วันอาทิตย์, พฤษภาคม 30, 2564

เปิดที่มาและความคืบหน้าคดี"สินบนโตโยต้า"



สินบนโตโยต้า: เกิดอะไรขึ้นหลังโตโยต้า มอเตอร์ สอบสวนกรณีสาขาไทยจ่ายใต้โต๊ะผู้พิพากษา

10 เมษายน 2021
ปรับปรุงแล้ว 28 พฤษภาคม 2021
บีบีซีไทย

ปมการจ่ายสินบนจากบริษัทสาขาในไทยของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปแก่ผู้พิพากษาที่เป็นข่าวทั่วโลก เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตาเพราะตัวละครที่อยู่ในการสืบสวนครั้งนี้เป็นทั้งบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก และคนในสถาบันตุลาการไทยซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระและจรรยาบรรณในหน้าที่

หากผลการสืบสวนของคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (เอสอีซี) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (ดีโอเจ) พบว่าละเมิดกฎหมายต่อต้านสินบนในสหรัฐฯ อาจทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นต้องเผชิญกับบทลงโทษทางกฏหมายทั้งทางแพ่งและอาญาในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังวงการศาลยุติธรรมในไทยอีกด้วย เนื่องจากการสืบสวนดังกล่าวส่วนหนึ่งพุ่งเป้ามาที่การตรวจสอบว่าสาขาของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ได้จ่ายสินบนผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่รัฐของไทยเพื่ออำนวยความสะดวกในการเลี่ยงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้า พรีอุส ของบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 11,000 ล้านบาทระหว่างปี 2553 - 2555 หรือไม่

สำหรับท่าทีของไทยต่อเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลหรือสามารถตรวจสอบได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้พิพากษาท่านใดกระทำการอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการรับสินบนหรือไม่ ศาลยุติธรรมโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการตรวจสอบและลงโทษอย่างเด็ดขาด

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พ.ค. เว็บไซต์ข่าวสารด้านกฎหมายของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า www.law360.com ได้เผยแพร่รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการสอบสวนคดีภาษีของบริษัทในเครือโตโยต้า โดยรายงานชิ้นนี้ได้ระบุชื่อบริษัทกฎหมายและชื่ออดีตข้าราชการระดับสูงของศาลยุติธรรมอย่างน้อย 3 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้

รายงานข่าวดังกล่าวทำให้โฆษกศาลยุติธรรม ส่งเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งที่สอง มีใจความสำคัญว่าสำนักงานศาลยุติธรรมมิได้นิ่งนอนใจในคดีนี้ และได้ทำหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งตรวจสอบกรณีดังกล่าวในสหรัฐฯ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบกลับจากหน่วยงานในสหรัฐฯ

"เมื่อมีการรายงานข่าวพาดพิงถึงชื่อและตำแหน่งของบุคคลบางราย สำนักงานศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการตรวจสอบไปยังหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอข้อมูลมาประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย โดยการดำเนินการอย่างไรต่อไปก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียด" นายสุริยัณห์ระบุ

"หากสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับข้อมูลหรือสามารถตรวจสอบได้ว่ามีมูลเป็นความผิด จะดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัยต่อไป โดยไม่คำนึงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะเป็นใครและมีตำแหน่งใด จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) พิจารณา ขอยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก.ต. ได้ดำเนินการตรวจสอบและลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาดกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ทำลายความเป็นกลางของศาล และทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย หากพบว่าผิดจริงก็จะลงโทษทางวินัยอย่างเด็ดขาด"

นอกจากนี้ บีบีซีไทยยังได้ติดต่อไปยังสำนักงานกฎหมายอันนานนท์ ซึ่งปรากฏชื่อในรายงานข่าวดังกล่าว แต่บริษัทระบุว่ายังไม่สามารถให้ข้อมูลได้

บีบีซีไทยประมวลเรื่องราวที่ไปที่มาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ดังนี้

การสอบสวนเรื่องการละเมิดกฎหมายต่อต้านสินบนในสหรัฐฯ ของโตโยต้า เริ่มขึ้นเมื่อใด

เรื่องนี้ปรากฏต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ก่อนที่สำนักข่าวต่างประเทศและสื่อไทยจะนำเสนอเป็นข่าวใหญ่ในเวลาต่อมา

ในวันดังกล่าว บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ มีหนังสือแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ หลังจากได้ชี้แจงกับผู้ถือหุ้นไปแล้วก่อนหน้า โดยข้อความในเอกสารดังกล่าวระบุไว้ในหัวข้อเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ (Legal and Regulatory Matters) ว่า

"ในเดือน เม.ย. 2020 โตโยต้าได้รายงานถึงความเป็นไปได้ของการละเมิดกฎหมายต่อต้านสินบน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทสาขาแห่งหนึ่งสัญชาติไทย ต่อเอสซีอีและและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และกำลังให้ความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งผลการสอบสวนอาจจะนำมาสู่ความผิด การกำหนดโทษทางทางแพ่งและอาญา การถูกปรับ หรือมาตรการลงโทษอื่น ๆ หรือการถูกดำเนินคดีโดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ หรือ เอสอีซี บริษัทฯ (โตโยต้า) ไม่สามารถประเมินขอบเขต ระยะเวลา หรือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อประเด็นดังกล่าวในเวลานี้"

รายละเอียดของการละเมิดกฎหมายต่อต้านสินบนโตโยต้าเป็นอย่างไร


หลังจากเอกสารดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา เว็บไซต์ Law 360 ซึ่งรายงานข่าวด้านกฎหมายและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับคดี นโยบาย และการทำสัญญาในสหรัฐฯ อ้างว่ามีหลักฐานว่า โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ได้เริ่มกระบวนการสอบสวนภายในมาเป็นเวลากว่า 6 เดือนก่อนจะแจ้งเรื่องนี้ต่อหน่วยงานกำกับตลาดหลักทรัพย์และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เพื่อค้นหาว่าบริษัทที่ปรึกษาที่่ว่าจ้าง ได้จ่ายสินบนให้ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่รัฐบาลในความพยายามที่จะเลี่ยงการจ่ายภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ โตโยต้า พรีอุส มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10,900 ล้านบาทหรือไม่


GETTY IMAGES
รถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส ที่เปิดตัวในปี 2554

เว็บไซต์ดังกล่าวอ้างว่า การสืบสวนสอบสวนของโตโยต้ามีขึ้นภายใต้รหัส "Project Jack" นำโดยที่ปรึกษาจากสำนักกฎหมาย "วิลเมอร์เฮล" (WilmerHale) ด้วยวัตถุประสงค์ในการสืบค้นว่าบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้ละเมิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำทุจริตในต่างประเทศของสหรัฐฯ (U.S. Foreign Corrupt Practices Act) หรือ กฎหมายว่าด้วยการติดสินบนของสหราชอาณาจักร (U.K. Bribery Act) โดยการจ่ายเงินผ่านบริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายภายนอก หรือ แบ่งสันปันส่วนให้ผู้พิพากษาไทย ที่ปรึกษาเกี่ยวกับคดี หรือบุคคลอื่นในความพยายามช่วยเหลือในคดีการเลี่ยงภาษีนำเข้าเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้า พรีอุส


GETTY IMAGES

ในการตั้งแนวทางการสอบสวนยังดูเหมือนว่าโตโยต้ามีความกังวลถึงความเป็นไปได้ของการจ่ายเงินโดยไม่สุจริตให้แก่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้านยุติธรรมและการเงินระดับสูงของประเทศ และยังพิจารณาไปถึงความพยายามที่จะจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลคนใดก็ตาม (ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม) เพื่อมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์แห่งคดีเลี่ยงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส

นอกจากนี้การสอบสวนภายในของโตโยต้าได้มุ่งเป้าตรวจสอบว่า มีพนักงานบริษัทคนใดที่จ่ายเงินให้บริษัทที่ปรึกษาด้านกฎหมายไทย 8 ราย หรือจ่ายเงินให้บุคคล 12 คน ที่อาจมีบทบาทในคดีเลี่ยงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส ในระหว่างกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลของไทยหรือไม่

เอกสารดังกล่าวระบุอีกว่า บริษัทวิลเมอร์เฮล ได้บอกให้ทีมตรวจสอบระบุหลักฐานที่สามารถบอกได้ว่าโตโยต้ามีการใช้เงินส่วนใดผ่านบริษัทที่ปรึกษาอย่างไม่เหมาะสมอีกด้วย

คดีเลี่ยงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รุ่น พรีอุส มีที่มาอย่างไร

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากการตรวจสอบของกรมศุลกากร ซึ่งพบว่าบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์แบบแยกเป็นชิ้นส่วนในลักษณะชิ้นส่วนสมบูรณ์ (Complete Knock Down- CKD) และปริมาณสอดคล้องต้องกัน ซึ่งสามารถนำชิ้นส่วนมาประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ กรณีดังกล่าวไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลในส่วนของเครื่องยนต์พบว่า รหัสของเครื่องยนต์ขึ้นต้นด้วย 2ZR นั้น เป็นรหัสเครื่องยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,797 ลบ.ซม.ของรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วลักษณะดังกล่าวเข้าประเภทที่ต้องชำระอากรภาษีในอัตรา 80% ในฐานะรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ที่ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ซีซี

GETTY IMAGES

แต่โตโยต้าอ้างว่าการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์รุ่นดังกล่าวได้ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งหากขออนุญาตจากกรมศุลกากรก่อนนำเข้าจะเสียภาษีในอัตราภาษีเพียง 30% เท่านั้น แต่หลังจากสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้พิจารณาการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์โตโยต้า รุ่นพรีอุส ตั้งแต่ปี 2553-2555 รวมแล้วมากกว่า 245 ครั้ง และคิดเป็นจำนวนรถยนต์มากกว่า 20,000 คัน ไม่ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร จึงถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบเพื่อเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 คิดเป็นเงินมูลค่ามากกว่า 11,000 ล้านบาท

เหตุการณ์นี้ทำให้บริษัทโตโยต้า ซึ่งไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว ได้ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาการอุทธรณ์ไว้ในวันที่ 4 ธ.ค. 2556 และ 31 ก.ค. 2557

ต่อมาในวันที่ 10 มิ.ย. 2558 บริษัทโตโยต้าฯ ตัดสินใจยื่นฟ้องกรมศุลกากร และคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากร ต่อศาลภาษีอากรกลาง ต่อมาในเดือน ก.ย. 2560 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตัดสินให้บริษัทโตโยต้าฯ ชนะคดี แต่กรมศุลกากรได้ยื่นอุทธรณ์

ความคืบหน้าคดีเป็นอย่างไร


นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมชี้แจงในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ว่าหลังจากกรมศุลกากรยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ เป็นผลให้โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ได้ยื่นขออนุญาตฎีกา

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. มีการอ่านคำสั่งศาลฎีการับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา และความคืบหน้าล่าสุด ยังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 13 ก.ค. หากฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกามาแล้ว ศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป

"เนื่องจากในระหว่างนี้การดำเนินการไม่ว่าในสหรัฐอเมริกาหรือในประเทศไทยเองยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการเท่านั้น ยังไม่ได้มีคำพิพากษาหรือคำตัดสินอันเป็นที่ยุติว่าเกิดการกระทำตามที่มีการกล่าวอ้างหรือไม่อย่างไร จึงขอให้สาธารณชนได้สดับตรับฟังข้อมูลด้วยความระมัดระวัง และรอผลการดำเนินการทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยให้เป็นที่ยุติเสียก่อน" โฆษกศาลยุติธรรมระบุ


กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานยุติธรรม
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายสุริยัณห์ได้ให้ความเห็นไว้ด้วยว่า "คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ขัดแย้งกันในสาระสำคัญ ทั้งเกี่ยวพันกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย และยังเป็นกรณีที่ไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อน คำสั่งอนุญาตให้ฎีกา จึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26"

ปฏิกิริยาจากโตโยต้าเป็นอย่างไร

บริษัทโตโยต้าถือว่าเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย โดยเฉพาะรถยนต์ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดที่ 30.8% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในปีที่ผ่านมาด้วยยอดขายกว่า 2.44 แสนคัน

ภายหลังมีการรายงานข่าวเรื่องการสืบสวนการจ่ายสินบนดังกล่าวในวันที่ 29 มี.ค.โฆษกบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ออกมาชี้แจงผ่านอีเมลไปยังสื่อหลายฉบับว่า "บริษัทโตโยต้าจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อรักษามาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมสูงสุดในแต่ละประเทศที่เราดำเนินงาน เราดำเนินการจัดการกับข้อกล่าวหาการกระทำผิดใด ๆ อย่างจริงจังและมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินการธุรกิจของเราเป็นไปตามกฎระเบียบของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด"


REUTERS

ส่วนข้อแก้ต่างที่ บริษัทโตโยต้าในไทยชี้แจงก่อนหน้านี้บนเว็บไซต์ของบริษัทเกี่ยวกับคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเลี่ยงภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ รุ่นพรีอุสนั้น ได้ชี้แจงยืนยันในความโปร่งใสตลอดการประกอบการในไทย ซึ่งประกอบด้วย

1. บริษัทฯ ได้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่นภายใต้ข้อตกลงทางการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งชิ้นส่วนยานยนต์เหล่านั้นได้รับอนุมัติให้ใช้สิทธิ์ตามข้อตกลงดังกล่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วนในขณะนำเข้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายศุลกากร กฎหมายสรรพสามิต ประมวลรัษฎากร และความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ

2. จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจดูเอกสารและมีความเห็นว่า บริษัทฯ ชำระอากรไว้ไม่ครบ เป็นความเข้าใจที่แตกต่างในเรื่องการตีความกฎหมาย ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำการชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและรายละเอียดต่าง ๆ ให้กรมศุลกากรแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค. 2556

3. ในกรณีความตกลงการค้าไทย-อินเดียนั้นเป็นกรณีที่บริษัทฯ ได้นำเข้าชิ้นส่วนชุดส่งกำลัง (Transmission) รถเพื่อการพาณิชย์ โดยตรงจากประเทศอินเดียและได้เสียภาษีตามอัตราที่กำหนดในข้อตกลงฯ แต่ปัญหาเกิดจากการที่บริษัทฯ ได้ใช้บัญชีราคาขายสินค้าผ่านประเทศที่สาม (3rd country invoicing) ซึ่งเป็นแนวทางที่ปฏิบัติได้ในข้อตกลงทางการค้าอื่น ๆ เป็นปกติ แต่กรมศุลกากรมีความเห็นว่าไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงฯ ได้ จึงให้บริษัทฯ ชำระภาษีและค่าปรับเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในปี 2555 กรมศุลกากร ได้ออกประกาศอนุญาตให้ผู้นำเข้าสามารถใช้บัญชีราคาขายสินค้าผ่านประเทศที่สามโดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับความตกลงทางการค้าระหว่างไทย กับประเทศอื่น ๆ อาทิ ความตกลงทางการค้าระหว่างอาเซียน ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-ญี่ปุ่น เป็นต้น
.....




Pipob Udomittipong
17h ·

การสอบสวน #โตโยต้าไทยแลนด์ กับการติดสินบนจนท.ศาลระดับสูงของไทย เป็นผลมาจากกม.ปี 1977 Foreign Corrupt Practices Act ที่ใช้ตรวจสอบ+เอาผิดบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อเมริกา ที่ไปลงทุนในตปท. แล้วติดสินบนจนท.ในปท.นั้น

ต้นตอของการสอบสวนของครั้งนี้ เกิดจากการเปิดเผยข้อมูลของ Toyota Motor Corporation ต่อกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สหรัฐฯ เอง เมื่อเดือนเม.ย.ปี 2020 จนนำมาสู่การสอบสวน และกำลังจะมีการตั้ง Grand Jury เข้าสู่การไต่สวนของศาลอย่างเป็นทางการ ไปอ่านใน #LAW360 แปะลิงก์ได้ไหมเนี่ย เดี๋ยวเขาฟ้อง

ตั้งแต่ก่อน และช่วงที่เป็นปธน. ดอนัลด์ ทรัมป์พยายามทำลายกม.ต่อต้านการทุจริต #FCPA เพราะขัดขวางไม่ให้ทำธุรกิจแบบสีเทาได้ #FCPA ถือเป็นกม.ที่มีอยู่น้อยมากที่จะเอาผิดกับบรรษัทยักษ์ใหญ่ของ #สหรัฐฯ ที่ไปทำการละเมิดในปท.อื่น เป็นกม.สำคัญที่พอใช้ประโยชน์ได้ของคนทำงานด้าน Business and Human Rights เพราะ สหรัฐฯ ไม่มีกม.เอาผิดบรรษัทที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตรง
https://www.nytimes.com/.../economy/trump-bribery-law.html

กรณีที่กลุ่มคนพม่าฟ้อง #UNOCAL ในศาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของโครงการท่อก๊าซยาดานา เมื่อหลายปีก่อน เป็นการใช้กม.แบบอ้อม ๆ Alien Tort Claims Act #ATCA กม.เก่าแก่ที่เอาไว้ใช้ลงโทษ “โจรสลัด” สัญชาติอเมริกัน เวลาไปปล้นในต่างแดน แต่เพราะแนวนิติศาสตร์ของเขาใจกว้าง ก้าวหน้า จึงเอามาปรับใช้กับคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ จนสุดท้าย #UNOCAL ยอมประนอมคดี จ่ายค่าเสียหายให้คดีจบไป

เรื่องนี้ควรกระตุ้นสังคมไทยให้เห็นความสำคัญของการมีกม.ต่อต้านทุจริตของธุรกิจ และมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง แต่มันจะไม่เกิดขึ้นในระบบตุลาการที่คับแคบ ขาดความโปร่งใส ไม่ยึดโยง ไม่ accountable กับประชาชนแบบในเมืองไทย ตอนนี้กลายเป็นว่า ผู้พิพากษาระดับสูงที่ถูกพาดพิง ออกมาขู่ฟ้องคนที่เผยแพร่ข้อมูล