กระทรวงยุติธรรมสหรัฐจัดตั้งคณะลูกขุนหลวง (Grand Jury) ขึ้นในรัฐเท็กซัส เพื่อทำการสอบสวนคดีบริษัทโตโยต้าประเทศไทยติดสินบนอดีตประธานศาลฎีกาผู้พิพากษาศาลฎีกา และที่ปรึกษาศาลสูงไทย เพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้ารถ ‘พรีอัส’
คดีนี้ตกเป็นข่าวในไทยเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา แล้วนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมชี้แจงว่า คดีอยู่ระหว่างการฏีกา “ศาลฏีกายังไม่ได้พิจารณาพิพากษาใดๆ...คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ”
ทั้ง “ยังเป็นกรณีที่ไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อน...ขอตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนเสียก่อน เนื่องจากการแอบอ้างหรือการกล่าวหา ว่าอาจจะมีการจ่ายสินบนให้กับผู้พิพากษาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ อาจจะไม่มีมูลความจริง”
คดีนี้เกิดจากกรมศุลกากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังบริษัทโตโยต้าไทย จากการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รุ่นพรีอัส แต่เป็นชุดชิ้นส่วนที่สามารถนำไปประกอบเป็นรถทั้งคันได้ จึงเรียกเก็บส่วนต่างอัตราภาษีชิ้นส่วนกับอัตรานำเข้ารถทั้งคัน มูลค่าราว ๑๑,๐๐๐ ล้านบาท
โตโยต้าอ้างข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อสู้จนหลุดคดีในชั้นอุทธรณ์ แต่กรมศุลกากรยื่นฎีกา ระหว่างนั้นบริษัทแม่โตโยต้าในญี่ปุ่นว่าจ้างสำนักงานกฎหมายวิลเมอร์เฮลทำการสืบสวนภายในบริษัทโตโนต้าไทย แจ้งว่าสงสัยทนายของบริษัทติดสินบนผู้พิพากษา
บริษัทโตโยต้าจึงรายงานการสืบสวนต่อตลาดหลักทรัพย์และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ อันเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะลูกขุนหลวงดังกล่าว ในมลรัฐพื้นที่สำนักงานใหญ่บริษัทโตโยต้าอเมริกาตั้งอยู่ การนี้องค์กรสื่อด้านกฎหมาย ‘Law360’ รายงานข่าวเป็นครั้งที่สอง
ระบุว่า “โตโยต้าประเทศไทยว่าจ้างสำนักทนาย ‘อันนานนท์’ เป็นตัวแทนต่อสู้คดี โดยมีการติดต่อกับผู้พิพากษาระดับสูงของไทย โตโยต้าจ่ายค่าจ้างไป ๕๔๐ ล้านบาท สัญญาจะจ่ายอีก ๒๗๐ ล้านเมื่อโตโยต้าชนะอุทธรณ์...
เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวนของรัฐบาลกลางสหรัฐ พยายามที่จะค้นหาความจริงว่าบริษัทโตโยต้าจ่ายค่าสินบนให้แก่ผู้พิพากษาไทยหรือเปล่า ไม่ว่าโดยทางตรงหรือผ่านสำนักอันนานนท์ หนึ่งในผู้พิพากษาเหล่านั้นคือ ดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา
ผู้พิพากษาศาลสูงอีกสองคนถูกรายงานว่ามีส่วนชักชวนให้ศาลพิพากษาเป็นประโยชน์แก่บริษัทโตโยต้า คือ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ที่ปรึกษาศาลฎีกา และไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาคนก่อน เอกสารหลักฐานที่ทางการสหรัฐมีอยู่ระบุว่า
ระหว่างเกิดเหตุติดสินบนกันนั้น ไสลเกษดำรงตำแหน่งประธาน และดิเรกเป็นผู้พิพากษาอยู่ในศาลฎีกาด้วยกัน ส่วนชัยสิทธิ์จะร่วมให้คำปรึกษาศาลฯ ด้วยหรือไม่ ไม่แน่ แต่เขาเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีพิเศษจนกระทั่งถึงเดือนตุลา ๒๕๖๒
สำหรับทนายไทยซึ่งถูกอ้างว่าเป็นผู้ประสานระหว่างโตโยต้ากับสามผู้พิพากษา ‘ลอว์๓๖๐’ เอ่ยชื่อว่า คือ ผู้จัดการใหญ่ วิเชียร หิรัญมหาพล รองฯ สถิตย์ ตั้งจิตปรีชาไทย และพรชัย เสตะจันทน์ ออกจากโตโยต้าไปตั้งสำนักทนายของตนระหว่างมีการสอบสวน
(https://www.law360.com/articles/1388032/doj-takes-toyota-thai-bribery-probe-to-texas-grand-jury และ https://www.bbc.com/thai/thailand-56685842)