็นคนไทย ผมเกิดที่ไทย แต่ไม่มีใครฟัง”
อาร์ทจำได้ลางๆ ว่าตอนอายุประมาณ 3-4 ขวบ แม่พาเขามาอยู่กรุงเทพฯ อยู่กับพี่สาวต่างพ่อของอาร์ท แต่พออายุได้ประมาณ 7-8 ขวบ พี่สาวก็ย้ายกลับกัมพูชา แม่จึงพาเขากลับมาอยู่อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว และมีสามีใหม่
“แม่ทำงานรับจ้างรายวัน แล้วแต่ว่าคนจะจ้างทำอะไร ส่วนผมก็ทำทุกอย่างตั้งแต่เด็ก ตื่นเช้ามาไปรับจ้างตัดอ้อย ปลูกอ้อย หาปูหาปลา ดูแลอาหารการกิน”
บุคคลไร้สถานะทางกฎหมาย
ตอนอายุประมาณ 13 ปี เพื่อนบ้านเห็นว่าอาร์ทเป็นคนพูดเก่ง ขายของเก่ง เลยพาไปทำงานช่วยงานขายหอมขายกระเทียมอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี
พออายุใกล้ครบ 15 ปี (อายุครบกำหนดทำบัตรประชาชน ณ ขณะนั้น) ป้าที่ให้ช่วยขายของก็กลัวว่าหากตำรวจมาตรวจแล้ว ไม่มีบัตรจะถูกจับ จึงส่งอาร์ทกลับสระแก้ว บอกว่าหากมีบัตรประชาชนแล้ว ค่อยกลับมาทำงาน
หลังกลับจากจันทบุรี อาร์ทบอกว่าเขาต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ และประสบปัญหาชีวิต ครั้งหนึ่งเขาตัดสินใจลงมือฆ่าตัวตายโดยการกินยาฆ่าแมลง เพราะน้อยใจที่เกิดมาไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่ได้ทำงาน
“ผมร้องไห้ทุกวัน ทำไมเกิดมาไม่ได้เรียนเหมือนเขา ทั้งที่เกิดเมืองไทย โตที่เมืองไทย แต่เรียนไม่ได้ หนังสือก็เขียนไม่ได้ เวลาป่วยก็เข้ารักษาตัวไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ไม่รู้ว่าอยู่เพื่ออะไร อยู่แบบไม่มีตัวตน อยู่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ทำงานไม่ได้ ไม่มีบัตรประชาชน”
อาร์ทรอดมาได้ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน พาไปล้างท้องที่โรงพยาบาล เขาบอกว่านั่นเป็นครั้งแรกที่เขาจำความได้ว่าได้ไปโรงพยาบาล แม้เขาจะรอดมาได้ อาร์ทบอกว่าทุกวันนี้ร่างกายก็ยังมีผลกระทบอยู่บ้าง หากกินอาหารที่แข็งๆ อาจจะถ่ายเป็นเลือด
หลังจากนั้นเขารู้จักเพื่อนทางเฟซบุ๊กจึงชวนมาทำงานกรุงเทพฯ เป็นลูกจ้างร้านทำผม ย่านรัชดา-ห้วยขวาง โดยเขาได้ค่าจ้างเป็นรายวัน แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจในเมืองไทยหลังรัฐประหาร ก็ทำให้กิจการร้านแย่ลงเรื่อยๆ จนต้องปิดตัวมาปีกว่าแล้ว เขาจึงย้ายมาอยู่แถวดอนเมือง
อาร์ทเล่าย้อนกลับไปว่าตอนเขาเพิ่งมากรุงเทพ พ่อเลี้ยงที่มีอาการป่วยอยู่แล้วก็ได้เสียชีวิตลง ส่วนแม่ก็ได้ออกจากบ้านไป บอกว่าจะไปหางาน แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้อีก ตอนนี้จึงเหมือนเขาไม่มีญาติ ไม่มีใครเลย แต่กระนั้น เขาก็รู้สึกว่าประเทศไทยคือบ้าน “ผมเคยถูกจับส่งกัมพูชาด้วย แต่ผมก็กลับมาใหม่ ก็เดินเข้ามาปกติ และก็นั่งรถตู้กลับมากรุงเทพ”
ออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียม
เมื่อถามถึงเหตุการณ์ที่ถูกจับกุม อาร์ทเล่าว่า “ผมเริ่มไปชุมนุมตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่เขาฉีดน้ำกันวันแรก ติดตามข้อมูลจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มราษฎร เห็นว่าทุกคนเป็นแกนนำ ผมเคยโดนแก๊สน้ำตาด้วย พี่แอมมี่เคยดึงผมออกมาจากแก๊สน้ำตา น่าจะเป็นชุมนุมที่เกียกกาย หลังจากนั้นผมก็ไปมาตลอด
“ผมออกมาเพราะว่าเห็นความไม่เท่าเทียม ผมเกิดเป็นคนไทยแต่ไม่มีความเท่าเทียม ผมอยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยกว่านี้
“วันที่ 28 กุมภา ผมก็ไปด้วย เริ่มเดินไปจากอนุสาวรีย์ชัย ถือธง LGBT เดินขบวนไป และคนในม็อบก็ยุให้ขึ้นไป แต่ผมไม่ได้ฉี่ใส่ตำรวจนะ ผมแค่ทำท่าทาง ไม่ได้อนาจารด้วย ไม่ได้เห็นอวัยวะเพศ ผมไม่ได้ทำร้ายใครเลยนะ ผมวิ่งไปห้ามผู้ชุมนุมไม่ให้ปาของไปที่ตำรวจด้วย
“ตอนถูกจับ ตำรวจไม่ให้โทรหาทนายเลย ไม่ได้บอกว่ามีสิทธิที่จะมีทนาย ผมไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ได้”
หลังจากถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่สน.ดินแดง เขาก็ถูกนำตัวมาขอฝากขังที่ศาล และยังไม่ได้ยื่นประกันตัว ทำให้เขาถูกจองจำในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
คิดถึงโลกภายนอก
เมื่อถามถึงความเป็นอยู่ในเรือนจำ อาร์ทเล่าว่าเขากังวลเรื่องโควิด “ในนี้ไม่มีหน้ากากอนามัยแจก ไม่มีแอลกอฮอล์ขาย ต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ (หน้ากากต้องให้คนข้างนอกซื้อฝากเข้าไป) ผมมีหน้ากากเพราะตอนโตโต้อยู่ โตโต้เอามาให้
“ในนี้นอนกันแออัดมาก ห้องน่าจะประมาณนี้ (ห้องเยี่ยมของทนายความขนาดประมาณไม่เกิน 30 ตารางเมตร) แต่คนนอน 50 คน จะเว้นระยะห่างได้อย่างไรเมื่อเรือนจำแออัดแบบนี้ อาหารการกินก็ไม่มีรสชาติ
“คิดถึงโลกภายนอก อยู่ข้างในทำใจยากมาก ยังดีได้แฟรงค์และสมคิด (ผู้ต้องหาคดีล้อมรถผู้ต้องขัง กรณีช่วยไมค์และเพนกวิน) คอยช่วยเหลือ”
เดิมที เราคิดว่าเขาไม่ได้ประกันตัวเพราะไม่มีญาติและเพิ่งได้ติดต่อทนายความ หากยื่นประกันในคดี โอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็มีมาก เพราะคนอื่นๆ ในคดีนี้ก็ได้ประกันตัว แต่กรณีของอาร์ทมีความซับซ้อนกว่าคนอื่นก็ตรงเรื่องสถานะบุคคลและที่อยู่ที่เป็นหลักแหล่ง
ถ้าจะมีใครสักคนรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม แซมหรืออาร์ทก็คงเป็นหนึ่งในนั้น ลูกครึ่งไทยกัมพูชา ที่ตอนนี้ติดต่อทั้งพ่อและแม่ หรือญาติคนอื่นๆ ไม่ได้ ไม่มีสถานะทางกฎหมาย ไม่มีสิทธิใดๆ และถูกจับเพราะออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียม
ประกาศตามหาพ่อและแม่
ว่ากันตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ หาก แซม สาแมท หรืออาร์ท เกิดจากบิดาชาวไทย เขาย่อมได้รับสัญชาติไทยตามหลักสายโลหิต
หากท่านใดมีข้อมูลความเป็นอยู่ปัจจุบันของบุคคลที่อาจเป็นพ่อหรือแม่ของอาร์ท หรือบุคคลที่อาจจะเชื่อมโยงถึงบุคคลดังกล่าว โปรดติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โทร 092 271 3272 หรือ 096 789 3173
1. นายบุญชง องอาจ หรืออิฐ ชายไทย บ้านเกิดในจังหวัดเพชรบูรณ์ (หรือชื่อใกล้เคียง)
2. นางริน ชาวกัมพูชา อายุประมาณ 45 ปี