วันพุธ, พฤษภาคม 26, 2564

เรื่องจีนๆ ของซีพี


ภาพคุณเจียเอ็กชอ บิดาของเจ้าสัวธนินท์ ขณะกลับไปบุกเบิกพื้นที่ธุรกิจเกษตรในจีนแผ่นดินใหญ่

Theerapat Charoensuk
August 27, 2019 ·

เรื่องจีนๆ ของซีพี
1. เจี่ยเอ็กชอ (谢易初 เซี่ยอี้ชู) บิดาของเจ้าสัวเจี่ยก๊กมิ้ง (谢国民 เซี่ยกั๋วหมิน-ประชารัฐแซ่เซี่ย) หรือธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งร้านขายเมล็ดพันธุ์พืชเจี่ยไต๋ ซึ่งต่อมากลายเป็นเครือซีพี เป็นคนหมู่บ้านเพ่งตง (เผิงจง) อำเภอเท้งไฮ้ (เฉิงไห่) เมืองซัวเถา (ซ่านโถว) บ้านเดียวกับบรรพบุรุษของพระเจ้าตากสิน เปิดร้านค้าเมล็ดพันธุ์พืชในอำเภอเฉิงไห่ จนเกิดวาตภัยอุทกภัยน้ำท่วมเมืองซัวเถาแต้จิ๋วจึงหาลู่ทางทำกินอพยพมาไทย
2. ชื่อบริษัทซีพีในภาษาจีนคือ 正大集团 เจิ้งต้าจี่ถวน เรียกสั้นๆ ว่า "เจิ้งต้า" มีที่มาจากชื่อบริษัท "เจียไต๋" ในประเทศไทย
3. ชื่อเจียไต๋ หรือ เจิ้งต้า นี้เองมาจากบุตรสี่คนของเจี่ยเอ็กชอ หรือพี่น้องสี่คนของเจ้าสัวธนินท์ ได้แก่ เจี่ยเจียมิ้ง 谢正民 (เซี่ยเจิ้งหมิน) เจี่ยไต้มิ้ง 谢大民 (เซี่ยต้าหมิน) เจี่ยตงมิ้ง 谢中民 (เซี่ยจงหมิน) และเจี่ยก๊กมิ้ง 谢国民 (เซี่ยกั๋วหมิน) รวมชื่อของสี่คน เป็นคำว่า เจียไต้ตงก๊ก - เจิ้งต้าจงกั๋ว 正大中国 หรือ "ซื่อตรงต่อชาติจีน"
4. คำว่าเจียไต๋ หรือเจิ้งต้า นำมาจากภาษิตจีนที่ว่า เจียไต้กวงเม้ง 正大光明 เจิ้งต้ากวงหมิง - ซื่อตรงสว่างแจ้ง (หมายความว่ามีความเที่ยงตรงยุติธรรม) คำเดียวกับจารึกอยู่ในป้ายลายพระหัตถ์ของฮ่องเต้คังซี บนพระราชวังหยวนหมิงหยวน ที่ซ่อนพระราชพินัยกรรมกำหนดรัชทายาทในยุคราชวงศ์ชิง (ที่ยงเจิ้งแปลงพินัยกรรมให้องค์ชาย 4 แทนองค์ชาย 14 นั่นแหละ)
5. เจียเอ็กชอผู้บิดาของเจ้าสัว มีความสัมพันธ์อันดีกับการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเข้าไปส่งเสริมและแนะนำด้านการเกษตร จากประสบการณ์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและเลี้ยงสัตว์ที่พัฒนาขึ้นในไทย จนได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายการเมืองของพคจ. หลายตำแหน่ง
6. เจียไต๋ในประเทศจีนทำการค้ากับทั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและก๊กมินตั๋งจนถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม จึงโดนยึดทรัพย์สิน สูญเสียกิจการในจีนทั้งหมดและหนีการกวาดล้างบนแผ่นดินใหญ่มาอยู่สิงคโปร์และตั้งหลักทำธุรกิจที่ฮ่องกง ในขณะที่ธุรกิจในประเทศไทยให้ธนินท์ดูแล
7. ศุภชัย เจียรวนนท์ ทายาทรุ่นที่สามผู้ดูแลซีพีในปัจจุบัน เรียนชั้นมัธยมที่ไต้หวันที่ไทเปอเมริกันสคูล ในยุคปฏวัติวัฒนธรรม-สงครามเวียดนาม ที่กำลังต่อต้านคอมมิวนิสต์
8. เจิ้งต้า หรือซีพี เป็นบริษัทไทยบริษัทแรกที่กล้าเข้าไปลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งหลังเปิดประเทศในยุคสี่ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง ปี พ.ศ. 2521 ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างเครือซีพีกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนสายเติ้งที่ผ่อนคลายด้านทุนนิยม เลขจดทะเบียนบริษัทคือ 0001
9. เจิ้งต้า ฮ่องกง จดทะเบียนในตลาดหุ้นหั่งเส็งตั้งแต่ปี 1988 และมีกิจการในเครือซีพีอีกมากมายจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ในเวลาต่อมา เช่น เอ็กชอมอเตอร์ไซค์ บ.อสังหาฯ ฮ่องกงฟอร์จูนบ.ประกันผิงอันอินชัวแรนซ์
10. ซีพียังถือหุ้นกลุ่มบริษัท CITIC ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทด้านการก่อสร้างและผลิตวัสดุก่อสร้างในฮ่องกง ซึ่งถือเป็นกึ่งรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน มูลค่าหุ้นมากกว่า 1.04 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นบริษัทเอกชนต่างชาติที่ถือหุ้นรัฐวิสาหกิจจีนมากที่สุดรายหนึ่ง
(ที่มาเรียบเรียงจากชุดบทความของ Asian nikkei Review โดยธนินท์ เจียรวนนท์ https://asia.nikkei.com/.../My.../Dhanin-Chearavanont
https://www.bangkokpost.com/.../thailand-family-of...
https://www.wsj.com/.../itochu-cp-take-10-4-billion-stake...
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/720070)
ภาพคุณเจียเอ็กชอ บิดาของเจ้าสัวธนินท์ ขณะกลับไปบุกเบิกพื้นที่ธุรกิจเกษตรในจีนแผ่นดินใหญ่
(https://www.facebook.com/photo/?fbid=10156209558836809&set=a.179824101808)


Theerapat Charoensuk
2h ·

มีคำถามมาว่า แซ่เจี่ย หรือจีนกลางว่า เซี่ย ของเจ้าสัวซีพี เป็นแซ่เดียวกับราชวงศ์เซี่ยหรือไม่
คำตอบคือ ไม่ใช่ นะครับ
ราชวงศ์เซี่ยคือ 夏 ตัวเดียวกับคำว่าเซี่ย ที่แปลว่า ฤดูร้อน สะกดพินอิน xia อ่านแต้จิ๋วว่า แห่ แต่กษัตริย์ราชวงศ์เซี่ยนั้นมีแซ่ในนามจริง คือแซ่ซื่อ 姒 เป็นหนึ่งในแปดแซ่โบราณที่สืบทอดจากจักรพรรดิเหยาตี้ ซึ่งสูญหายไปนานแล้ว
ส่วนเซี่ย ของเจียรวนนท์ คือ 謝 สะกดพินอิน xie ที่แปลว่าขอบคุณ/ขออภัย/ปฏิเสธ แต้จิ๋วอ่านว่า เจี๋ย/เจี่ย แต่บางสำเนียงก็อ่านว่า เสี่ย แบบเดียวกับคำว่า กำเสี่ย หรือ โจ่ยเสี่ย เป็นแซ่ที่มีคนใช้มากประมาณสิบล้านคน ในจีนตอนใต้และจีนโพ้นทะเล ส่วนมากเราจะพบในไต้หวัน และสะกดแบบ Wade-Giles ว่า Hsieh แซ่นี้มีที่มาสองทาง คือ สืบทายาทจากขุนนางยุคโจวตะวันตก หรือ เป็นแซ่ของตระกูลผู้ดีเมืองไคฟงสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก
ดังนั้นชื่อแซ่ของเจ้าสัว เซี่ยกั๋วหมิน หรือ เจี่ยก๊กมิ้ง ตัวเต็ม 謝國民 ตัวย่อ 谢国民
จึงแปลรวมเป็นมงคลได้ว่า “ขอบคุณประชารัฐ” นั่นเอง