วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 19, 2564

รู้ไหมกระสุนยางจริงๆ ไม่ใช่ “ยาง” และไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อยิงคน


BrandThink
February 14 at 1:00 AM ·

LOCALRY: รู้ไหมกระสุนยางจริงๆ ไม่ใช่ “ยาง” และไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อยิงคน
.
ช่วงนี้โลกกลับมาเต็มไปด้วยการประท้วงอีกครั้ง และการประท้วงก็คู่กับการ “ปราบม็อบ” ของรัฐเสมอ โดย “สัญลักษณ์” ของการ “ปราบม็อบ” ที่ถือว่ารุนแรงก็หนีไม่พ้นการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง
.
บางคนคงรู้แล้วว่าแก๊สน้ำตาเป็นสิ่งที่มีปัญหามาก เพราะแก๊สที่ใช้หมายถึง ‘สาร’ ได้หลากหลายชนิด แต่ในภาพรวมก็คือ “แก๊สน้ำตา” เป็นสิ่งที่ “ห้ามใช้ในสงคราม” แต่กลับใช้กับประชาชนได้ แน่นอนว่าประเด็นนี้ช่างย้อนแย้งสุดๆ (อ่านเรื่องแก๊สน้ำตาเพิ่มเติมได้ที่: https://bit.ly/3aNWCmp)
.
ว่าแต่ “กระสุนยาง” ล่ะ?
.
ซึ่งกระสุนยางมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมาก
.
‘กระสุนยาง’ อาวุธที่รัฐใช้ปราบจลาจล
.
กระสุนยางเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาค่อนข้างใหม่ ตำรวจอังกฤษเป็นกลุ่มคนที่ใช้ครั้งแรกในการปราบม็อบที่ไอร์แลนด์เหนือในปี 1970 จากนั้นกระสุนยางก็กลายเป็น “อาวุธปราบจลาจล” คลาสสิคของรัฐทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน
.
ทำไมต้องกระสุนยาง?
.
ต้องเข้าใจก่อนว่า ในมาตรฐานของประเทศพัฒนาแล้ว การใช้ “กระสุนจริง” ปราบม็อบนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะไม่ว่าจะด้วยหลักการสากลหรือสามัญสำนึกใดๆ ก็บอกได้ว่าการหันกระบอกปืนที่มีกระสุนจริงใส่มนุษย์แล้วยิงออกไป มันคือการ “มีเจตนาฆ่า” ชัดๆ และหลักทั่วไปของรัฐสมัยใหม่ที่ศิวิไลซ์คือ รัฐนั้นห้าม “ฆ่าประชาชน” ในทุกกรณี
.
ด้วยเหตุนี้ ตำรวจปราบม็อบจึงไม่ใช้กระสุนจริง และการใช้กระสุนจริงมักจะเกิดจากการเอาทหารมาปราบม็อบเสียมากกว่า ซึ่งในศตวรรษที่ 21 ถือเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนแม้แต่ในมาตรฐานของประเทศด้อยพัฒนา
.
อย่างไรก็ดี แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การที่ม็อบท้าทายรัฐอย่างร้ายแรงมากๆ ทั้งประเด็นที่ประท้วงและความเข้มข้นของการประท้วง ก็ทำให้รัฐอยากจะหา “อาวุธที่รุนแรง” ขึ้นในการปราบการประท้วง
.
และ “กระสุนยาง” ก็คือคำตอบนั้น
.
“ยิงพื้น ไม่ใช่ยิงคน” วิธีใช้กระสุนยาง
.
วิธีการง่ายที่สุดในการทำให้ “อาวุธปืน” เบาลง ก็คือเปลี่ยนกระสุนจากโลหะล้วนเป็นอย่างอื่น ซึ่งนี่คือแนวคิดของการสร้างกระสุนยางมาแต่แรกเลย และในตอนแรกผู้สร้างก็ไม่ได้สร้างกระสุนยางขึ้นมาเพื่อให้ยิงคนตรงๆ ด้วย แต่สร้างมาให้ยิงลงพื้น ให้ลดความรุนแรงก่อนจะกระเด้งโดนคนอีกที ซึ่งจะไม่แม่นยำก็ไม่แปลก เพราะเป้าหมายคือทำให้ “เจ็บ แต่ไม่บาดเจ็บ”
.
นี่คือ “อุดมคติของกระสุนยาง” ที่ฝ่ายสนับสนุนกระสุนยางเอามาสร้างความชอบธรรมให้กระสุนยางเสมอ แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับ “ความเป็นจริงของกระสุนยาง”
.
เพราะเอาแค่ในอังกฤษเอง กระสุนยางถูกเอามาใช้แค่ไม่กี่ปี คนตายไปหลายสิบ จนช่วง 1980’s อังกฤษต้องเปลี่ยนกระสุนยางเป็นกระสุนพลาสติก แต่ผลก็ไม่ได้ดีขึ้น ตายไปหลายสิบเช่นกัน
.
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?
.
คำอธิบายง่ายๆ เลยก็คือ ประการแรก ที่เรียกว่ากระสุนยางหรือกระสุนพลาสติกนั้น จริงๆ มันไม่ใช่ยางทั้งแท่งหรือพลาสติกทั้งแท่ง แต่ส่วนประกอบเกินครึ่งของน้ำหนักของมันคือโลหะ พูดง่ายๆ เรียกให้ตรงมันคือกระสุนโลหะเคลือบยางมากกว่าที่จะเป็น “กระสุนยาง”
.
รู้ดังนี้แล้วก็คงจะไม่ต้องอธิบายต่อไปว่าถ้าโดนยิงร่างกายคน มันไม่ใช่แค่ “เจ็บ แต่ไม่บาดเจ็บ” ดังที่โฆษณากัน เพราะกระสุนยางสามารถทำให้พิการหรือกระทั่งตายได้ ถ้ายิงไปโดนบางส่วนของร่างกาย
.
กระสุนยาง = ลดความรุนแรงจอมปลอม
.
ประเด็นนี้เลยนำเรามาสู่อีกปัญหาของกระสุนยางคือเวลาตำรวจใช้ไม่ได้ “ยิงลงพื้น” แบบที่ถูกออกแบบมาตอนแรก แต่ใช้กระสุนยางยิงคนตรงๆ เลย ซึ่งแม้ในยุคหลังๆ ไกด์ไลน์ด้านสิทธิมนุษยชนจะแนะนำว่าการใช้กระสุนยาง ควรจะเล็งไปที่ส่วนล่างของร่างกายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง เหตุที่ผู้ชุมนุมต้อง “ตาบอด” เพราะกระสุนยางก็เห็นได้เกลื่อนในการประท้วงรุนแรงทั่วโลก
.
พูดง่ายๆ คือในทางปฏิบัติ เราไม่สามารถคุมให้ตำรวจปราบจลาจลให้ใช้กระสุนยางอย่างที่มันควรจะถูกใช้ให้ผู้ประท้วงเพียงแค่ “เจ็บ แต่ไม่บาดเจ็บ” ดังที่อ้างกัน
.
ดังนั้นยุคหลังๆ เขาจึงรณรงค์กันมากขึ้นว่ากระสุนยางคือการ “ลดความรุนแรงแบบปลอมๆ” ดังนั้นมันจึงควรจะเป็นสิ่งที่ถูกแบนในการควบคุมการประท้วงทั่วโลก
.
แต่แน่นอน ก็ไม่มีรัฐที่ไหนฟัง และก็ยังใช้ “กระสุนยาง” อยู่ พร้อมอ้างว่านี่คือการควบคุมการชุมนุมแบบ “ไม่รุนแรง” และ “เป็นไปตามหลักสากล” แล้ว
.
และที่ตลกก็คือ จริงๆ เมื่อ 50 ปีก่อนตอนกระสุนยางเริ่มใช้ เขาก็อ้างแบบนี้นี่แหละ ซึ่งไม่กี่ปีต่อมา คนก็รู้ว่ามันไม่จริง หลังจากมีคนตายด้วยกระสุนยางเป็นสิบคน แต่ก็ยังใช้มาเรื่อยๆ
.
ทั้งนี้ ในระยะหลังก็มีการวิจัยชัดเจนด้วยว่าคนที่โดนกระสุนยางนั้นตายไปราวๆ 3% และอีก 15% พิการถาวร ซึ่ง 18% ที่ว่านี้ไม่ได้ “เจ็บแต่ไม่บาดเจ็บ” ดังที่กล่าวอ้างแน่ๆ
.
สุดท้ายกระสุนยางก็ยังอยู่ดีและก็ถูกใช้มาอีกกว่าครึ่งศตวรรษหลังจากมันถือกำเนิด และผู้มีอำนาจก็อ้างเหมือนเดิมเป๊ะ
.
ราวกับบรรดาผู้ตายและพิการจากกระสุนยางทั่วโลก...ไม่มีอยู่จริง
อ้างอิง: Wikipedia. Rubber Bullet. http://bit.ly/3p82egc
Jacobin. Rubber Bullets Are Anything but “Nonlethal.” They Should Be Banned. http://bit.ly/3q9zEfP
USA Today. Rubber bullets can kill, blind or maim people for life, but authorities continue to use them. http://bit.ly/3rCUq7Z