วันพุธ, กุมภาพันธ์ 17, 2564

#จดหมายเปิดผนึก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม #ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม



รุ้ง ปนัสยา ทำกิจกรรมอ่านและยื่นจดหมายเปิดผนึกที่สำนักนายกรัฐมนตรี

Karnt Thassanaphak
5h ·

#จดหมายเปิดผนึก
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
#ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
.
เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกว่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะนับตั้งแต่กลางปี 2563 เป็นต้นมา ประชาชนจำนวนมหาศาลได้ก้าวออกมาร่วมกันชุมนุมโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ถึงความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงดังนานาอารยประเทศ ต้องการที่จะเห็นความเป็นธรรมในสังคมไทย อันหมายถึงความเท่าเทียมในศักดิ์ศรีและโอกาสของประชาชนทุกคน ภายใต้ข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ (1) ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพ (2) แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ (3) ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย
.
แต่ก็เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกอีกเช่นกันว่า รัฐไทยได้เลือกที่จะใช้วิธีการที่รุนแรงและเกินกว่าเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย การใช้กระบอง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และรถฉีดน้ำแรงดันสูง มาตอบโต้และปราบปรามผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ ไม่เว้นแม้ใจกลางเมืองหลวงและต่อหน้าสื่อมวลชน หลายครั้งหลายหน
.
ยิ่งไปกว่านั้น คือการจับกุมผู้ปราศรัยและผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง และบ่อยครั้งด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น จับกุมและควบคุมตัวไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (บก. ตชด.1) แทนที่จะเป็นสถานีตำรวจในพื้นที่ การปฏิเสธให้ทนายและญาติเข้าร่วมการสอบสวน รวมถึงการตั้งกล่าวข้อหาที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ “ข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง” และมาตรา 112 ที่รู้จักกันดีในนาม “ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์” ซึ่งอัตราโทษสูงอย่างเกินกว่าเหตุ
.
และที่เลวร้ายและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมากก็คือ การปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาในระหว่างการดำเนินคดี ดังกรณีล่าสุดคือ การปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายอานนท์ นำภา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ที่ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา112 เป็นเหตุให้ทั้ง 4 คน ยังคงถูกจองจำอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จวบจนนาทีนี้
.
ทั้งที่ตามหลักการ “Presumption of Innocence” ซึ่งใช้ในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ในคดีอาญา ระหว่างที่คดียังไม่สิ้นสุด ให้อนุมานว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ “ไม่มีความผิด จนกว่าจะมีคําพิพากษาอันถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” ซึ่งหลักการนี้ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้แต่ฉบับปัจจุบันซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย ก็ยังให้การรับรองสิทธินี้เอาไว้ ในมาตรา 29 วรรค 2 อย่างชัดเจนว่าเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทย
.
การที่ศาลปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าทั้ง 4 คน “มีพฤติกรรมที่อาจกระทำความผิดซ้ำ” ซึ่งเป็นการ “พิพากษาล่วงหน้า” ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงและอาจทำซ้ำนั้น จึงขัดต่อหลักการ “Presumption of Innocence” และเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของจำเลยทั้ง 4 คนอย่างชัดเจน
.
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ศาลปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม มาตรา 112 ให้จองจำเอาไว้อย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่คดียังไม่ได้เริ่มการไต่สวน ทั้งที่ผู้ต้องหาไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี ในขณะที่ยังคงให้สิทธิในการประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาอื่นๆ ที่มีอัตราโทษรุนแรง เช่น ต้องหาว่าฆ่าคนตายโดยเจตนา จึงอาจนำไปสู่การสร้างมาตรฐานอันไม่ชอบธรรม นั่นคือ ผู้ต้องหาในความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวมากกว่าคดีอาญาอื่นๆ ซึ่ งนอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนรวมถึงผู้ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แล้ว ยังทำลายเกียรติภูมิของศาลและกระบวนการยุติธรรมไทยให้ย่อยยับลง จนอาจถูกติฉินจากนานาอารยประเทศว่า ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองภายในประเทศจนละทิ้งศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิ
.
เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของศาล และความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม “เรา” ในนามของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ขอเรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน และผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองทั้งหมด
.
และขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาญา สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม และคำนึงถึงเกียรติ ศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะมีได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชนเท่านั้น
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration

16/02/2564