วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 05, 2564

ผบ.ทบ.คนนี้จี้เส้นกว่า ‘ไอทู้บ’ ท่ามกลางบรรยากาศ 'ม็อบ' ที่ไม่มีเหือด


ผบ.ทบ.คนนี้จี้เส้นกว่า ไอทู้บเห็นว่าเป็นตะหานคอแดงเสียด้วย น่าจัดลำดับเตรียมไว้สวมถ้าตู่เค้าเป็นอะไรไปเนอะ ตรรกะเหลือร้าย เปรียบยุทโธปกรณ์กองทัพเหมือนทิชชู่เช็ดก้น ของมันจำเป็น “ปีนี้ห้ามซื้อ ถามว่าเมื่อเข้าห้องน้ำจะใช้อะไร”

ก็ใช้น้ำสิทั่น ส้วมไทยเขาติดสายฉีดน้ำก้นกันไว้มิใช่หรือ แล้วน้ำเก็บไว้นานไม่เสื่อมสภาพนะ กระดาษชำระก็เหมือนกัน เปรียบไม่ได้กับอาวุธที่ถลุงงบประมาณซื้อทุกปี ดั่งใครคนหนึ่งว่า “กูขี้ทุกวัน แล้วมึงรบทุกวันหรอ” น่านสิ ปีหน้าอีก ๖ พันกว่าล้านเช็ดหน้าทั่นสิ

เขาถามเรื่องเมียนมาร์ตอบไม่ได้เพราะเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน น้ำท่วมปาก ไพล่ไปอุปมาอุปมัยอาวุธกับทิชชู่ วิธีคิดแบบ จปร.ก็เลยเป็นจำอวดทางสติปัญญา เช่นเดียวกับตำหวดที่ไล่มาติดๆ เรื่องพรรณนี้ กระต่ายตื่นตูมทั้งที่ช่วงนี้ม็อบราษฎรเพลามือเว้นแต่เรื่องพม่า

ที่หน้าสถานทูตเมียนมาร์เมื่อคืนมีกิจกรรมย่อยๆ ต้านรัฐประหารพม่า “เผารูปมิน อ่อง ลาย ร่วมกันชูสามนิ้วและร้องเพลง” แต่ตำรวจทำให้เป็นเรื่องใหญ่ “เอาแผงเหล็กกั้นบริเวณหน้าสถานทูตกินพื้นที่บนถนนหนึ่งเลน” บีบพื้นที่กิจกรรมเลยกลายเป็นม็อบ

ส่วนวันนี้ที่ สภ.คลองหลวง กำลังหน่วยควบคุมฝูงชนครบเครื่อง โล่ห์ หมวกแข็ง กระบอง หนุนด้วยแผงเหล็ก แท่งแบริเออร์ และรถฉีดน้ำแรงสูงจีโน่ ผนึกเพียบ ตรวจกักชาวบ้านในละแวกถูกสกรีนรายตัว แม้แต่ผู้ถูกหมายเรียกรายงานตัว ไม่รู้จะเข้าทางไหน

“โตโต้ ปิยรัฐ #WeVo มาถึงที่แนวกั้นก่อนถึง สภ.คลองหลวง ชี้แจงว่ายังไม่ได้รับหมายเรียกอย่างเป็นทางการ แต่ทราบว่าเป็นผู้มีรายชื่อด้วยจึงแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยการมาแสดงตัว และจะเดินเข้าไปที่สภ.เองโดยไม่ขึ้นรถของตำรวจ”

@iLawFX บอกเล่า “ตำรวจตั้งแนวกั้นก่อนถึงสภ.คลองหลวงประมาณ ๓๐๐ เมตร เมื่อทนายความสอบถามว่า ประชาชนจะเข้าไปรายงานตัวได้อย่างไร ตำรวจตอบว่าให้ไปที่หน้าแนวกั้นจะมีเจ้าหน้าที่มารับและพาไป” ไม่ยักงดรายงานตัวเสียเลยสิ้นเรื่อง


ส่วนที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีชาวบ้านรวมตัวกันไปยื่นหนังสือเรื่อง การกลับใจแผ่นดิน ว่า “ต้องให้ตัวแทนชาวบางกลอยขึ้นไปร่วมเจรจาด้วย” กรณีนี้มาจากกะเหรี่ยงบางกลอยล่างถูกเผาไล่ที่อาศัยและทำกินเพื่อตั้งอุทธยานแห่งชาติแก่งกระจาน

เรื่องยืดเยื้อกว่า ๒๐ ปีจนมาถึงชาวกะเหรี่ยงทนสภาพนิคมซึ่งทางการจัดให้ไม่ไหว จะอดตายจึงพากันอพยพกลับถิ่นฐานเดิม เป็นข่าวครึกโครมขึ้นมา มีกลุ่มสิทธิมนุษยชนรวบรวมอาหารและของใช้จำเป็นนำไปบริจาคให้ชาวกะเหรี่ยง เจ้าหน้าที่อุทยานไม่ยอมรับเสียนี่

แบบเดียวกับที่มีกลุ่มราษฎรรับบริจาคของใช้จำเป็นสำหรับสรีระสตรีที่ขาดแคลในทัณฑสถานหญิง เช่นผ้าอนามัย เป็นอาทิ ทางราชทัณฑ์กลับปฏิเสธไม่ยอมรับบริจาค เนื่องจากผู้นำไปมอบไม่ใช่สลิ่ม กรณีกะเหรี่ยงแก่งกระจานก็เช่นกัน

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระบอกว่า “เป็นเรื่องเศร้าที่สุดในชีวิตทำงาน” ด้านสิทธิมนุษยชนของตนอ้างถึงว่า “ขนาดในสงครามสู้รบเขายังยอมให้คนกลางเข้าไปช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยขาดแคลนและได้รับความทุกข์ยากจากการต่อสู้ แต่นี้ไม่ใช่สงคราม”

มันย้อนแย้ง ทั้งเหมือนและแตกต่างในขณะเดียวกันเช่นเดียวกับภาพสะท้อนจากกระจก ภาพเดียวกันแต่ซ้ายเป็นขวา ขวาเป็นซ้าย ก็ยังดีกว่าที่ ผบ.ทบ.เปรียบเทียบกระดาษชำระกับอาวุธกองทัพ เรื่องกะเหรี่ยงตอนนี้เป็นปัญหายิ่งกว่า บางกลอย แล้ว

“แต่เป็นเรื่องที่อุทยานฯ ประกาศทับพื้นที่เดิมของชาวบ้านทั่วประเทศ...กฎหมายอนุรักษ์ที่ทับคน มองไม่เห็นคน กลายเป็นปัญหาครั้งใหม่ที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว” ณัฐวุฒิ อุปปะ รองเลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนชี้

นั่นคือที่มาของ ม็อบ หน้ากระทรวงทรัพย์ฯ รวมความว่าหน้าที่ในการต่อต้าน เผด็จการ ทางกฎหมาย ยังไม่เหือดหายไปไหน เพียงแต่พลิกแพลง หลากหลาย แพร่กระจาย ไปต่างๆ นานา ให้เห็นว่าการกดขี่จากอำนาจยึดครองนั้นครอบหมดและถาโถม

เราสำเหนียกต่อคำปรารภของ อานนท์ นำภา เมื่อ ๔ กุมภา “เมื่อปีที่แล้วว่าขบวนเราเติบโตและแหลมคมมากๆ มากจนฝ่ายขวาไม่สามารถปราบปรามได้” แต่ “ปีนี้พวกเขาตั้งตัวได้แล้ว...ป้ายสีให้พวกเราเป็นพวกคนพาล ไร้เหตุผล ชอบใช้ความรุนแรง” บลา บลา

“การต่อสู้ครั้งนี้แม้มีคนบอกว่ายังไงฝ่ายประชาธิปไตยชนะแน่ แต่ต้องบอกว่าไม่ง่าย เพราะพวกเขาไม่มีทางประนีประนอม แพ้คือราบคาบ ชนะคือเต็มใบ...ปีนี้อาจเป็นปีสุกดิบกระทั่งอาจเป็นปีชี้ชะตาของเขาและเรา” ได้

ทว่า กาลเวลามีแต่เดินหน้า ต่อๆ ไป ไม่เคยถอยหลัง อย่างดีก็หยุดอยู่กับที่ พอเติมเชื้อเติมไฟ ก็ไปต่อ

(https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=5017601334947889&id=100000942179021, https://www.facebook.com/charnvit.ks/posts/4269889286358799 และ https://www.facebook.com/thestandardth/posts/2671552606470948)