วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 02, 2564

อองซานซูจีเรียกร้องให้ประชาชนเมียนมา "อย่ายอมรับรัฐประหาร" รัฐประหารเมียนมา ๒๐๒๑ ไม่ใช่แค่จุดจบ แต่เป็นการปวดกบาลของทหาร




Kasian Tejapira
17h ·

รัฐประหารเมียนมา ๒๐๒๑ ไม่ใช่แค่จุดจบ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลาย ๆ อย่างด้วย

%%%%

รัฐประหารเมียนมาไม่ใช่เป็นแค่จุดจบแห่งการใช้ความรุนแรงต่อการเลือกตั้ง (electoral violence) เพื่อล้มผลเลือกตั้งของกองทัพเท่านั้น หากยังเป็นจุดเริ่มต้นของหลายสิ่งหลายอย่าง อาทิ

-จุดเริ่มต้นของอาการติดเพดานขลุกขลักในการเลือกเลื่อนตำแหน่งไต่สูงขึ้นไปตามลำดับปกติในกองทัพ พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายที่ถ่างก้นนั่งควบเก้าอี้นำกองทัพกับการเมืองต่อไป จะลุกไม่ขึ้นง่าย ๆ เพราะต้องหวงแหนยึดกุมการนำกองทัพไว้ให้มั่นคงหรือส่งต่อให้ลูกน้องที่วางใจได้ ซึ่งย่อมกลายเป็นจุกอุปสรรคการเลือกเลื่อนตามปกติของนายทหารระดับรอง ๆ ลงไป อันจะยิ่งเพิ่มเดิมพันและเชื้อมูลความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองและการทหารในกองทัพมากขึ้น

-จุดเริ่มต้นของการพังทลายของหลักนิติธรรม (the rule of law) สภาพไร้ขื่อไร้แปขยายวงออกและการสวิงไปสู่แนวคิดแข็งกร้าวถึงรากยิ่งขึ้นของพลังฝ่ายค้าน (radicalisation) ทั้งที่สู้ด้วยอาวุธและด้วยความไม่รุนแรง
-จุดเริ่มต้นของการโทษรัฐบาลพลเรือนไม่ได้ต่อปัญหาโควิด-๑๙ ระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจอีก ต่อแต่นี้ไปรัฐบาลทหารปกครองเองต้องรับไว้เต็ม ๆ ถ่ายเดียว

-จุดเริ่มต้นของการเสียเปรียบตกเป็นเบี้ยล่างต่อรองของเมียนมาต่อจีนและอาเซียนในฐานต้องพึ่งพาทั้งความชอบธรรม การทูตและเศรษฐกิจการค้าการลงทุนจากเพื่อนบ้านที่ไม่แยแสหลักการเสรีประชาธิปไตย แต่พร้อมต่อรองเอาเปรียบเหล่านี้

-จุดเริ่มต้นแห่งช่องทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่ปิดแคบลงกับโลกตะวันตกโดยรวม

-จุดเริ่มต้นแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจซ้ำเติมสำหรับประชาชนชาวเมียนมา ภายใต้การปิดกั้นทางเศรษฐกิจการค้าเพิ่มขึ้นจากโลกตะวันตกและภายใต้รัฐบาลทหารที่ไม่จำเป็นต้องฟังประชาชนผู้เดือดร้อนก็ได้ เพราะได้อำนาจมาจากปืน ไม่ใช่เสียงโหวต

-จุดเริ่มต้นของโอกาสการปริแตกแยกห่างระหว่างกองทัพ กับ ชาติเมียนมา ที่กองทัพเคยผูกขาดชาตินิยมมาตลอดนับแต่ได้เอกราชมา มีช่องว่างที่พลังการเมืองฝ่ายอื่นจะต่อสู้ช่วงชิงธงชาตินิยมเมียนมาเป็นของตนบ้างมากขึ้นในนามประชาธิปไตย

-จุดเริ่มต้นของอาการวนลูปในการแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยทั้งที่ติดอาวุธและไม่ติดอาวุธในเมียนมา รวมทั้งปัญหาโรฮิงญาที่ค้างคาอยู่