วันจันทร์, พฤษภาคม 31, 2564

เพื่อมุ่งเอาผิดให้ได้ เราเดินทางมาถึงจุดนี้กันแล้วว่า มาตรา 112 ถูกตีความ"กว้างไกล"จนผิดปกติ จนยากที่จะยอมรับ หรือทำความเข้าใจได้



iLaw
Yesterday at 1:00 AM ·

ขอบเขตของมาตรา 112 ที่ถูกทำให้มองไม่เห็น

แม้ตัวบทของมาตรา 112 จะไม่ได้ยืดยาวหรือซับซ้อน ซ่อนเงื่อนปมจนยากต่อการตีความ แต่จากการเก็บข้อมูลของไอลอว์พบว่า มีคดีมาตรา 112 บางส่วนที่การตีความของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ พยาน หรือศาล ที่ยังคง “ค้างคาใจ” ต้องหยิบยกมาถกเถียงต่อไปอีกยาวนาน

ซึ่งการตีความมาตรา 112 บางกรณีก็อาจเป็นการตีความอย่าง “กว้างขวาง” เพื่อมุ่งให้เอาผิดให้ได้ หรือบางกรณีก็ตีความอย่าง “เคร่งครัด” มาก จนผิดปกติ ซึ่งทั้งสองกรณีอาจเกิดขึ้นได้ โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเด็นปัญหาในทางกฎหมายเท่านั้น แต่อาจเปลี่ยนแปลงไปในบรรยากาศทางการเมืองที่แตกต่างกัน และแนวนโยบายของแต่ละยุคสมัย

แนวทางการตีความที่ไม่คงที่แน่นอน และเมื่อมีข่าว ตัวอย่างของการตีความที่ “กว้างขวาง” จนยากที่จะยอมรับ หรือทำความเข้าใจได้ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่า ขอบเขตของมาตรา 112 อยู่ที่ใดกันแน่ การกระทำใดบ้างที่จะถูกเอาผิดตามมาตรา 112 และการกระทำใดบ้างที่ทำแล้วจะรับรองได้ว่า “ปลอดภัย”

จากตัวอย่างการตีความที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ “ตอบยากที่สุด” เพราะการกระทำอย่างหนึ่งที่อาจ “ไม่ผิด” ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ก็อาจถูกพลิกกลับเป็นผิดก็ได้ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองแตกต่างไป บางกรณีการคาดหมายผลของคดีโดยพิจารณาจาก “ช่วงเวลา” ที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาอาจเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าตัวบทกฎหมาย
 
สถานการณ์ที่การตีความกฎหมายขาดความมั่นคงแน่นอนนี้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อมาตรา 112 ถูกนำมาใช้ “ระบบนิติรัฐ” ไม่ได้มีอยู่อีกต่อไป และสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน เมื่อไม่อาจมั่นใจได้ก็ต้องเลือกที่จะปิดปากเงียบไว้ก่อน

จึงชวนพิจารณา ประเด็นปัญหาในการตีความมาตรา 112 ที่เคยมีตัวอย่างการตีความกว้างขวางให้รู้สึกแปลกตาแปลกใจ โดยประเด็นหลัก ที่จะต้องตีความและถกเถียงกัน มีอยู่ 2 ประเด็นเท่านั้น
 
ประเด็นที่หนึ่ง คือ ขอบเขตว่า บุคคลใดบ้างที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้
ประเด็นที่สอง คือ การกระทำลักษณะใดบ้างที่จะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายนี้

ประเด็นที่หนึ่ง มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลใดบ้าง

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า บุคคลที่อยู่ในข่ายได้รับความคุ้มครองมีสี่ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
 
และหากพิจารณาจากเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองบุคคลที่อยู่ระหว่างดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐ ก็ชัดเจนว่า บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองต้องอยู่ระหว่างดำรงตำแหน่งทั้งสี่นี้ และการกระทำที่จะผิดมาตรา 112 ต้องเกิดขึ้นระหว่างที่บุคคลข้างต้นอยู่ระหว่างดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม

ตำแหน่ง “พระหากษัตริย์” และ “พระราชินี" มีประเด็นที่ต้องตีความว่า หากพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตแล้ว บุคคลนั้นจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112 ต่อไปหรือไม่ รวมถึงพระราชินีของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตแล้ว จะยังได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112 ต่อไปหรือไม่

ตำแหน่ง “รัชทายาท” ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาลพ.ศ. 2467 ไม่ได้นิยามเอาไว้เฉพาะ แต่ในกฎหมายทั้งสองฉบับจะใช้คำว่า "พระรัชทายาท" ซึ่งกฎมณเฑียรบาลกำหนดนิยามว่า "เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสมมติขึ้น เพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป" จึงมีประเด็นต้องตีความคำว่าว่า “รัชทายาท” ตามมาตรา 112 คุ้มครองใครบ้าง หากพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งไว้ให้ชัดเจนก็จะไม่มีปัญหาต้องตีความอีก

ตำแหน่ง “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 16 กำหนดว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้น ให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้..."

และยังกำหนดวิธีปฏิบัติในกรณีที่ไม่ได้แต่งตั้งไว้ รวมถึงการพ้นจากตำแหน่งด้วย ตำแหน่งนี้จึงยังไม่มีปัญหาการตีความากนัก

เท่าที่มีข้อมูลนับจากปี 2552 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ยังไม่พบว่า มีคดีมาตรา 112 จากการหมิ่นประมาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องจากตลอดช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ การกระทำความผิดจึงจำกัดอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทเท่านั้น
 
คดีที่มีปัญหาข้อกฎหมายว่า บุคคลที่ถูกเอ่ยถึงเป็นบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้หรือไม่ ได้แก่
คดีหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 4

ในปี 2548 ณัชกฤช ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งในจังหวัดชลบุรีจัดรายการวิทยุพูดถึงกรณีที่เขาแพ้ในการเลือกตั้งทำนองว่า ส่วนหนึ่งที่เขาแพ้การเลือกตั้งเป็นเพราะเขาไม่สยบยอมเป็นทาสเหมือนในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นเหตุให้เขาถูกดำเนินคดี ณัชกฤชสู้คดีถึงสามชั้นศาล ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเขามีความผิด ต่อมาศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษายกฟ้อง ก่อนที่ศาฎีกาจะพิพากษาให้มีความผิด โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า

"ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ดังได้กล่าวในเบื้องต้นมาแล้วว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้วประชาชนก็ยังเคารพพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้"

คดีหมิ่นประมาทพระนเรศวร
 
ในเดือนตุลาคม 2557 กลุ่มสภาหน้าโดมจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการชำระ และสร้าง” ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระเข้าร่วมเสวนาด้วย ตอนหนึ่งของการเสวนาสุลักษณ์แสดงความเห็นทำนองว่า
 
ความจริงในทางประวัติศาสตร์ว่าอาจจะมีการต่อเติม ตัดออก หรือเขียนขึ้นใหม่ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ความจริงอาจจะไม่ตรงกันเสมอไป โดยยกตัวอย่างกรณีพระนเรศวรชนช้างกับพระมหาอุปราชา โดยความจริงด้านหนึ่งบอกว่าพระนเรศวรทรงท้าพระมหาอุปราชาชนช้างแล้วทรงได้ชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาด้วยการฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่ง แต่ก็มีประวัติศาสตร์ที่เล่าความจริงอีกชุดหนึ่งที่ถูกเล่าในฝั่งประเทศพม่า เล่าว่าพระนเรศวรใช้ปืนยิงพระมหาอุปราชา สรุปแล้วความจริงคืออะไร แล้วเราจะเชื่อความจริงแบบไหน

พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลินเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษสุลักษณ์ต่อสน.ชนะสงคราม สุลักษณ์ถูกออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาก่อนที่พนักงานสอบสวนจะมีความเห็นสั่งในเดือนตุลาคม 2560 ต่อมาในเดือนมกราคม 2561 อัยการศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาโดยให้เหตุผลว่าหลักฐานไม่พอฟ้องคดี https://prachatai.com/journal/2018/01/74980 เนื่องจากไม่มีการเปิดเผยเอกสารของทางราชการ จึงไม่ทราบว่าประโยคที่ผู้กล่าวหาทั้งสองคนนำมาร้องทุกข์กล่าว

โทษสุลักษณ์ที่ปรากฎตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาคือประโยคใด

คดี "อานันท์" คุยเรื่องราชวงศ์กับเพื่อน

“อานันท์” เป็นนามสมมติของชายที่ถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ในปี 2555 โดยตำรวจยยังไม่สั่งฟ้อง แต่หลังรัฐประหารในปี 2557 อานันท์ถูกนำตัวกลับมาดำเนินคดีอีกครั้ง ในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ศาลฎีกาพิพากษาว่า อานันท์มีคำผิดฐานหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพฯและพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยวินิจฉัยโดยอิงเอกสารจากสำนักพระราชวังว่า "รัชทายาท" หมายถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเพียงพระองค์เดียว และประเด็นนี้จบไปที่ศาลชั้นต้นแล้ว

ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า "ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดในภาค 2 ลักษณะ 1 ของประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดเกี่ยวกับ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งพันตรีสมศักดิ์เป็นผู้กล่าวโทษให้ดําเนินคดีแก่จําเลยโดยชอบแล้ว แต่คดีไม่อาจลงโทษจําเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้เนื่องจากไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า จําเลยพูดใส่ความพระองค์ท่านทั้งสองจริง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เมื่อความผิดทั้งสองฐานเป็นความผิดที่รวมการกระทําหลายอย่างซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ การกล่าวโทษในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พนักงานสอบสวนทําการสอบสวนไว้โดยชอบแล้ว จึงเท่ากับมีการสอบสวนโดยชอบในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย ดังนั้น เมื่อมีการสอบสวนความผิดทั้งสองฐานแล้ว โจทก์ย่อมมีอํานาจฟ้องความผิดทั้งสองฐาน และศาลมีอํานาจลงโทษจําเลยฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ได้..."
 
ความน่าสนใจของคำพิพากษาฎีกานี้จึงอยู่ที่การวางบรรทัดฐานว่า "รัชทายาท" หมายถึงผู้ที่จะสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระมหากษัตริย์พระองค์ที่กำลังครองราชย์อยู่ ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้หมายถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ การหมิ่นประมาทสมเด็จพระเทพฯและพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ จึงเป็นความผิดตามมาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 112

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 ถือเป็นความผิดต่อตัว ต้องให้ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีเท่านั้นเท่านั้นที่มีสิทธิแจ้งความดำเนินคดี และในกรณีนี้ทั้งสองพระองค์ก็ไม่ได้ทรงเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีจำเลย แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดี แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทจะเป็นความผิดส่วนตัว แต่ก็มีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ
 
คดี "บุปผา" โพสต์เฟซบุ๊กหมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์

"บุปผา" ถูกฟ้องว่าโพสต์ภาพและข้อความในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์รวม 13 ข้อความ แม้ต่อมาศาลจะยกฟ้อง"บุปผา" ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเห็นว่าจำเลยมีอาการทางจิตและไม่ได้มีเจตนา และลงโทษจำเลย

ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14(3) แทน ในตอนหนึ่งของคำพิพากษาคดีนี้ ศาลจังหวัดชลบุรีวินิจฉัยถึงขอบเขตของคำว่า "รัชทายาท" ไว้ด้วยว่า
 
"คดีนี้ เกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อสถาบันพระมหากษัติรย์ อันเป็นสถาบันหลักที่ปวงชนชาวไทยต่างรู้ด้วยจิตสำนึกว่า หาอาจมีบุคคลใดล่วงละเมิดมิได้ ความเป็นสถาบันนอกจากหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี แล้ว ยังหมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

คำว่า รัชทายาทตามพจนานุกรมฉบับราชฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึงผู้ที่จะสืบราชสมบัติ มิได้ระบุถึงคำว่า “สิทธิ” (Right) แต่อย่างใด เมื่อประมวลประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 112 เพื่อการตีความแล้วย่อมต้องสอดคล้อง เชื่อมโยง ต่อเนื่อง กับคำว่า “พระมหากษัตริย์” “พระราชินี” ที่บัญญัติไว้ก่อนหน้าคำว่า “รัชทายาท” ดังนี้ คำว่า “รัชทายาท” แห่งมาตรา 112 จึงหาใช่หมายความเพียงลำพังแต่พระองค์ใดพระองค์หนึ่งไม่
 
ดังนั้น มาตรา 112 ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาจัดลำดับไว้ในลักษณะ 1 หมวด 1 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และที่สำคัญเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัขทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่างหากจากความผิดฐานดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท บุคคลหรือตำแหน่งอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างชัดแจ้งแล้ว และเห็นว่าเป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแท้จึงเห็นว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระองค์เจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงอยู่ในความหมายของคำว่า “รัชทายาท” แห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่มิได้ก้าวล่วงไปวินิจฉัยถึงคำว่า พระรัชทายาท ตามกฎมลเฑียรบาลแต่อย่างใด"
 
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมา ในปี 2564 มีกรณีนักกิจกรรม 5 คน แขวนป้ายผ้าเขียนข้อความ "งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” ( งบสถาบันกษัตริย์มากกว่าวัคซีนCOVID19 ) ที่สะพานรัษฎาภิเศก จ.ลำปาง ซึ่งข้อความในป้ายไม่ได้เขียนถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ก็ถูกดำนินคดีมาตรา 112 ด้วย
 
ประเด็นที่สอง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ครอบคลุมการกระทำลักษณะใดบ้าง

ตัวบทของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดฐานความผิดไว้ชัดเจนว่าผู้ใด ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย
 
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ. 2554 มีความหมายของทั้งสามคำ ดังนี้
ดูหมิ่น ก. แสดงกิริยาท่าทาง พูด หรือเขียน เป็นเชิงดูถูกว่ามีฐานะตํ่าต้อยหรือไม่ดีจริงไม่เก่งจริงเป็นต้น, หมิ่น ก็ว่า.

หมิ่นประมาท น. เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง.

ส่วนคำว่าแสดงความอาฆาตมาดร้ายไม่มีคำศัพท์บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มีเพียง
อาฆาตมาดร้าย ก. พยาบาทมุ่งจะทำร้ายให้ได้
 
หากตีความกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเคร่งครัด การกระทำที่อยู่ในข่ายจะถูกลงโทษโดยมาตรานี้ จะต้องมีเจตนาแสดงออกไม่ว่าจะโดย การพูด การเขียน หรือการแสดงท่าท่าง ในลักษณะดูถูก ว่าร้าย ใส่ความบุคคลผู้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ หรือแสดงท่าทาง พยาบาทหรือมุ่งร้ายต่อผู้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ เท่านั้น

ตามหลักกฎหมายพื้นฐาน การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความโดย “เคร่งครัด” หมายความว่าต้องตีความให้แคบ ไม่ให้ขยายออกไปเอาผิดการกระทำนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดด้วย ดังนั้น ในทางทฤษฎีการกระทำที่ไม่ชัดเจนว่าเข้าข่ายความหมายเหล่านี้ ต้องไม่ผิดตามมาตรา 112

แต่ในทางปฏิบัติพบข้อมูลว่า มีการดำเนินคดีกับกระทำลักษณะที่ยังไม่ชัดเจนว่า เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 เพราะจากการกระทำที่เกิดขึ้นยังไม่แสดงชัดเจนถึง “เจตนา” ที่แท้จริงได้ เช่น การแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ การทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงการพูดหรือการแสดงออกแบบอ้อมๆ การเลียนแบบพฤติกรรม

การแอบอ้างพระนามเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
 
การแอบอ้างสถาบันพรระมหากษัตริย์เพื่อเรียกรับผลประโยชน์เป็นการส่วนตัว เป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายและอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ฉ้อโกง” แต่ไม่แน่ชัดว่า เข้าข่าวความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้าย เพราะอาจไม่ได้มุ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกียรติยศของผู้ได้รับการคุ้มครองตามอาญามาตรา 112 หากแต่มุ่งหมายเอาประโยชน์ส่วนตน ในยุคของ คสช. มีกระบวนการ “กวาดล้าง” ผู้กระทำผิดเหล่านี้ด้วยมาตรา 112 เช่น

กรณีของสุริยัน สุจริตพลวงศ์หรือ “หมอหยอง”, พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และ จิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ซึ่งถูกจับกุมด้วยอำนาจพิเศษของ คสช. ทั้งสาม ถูกควบคุมตัวและปรากฎตัวที่ศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 ในสภาพที่ถูกโกนศีรษะ วันที่ 23 ตุลาคม 2558 พ.ต.ต.ปรากรมฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอระหว่างถูกคุมขัง และต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2558 สุริยันเสียชีวิตในเรือนจำเดียวกันด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
ผู้จัดการออนไลน์ระบุพฤติการณ์ของคดีนี้ว่า ในเดือนมิถุนายน 2558 ผู้ต้องหากับพวก แอบอ้างสถาบันเบื้องสูง ขอรับการสนับสนุนจัดทำสิ่งของและได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท, เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 และวันที่ 3 กันยายน 2558 ผู้ต้องหาทั้งสามร่วมกันแอบอ้างเป็นผู้แทนพระองค์ นำการ์ดขอบคุณไปมอบให้กับบริษัทเอกชน และในวันที่ 28 กันยายน 2558 ผู้ต้องหา กับพวก ได้แอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเรียกและรับผลประโยชน์จากภาคเอกชน เป็นต้น
 
วันที่ 1 สิงหาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษาจำคุกจิรวงศ์ จำเลยคนเดียยวที่เหลืออยู่ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลา 7 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 3 ปี 6 เดือน
 
นอกจากนี้ก็มีกรณีของบุญธรรม บุญเทพประทาน หรือ ป๋าชื่น กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท บ้านชุมทอง จำกัด และบริษัท เขาใหญ่ เบเวอร์ลี่ฮิลล์ จำกัด ที่ถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างสถาบันเพื่อหาประโยชน์กับบุคคลที่สาม ซึ่งถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 12 ปี แต่ก็ไม่ปรากฎรายละเอียดว่าจำเลยกระทำการแอบอ้างในลักษณะใดและพฤติการณ์ใดที่ศาลชี้ว่าการแอบอ้างถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย
 
ทั้งนี้ระหว่างปี 2557 - 2558 ไอลอว์ยืนยันได้ว่ามีผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากพฤติการณ์แอบอ้างสถาบันอย่างน้อย 37 คน โดยมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล จำเลยบางคนอย่างน้อยสองคดีพยายามปิดบังเรื่องคดีความและติดต่อเพื่อขอให้ลบชื่อออกจากฐานข้อมูลออนไลน์ของไอลอว์
การเผาหรือทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติ

มีกรณีการเผา - ทำลายซุ้มเฉลิมเพราะเกียรติ ที่จำเลยถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 หลายกรณี
 
สมัคร เกษตรกรชาวจังหวัดเชียงราย ถูกกล่าวหาว่า ใช้มีดพร้าทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่า จำเลยมีอาการคล้ายคนมึนเมาและมีกลิ่นสุรานอกจากนั้น พยานอีกหลายยปากบอกว่า จำเลยมีอาการทางจิตและเคยทำลายทรัพย์สินของตัวเองมาก่อน จึงยังมีข้อน่าสงสัยว่า จำเลยทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติโดยมีเจตนาไม่ หรือควรจะเป็นเพียงความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น ศาลทหารเชียงรายพิพากษาจำคุกสมัคร ตามมาตรา 112 เป็นเวลา 10 ปีก่อนลดโทษจำคุกเหลือ 5 ปี เพราะจำเลยรับสารภาพ

อีกกรณีหนึ่ง ที่จังหวัดขอนแก่นในปี 2560 มีกลุ่มวัยรุ่นวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 หลายแห่ง ผู้ต้องหาถูกจับกุม 6 คน แยกดำเนินคดีรวม 2 คดี จำเลยให้การรับสารภาพในเดือนมกราคม 2561 ศาลจังหวัดพลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด รวมทั้งตามมาตรา 112 โดยในตอนหนึ่งของคำพิพากษา ศาลวินิจฉัยว่า "จำเลยทั้ง 6 ร่วมกันวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย นับเป็นการกระทำที่อุกอาจร้ายแรง ไม่มีเหตุรอการลงโทษ" และในคำพิพากษาคดีที่สองตอนหนึ่งว่า "การกระทำของจำเลยทั้ง 4 ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทย จำเลยกระทำความผิดโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย พฤติการณ์มีความร้ายแรง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างจึงสมควรให้ลงโทษสถานหนัก" อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน 2561 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยเฉพาะข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยให้เหตุผลเหมือนกันว่า ไม่ปรากฏว่า "จำเลยทั้งหกมีความมุ่งหมายที่จะกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112"

ในปี 2563 หลังมีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและราษฎร มีกรณีนำสติกเกอร์ชื่อเพจเสียดสีการเมือง กูkult ไปปิดทับพระบรมฉายาลักษณ์ระหว่างการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร, มีกรณีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดลำปาง และกรณีการพ่นสีข้อความว่า “ยกเลิก112” ที่รูปของพระบราวงศานุวงศ์ ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และในเดือนมีนาคม 2564 แอมมี่ ไชยอมร ถูกจับจากการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

การกระทำลักษณะเลียนแบบ

หลังเกิดกระแสการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันตั้งแต่หลังเดือนสิงหาคม 2563 มีผู้ถูกกล่าวหาในความผิดตามมาตรา 112 จากกรณีแต่งชุดไทยร่วมกิจกรรม “เดินแฟชัน” ที่ถนนสีลม ซึ่งตำรวจอ้างว่า ผู้ต้องหาแต่งกายและแสดงท่าทางประกอบการเดินแบบในลักษณะที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่า เป็นการเยี่ยมเยียนผสกนิกรของสมเด็จพระราชินี เป็นล้อเลียนสมเด็จพระราชินี ทำให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นการดูหมิ่นและเกลียดชัง
 
นอกจากนั้นมีกรณี นักกิจกรรมสี่คนและเยาวชนสองคนแต่งชุด “ครอปท็อป” ไปเดินห้างสยามพารากอน มีการแสดงออกให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่า กำลังแสดงเป็นรัชกาลที่สิบและพระราชินี พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ผู้ต้องหาสองคนยังถือลูกโป่งรูปสุนัข และบอกประชาชนทั่วไปว่า ถือสุนัขชื่อ “ฟ่องฟู” กับ “ฟูฟ่อง” เพื่อสื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการล้อเลียนรัชกาลที่ 10 ที่มีสุนัขทรงโปรดชื่อ “ฟูฟู” ทั้งผู้ต้องหายังเขียนข้อความบนร่างกาย เช่น ยกเลิก 112, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น

ดูอ้างอิงในบทความบนเว็บไซต์ https://freedom.ilaw.or.th/node/915