วันจันทร์, พฤษภาคม 31, 2564

ทำไมระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึงกดันกันถึงขนาดนี้ ทำไมไม่ให้เด็กทุกคนได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ใทำไมไม่ห้เด็กได้รู้จักตัวเองและใช้ชีวิตอย่างเต็มที่



นักเรียนเลว
12h ·

ทำไมถึงเครียดขนาดนี้ ทำไมต้องกดดันกันขนาดนี้ เมื่อระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่มีนักเรียนอยู่ในสมการ ถอดบทเรียนจากการสอบเข้าในช่วง COVID-19

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม มีการประกาศผลการคัดเลือก TCAS64 รอบที่ 3 ครั้งที่ 1 ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยมีผู้สมัครกว่า 110,000 คน และจะมีการประกาศผลรอบที่ 3 ครั้งที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 1 มิถุนายน นักเรียนที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษานี้ต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 บางโรงเรียนการยังมีการจัดการเรียนการสอนยังเข้มข้นเหมือนเดิมแม้ว่าจะต้องเรียนออนไลน์ ทั้งการเปิดเทอมที่ช้าลง แต่ตารางสอบก็ยังคงไว้เช่นเดิม ไม่มีการเปลี่ยนวันแม้ว่านักเรียนชั้น ม.6 จะลุกขึ้นมาทำแคมเปญ #เลื่อนสอบ กันก็ตาม การสอบมาราธอนกว่า 25-35 วิชาในเวลาไม่กี่วัน ยิ่งเพิ่มความเครียดและความกดดันของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยขึ้นไปอีก

ปัญหาความเครียดจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปีนี้ แต่คงอยู่มานานจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว ระบบการศึกษาไทยที่กดดันเด็กให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง สอบเข้าคณะที่สามารถจบไปแล้วทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ จนบางคนอาจต้องละทิ้งความฝันของตัวเอง เพื่อทำตามสิ่งที่ครอบครัวต้องการ และเพื่อดิ้นรนเอาชีวิตรอดในสังคมทุนนิยมเช่นนี้ สำหรับบางคนแล้ว การสอบเข้าที่สร้างความกดดันไม่ได้เริ่มขึ้นในระดับมหาวิทยาลัย แต่ต้องพบเจอมันมาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เราจึงเห็นได้ว่านักเรียนไทยถูกระบบกดทับมาตั้งแต่วันแรกที่ก้าวขาเข้าโรงเรียน จนถึงวันสุดท้ายที่ได้ใส่ชุดนักเรียนเลยทีเดียว

ระบบตัดสินเด็กผ่านคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัย หากคะแนนลดลงไปเพียงนิดเดียวก็อาจเปลี่ยนอนาคตเด็กได้ ข้อสอบที่ใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัยบางวิชาก็เป็นวิชาที่ไม่ได้เรียนที่โรงเรียน แต่กลับต้องไปเรียนที่สถาบันกวดวิชา ทำให้เด็กต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำสองให้ธุรกิจการศึกษา ในขณะที่ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยบีบบังคับให้เราต้องไปเรียนพิเศษ นักเรียนก็ยังต้องมาเจอกับวิชาในโรงเรียนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันอีก เกณฑ์การตัดสินใจรับนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย จึงไม่ได้เป็นการวัดความสามารถและระดับความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการวัดฐานะทางการเงินของผู้ปกครองอีกด้วย

การศึกษาที่ดีควรเป็นการศึกษาที่เด็กทุกคนได้เรียนในสิ่งที่อยากเรียน ปล่อยให้เด็กได้รู้จักตัวเองและใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ โดยไม่บั่นทอนสุขภาพจิตกันขนาดนี้ ทั้งรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการควรปรับเปลี่ยนนโยบายโดยคำนึงถึงนักเรียนเป็นหลัก วิชาที่สอบควรสมเหตุสมผลกับหลักสูตรการเรียนการสอน เหมาะสมกับสาขาวิชาและของตน ต้องลดความเหลื่อมมล้ำทางการศึกษา ถ้าเด็กมีความสามารถเท่า ๆ กัน ก็ควรมีโอกาสได้เรียนต่อเท่า ๆ กัน และไม่ควรซับซ้อนจนเกินไป จนทำให้เด็กต้องบอบช้ำจากการเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า

——
#นักเรียนเลว