วันอาทิตย์, พฤษภาคม 30, 2564

ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะกิจเร่งด่วน และระยะยาว​ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด​19​ และการบริหารแรงงานข้ามชาติใหม่​ ต่อ​ สบค.​และรัฐบาลไทย​ (1) โดย​ นายสมพงค์​ สระแก้ว


Sompong Srakaew
20h · Bangkok, Thailand ·

วานนี้ที่ไทยพีบีเอส​ รายการ​ "ฟังเสียงประเทศไทย"
สัมภาษณ์​โดยคุณสุทธิชัย​ หยุ่น
ผมบอกเล่าข้อเสนอต่อรัฐไทยในห้วงสถานการณ์โควิด​ 19​ ไปไม่กี่ข้อ​
แต่ผมได้เขียนไว้มากกว่า​ 15​ ข้อ​
เร็วๆ​ นี้​ คงถึงท่านนายกรัฐมนตรี​ และรองนายกนะครับ
เปลี่ยนแปลงได้สัก​ ครึ่งหนึ่งก็ยังดี!!!!
เพราะในภัยคุกคาม​โควิดคิดแก้แบบเก่าๆ​ ไม่ได้แล้ว
รักนะจึงบอก​ นี้เป็นเสียงจากแรงงานและผู้ใกล้ชิิดปัญหาจริงๆ
โปรดอ่านข้อเสนอด้านล่างนี้
ขอ​ขอบคุณ
สมพงค์​ สระแก้ว​ รายงาน
085 534 1595
#LABOURPROTECTIONNETWORK
#COVID19
29/05/2021
-----------------------------------------------------------
ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะกิจเร่งด่วน
และระยะยาว​ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด​19​ และการบริหารแรงงานข้ามชาติใหม่​ ต่อ​ สบค.​และรัฐบาลไทย​ (1)
โดย​
นายสมพงค์​ สระแก้ว
"พวกเราไม่อยากเห็นภาพ เมื่อแรงงานข้ามชาติมีเรี่ยวแรงเราใช้เขาอย่างเต็มที่
แต่เมื่อเขาเจ็บไข้ได้ป่วย ปล่อยทิ้งเขาไปตาย
เหมือนผักปลา​ หรือตามเวรตามกรรม"
สถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด​ 19​ ส่งผลต่ออัตราจำนวนที่เพิ่มขึ้นของการติดเชื้อ Covid-19​ ในกลุ่มพี่น้องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯปริมณฑลและจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของประเทศไทยจากทั่วทุกภาค
การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด​ 19​ กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการอยู่พักอาศัยอย่างหนาแน่น​ กระจุกตัว อาทิ​ ชุมชนคลองเตย​ ชุมชนในแคมป์ก่อสร้างต่างๆ​ มากกว่า​ 400​ แห่ง​ ในสถานประกอบการต่างๆ​ ตลาดสด​ ห้องพัก​ รวมถึงแรงงานที่อยู่ทำงานเป็นคนทำงานบ้านร่วมด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้สามารถประเมินได้ว่าแรงงานข้ามชาติ​ เป็นกลุ่มใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง​ ควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการแพร่เชื้อ​ออกไปในวงกว้าง​ ต้องแก้ไขปัญหา​ที่รากเหง้าของปัญหาแรงงานข้ามชาติให้ตรงจุด​ และจัดระเบียบบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติใหม่​ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ​ ในพื้นที่เมืองชั้นในทั้งหมด
ปัญหาที่แท้จริงของแรงงานข้ามชาติในปัจจุบัน​ คือ จำนวนตัวเลขที่อยู่ในระบบจริงๆ ไม่มีอยู่จริงตามนั้นแต่ในความเป็นจริง แรงงานมีการเปลี่ยนย้ายงานเปลี่ยนนายจ้าง และไม่ได้ทำงานกับนายจ้างที่ระบุไว้ในบัตรใบอนุญาต​ทำงาน​ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากแทบทุกจังหวัด​ก็ว่าได้
กรณีแรงงานเปลี่ยนย้ายงานแล้วนายจ้างคนใหม่ส่วนใหญ่จะไม่เอาขึ้นในระบบหรือมีการแจ้งเข้า​ และนายจ้างคนเก่ามักไม่แจ้งออกให้​ ทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งหล่นไปเป็นแรงงานเถื่อน​ ถึงแม้ว่ามีเอกสารเดิม​ เช่น​ หนังสือเดินทาง​ ใบอนุญาต​ทำงาน​ก็ตาม​ ส่งผลให้พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม​ ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาในประกันสุขภาพและประกันสังคม
แรงงานที่หลุดออกนอกระบบก่อนหน้านี้ และเมื่อรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ให้แรงงานที่มีนายจ้างและไม่มีนายจ้างมาลงทะเบียนออนไลน์ใหม่ ในช่วงวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่​ 13 กุมภาพันธ์ 2564 มีจำนวนแรงงานมาขึ้นเพียงแค่ 6 แสนกว่าคนเท่านั้น​ ซึ่งถือว่าไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของการคาดประมาณการณ์​จำนวนว่ามีแรงงานที่ไม่มีเอกสารใดใดอย่างน้อยเกือบ​ 2 ล้านคน​ ทั่วประเทศ
การคาดการณ์จำนวนแรงงานที่อยู่ในระบบและนอกระบบในกรุงเทพ​มหานคร​ไม่ต่ำกว่า 1 ล้าน​ 5 แสนคน ที่ทำงานและพักอาศัยในกิจการภาคบริการ​ต่างๆ​ สถานประกอบการ​ โรงงานต่างๆ​ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์​ และงานบ้าน​ เป็นต้น
ดังนั้น​ โจทย์สำคัญของการแก้ไขและควบคุมการแพร่ระบาด Covid-19​ และบริหารจัดการด้านแรงงานไปพร้อมกันคือ​ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือระยะสั้น และระยะยาว

การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือระยสั้นคือ

หนึ่ง​ การเปิดโอกาสให้แรงงานที่ไม่มีเอกสารใดๆเลยซึ่งเราตั้งข้อสมมติฐานว่าแรงงานเหล่านี้คือหนึ่งในผู้ที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคไปแพร่ระบาดโรคไปในที่อื่นๆ​หากไม่เปิดโอกาสให้เข้าถึงการคัดกรองตรวจโรค หากติดเชื้อให้มีการกักตัว​ รักษาพยาบาล​ เข้าโรงพยาบาลสนามโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ​ ปัจจุบัน​ จากข้อมูลพบว่า​ โรงพยาบาล​ของรัฐปฏิเสธการตรวจและรักษา​ เนื่องจากไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากกระทรวงสาธารณสุข​ได้
ซึ่งในขณะสถานการณ์ปัจจุบันแรงงานที่ติดเชื้อโควิด​19​ และไม่มีเอกสารใดใด​ จำต้องไปโรงพยาบาลเอกชน​ ต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายเบื้องต้น​ จำนวนไม่ต่ำกว่า​ 80,000 ถึง 600, 000 บาท​ ทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องเผชิญชะตากรรมเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล​ เพราะไม่มีเงินค่ารักษา
สอง​ ให้มีการออกประกาศสำหรับกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล​ ผ่อนผันหรืออนุโลมให้แรงงานที่ไม่มีเอกสารใดๆ​ หรือทำงานผิดประเภท​ ผิดนายจ้างจะไม่มีการดำเนินคดีใดๆ​ กับกลุ่มคนเหล่านี้​ที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยง​ เป็นผู้ป่วย ให้เข้าสู่ระบบการคัดกรอง​ ตรวจโรค​ และรักษาฟรีอย่างทั่วถึง​ ณ​ สถานพยาบาลของรัฐ
สาม​ หากแรงงานเหล่านี้ข้างต้นมีนายจ้าง​ มีงานทำเป็นหลักแหล่ง​ ให้นายจ้างรับผิดชอบในการดูแลต่อ สามารถให้มีการจัดระบบลงทะเบียนอย่างถูกต้อง​ ง่ายดาย โดยขั้นตอนไม่ซับซ้อนมาก​ และไม่ดำเนินการเอาผิดกับนายจ้าง​หรือสถานประกอบการ​ แต่อาจมีการติดตามตรวจสอบสถาพการจ้างงานในกระบวนการต่อไป
สี่​ กรณีที่แรงงานมีปัญหาการแจ้งเข้า​ แจ้งออก​ ขอให้หน่วยงานภาครัฐ​ได้ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ใหม่​ แรงงานที่มีเอกสารถูกต้อง เมื่อออกจานายจ้างเก่า หรือนายจ้างเก่าแจ้งออกเกิน15วัน และนายจ้างไม่ได้แจ้งออก​ แต่แรงงานได้ย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่แล้ว​ ให้นายจ้างใหม่และลูกจ้าง มีสิทธิ์สามารถขอปรับปรุงข้อมูลในระบบใหม่
และขอใบอนุญาตทำงานใหม่เพื่อให้ถูกต้องกับสถานะการทำงานในปัจจุบัน โดยกำหนดให้เสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานใหม่​ตามความเหมาะสม​(ถ้าคิดว่าลูกจ้างได้เปรียบ)
ห้า​ คนต่างด้าว​ หรือ​ แรงงานข้ามชาติที่มีเอกสารถูกต้องไม่จำเป็นต้องแจ้งที่พักอาศัยต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจคนเข้าเมือง​ เพราะว่าเป็นการเพิ่มภาระและเป็นช่องทางที่รีดไถ​ เอาเปรียบจากคนบางพวกที่ร่วมดำเนินการ​ ถ้าเป็นไปได้อาจขอให้เป็นหน้าที่ของนายจ้าง สถานประกอบการ เจ้าของบ้าน ห้องพัก หรือห้องเช่า และอื่นๆ​ เป็นผู้แจ้ง
หก​ เนื่องจากการการแพร่ระบาดโรคโควิด19 ทำให้แรงงานที่เข้ามาทำงานตามระบบ MOU แรงงานข้ามชาติที่พิสูจน์​จน์สัญชาติในไทย และแรงงานที่ขึ้นทะเบียนใหม่ บางกลุ่มเอกสารหนังสือเดินทางหมดอายุ​ บางกลุ่มดำเนินการการไม่ทัน เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคของรัฐ​ และหน่วยงานให้บริการของรัฐดำเนินการไม่ได้ตามปกติ
ต้องปิดการให้บริการไป
ทั้งนี้ ขอให้รัฐพิจารณาผ่อนผันให้แรงงานทุกกลุ่ม สามารถพักอาศัยและทำงานไปเป็นกรณีพิเศษเพื่อรอดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการออกประกาศกระทรวงให้ชัดเจน​ เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการนายหน้าเถื่อน​ เจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม​ บางคน​ บางหน่วยงานแอบอ้างเรียกรับผลประโยชน์​ดังกล่าว
เจ็ด​ กลุ่มประชากรข้ามชาติ และแรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มเปราะบางที่เข้าถึงยาก และไม่ค่อยได้รับการดูแลช่วยเหลือเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐเท่าที่ควร ดังนั้น​ อยากให้รัฐบาล จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากทางตรงและทางอ้อม ให้เข้าถึงปัจจัย 4 บรรเทาทุกข์และเยียวยาเป็นพื้นฐานได้
โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ให้นำเงินที่เกิดจากค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตทำงาน กองทุนช่วยเหลือแรงงาน กองทุนประกันสังคม นำมาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขนำมาจัดทำชุดยังชีพให้กับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ
และแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้วสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยา ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง และแรงงานสามารถร้องขอได้ด้วยตนเอง

การแก้ไขปัญหา​ระยะยาว

หนึ่ง​ กลุ่มประชากรข้ามชาติ ใน 3 สัญชาติ​ คือ
เมียนมา​ ลาว​ และกัมพูชา ต้องสามารถอยู่ในระบบ​Big Data การจัดทำฐานข้อมูลของรัฐในหนึ่งระบบอย่างถูกต้องและสามารถเชื่อมโยง​ ตรวจสอบข้อมูล ต่างๆ​ ระหว่างหน่วยงานได้
สอง​ แรงงานข้ามชาติทุกคนต้องเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม​ การประกันสุขภาพ​ ประกันสังคม​ ส่งผลให้ระบบคัดกรอง​ ตรวจโควิด​19​ และการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐเต็มไปด้วยความพร้อมและประสิทธิภาพ
สาม​ เด็กแรกเกิด​ จนถึง​ 15​ ปี​ ได้รับการประกันสุขภาพ​ถ้วนหน้า​ฟรี​ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพเหมือนที่ผ่านมา​ ซึ่งประสบผลล้มเหลวมาก
สี่​ รัฐส่วนกลางต้องกระจายอำนาจให้หน่วยงานหรือองค์กรปกครองท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติ​ เนื่องจากเป็นองค์กรที่รู้จักพื้นที่ดี หากมีการดำเนินการใดๆ จะสามารถ เข้าถึงการแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที รวมถึงสามารถนำทรัพยากรงบประมาณมาใช้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม​ในพื้นที่มาบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ​ และสามารถดึงการมีส่วนร่วมของพี่น้องแรงงานข้ามชาติมาพัฒนาท้องถิ่นตนเองได้
ห้า​ รัฐบาลต้องจัดการปัญหา กระบวนการนายหน้า เถื่อน นายหน้าที่มีส่วนร่วมแสวงหาประโยชน์มิชอบจาก กระบวนการการจัดการด้านแรงงานให้เด็ดขาด
และตัดวงจรอุบาทว์ส่วยแรงงาน การคอรัปชั่น​ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ
หก​ ต้อง จัดระเบียบและบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในรูปแบบใหม่หรือ​ Set​ Zero โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้ององค์กรภาคธุรกิจองค์กรภาคประชาสังคม และกลุ่มเครือข่ายทางสังคมพี่น้องแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
เจ็ด​ การกำหนดให้องค์กรภาคธุรกิจ นายจ้างและสถานประกอบการ มีแนวปฏิบัติที่ดีการใช้แรงงานข้ามชาติ มีมาตรฐานแรงงานเป็นที่ยอมรับ​ และดำเนินการอย่างเป็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน​ควบคู่กัน
แปด​ รัฐต้องเปิดโอกาสให้องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติหรือกลุ่มประชากรข้ามชาติในประเทศไทย สามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านแรงงาน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จำเพาะเฉพาะกระทรวงแรงงานเท่านั้น พร้อมรับข้อเสนอต่างๆเพื่อไปปรับปรุงแก้ไข ให้ตรงกับปัญหาที่แท้จริงและความต้องการแรงงานที่แท้จริง
เก้า​ การป้องกันการลักลอบขนคนองกระบวนการนายหน้าเพื่อหลบหนีเข้ามาหางานทำในประเทศไทย จากประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาร์​ ลาว​ และกัมพูชา ให้มีการสกัดกั้นอย่างเข้มงวดตามปกติ ดำเนินการเอาผิดจากกระบวนการนายหน้า ทั้งที่เป็นคนไทยและคนข้ามชาติ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางคนที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
สิบ​ กรณีของการเข้าไปตรวจค้น​ จับกุมแรงงานเถื่อน ในสถานประกอบการใดๆ หากมีการพบว่ามีการใช้หรือลักลอบใช้แรงงานที่ไม่มีเอกสารใดใด ให้มีบทลงโทษสำหรับสถานประกอบการนั้นๆ​ ตามปกติ​ แต่หากนายจ้างมีความพร้อม​ มีความจำเป็นใช้จริงๆ มีการปรับ และ ตัวแรงงานนำไปเข้าสู่ระบบการคัดกรองตรวจโรคต่าง​ ๆ​ และโควิด​ 19​ กักตัว​ รักษาพยาบาล​ แล้วนำเข้าสู่การลงทะเบียนเพื่อทำงานต่อไป​ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน​ หากไม่ทำอย่างนี้ก็จะมีการลักลอบใช้แรงงานเถื่อนอยู่ต่อไปไม่สิ้นสุด
จากข้อเสนอแนวทางต่างๆ คงพอที่จะทำให้เห็นภาพ และออกแบบการบริหารจัดการที่ดีได้ อย่างน้อย สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ ในการเข้าถึงการแก้ไขปัญหา ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด​19​ ได้อย่างรัดกุมและรอบคอบ
และสามารถขับเคลื่อน​ประเทศต่อไปได้

สมพงค์​ สระแก้ว​ รายงาน

https://www.facebook.com/sompong.srakaew/posts/5676109139096961