วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 15, 2564

หาของใหม่ในของเก่า - “History is not was, it is.”


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
4h ·

[ความคิดของ Marx และ Lenin ว่าด้วยการบดขยี้กลไกรัฐและแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ : ประสบการณ์จากการปฏิวัติคอมมูนปารีส 1871]

"2. จะแทนที่กลไกรัฐที่ถูกบดขยี้ด้วยอะไร ?

ในปี 1847 ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์นั้น คำตอบของมาร์คซ์ต่อปัญหานี้ยังมีลักษณะเป็นนามธรรมอยู่ หรือกล่าวให้ชัดลงไปก็ว่ามันเป็นคำตอบที่บ่งชี้ถึงภารกิจ แต่มิใช่วิถีทางในอันที่จะบรรลุถึงภาระกิจนั้น คำตอบที่ให้ไว้ในแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ก็คือว่า กลไกนี้จะต้องถูกแทนที่ด้วย “ชนชั้นกรรมาชีพ จัดตั้งขึ้นเป็นชนชั้นปกครอง” ด้วย “การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย”

มาร์คซ์มิได้พึงใจอยู่กับการเพ้อฝัน ท่านหวังความเจนจัดแห่งความเคลื่อนไหวของมวลชนสนองคำตอบให้กับปัญหาว่า รูปแบบจำเพาะแห่งองค์การจัดตั้งของชนชั้นกรรมาชีพเป็นชนชั้นปกครองดังกล่าวนี้จะเป็นรูปใด และองค์การจัดตั้งนี้จะเชื่อมประสานกับ “การต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย” ในลักษณะใด

มาร์คซ์ได้นำความเจนจัดของคอมมูนมาทำการวิเคราะห์อย่างระมัดระวังที่สุดในบทนิพนธ์ชื่อ สงครามการเมืองในฝรั่งเศส ขอให้เรายกข้อความ ที่สำคัญที่สุดจากบทนิพนธ์นี้มาอ้างดังนี้ :

มีกำเนิดจากยุคกลางเป็นต้นมา จึงในศตวรรษที่ 19 “อำนาจรัฐ รวบอำนาจพร้อมด้วยองค์กรที่ชำแรกอยู่ทั่วไปของมันได้แก่ กองทัพประจำการ กำลังตำรวจ ระบบราชการ พระ และกระบวนการยุติธรรม” ได้เกิดขึ้นที่นั่น (ฝรั่งเศส) พร้อมๆ กับการคลี่คลายขยายตัวของความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น ระหว่างทุนกับชนชั้นใช้แรงงาน “อำนาจรัฐจึงมีลักษณะเป็นอำนาจแห่งชาติของทุนเหนือแรงงาน เป็นอำนาจสาธารณะที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกดขี่คนในสังคมลงเป็นทาส เป็นเครื่องจักรกลของระบบเผด็จการทางชนชั้นภายหลังการปฏิวัติทุกครั้งอันเป็น นิมิตหมายของความก้าวหน้าในการต่อสู้ทางชนชั้น ลักษณะกดขี่ใช้อำนาจรัฐจะเผยออกเด่นชัดยิ่งขึ้นทุกที” ภายหลังการปฏิวัติปี 1848-49 อำนาจรัฐได้กลับกลายเป็น “เครื่องจักรกลสงครามแห่งชาติของทุนต่อแรงงาน” จักรวรรดิที่สองสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสิ่งนี้ “รูปแบบที่ตรงกันข้ามกับจักรวรรดิก็คือคอมมูน” มันเป็น “รูปแบบในทางบวก” ของ “สาธารณรัฐที่มิเพียงแต่จะเข้าแทนที่รูปการปกครองชนชั้นแบบราชาธิปไตย แต่จะเข้าแทนที่การปกครองชนชั้นเองเลยทีเดียว”

ก็อะไรเล่าคือรูปแบบ “ในทางบวก” ของสาธารณรัฐของชนชั้นกรรมาชีพนี้ ?

“...กฤษฎีกาฉบับแรกของคอมมูน...คือสั่งยุบกองทัพประจำการแล้ว แทนที่ด้วยประชาชนติดอาวุธ”

มาตรการนี้นับว่าเด่นอยู่ในโครงการของพรรคการเมืองทั้งหลายที่อ้างว่าเป็นสังคมนิยมอยู่ขณะนี้ ทว่าคุณค่าที่แท้จริงของโครงการเหล่านั้น จะเห็นได้ดีที่สุดจากพฤติการณ์ของเหล่าสมาชิกพรรคปฏิวัติสังคมนิยมและพวกเมนเชวิค ซึ่งพอคล้อยหลังการปฏิวัติวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1917 พวกเขาก็พากันปฏิเสธ ที่จะดำเนินตามมาตรการนี้!

“คอมมูนประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาล เลือกตั้งโดยการลงคะแนนเสียงทั่วไปจากย่านต่างๆ ของเมือง รับผิดชอบและถอดถอนได้ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนใหญ่ของสมาชิกเป็นกรรมกร หรือเป็นตัวแทนที่ยอมรับกันในหมู่ชนชั้นกรรมกร...แทนที่จะทำตัวเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลางต่อไป ตำรวจก็ได้ถูกขจัดสีสรรทางการเมืองออกไป กลายเป็นตัวแทนที่รับผิดชอบและถอดถอนได้ตลอดเวลาของคอมมูน รวมทั้งข้าราชการ ทั้งหลายในทุกสาขาบริหารด้วย นับแต่สมาชิกของคอมมูนเรื่อยลงมา บริการสาธารณะต้องกระทำในอัตราค่าจ้างของกรรมกร ผลประโยชน์ในทางอภิสิทธิ์และเงินตอบแทนที่มอบให้กับผู้ทรงยศฐาบรรดาศักดิ์ของรัฐถูกยกเลิกไป พร้อมกับผู้ทรงยศฐาบรรดาศักดิ์เอง...”

“เมื่อได้กำจัดกองทัพประจำการและกำลังตำรวจ อันเป็นกำลังทางวัตถุของรัฐบาลเก่าแล้ว คอมมูนก็ไม่รีรอที่จะทำลายกำลังปราบปรามทางจิตใจ ‘อำนาจพระ’ ลงด้วย...”

“เจ้าหน้าที่ตุลาการที่ถูกปลดเปลื้องออกจากความเป็นอิสระอันจอมปลอม.. พวกเขาต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องรับผิดชอบ และถอดถอนได้”

ดังนี้ดูเหมือนว่าคอมมูนได้แทนที่กลไกรัฐที่ถูกบดขยี้ด้วยระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่า “เพียงเท่านั้น” นั่นคือลบล้างกองทัพประจำการ ข้าราชการทุกคนต้องมาจากเลือกตั้งและถอดถอนได้ตลอดเวลา ทว่าตามที่เป็นจริงแล้ว สิ่งดังกล่าว “เพียงแต่” แสดงให้เห็นว่าได้มีการแทนที่สถาบันบางสถาบันอย่างมโหฬารด้วยสถาบันอีกอย่างหนึ่ง อันอยู่ในลำดับที่แตกต่างกันในขั้นมูลฐานทีเดียว ซึ่งตรงกับ “ปริมาณถูกเปลี่ยนเป็นคุณภาพ” กล่าวคือ ประชาธิปไตยได้ถูกเปลี่ยนจากประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนมาเป็นประชาธิปไตยแรงงาน รัฐ(กำลังพิเศษสำหรับปราบปรามชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง)ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นบางสิ่งที่มิใช่รัฐอย่างแท้จริงอีกต่อไป

ยังนับเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องปราบปรามชนชั้นนายทุนและบดขยี้การต่อต้านของชนชั้นนั้น และสำหรับคอมมูนแล้วยิ่งเป็นเรื่องจำเป็นใหญ่ เพราะเหตุหนึ่งที่ทำให้คอมมูนปราชัย ก็คือคอมมูนมิได้ทำการทั้งนี้ด้วยความเด็ดขาดพอเพียง แต่ทว่าองค์กรสำหรับปราบปรามในตอนนี้คือประชาชนส่วนข้างมาก มิใช่คนเพียงหยิบมือเดียว ดังที่ปรากฏในระบบทาส ระบบเกษตรกรติดที่ดิน และระบบทาสค่าจ้าง และเนื่องจากประชาชนส่วนข้างมากเองเป็นผู้ปราบปรามเหล่านักกดขี่ “กำลังพิเศษ“สำหรับปราบปราม จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป โดยนัยนี้ รัฐก็จะเริ่มสลายตัว แทนที่จะใช้สถาบันพิเศษของอภิสิทธิ์ชนกลุ่มย่อย (ระบบข้าราชการอภิสิทธิ์, นายทหารในกองทัพ) คนส่วนข้างมากเองย่อมสามารถปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมดนี้โดยสมบูรณ์ และยิ่งหน้าที่แห่งอำนาจรัฐกระจายสู่มือประชาชนส่วนรวมมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความจำเป็นสำหรับการคงอยู่ของอำนาจนี้ น้อยลงเท่านั้น

และมาตรการต่อไปนี้ของคอมมูน ซึ่งมาร์คซ์เน้นเอาไว้ก็น่าสนใจเป็นพิเศษ กล่าวคือ ยกเลิกอภิสิทธิ์เป็นตัวเงินในหมู่ข้าราชการ ยกเลิกเบี้ยหวัดสำหรับผู้ทรงยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐ และลดทอนค่าตอบแทนของข้าราชการทุกคนให้อยู่ในระดับ “ค่าจ้างกรรมกร” สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงการเปลี่ยนจากระบอบประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน ไปสู่ระบบประชาธิปไตยของชนชั้นกรรมาชีพ จากระบบประชาธิปไตยของเหล่านักกดขี่ไปสู่ระบบของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ จากรัฐในฐานะที่เป็น “กำลังพิเศษ” สำหรับปราบปรามชนชั้นหนึ่งไปสู่การปราบปรามเหล่านักกดขี่ด้วยกำลังทั่วไปของประชาชนส่วนข้างมาก อันได้แก่กรรมาชีพและชาวนา

การลดทอนค่าตอบแทนของข้าราชการระดับสูงสุดของรัฐ (ให้อยู่ในระดับค่าจ้างของกรรมกร) ดูเหมือนเป็นมาตรการของระบบประชาธิปไตยบุพกาล เอดเวิด เบอร์นสไตน์ อดีตนักสังคมนิยมประชาธิปไตย “ผู้ก่อตั้ง” ลัทธิฉวยโอกาสในปัจจุบันคนหนึ่ง ชอบกล่าวย้ำซ้ำซากถึงคำเสียดสีเยาะเย้ยของพวกนายทุนต่อระบบประชาธิปไตย “บุพกาล” อยู่เนืองๆ เช่นเดียวกับพวกฉวยโอกาสทั้งหลาย และเช่นเดียวกับพวก“เคาท์สกี้“ในปัจจุบัน เบอร์นสไตน์ไม่อาจเข้าใจได้ว่า หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงจากระบอบทุนนิยมไปสู่ระบอบสังคมนิยมไม่มีทางเป็นไปได้หากปราศจาก “การหวนกลับ” ไปสู่ระบบประชาธิปไตยบุพกาลในบางสิ่งบางอย่าง (มิเช่นนั้นคนส่วนใหญ่ และประชาชนทั้งมวลจะสามารถทำหน้าที่บริหารรัฐได้อย่างไรเล่า?) และ สอง “ระบบประชาธิปไตยบุพกาล” อันมีพื้นฐานอยู่บนระบอบทุนนิยมและวัฒนธรรมแบบทุนนิยม หาได้เหมือนกับระบบประชาธิปไตยบุพกาลในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือยุคก่อนทุนนิยมไม่ วัฒนธรรมแบบทุนนิยมได้สร้างการผลิตขนาดใหญ่ โรงงาน รถไฟ บริการไปรษณีย์ โทรศัพท์ ฯลฯ และบนพื้นฐานนี้เอง บรรดาหน้าที่การงานมากหลายของ“อำนาจรัฐ“เก่า จึงกลายเป็นสิ่งที่ง่ายเข้า สามารถลดอยู่ในระดับปฏิบัติการง่ายๆ ในด้านลงทะเบียน เก็บเอกสาร และตรวจสอบ จนทุกคนที่รู้หนังสือก็สามารถกระทำได้โดยง่ายในอัตรา “ค่าจ้างของกรรมกร” ทั้งหน้าที่การงานเหล่านี้ก็สามารถ (และต้อง) ได้รับกำจัดให้สิ้นซึ่งร่มเงาแห่งอภิสิทธิ์ ให้สิ้นร่องรอยแห่ง “ความโอ่อ่าแบบราชการ”

ข้าราชการทุกคนไม่มีข้อยกเว้น ล้วนมาจากการเลือกตั้งและถูกถอดถอนเมื่อใดก็ได้ เงินเดือนของข้าราชการเหล่านี้ก็ถูกลดอยู่ในระดับ “ค่าจ้างของ กรรมกร” มาตรการประชาธิปไตยง่ายๆ และ “ประจักษ์แจ้ง” ดังกล่าวนี้ นอกจากจะ ช่วยผนึกผลประโยชน์ของกรรมกรและชาวนาส่วนใหญ่แล้ว ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นสะพานนำจากระบอบทุนนิยมไปสู่ระบอบสังคมนิยม อีกทั้งมาตรการเหล่านี้เกี่ยวข้องอยู่กับการสร้างสรรค์รัฐขึ้นมาใหม่ เกี่ยวข้องอยู่กับการสร้างสรรค์สังคมในด้านการเมืองขึ้นมาใหม่ (political reconstruction of society) ทว่าที่จริงแล้ว มาตรการดังกล่าวจะมีความหมายและความสำคัญอย่างสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อมันสัมพันธ์กับ “การริบทรัพย์ของผู้ริบทรัพย์” (expropriation of the expropriators) กล่าวคือต้องเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยผลิตของเหล่านายทุนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของสังคม

”คอมมูน” มาร์คซ์เขียน “ได้ทำให้คำพูดที่กล่าวกันติดปากในการปฏิวัติของชนชั้นนายทุน คือรัฐบาลราคาถูก กลายเป็นความจริงด้วยการทำลายแหล่งรายจ่ายมหึมาสองแหล่ง-กองทัพประจำการและระบบราชการของรัฐ”
จากชนชั้นชาวนาและจากกลุ่มอื่น ๆ ของชนชั้นนายทุนน้อย มีเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่ “ก้าวถึงจุดยอด” “ดำเนินชีวิตได้ในโลก” ตามความหมายของชนชั้นนายทุน นั่นคือกลายเป็นคนมั่งมี กลายเป็นพวกนายทุน หรือเป็นข้าราชการในตำแหน่งอภิสิทธิ์อันมั่นคง ในประเทศทุนนิยมทุกประเทศที่มีชนชั้นชาวนา (ดังปรากฏอยู่ในประเทศทุนนิยมส่วนมาก) ชาวนาส่วนข้างมากอันไพศาลจะถูกกดขี่จากรัฐบาลอย่างแสนสาหัส พวกเขาต่างรอคอยวันโค่นล้มของมัน รอคอยรัฐบาล“ราคาถูก” การนี้จะสัมฤทธิ์ได้ก็แต่อาศัยชนชั้น กรรมาชีพเท่านั้น และเมื่อชนชั้นกรรมาชีพทำการสัมฤทธิ์แล้ว ก็เท่ากับชนชั้นนั้นก้าวไปอีกขั้นสู่การสร้างสรรค์รัฐใหม่ตามครรลองแห่งสังคมนิยม"

เลนิน, รัฐกับการปฏิวัติ, 1917 แปลโดย วิชา วัฏฏโก, สำนักพิมพ์ปุถุชน, 2517.

Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
อ่าน "รัฐกับการปฏิวัติ" ที่แปลเป็นภาษาไทย บางตอน ได้ที่ https://www.marxists.org/.../1917/state-revolution/index.htm
.....

“History is not was, it is.”
William Faulker นักเขียนชาวอเมริกัน