ภาพถ่ายหมู่ ที่จอมพล ป. ต้องการ แต่เป็นสมบัตินายควง อภัยวงศ์ ที่เผยแพร่ในนิตยสารไท-สัปดาห์
ภาพถ่ายอะไร? ทำไมทำให้จอมพล ป. อยากได้มากถึงออกปากว่า เท่าไหร่ก็จ่าย
15 มกราคม พ.ศ.2564
ศิลปวัฒนธรรม
ในเหตุการณ์ต่อไปนี้ คำพูดที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดนับพัน” คงจะใช้อ้างอิงได้ดี ยิ่งเมื่อเห็นภาพบุคคลที่รู้จัก หรือภาพตัวเองอยู่ด้วยแล้ว บางที “คำพูดนับพัน” ก็อาจจะไม่พอใช้บรรยายเรื่องทั้งหมด เหมือนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เห็นภาพเก่าภาพหนึ่งที่บนปกนิตยสาร “ไท-สัปดาห์” (ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2499) ที่มีตนเองร่วมอยู่ด้วย แล้วต้องการภาพดังกล่าวอย่างมาก
ข้อมูลเรื่องนี้ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เรียบเรียงไว้ในบทความชื่อ “ข้างหลังภาพ ‘คณะราษฎร’ ณ กรุงปารีส” ภาพนี้ถ่ายเมื่อใด, ที่ไหน, มีใครบ้าง ฯลฯ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ได้รวบรวมไว้ดังนี้
เริ่มจาก “บุคคลในภาพ” ที่ประกอบด้วย (เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา)
1. นายชม จารุรัตน์ หรือ หลวงคหกรรมบดี (พ.ศ. 2447-2522) ในรายชื่อสมาชิกคณะราษฎรบางรายการได้บรรจุชื่อด้วย มีความคุ้นเคยกับนายควง อภัยวงศ์เป็นพิเศษ
2. นายแดง (วิเลียม) คุณะดิลก (พ.ศ. 2445-2540) พี่ชายแท้ๆของคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ สมาชิกเสรีไทย บุตรชายพระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด ติลเลกี) นักกฎหมายชาวศรีลังกา ต้นสกุล “คุณะดิลก”
3. นางสาวเล็ก คุณะดิลก หรือ คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ (พ.ศ. 2449-2526) ภรรยานายควง อภัยวงศ์ ในงานแต่งงานของทั้งคู่ นายปรีดีและนายแนบ สองผู้ก่อการสำคัญของคณะราฎรในอนาคตเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว
4. นายควง อภัยวงศ์ (พ.ศ. 2445-2511) สมาชิกคณะราษฎร แต่เป็นผู้เดียวในภาพที่ไม่นับเป็นผู้ริเริ่มใน 7 ผู้ก่อการที่ฝรั่งเศส นายปรีดีชักชวนนายควงเมื่อใกล้จะทำการยึดอำนาจไม่นานหลังกลับสู่ประเทศไทยแล้ว
5. ม.จ.ธานีเสิกสงัด ชุมพล (พ.ศ. 2445-2524)
6. ม.จ.ลายฉลุทอง ทองใหญ่ (พ.ศ. 2448-2534)
7. นายปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2443-2526) มันสมองคณะราษฎร
8. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (พ.ศ. 2440-2507) หรือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยืนสูบบุหรี่ขณะก้มหน้าดูหนังสือ ทำให้ไม่เห็นใบหน้า มีฉายาว่า “กัปตัน” ในหมู่ผู้ก่อการคณะราษฎร
9. นายประยูร ภมรมนตรี (พ.ศ.2440-2525) คณะราษฎรผู้ริเริ่มก่อการ
10. นายแนบ พหลโยธิน (พ.ศ. 2443-2514) 1 ใน 7 คณะราษฎรผู้เริ่มต้น
ส่วน “วันเวลา และสถานที่ที่ถ่าย” นั้น รูปนี้ระบุวันถ่ายว่า ถ่ายเมื่อวันชาติฝรั่งเศสเมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) ที่ Place du Trocadéro ซึ่งอ้างอิงตามบันทึกลายมือของคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ ภาพนี้จึงถ่ายครึ่งปีก่อนการประชุมของ 7 ผู้ริเริ่มคณะราษฎรที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ ‘Rue de Sommerard’
กองบรรณาธิการไท-สัปดาห์ ยังเขียนถึงภาพนี้ว่า
“ภาพชนิดนี้จะหาดูได้ยาก เมื่อย้อนหลังลงไป แม้เพียงได้เห็นแต่ในภาพนั้นก็จะพบได้ว่าคนไทยกลุ่มนั้นยังหนุ่มแน่นแข็งแรง กำลังมีมันสมองสติปัญญาเปรื่องปาดเหมาะที่จะคิดการใหญ่การโตสำหรับอนาคตของตนต่อไป แต่ทว่าเขาหาได้คิดเพื่อเฉพาะอนาคตของเขาเท่านั้นไม่ เขาพากันคิดถึงอนาคตของคนทั้งชาติเลยทีเดียว และอนาคตของชาติที่เขาคิดไว้นั้นเขาได้กระทำแล้วแต่ภาพนี้เฉพาะอย่างยิ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม อาจดูด้วยความสะท้อนสะท้านใจ ถ้าหากหวลนึกถึงความหลังระหว่างเพื่อนน้ำมิตร นายควง อภัยวงศ์ อาจจะดูภาพนี้อย่างยิ้มหวัว อีกหลายท่านดูภาพนี้ก็อาจจะดูด้วยความปลงตกว่า จะเอาอะไรจริงจังกับความจีรังยั่งยืนทั้งหลายในโลกนี้เล่า ถ้าหากว่าโลกยังต้องการความวิวัฒนาการอยู่เสมอไม่ว่าคนหรือสัตว์”
ไม่ว่าจะด้วยข้อความข้างต้นที่ไท-สัปดาห์บรรยายไว้, บุคคลในภาพที่จอมพล ป. ถ่ายภาพร่วมกัน หรือเหตุผลอื่นใด แต่เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อจอมพล ป. เห็นภาพดังกล่าวขึ้นปก “ไท-สัปดาห์” ปีที่1 ฉบับที่ 8 วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2499 ก็ส่งคนสนิมมาติดต่อขอภาพดังกล่าว
ส่วนผลลัพธ์เป็นอย่างไรคงต้องฟังจากบรรณาธิการไท-สัปดาห์ เขียนอธิบบายเรื่องนี้ว่า (ในบทบรรณาธิการไท-สัปดาห์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 11 จันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2499) ว่า
ปก “ไท-สัปดาห์” ปีที่1 ฉบับที่ 8 วันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2499
“นึกแล้วไม่ผิดเลยว่าภาพหน้าปก ‘ไท-สัปดาห์’ ฉบับที่ 8 ซึ่งเป็นภาพประวัติศาสตร์ ของนักการเมืองคนสำคัญในยุคนี้จะต้องทำให้ใครคนหนึ่งสดุ้งเฮือกขึ้นมาทันที ผู้ที่ถึงแก่สดุ้งเฮือกนั้นคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมองเห็นภาพตัวของเขาเองอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ ‘คู่ปรปักษ์ทางการเมือง’ ในปัจจุบัน ซึ่งมีนามกรบันลือโลกว่านายควง อภัยวงศ์ หรือตามยศทหารซึ่งเรียกว่านายพันตรีควง อภัยวงศ์ และนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ต้องหาคดีปลงประชนม์ฯ
ที่จอมพล ป.พิบูลสงครามสดุ้งขึ้นนั้น อาจเป็นเพราะเกิดปฏิกิริยาทางใจ แห่งความสำนึกชีวิตและเหตุการณ์ในอดีตอาจผุดขึ้นมาในความทรงจำว่า ครั้งหนึ่งในปารีสประเทศฝรั่งเศส เขากับ ‘คู่ปรปักษ์ทางการเมือง’ ในปัจจุบันนี้ได้เคยร่วมรู้ร่วมคิดการใหญ่ และร่วมตระเวณปารีสมาด้วยกัน มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันอย่างที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กลับมาร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นผลสำเร็จ.
ภาพในอดีตจะเตือนความทรงจำรำลึกขึ้นมาอย่างไรก็ตาม จอม ป.พิบูลสงคราม จึงอยากได้ภาพนี้อย่างเหลือสติกำลัง ถึงแก่สั่งให้คนสนิทนำภาพนี้ไปให้จงได้ ในที่สุดก็มาถึง ‘ไท-สัปดาห์’ พร้อมกับแจ้งว่า จะเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ไม่ว่าขอแต่ให้ได้ภาพนี้ไปให้ท่านจอมพลเท่านั้น.
‘ไท-สัปดาห์’ รู้สึกเห็นใจทั้งผู้มาติดต่อและผู้ที่ใช้ให้มาติดต่อเป็นอันมาก แต่ก็ไม่ทราบว่าจะสนองความประสงค์นั้นด้วยวิธีใด เพราะเป็นภาพที่ยืมเขามาเหมือนกัน จึงได้แต่แสดงความเสียใจว่า ‘ขอได้โปรดไปติดต่อขอจากคุณควง อภัยวงศ์กันเองเถิด’
แต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะส่งให้ใครไปติดต่อกับนายควง เพื่อขอภาพในอดีตนี้แล้วหรือยัง…..ยังไม่มีใครรู้!”
ถึงต้องมูลเหตุที่จอมพล ป. อยากได้รูปคงพอจะประมวลได้ แต่ดูแนวโน้มจอมพล ป. คงจะไม่ได้รูป หรือท่านคิดอย่างไร
ลด 40% กลับมาแล้ว! สมัครรับนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 1 ปี (12 ฉบับ) ลดเหลือเพียง 1,200 บาท เฉพาะสมัครวันที่ 9-31 ม.ค. 2564 เท่านั้น คลิกสมัครและดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่
ข้อมูลจาก
นริศ จรัสจรรยาวงศ์. “ข้างหลังภาพ ‘คณะราษฎร’ ณ กรุงปารีส” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2563
เผยแพร่ในระบบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2564