ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
May 27 at 10:31 AM ·
วันนี้ (27 พฤษภาคม 2564) เวลา 10.00 น. ทิวากร วิถีตน เดินทางไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ในนัดรายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และโพสต์เรียกร้องยุติ ม.112
.
โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้องทิวากรในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เมื่อทิวากรเดินทางถึงศาล เจ้าหน้าที่ศาลจึงนำสำเนาคำฟ้องมอบให้ ก่อนนำตัวทิวากรไปที่ห้องรอประกันใต้ถุนศาล ซึ่งมีผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอื่นอีกหลายคน ขณะทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยใช้หลักประกันเดิมที่ยื่นประกันในชั้นสอบสวน เป็นเงินสด 1.5 แสนบาท จากกองทุนดาตอร์ปิโด
.
อัยการชี้โพสต์ภาพใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์” หมิ่นประมาทกษัตริย์-ยุยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย
.
พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น บรรยายฟ้องระบุว่า ทิวากรกระทำความผิดรวม 3 กรรม ดังนี้
1. ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ทิวากรได้ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 และนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ด้วยการโพสต์รูปภาพในเฟซบุ๊กชื่อ “ทิวากร วิถีตน” ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เป็นรูปตนเองสวมเสื้อคอกลมสีขาว มีข้อความสกรีนตัวหนังสือสีแดงว่า “...เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว…” ซึ่งคำว่า “...หมดศรัทธา…” หมายถึงหมดความเชื่อ, หมดความเลื่อมใส, หมดความเชื่อมั่นในสิ่งดีงาม และคำว่า “...สถาบันกษัตริย์…” หมายถึง หน่วยงานหนึ่งที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.
เมื่อนำคำว่า หมดศรัทธา กับคำว่า สถาบันกษัตริย์ มารวมกัน ย่อมหมายถึง หมดความเชื่อ หมดความเลื่อมใสในสถาบันกษัตริย์ และองค์พระมหากษัตริย์ด้วย ย่อมทำให้ประชาชนที่พบเห็นการโพสต์ข้อความดังกล่าวมีความรู้สึกในทางลบต่อองค์พระมหากษัตริย์ว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนที่มีความประพฤติที่เสื่อมเสีย ขัดต่อศีลธรรมอันดี ทั้งนี้ โดยประการที่จะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เสื่อมศรัทธาต่อพระมหากษัตริย์จากชาวไทย และชาวต่างประเทศ
.
นอกจากนี้การที่ทิวากรโพสต์รูปภาพดังกล่าว เป็นการทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยตัวหนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต แล้วจําเลยได้ชวนประชาชนมาสวมใส่เสื้อที่มีการสกรีนข้อความดังกล่าวเช่นเดียวกับจําเลย จึงเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนร่วมดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ อันเป็นการกระทําเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินด้วย
.
2. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ทิวากรได้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยการโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ “ทิวากร วิถีตน” ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เป็นข้อความว่า “...หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว…” ซึ่งคำว่า สถาบันกษัตริย์ ย่อมหมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ด้วย
.
ถ้อยคำที่ทิวากรโพสต์เป็นการใส่ความ ย่อมทำให้ประชาชนเข้าใจว่า กษัตริย์มีอำนาจเหนือกฎหมาย และสั่งให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน และเป็นการใช้พระราชอำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม สามารถสั่งให้ใช้หรือระงับใช้มาตรา 112 ได้ ซึ่งเป็นความเท็จ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศบารมี เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์จากชาวไทยและชาวต่างประเทศ
.
3. เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ทิวากรได้หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 และนำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยการโพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ “ทิวากร วิถีตน” ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เป็นข้อความว่า “...สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด…” ซึ่งคำว่า สถาบันกษัตริย์ ย่อมหมายความรวมถึงพระมหากษัตริย์ด้วย
.
ถ้อยคำที่ทิวากรโพสต์เป็นการใส่ความ ย่อมทำให้ประชาชนเข้าใจว่า กษัตริย์มีอำนาจเหนือกฎหมายและเหนือศาล สามารถใช้พระราชอำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมสั่งปล่อยตัว 4 แกนนำคณะราษฎรได้ และพระมหากษัตริย์สั่งให้ใช้กฎหมายมาตรา 112 รังแกประชาชน และพระมหากษัตริย์ไม่มีเมตตาต่อประชาชน ซึ่งเป็นความเท็จ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศบารมี เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เสื่อมศรัทธาต่อกษัตริย์จากชาวไทยและชาวต่างประเทศ
.
ท้ายคำฟ้องอัยการระบุว่า การกระทำของทิวากรถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 (3) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14(3) โดยขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย และริบของกลาง ได้แก่ เสื้อยืดสีขาวมีข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” จำนวน 2 ตัว และเสื้อยืดสีดำมีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” จำนวน 1 ตัว
.
ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกันตัวจำเลย โดยระบุว่า ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล
ส่วนคำร้องขอประกันตัวที่ พัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นต่อศาลระบุเหตุผลว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ระหว่างจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน จำเลยก็มารายงานตัวต่อศาลทุกครั้ง จำเลยยังเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานใดได้ และไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใดๆ จึงไม่อาจไปก่อภยันตรายประกันอื่นได้ อีกทั้งจำเลยยังคงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิด มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย
.
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในวงกว้าง และปรากฏว่าในเรือนจำจังหวัดขอนแก่นมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิคอยู่ในเรือนจำ หากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย ก็จะเป็นการเสี่ยงต่อการมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เรือนจำก็จะไม่เพิ่มความแออัด และทำให้บริหารจัดการสถานการณ์โควิดได้ง่ายขึ้นในช่วงนี้
.
กระทั่งช่วงเวลา 13.00 น. ศาลได้วีดิโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามายังห้องรอประกัน โดยศาลได้อธิบายฟ้องแก่ทิวากร และถามว่ามีทนายความหรือยัง ก่อนอ่านคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมที่วางไว้ในชั้นสอบสวนเป็นเงินสด 1.5 แสนบาท และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติม
.
คดีนี้เริ่มขึ้นเมื่อเช้าตรู่วันที่ 4 มีนาคม 2564 ทิวากรถูกตำรวจราว 20 นาย เข้าจับกุมตัวจากบ้านพัก ไปยัง สภ.ท่าพระ ตามหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่นที่ 42/2564 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์ ไอแพด โน้ตบุ๊ก และเสื้อยืด 3 ตัว ไปเป็นของกลาง ก่อนทิวากรได้รับประกันตัวจากศาล หลังตำรวจนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง โดยศาลให้ใช้หลักทรัพย์ 1.5 แสนบาท วางเป็นหลักประกัน
อ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/30152