วันพุธ, พฤษภาคม 26, 2564

ราคาคุย... พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้นโยบายไว้ว่าต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้วันละ 5 แสนคน แต่อัตราเฉลี่ยในรอบ 87 วันที่ผ่านมา ฉีดได้วันละ 34,762 คน


ขณะที่รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ประชาชนจำนวนมากกลับไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ขณะที่อีกส่วนตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนจากจีน

แผนฉีดวัคซีนเพื่อสร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่" ของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกประกาศให้เป็น "วาระแห่งชาติ" พร้อมกำหนดให้วันที่ 7 มิ.ย. เป็นจุดเริ่มต้นในการปูพรมฉีดทั้งแผ่นดิน

พล.อ. ประยุทธ์ให้นโยบายไว้ว่าต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้วันละ 5 แสนคน หรือเดือนละ 15 ล้านโดส แต่ข่าววัคซีนขาดแคลน ไม่มาตามนัด หรือฉีดครบแล้วแต่ยังติดโรค หรือได้รับผลข้างเคียงรุนแรง ก็ออกมาไม่เว้นแต่ละวัน

ซิโนแวค การทูตวัคซีนของจีน กับการเปลี่ยนภาพ "ผู้ร้าย" เป็น "ผู้ให้"
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับผลข้างเคียงที่พึงระวัง
รู้จักวัคซีนโควิดของ "โมเดอร์นา" ที่รัฐอนุมัติให้ รพ.เอกชนจัดหาเป็นทางเลือก
สปุตนิก วี ของรัสเซียที่เตรียมผลิตในจีน อินเดีย และยุโรป กำลังเขย่าความสามัคคีของชาติยุโรปอย่างไร

บีบีซีไทยรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในไทยมาไว้ ณ ที่นี่

ไทยฉีดวัคซีนไปถึงไหนแล้ว

87 วันนับจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เมื่อ 28 ก.พ. 2564 ปรากฏว่ามีคนไทย 3,024,313 คนที่ได้รับวัคซีนแล้ว หรือคิดเป็น 4.32% ของคนไทยทั้งประเทศและประชากรแฝงรวม 70 ล้านคน เท่ากับว่าอัตราการฉีดวัคซีนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34,762 คน/วัน ห่างจากเป้าหมายของ พล.อ. ประยุทธ์ไปมหาศาล

ในจำนวนนี้มีเพียง 980,190 คน หรือคิดเป็น 1.40% ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และอีก 2,044,123 คน หรือคิดเป็น 2.92% ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว (ข้อมูล ณ 25 พ.ค. 2564)

  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 1.7 ล้านคน
  • ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน 6.1 ล้านคน
  • ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.1 ล้านคน
  • เจ้าหน้าที่ควบคุมโควิดและมีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย 15,000 คน
สองเดือนต่อมา เมื่อวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวคทยอยเดินทางมาถึงไทย เดือน มี.ค. สธ. ระบุจะเร่งฉีดวัคซีนสัญชาติจีนจำนวน 2 ล้านโดสนี้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดเสี่ยง ภายใน มี.ค.-พ.ค. จากนั้นครึ่งปีหลัง เมื่อวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสมาถึง ก็จะกระจายให้ทุกจังหวัดต่อไป

อย่างไรก็ตามหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามนับจากเดือน เม.ย. ทำให้แผนบริหารจัดการวัคซีนของต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการจัดสรรวัคซีนให้พื้นที่แพร่ระบาดหนักเพื่อหยุดวงจรการแพร่เชื้อโรค อาทิ ระดมฉีดให้พนักงานสถานบันเทิงหลังเกิด "คลัสเตอร์ทองหล่อ", ระดมฉีดให้ชาวชุมชนแออัดหลังเกิด "คลัสเตอร์คลองเตย", ระดมฉีดให้ผู้ต้องขังหลังเกิด "คลัสเตอร์เรือนจำ" ฯลฯ

ในการจัดสรรและกระจายวัคซีนโควิด-19 ตามแผน "ปูพรมฉีด" ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ 7 มิ.ย. นี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจะคำนึงถึง 4 ปัจจัย ได้แก่ จำนวนวัคซีนที่มี, จำนวนประชากร, สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และกลุ่มเป้าหมาย เช่น ครู แรงงาน

วัคซีนในมือไทยมียี่ห้อใดบ้าง

ที่ผ่านมา วัคซีนต้านโควิด-19 ที่กระจายอยู่ในไทยในเวลานี้มี 2 ยี่ห้อ รวม 6,117,000 โดส แบ่งเป็น

  • วัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำนวน 6 ล้านโดส เดินทางถึงไทยแล้ว 8 ล็อต ระหว่าง 24 ก.พ. ถึง 20 พ.ค.
  • วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เดินทางจากเกาหลีใต้ถึงไทยล็อตแรกและล็อตเดียว เมื่อ 24 ก.พ. จำนวน 117,000 โดส
ในอนาคต วัคซีนที่จะนำมาให้บริการประชาชนชาวไทยในปีนี้ตามแผนบริหารจัดการวัคซีนของ สธ. ที่ประกาศไว้ มีอีกอย่างน้อย 64 ล้านโดส แบ่งเป็น

  • วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (SBS) จำนวน 61 ล้านโดส จะทยอยออกมา 7 ล็อต (มิ.ย. 6 ล้านโดส, ก.ค. 10 ล้านโดส, ส.ค. 10 ล้านโดส, ก.ย. 10 ล้านโดส, ต.ค. 10 ล้านโดส, พ.ย. 10 ล้านโดส และ ธ.ค. 5 ล้านโดส)
  • วัคซีนของซิโนแวค จำนวน 3 ล้านโดส จะเดินทางถึงไทยเพิ่มเติมอีกในเดือน มิ.ย.
แอสตร้าเซนเนก้า 1.7 ล้านโดสหายไปไหน

ตลอด 2 วันมานี้ มีคำถามเกิดขึ้นว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1.7 ล้านโดสที่ สธ. เคยระบุเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ว่ามาถึงไทยก่อนกำหนดในเดือนนี้ (ตัดมาจากยอด 6 ล้านโดส ซึ่งตามแผนจะมาถึง มิ.ย.) หายไปไหน มีมือดีแทรกคิวตัดเอาวัคซีคไปก่อนหรือไม่

แม้ สธ. ไม่เคยออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนล็อตนี้อย่างเป็นทางการ ทว่ามีเอกสาร "แผนการบริหารจัดการวัคซีนประจำเดือน พ.ค." ซึ่งอ้างว่าจัดทำโดยกรมควบคุมโรค ณ 14 พ.ค. ถูกเผยแพร่ในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ และไม่มีผู้บริหารกระทรวงคนใดออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่เอกสารจริง

เอกสารดังกล่าวระบุว่า SBS คาดการณ์ว่าจะจัดส่งวัคซีน 5 แสนโดส ได้ในวันที่ 21 พ.ค. ก่อนนำไปกระจายฉีดใน กทม. และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ระบาด พร้อมระบุกลุ่มเป้าหมายไว้เสร็จสรรพ ประกอบด้วย กทม. จำนวน 3 แสนโดส, จัดสรรเป็นเข็มที่ 2 ใน 7 จังหวัด จำนวน 1 แสนโดส, นักการทูต/องค์กรระหว่างประเทศ จำนวน 2 หมื่นโดส ส่วนที่เหลืออีก 8 หมื่นโดส เก็บไว้ส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้ปรากฏข้อมูลข่าวสารจาก รพ. หลายแห่งว่า "วัคซีนไม่มาตามนัด" จนต้องแจ้งเลื่อนนัดหมายการฉีดวัคซีนให้ประชาชน

รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดย ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ รพ. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 22 พ.ค. ตัดพ้อว่า "รู้สึกว่าเรากำลังถูกเท" ทั้งที่กรมควบคุมโรครับปากว่าจะให้วัคซีนแก่บุคลากรของ มธ. สวทช. และเอไอที แต่จู่ ๆ ก็บอกว่าไม่มีแล้ว

วชิรพยาบาล โรงพยาบาลสังกัด กทม. ออกประกาศเลื่อนวันรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-4 มิ.ย. ออกไปก่อน "เมื่อได้รับวัคซีนมาทาง รพ. จะแจ้งให้ทราบต่อไป"

รพ.จุฬาภรณ์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกประกาศว่าตั้งแต่ 24 พ.ค. ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของทาง รพ. มีเฉพาะวัคซีนซิโนแวคเท่านั้น หากต้องการรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถแจ้งเลื่อนวันนัดรับวัคซีนได้

คำชี้แจงจากนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. กับ THE STANDARD คือ "เดิมทีเขาจะส่งให้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องค่าเบี่ยงเบนตามเอกสารนิดหน่อย ทำให้อาจต้องไปส่งมอบเดือน มิ.ย. ทีเดียว"

แต่ถึงกระนั้นทั้ง รมช. และ รมว.สธ. ต่างแสดงความมั่นใจว่าการส่งมอบวัคซีนของบริษัทแอสตร้าฯ จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในเดือน มิ.ย. โดยนายอนุทินแจกแจงด้วยว่าบริษัทแอสตร้าฯ "จะเริ่มจัดส่งให้ภายในเดือน มิ.ย. แต่ไม่ได้บอกว่าวันที่ 1 มิ.ย." อีกทั้งมีระบุไว้ในสัญญาว่าถ้าวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยไม่ทัน ต้องไปจัดหาวัคซีนของแอสตร้าฯ จากแหล่งผลิตอื่นมาส่งให้เรา ดังนั้นจะมีวัคซีนฉีดให้ประชาชนตามกำหนดแน่นอน

อ่านต่อที่
https://www.bbc.com/thai/thailand-57243640
.....