ภาพจาก Bhorn Kaewseemaroj
.
แถลงการณ์
.
ข้อโต้แย้งต่อคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำราษฎร 4 คน
โดย คณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ เครือข่ายนักกฎหมายและนักกฎหมาย
.
สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำ “ราษฎร” 4 ราย ในคดีการชุมนุม “#19กันยายนทวงอำนาจคืนราษฎร” นั้น พวกเราในฐานะคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ เครือข่ายนักกฎหมาย และนักกฎหมาย มีความเห็นอันหนักแน่นว่าสิทธิในการได้รับการประกันตัวของประชาชนเป็นหลักการอันสำคัญยิ่งที่สถาบันตุลาการซึ่งมีหน้าที่ทางกฎหมาย ทางสังคม ทางมนุษยธรรม และเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จักต้องยืนหยัดและยึดมั่นในฐานะที่เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แม้สถาบันตุลาการจะถูกแวดล้อมด้วยแรงกดดันทางสังคมและการเมืองมากเพียงใดก็ตาม
.
พวกเรามีเหตุผลในการโต้แย้งต่อคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำราษฎร 4 คน ดังต่อไปนี้
.
ประการแรก กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น นอกจากจะเป็นกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยแลว ยังเป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น การกระทำของรัฐที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ จะกระทำได้ต่อเมื่อกรณีมีความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น
.
การควบคุมตัวตามกฎหมาย มีจุดมุ่งหมายเพื่อประกันว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะแสดงตัวต่อศาล และจะไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน โดยหลักแล้วผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 107 แม้ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีจักเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวตามมาตรา 108 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาทิ ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะเกิดความเสียหายต่อการสอบสวน
.
แต่หากพิจารณาจากพฤติการณ์ของอานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ได้แสดงให้สังคมเห็นอย่างต่อเนื่องและหนักแน่นว่าการกระทำของพวกเขาเป็นการกระทำโดยสงบ ปราศจากความรุนแรง และเปิดเผยต่อสาธารณะ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามทำนองคลองธรรมของระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ ความร้ายแรงของโทษในคดีที่พวกเขาถูกกล่าวหานั้น ยิ่งมีเหตุอันสมควรยิ่งที่ประชาชนทั้งสี่จะต้องมีโอกาสในการต่อสู้คดีและพิสูจน์เจตนาอันบริสุทธิ์แห่งตนด้วยพยานหลักฐานอย่างเต็มที่ โดยการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นมาตรการที่มีขึ้นเพื่อรับประกันว่าประชาชนคนไทยจะไม่ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกให้ร้ายในนามของกระบวนการยุติธรรม เพียงเพราะพวกเขาเป็นเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ
.
ประการที่สอง การที่ศาลระบุในคำสั่งไม่ให้ประกันตัวว่า
.
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวให้ยกคำร้องแจ้งคำสั่งให้ทราบ และคืนหลักประกัน”
.
การให้เหตุผลในลักษณะดังกล่าวเป็นการคาดหมายว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำการซ้ำในอนาคต แต่เหตุผลดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามเหตุที่กำหนดไว้ในมาตรา 108/1 จึงมีข้อน่ากังวลถึงการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของศาลว่าอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
.
แม้ศาลจะเห็นว่าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 (3) แต่ศาลย่อมทราบดีว่าประเด็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 และมาตรา 116 ดังที่ปรากฏในคดีนั้น มีข้อกังวลจากทั้งภาคประชาชนในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศถึงการบังคับใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อการริดรอนเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ความเสมอภาค รวมถึงการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำอาชญากรรมหากเป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นสิทธิในเสรีภาพที่ประเทศไทยผูกพันที่จะต้องส่งเสริม เคารพและปกป้องตามพันธกรณีระหว่างประเทศในฐานะรัฐภาคี (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ข้อ 14) ดังนั้น การพิเคราะห์ของศาลว่าการแสดงออกของผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นการก่อเหตุอันตรายหรือไม่ จึงจำต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบโดยให้เป็นไปตามหลักวิชาทางกฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มิฉะนั้น ศาลก็อาจจะถูกครหาเป็นอื่นได้
.
ประการที่สาม นอกจากนี้ ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่ ก็เป็นข้อกล่าวหาที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างจะต้องมีโอกาสอย่างเต็มที่ในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐาน การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นมาตรการที่สืบเนื่องมาจากหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด (the principle of presumption of innocence) อันเป็นหลักการทางกฎหมายพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินคดีทางอาญา ศาลต้องไม่ตัดสินล่วงหน้าไปก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ดังที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรค 2 ว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” อีกทั้งยังเป็นหลักการสากลดังที่ปรากฏใน ICCPR ข้อ 14 (2) ซึงประเทศไทยเป็นภาคีมีพันธกรณีในการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศดังกล่าว
.
ดังนั้น การที่ศาลมีคำสั่งโดยระบุว่า “การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาเดิมหลายครั้งหลายครา” จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่าศาลมีความเชื่อเสมือนหนึ่งว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำความผิดตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาจริง ทั้งที่ยังมิได้ดำเนินการสืบพยานและรับฟังข้อเท็จจริงให้สิ้นกระแสความ จนปราศจากข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังฟ้องจริง ยิ่งเมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่ายังไม่เคยปรากฏคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีการชุมนุมทางการเมืองของ “ราษฎร” ว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ประกอบกับประเด็นข้อกังวลต่อการริดรอนเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองแล้ว จึงมีข้อสังเกตว่าการไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลดังกล่าวย่อมเสมือนศาลได้ตัดสินพิพากษาผู้ต้องหาในคดีนี้ไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วหรือไม่ รวมทั้งศาลได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนบนพื้นฐานของหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์หรือไม่อย่างใด
.
ทั้งนี้ ควรต้องตระหนักว่าการแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ความเสมอภาค รวมถึงการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นย่อมมิใช่สิ่งที่เป็นอาชญากรรม หากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองผู้กระตือรือร้นและรักชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมในฐานะมนุษย์ตามธรรมชาติ ในฐานะพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะพลเมืองไทยที่เป็นภาคีแห่ง ICCPR ข้อ 14 อันเป็นมาตรฐานที่นานาชาติเคารพและปฏิบัติตาม
.
พวกเราอันประกอบด้วย คณาจารย์จากสถาบันการศึกษาด้านนิติศาสตร์ 10 แห่ง เครือข่ายนักกฎหมาย และนักกฎหมาย จำนวน 126 คน ดังปรากฏรายชื่อข้างท้าย ปรารถนาที่จะเห็นฝ่ายตุลาการปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นไปตามหลักการและบรรทัดฐานทางกฎหมาย และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในฐานะที่เป็นหลักคุณค่าสำคัญในสังคมเสรีประชาธิปไตย มิใช่เพียงแต่การอ้างอิงถึงความมั่นคงของรัฐอันจะนำมาซึ่งความกังขาต่อการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายตุลาการให้เกิดขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นผลดีทั้งต่อสถาบันตุลาการและสังคมไทยโดยรวมแต่อย่างใด
.
ด้วยความยึดมั่นต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและระบอบประชาธิปไตย
12 กุมภาพันธ์ 2564
อ่าน รายชื่อคณาจารย์ เครือข่ายนักกฎหมาย และนักกฎหมาย ได้ที่ https://www.facebook.com/lawlawcmcm/photos/a.1563972363852330/2625980420984847/
.....