วันพุธ, พฤษภาคม 26, 2564

7 ปีแล้วนะศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน



May Poonsukcharoen
Yesterday at 9:56 AM ·

7 ปีแล้วนะศูนย์ทนายฯ (ยาวมาก แต่อยากบันทึกไว้)

++ฤกษ์กำเนิดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ++
หลังจากวันที่ 23 พ.ค. 57 มีคนถูกจับ วันที่ 24 พ.ค.57 เราออกตามเพื่อนร่วมองค์กร ณ ขณะนั้นที่ถูกจับไป ในขณะที่อีกฝั่งมีงานประชุมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนพอดี ฝั่งประชุมพยายามผลักให้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจขึ้นมาใต้ร่มองค์กร แต่ว่าที่ประชุมบางส่วนประเมินว่า องค์กรไม่พร้อมรับสถานการณ์ขณะนั้น จึงเพียงแต่ให้จัดทำคู่มือการถูกเรียกรายงานตัวขึ้นแทน
ฝั่งเราที่ตามไปถามหาตัวเพื่อนร่วมงานที่จริงๆไม่ได้รู้จัก แต่เป็นคนเสือกก็เลยไปตามกับเค้าด้วย ถถถ เอาจริงคือเคยทำงานประเด็นเรื่องซ้อมทรมานกับ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) เลยรู้ว่าช่วงเจ็ดวันแรกที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกนั้นอันตรายเพราะมีปัญหาการเข้าถึงตัวผู้ถูกจับ เราตามไปหลายแห่งจนพบที่กองปราบ แต่ไม่ทันรับทราบข้อหาพี่ปุ๊ ธนพลถูกเรียกรายงานตัว เราเลยโทรเรียกแอน พี่หมวย พี่เกล้า มาที่กองปราบ ส่วนตัวเราขับรถอย่างซิ่งไปกับพี่ปลาตามขบวนทหารไป คือขับชิดติดขบวนเลยเพราะไม่รู้รถจะพาไปสโมสรกองทัพบกจริงมั้ย และถ้าไม่ได้ตามติดขบวนไปถึงสโมสรกองทัพบกอาจเข้าไม่ได้ สุดท้ายได้เข้าแต่ถูกยึดโทรศัพท์และถูกแยกให้รออีกห้อง ไม่ได้เข้าไปในห้องรายงานตัวและไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทนายความไร้ประโยชน์มากๆตอนประกาศกฎอัยการศึก พี่ปุ๊ แว้บมาที่ห้องรอแป๊บนึงพร้อมอ.สุรพศ และต้องกลับเข้าไปอีก รอจนเกือบค่ำคิดว่าน่าจะต้องเข้าค่ายทหารแน่และเราไม่รู้อะไรเลย เลยชวนพี่ปลากลับ เอาตัวเองรอดก่อน
(จริงๆช่วงนั้นคดีปอนด์มีพี่หลายคนที่พยายามยื่นมือเข้ามาช่วย แต่ช่วยโดยการบอกให้รับสารภาพ What !!! เนี่ยเลยต้องทำตัวไม่น่ารักสำหรับผู้ใหญ่เพราะไม่ยอมให้รับสารภาพ แล้วคือผู้หวังดีเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นทนายด้วยนะ)
กลับมาที่ออฟฟิศ Enlaw ติดประกาศเคอร์ฟิวอยู่ที่นั่นกันเป็นสิบ นั่งทำคู่มือ ประเมินสถานการณ์ และคิดว่ายังไงก็ต้องตั้งศูนย์ขึ้นมา (ตอนนั้นยังไม่มีชื่อ) ใครไม่พร้อม หมอพร้อม อ่อไม่ใช่ คืนวันเสาร์ข้ามวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ค.57นั่นล่ะ เราเลยกำเนิดมา วันจันทร์ต่อมาก็ชวนหลายส่วนมาคุยกันด้วย มีประเด็นตอนนั้นที่ต้องเลือกว่าเป็นองค์กรหลวมๆที่มีงานหลายส่วนรวมนักกิจกรรมด้วยเลยมั้ย แต่พวกเราเลือกตั้งจากงานคดีก่อน เพราะประเมินสถานการณ์ว่านาทีนั้นงานที่ทำได้ ไม่ถูกปิดแน่ก็คืองานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายนี่แหละ ตอนนั้นมีหลายองค์กรเข้ามาช่วยสนับสนุนและถือเป็นผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง ilaw ที่ดูงานข้อมูลให้ในช่วงแรกๆ HRLA CrCF Thainetizen และอีกหลายๆคน
ความจริงหลังจากตั้งศูนย์ได้อาทิตย์นึงแล้ว มีการประชุมนักกฎหมายสิทธิอีกทีเพื่อคุยเรื่องภายในองค์กรและเรื่องศูนย์ฯ และจะตั้งกรรมการขึ้นมา แต่คนทำงานตอนนั้นไม่เห็นด้วย และไม่อยากให้เกิดสภาพแบ่งแยกกันทำงานเหมือนปี 2553 เพราะครั้งนี้เหตุการณ์ต่อเนื่องยาวกว่า กำลังเราไม่พอที่จะแตกแยก (จริงๆมองย้อนกลับไปถือเป็นจุดเปลี่ยน หรือเป็นจุดแยกนักกฎหมายรุ่นใหญ่กับรุ่นใหม่ในตอนนั้นเหมือนกัน)
++ช่วงตั้งไข่++

ช่วงแรกๆยังระบบอาสา มีเคสทนายที่ว่างก็จะไปติดตาม จนได้แจมมาช่วยประสานงานในช่วงแรกๆ มีเจมาเป็นอาสาสมัครมอส.คนแรก(หน้าตาใสๆ ยิ้มแย้ม พูดน้อย ต่างจากตอนนี้มาก) หลังจากนั้นจากเดิมตอนตั้ง ที่ประเมินว่าเฉพาะกิจและทำงานในองค์กรเดิมคู่ไปด้วย หลายคนก็ย้ายจากองค์กรตัวเอง ท็อป แอน จูน เรา พี่ๆในองค์กรเดิมที่ทำอยู่ในหลายๆองค์กรคงรู้สึกอะไรอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่ทุกคนย้ายมาทำเพราะเห็นว่างานนี้มันไม่จบง่ายๆและมันก็เป็นช่วงเวลาสำคัญ หลังจากนั้นก็ชวนคนโน้นคนนี้มาทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ช่วงแรกๆมันมีความตื่นเต้นและโกรธแค้นอยู่พอสมควร เดี๋ยวเรียกรายงานตัว ต้องรอลุ้นรายชื่อจะมาดึกๆ คนที่ถูกเรียกทั้งนักการเมือง นักกิจกรรม และคนที่เกี่ยวข้อ 112 ไปเยี่ยมลูกความอยู่ลูกความให้ช่วยประเมินก็เปิดเจอ เอ้าประกาศศาลทหาร อห.(ประกาศ 25 พ.ค.) ช่วงแรกๆก็ยังมีนักกิจกรรมและนักศึกษาทั้งหลายไปแสดงออก มีคนถูกจับ และถูกปิดกั้นการทำกิจกรรมเรื่อยๆ
++เหตุการณ์ที่จำได้ติดตา++

ปี 2557 เราจำ Event 1 เดือน และ Event 100 วันรัฐประหาร ได้ดี Event 1 เดือน ICJ เป็นคนจัด พี่เอ๋ไปร่วม เวทีนั้นจัดได้เข้าใจว่าทหารยังงงๆไม่รู้ว่าเราทำอะไร นักข่าวต่างชาติถามพี่เอ๋ว่า คุณไม่กลัวเหรอ พี่เอ๋ตอบง่ายๆว่า “I am a lawyer” เหมือนตอบไม่ตรงคำถาม แต่เป็นคำตอบที่ต้องตีความต่อว่า เพราะเราเป็นนักกฎหมาย เราจึงต้องไม่กลัวในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนในทางกฎหมาย
ส่วน Event 100 วันนี่เดือดสุด ตอนนั้นการเอาตัวเข้าค่ายทหารเจ็ดวันก็ยังอยู่ ปกปิดสถานที่ควบคุมตัว ตอนแรกหลายองค์กรร่วมจัด แต่พอทหารบีบหลายองค์กรก็ถอนตัว เพราะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องดึงดันเพื่อจัด แต่เราก็ยืนยันว่าต้องจัดเพราะถ้าแนวหลังสุดนี้จัดไม่ได้ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว แม้ทหารจะโทรมาขู่พี่เอ๋ต่างๆนานา แต่สุดท้ายคนต้องออกหน้าสื่อคือตำรวจ ต้องเอาจดหมายขอความร่วมมือมาให้ถึงที่ “ความยุติธรรมปิดปรับปรุง” เป็นหัวข้องานที่บรรลุผ่านหน้าสื่อโดยไม่ต้องนั่งพูดเลย คือยืนแถลงแทน ขำตรงที่อานนท์ไปมองหน้ากับตำรวจก็ยืนจ้องอยู่อย่างนั้นเป็นนาทีไม่คุยไร
++คดี 14 นักศึกษา และคดีค้นรถจูน++

คดี 14 นักศึกษาสืบเนื่องมาจากคดีหอศิลป์และคดีที่ขอนแก่น(ครบรอบปีรัฐประหาร) 24 มิ.ย.58 นักกิจกรรม 7 คนถูกสน.ปทุมวันเรียกไปสน.และกลุ่มดาวดินก็มาให้กำลังใจ ซึ่งวันนั้นน้องก็ไปแต่ไม่ได้เข้าไปในสน.ไปทำกิจกรรมที่สน.พอแยกย้ายกลับตำรวจตามเลยไปนอนรวมกันที่สวนเงินมีมาแล้วก็เฝ้าอยู่อย่างนั้น วันที่ 25 มิ.ย.น้องออกมาทำกิจกรรมที่อนุสาวรียประชาธิปไตยกลายเป็นคดี 14 NDM และนำมาสู่การจับกุมในเย็นวันที่ 26 มิ.ย.
เย็น 26 มิ.ย.ประเมินแล้วว่าจับแน่เพราะนอกเครื่องแบบจำนวนมากมารอปั๊มฝั่งตรงข้ามรวมทั้งบุรินทร์ ปกติเราจะขับรถ แต่เราไม่คุ้นทางแถวสวนเงิน เราเลยให้จูนเอารถไป พอไปถึงสักพักตำรวจก็เข้าจับกุม ตอนนั้นที่จำได้มีแอน อานนท์ เรา จูน เป็นการจับที่โกลาหลพอประมาณ ยังจำภาพที่โรมแอ๊คท่าอ่านหนังสือรอให้ตำรวจมาแสดงหมายจับได้อยู่ จำตอนที่ตำรวจบล๊อคตรงทางเข้าสวนเงิน ไม่ให้คนที่เหลือตามออกมาและพวกเราก็มองหน้ากันว่าดัน ก็ดันออกได้ เราตามกันไปที่สน.พระราชวัง ซึ่งยังไม่ทันได้แจ้งข้อหา ตำรวจก็เอาตัวไปฝากขังเลย ซึ่งก็อเมซิ่งมากเพราะตอนจับก็เลยเวลาทำการแล้ว แต่ศาลทหารยังแสตนบายรอพวกเราอยู่เพื่อฝากขังเป็นกรณีพิเศษ คืนนั้นทนายไม่แม้แต่จะได้เตรียมครุยไป แต่ก็ต้องทำหน้าที่ตอนดึกดื่น และโรมแถลงในศาลน่าประทับใจ
ออกมาจากศาลทหารเกือบเที่ยงคืน ตำรวจก็ขอค้นรถจูน เพราะว่าน้องๆต้องเข้าเรือนจำเราเลยเอาทรัพย์สินทั้งหมดไปไว้ในรถจูน (ตอนนั้นคือดึกแล้วไม่มีใครเข้าศาลทหารได้นอกจากทหารตำรวจ ทนาย และอ.ปริญญา) พวกเราไม่ยอมให้ค้นรถเพราะเห็นว่าไม่มีเหตุ แต่ตำรวจตัดสินใจจะยกรถไปสน. แล้วเปลี่ยนใจล็อคล้อไม่ให้ออกแทน จูน ออม เรา แอน พี่เหน่ง เลยได้นอนเฝ้ารถในคืนนั้น ก่อนตำรวจจะเอาหมายศาลมาช่วงสายๆ ปรากฏรีบจัดพอได้มือถือปุ๊บยังไม่ทำเอกสารใดๆ ตำรวจนายนึงก็ฉกมือถือรีบไปสน.ไม่สนใจพิสูจน์พยานหลักฐานที่ตัวเองเรียกมา อย่างฮา ห่วงโซ่พยานหลักฐานขาดทันที
เราลากจูนไปแจ้งความตำรวจในคืนนั้นทั้งที่นางก็เหนื่อยแล้ว พิมพ์คำให้การให้เองเลยด้วย ตำรวจยื้อมาทั้งวันกว่าจะยอมรับแจ้งความ แถมขู่กลับว่าอย่างนี้จะไม่จบจะมีคดีตามมาซึ่งก็ตามมาจริง เรารู้ว่าอย่างไรถ้ามีคดีแจ้งความเท็จก็ไม่ผิดเพราะเราแจ้งจริง แต่ก็ไม่คิดว่าจะแถมคดีอื่นๆมาด้วย ซึ่งสู้คดีอย่างไรก็ชนะแน่ แต่มันเป็นภาระและบั่นทอนคนทำงานพอสมควร เป็น dilemma สำหรับตัวเองด้วยเหมือนกันว่าเพราะบางทีก็คิดว่าเรามีส่วนให้จูนโดนคดีมั้ยนะ แต่ก็คิดว่าเป็นเพราะเผด็จการมากกว่า กอดจูนนะ
++คดีแปดแอดมิน++

อีกเหตุการณ์ที่จำได้แม่น คือ คดีแปดแอดมินเพจเรารักประยุทธ์ (ต่อมาคดีนี้สกสส.เป็นคนดูแลคดี) หลังจากทุกคนถูกนำตัวหายไปเจ็ดวัน ทหารก็นำตัวมาส่งกองปราบช่วงนั้นศรีวราห์เป็นคนคุม นางก็มาคุมและไม่ให้ทนายเข้า เจอพี่เอ๋บุกแนวทหารเข้าไปแล้วชี้หน้าด่ากับศรีวราห์ แต่สุดท้ายเข้าไม่ได้อยู่ดีก็ออกมาแถลงว่าผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงทนาย ส่วนตำรวจกองปราบช่วงนั้นมีปัญหาจัดทนายจากสภาทนายฯให้และพยายามกีดกันทนายจากศูนย์สุดฤทธิ์ คือจับเข้าค่ายไปเจ็ดวันไม่ให้ติดต่อใคร ญาติติดต่อเรามา เราไปขอพบบอกว่าเราไม่ได้เป็นทนายแต่ทหารและตำรวจไม่ให้เขาติดต่อใครและจัดทนายให้เอง
++มาตรา 44 และ ศาลทหาร ++

มองในแง่อำนาจทางกฎหมายที่ทหารใช้เริ่มจากประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 20 พ.ค.57 ซึ่งประกาศก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยนะ เพราะคนมีอำนาจประกาศทั่งราชอาณาจักรคือ King (กฎอัยการศึกใช้มาตั้งแต่ 2457 ก่อนเปลี่ยนระบอบ)ต่อมายึดอำนาจก็ใช้ประกาศคสช.ซ้ำอีกที
ช่วงแรกๆเลยยั่งไม่ค่อยใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.เท่าไหร่รุ่นพี่คนหนึ่งในวงการนักกฎหมายสิทธิฯ บอกเราในช่วงนั้นว่า “ผมคิดว่าครั้งนี้ เค้าจะใช้อย่างสร้างสรรค์” โอ้โฮเราฟังแล้วก็ได้แต่ยิ้มแห้ง นั่นเป็นการประเมินก่อนยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกและมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ในวันที่ 1 เม.ย.58 ซึ่งชัดเจนว่าใช้อย่างไม่สร้างสรรค์ แต่เอาจริงถ้ายึดหลักการ ต่อให้ไม่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เลย หรือต่อให้ใช้สร้างสรรขนาดไหน แต่การดำรงอยู่ของมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราวมันก็รุนแรงต่อระบบกฎหมายและไม่อาจเรียกว่านิติรัฐได้เลย
นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมลายพรางเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอแบบเต็มรูปขนาดนี้มาก่อน (ที่เจอในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็ยังเป็นศาลยุติธรรม) แต่เราก็เห็นแนวโน้มว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้มาก่อน มันก็เกิดขึ้นได้ทั่วประเทศท่ามการปกครองโดยทหาร วิธีคิดแบบทหาร ตั้งแต่ออกกฎ จับ ดำเนิน คดีพิพากษา ที่ทำโดยศาลทหาร ยิ่งช่วงแรกๆศาลทหารมีปัญหามาก แม้แต่อะไรยิบๆย่อยๆ การขอคัดถ่ายเอกสาร การส่งหมาย อะไรแบบนี้ก็เป็นปัญหาหมดไม่ใช่แค่เรื่องเขาต้องการควบคุมเท่านั้นแต่ศักยภาพศาลทหารเองก็มีปัญหา จนช่วงท้ายๆแล้ว ทนายมาเล่าว่า ตุลาการศาลทหารยอมรับว่า การมีทนายเราเข้าไปในศาลทหารทำให้เค้าเองก็ต้องพัฒนา มาตรฐานบางอย่างมันดีขึ้น แต่มันผิดหลักการค่ะ ยังไงคุณก็เอาพลเรือนไปพิจารณาคดีที่ศาลทหารไม่ได้
ที่น่าสนใจคือ มีกรณีหนึ่งที่ศาลจะดำเนินคดีละเมิดศาลกับอานนท์ เพราะกล่าวหาว่าเอาคำเบิกความไปเผยแพร่ ซึ่งตอนนั้นปัญหาคือพยานทหารเขาเบิกความแสดงความไม่ฉลาดแล้วโดนรุมด่าเองก็เลยโกรธมาก แต่อานนท์ไม่ได้ผิดอะไร ศูนย์ทนายฯแถลงเรื่องนี้ตอบกลับ ยืนยันไม่ลบข่าวนั้น สุดท้ายศาลก็แกล้งลืมๆไม่เอ่ยถึงอีก งง
++เรือนจำพลเรือนในค่ายทหาร++

ความเลวร้ายอีกเรื่องหนึ่งคือการตั้งเรือนจำพลเรือนในค่ายทหาร ตั้งขึ้นหลังคดีระเบิดราชประสงค์ แล้วเข้าถึงได้ลำบาก ไม่มีใครรับรู้ ราชทัณฑ์ตั้งทหารเป็นผู้ช่วยผู้คุมถึงแปดสิบคน คดีนี้ไม่ใช่คดีศูนย์ แต่คดีนี้ทนายในคดีออกมาให้ข่าวว่ามีการทรมาน หลังจากนั้นก็มีการข่มขู่ดำเนินคดีกับทนาย (จริงๆศูนย์ทนายฯก็เคยออกแถลงการณ์ให้สอบสวนเรื่องการทรมาน เจ้าหน้าที่ก็ออกมาข่มขู่ และเราก็แถลงกลับตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ) เราจำได้ ไมไรลีจำเลยในคดีนี้เคยถูกพามาศาลเมื่อเขาเห็นสื่อ เขาตะโกนบอกว่า “I am human not animal” มีคลิปอยู่ไปหาดูได้ โคตรปวดใจ
อีกสองคนที่ถูกขังในเรือนจำนี้และนำไปสู่ความตายของปรากรม ซึ่งราชทัณฑ์แถลงว่าผูกคอตาย และหมอหยองที่ราชทัณฑ์แถลงว่าติดเชื่อในกระแสเลือด ทั้งสองถูกดำเนินคดี 112 สำหรับเราคดีนี้รุนแรงมาก มันเหมือนเรานั่งอยู่ในห้องที่มีการฆาตกรรมเกิดขึ้น เราได้ยินเสียงแต่เราอยู่หลังม่านบางๆที่ไม่รู้อะไรแน่ชัด มันผิดปกติมาก และเขาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแท้ๆ มันรู้สึกเปราะบางที่กฎหมายมันมีไว้เฉพาะบางคน และมันยกเว้นสำหรับบางคน ทั้งสองคนไม่มีงานศพ ญาติไม่กล้าพูดคุยกับองค์กรสิทธิมนุษยชน
++คดี 112 ++

ความจริงเรื่องคดีเรื่องศาลมันมีเรื่องเล่าเยอะ แต่อยากเขียนเรื่องคดี 112 ที่เป็นไปตามอำเภอใจโดยแท้ หลังรัฐประหารคดี 112 เป็นคดีประเภทหนึ่งที่ขึ้นศาลทหาร จากเดิมที่ยี่ต๊อกลงในศาลยุติธรรมกรรมละประมาณห้าปี แต่ศาลทหารลงโทษกรรมละสิบปี(ยกเว้นบางคดี) ยิ่งพอมีเหตุสวรรคตและเกิดการไล่แม่มด ปวดหัวเลย คิดดู ศาลจังหวัดทางภาคใต้แห่งหนึ่งลงโทษข้อความว่า “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตื่นเต้วอะไรเหรอ” ลงโทษ 112 OMG นักกฎหมายไม่เข้าใจ
นอกจากนี้ช่วงก่อนเปลี่ยนแนวโน้มอย่างเป็นทางการ มันมีคดี 112 ถูกจับอยู่ในเรือนจำ และถูกนำเข้ากระบวนการที่ไม่ใช่กระบวนการตามกฎหมายระหว่างอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเล่ารายละเอียดไม่ได้ ไม่เป็นข่าว และสุดท้ายคดีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีได้
อย่างไรก็ตามอยู่ต้นปี 61 ก็เปลี่ยนแนวโน้ม แบบหน้ามือหลังตีน หลายคดีก็ยกฟ้องอย่างอเมซิ่ง การใช้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งตำรวจอัยการศาล แต่ แต่ แต่ไม่ใช่ว่าเขาใจดีก็ยังมีการดำเนินคดีในมาตราอื่น มาตรา 116 พ.ร.บ.คอมฯ และใช้กระบวนการนอกกฎหมายสำเนาข้อมูล สำเนามือถือ เซ็นบันทึกข้อตกลง ที่หลายคนก็ไม่กล้าออกมาพูดอยู่
แล้วอยู่ๆ 15 มิ.ย. 63 ประยุทธ์ออกมาพูดว่าที่ไม่มีการบังคับใช้ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเพราะอะไรไปหาดู เราดูคลิปแล้วก็อเมซิ่งมากว่าพูดแบบนี้ได้ด้วย กระบวนการยุติธรรมมีไว้ทำไม แต่ปลายปีพ.ย. 63 ประยุทธ์ก็ออกมาบอกว่าจะดำเนินคดีทุกมาตรา แล้วเราก็พบกับการดำเนินคดี 112 จำนวนมาก ในห้วงเวลาแค่หกเดือน อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย นี่กล้าเคลม (ณ เพลานี้ เท่าที่ศูนย์ทราบ 92 ราย 87 คดี)
++สนามจริง ตำรวจ อัยการ ศาลยุติธรรม++

อย่างไรก็ตามกระบวนการยุติธรรมในยุคคสช.ที่เราเหน็ดเหนื่อยกับมัน เมื่อเรามาเจอเหตุการณ์ชุมนุมและพายุคดีตั้งแต่กรกฎาคมปีที่แล้ว ก็คือปีที่เจ็ดของศูนย์ทนายฯ มันทำให้รู้ว่า อ่อ ที่ผ่านมาหกปี นั่นเป็นแค่หนังตัวอย่าง เรามาเจอของจริงในปีนี้ ( 635 คน ในจำนวน 301 คดี) แม่เจ้า มันไม่ใช่แค่จำนวนเนอะ แต่มันมีรายละเอียดจำนวนมาก ยิ่งมาเจอกับกระบวนการ “อยุติธรรม” แล้วมันต้องใช้พลังเยอะมาก ซึ่งถ้าเราเจองานขนาดนี้ในปีแรกของการรัฐประหารก็เป็นไปได้ว่าเราจะไม่สามารถ handle คดีต่างๆเหล่านี้ได้ แต่เราฝึกมาแล้วในยุคคสช.
สิ่งที่เราต้องเผชิญ ทั้งการเอาตัวผู้ถูกจับไปควบคุมที่ตชด. การเข้าถึงที่ยากลำบาก การสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การไม่ให้ประกันตัว การพิจารณาคดีโดยจำกัดคน การควบคุมการดำเนินคดีอย่างไม่ปกติ ห้องพิจารณาที่แทบไม่ต่างกับราชทัณฑ์ จนนำไปสู่การถอนทนาย การเลื่อนไต่สวนจนลูกความต้องอยู่ในเรือนจำติดโควิด และคดีละเมิดอำนาจศาลนับสิบ เรากำลังสู้กับของจริง กระบวนการยุติธรรมจริง ระบอบอำนาจนิยมในรูปกระบวนการยุติธรรม
สิ่งที่เราเรียกร้องตอนอยู่ศาลทหารคือให้พิจารณาคดีในศาลพลเรือน ศาลทหารไม่ใช่ศาล แต่เมื่อคดีกลับสู่ศาลยุติธรรม เราต้องเจอมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักสากล presumption of innocence ถูกกลับเป็น presumption of guilty ความอิสระและเป็นกลางของศาลถูกท้าทาย วันก่อนผู้พิพากษาคนหนึ่งสั่งในคำสั่งให้เลื่อนไต่สวนโดยอ้างหลักเสมอภาคโดยอ้างความเห็น “คณะผู้บริหาร”
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเราก็มีความหวัง เรามีความหวังกับประชาชนที่ตื่นรู้ ตื่นตัว เรามีความหวังและขอขอบคุณทนายเครือข่ายที่เข้ามาช่วยทำคดี องค์กรต่างๆ รวมถึงเงินบริจาคจากประชาชนที่ทำให้เราสามารถทำงานได้ไม่ติดขัด เราไม่อาจทำงานเหล่านี้ได้โดยลำพังและเรายังมีความหวังกับเจ้าหน้าที่ กับผู้พิพากษา ที่แม้อยู่ในระบบแต่สามัญสำนึก หลักวิชาชีพของเขายังทำงาน ปีที่เจ็ดมันเป็นปีที่ทุกคนเหนื่อยหนัก แต่ก็มีความหวัง
++Me My Friends++

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราอยู่ร่วมในเหตุการณ์แล้วจำได้ มิตรสหายท่านหนึ่งเคยบอกว่าเหมือนเราอยู่ในสงครามตลอดเวลา ใช่เหมือนเราอยู่ในสงครามตลอดเวลา ความจริงเราและมิตรสหายสะบักสะบอมกันตั้งแต่ปีแรกๆแล้วแหละ Burn out บ้าง ซึมเศร้าบ้าง ลาออกบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดีเลย งานเราขึ้นอยู่กับสถานการณ์มาก ปัจจัยนอกเราควบคุมไม่ได้ แต่การบริหารภายในเราควบคุมได้ ซึ่งควรจะเอื้อให้คนทำงานมากที่สุด ต้องบอกว่าที่ผ่านมาเราทำดีระดับหนึ่งในการดูแลคนทำงาน
ต้นปีที่แล้วเราก็ลาออกไปช่วงหนึ่งราวๆห้าเดือนที่ว่างงาน เอาจริงส่วนหนึ่งก็ตั้งคำถามถึงความสามารถของตัวเองเหมือนกันว่าทำดีพอหรือยัง แต่ก็ถามเรื่อยๆอยู่แล้ว เหมือนเป็นภาวะร่วมของคนยุคสมัยนี้ และงานมันก็เรียกร้องคนสูง จนช่วงหลังๆเราก็พยายามปรับสมดุลกัน และช่วงเวลาที่ได้พักนั้นมีค่าสำหรับเรามาก อย่ารู้สึกผิดที่จะได้พัก และก็เลิกคิดว่าเราเหนื่อยน้อยกว่าคนในเรือนจำ คนในเรือนจำเค้าก็เสียสละ ทำหน้าที่ในแบบเค้า เราก็ทำหน้าที่ในแบบเรา
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า ศูนย์ยังดูแลเพื่อนร่วมงานได้ไม่ดีพอจนมีเพื่อนร่วมงานอกหักและลาออกไป แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราไม่เจ็บปวด เราไม่ใส่ใจ เราอยากบอกว่าเราใส่ใจและเราเคารพคุณค่านั้นเช่นกัน การมีคนมาตอกหน้าว่าเราไม่เคารพสิทธิมนุษยชนในขณะที่เราทำงานเพื่อสร้างบรรทัดฐานเรื่องเหล่านี้ มันเจ็บปวดเหมือนกันนะ การที่เราไม่สามารถชี้แจงในพื้นที่เดียวกันได้ก็สร้างความอึดอัดอยู่เหมือนกัน แต่ที่น่าเสียใจที่สุดในปีนี้สำหรับเราคือความรู้สึกว่าเสียเพื่อนดีๆไปคนหนึ่ง และหวังว่าเราจะเข้าใจกันได้ในอนาคต
เจ็ดปีแล้ว ไม่คิดว่าเราต้องมาถึงวันนี้เลย เราพูดเสมอว่าเราเห็นเพื่อนร่วมงานเป็นมากกว่าเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ที่เราจับมือสู้กันเสมอ ไม่ว่าเราจะโต้เถียงกัน ไม่เข้าใจกัน หรือน้อยใจกันบางเวลา แต่เรามีเป้าหมายร่วมกัน อ่ออีกเรื่องคือนอกจากทีมทนายศูนย์ยังมีส่วนงานข้อมูล มีหลังบ้านที่ทำงานจัดการซึ่งทำงานหนัก เหนื่อยเช่นกัน และอาจไม่ได้เป็นที่มองเห็นมากเท่าทีมทนาย แต่เขาก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เรามาถึงจุดนี้ไม่ได้ถ้าเราไม่มีกันและกัน ขอบคุณทุกคนมาก ขอบคุณมิตรสหายที่ยังอยู่และมิตรสหายที่เคยมาร่วมงานกันไม่ว่าสั้นยาว
รักและสู้ไปด้วยกันนะ
ปล.มีอีกหลายเรื่องน่าเล่าแต่ยาวไปแล้วทดไว้ปีหน้าละกัน ถ้าไม่ลืม แฮ่