วันอาทิตย์, ธันวาคม 13, 2563

"นิคมอุตสาหกรรมจะนะ" มหกรรมการข่มขืนท้องทะเลโดยทุนอุตสาหกรรม



Pinkaew Laungaramsri
Yesterday at 10:00 AM ·

เห็นรายชื่ออุตสาหกรรมทั้งหนัก ทั้งเบา ทั้งโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่กำลังดาหน้าเข้าไปปิดล้อมทรัพยากรท้องถิ่นที่จะนะ สงขลาแล้ว พูดได้คำเดียวว่า เป็นมหกรรมการข่มขืนท้องทะเลโดยทุนอุตสาหกรรมที่มโหฬารที่สุด มหกรรมดังกล่าว เกิดขึ้นได้ ก็ด้วยโครงสร้างอันบิดเบี้ยวของระบอบกรรมสิทธิในทรัพยากร ทั้งทรัพยากรที่ดิน และทรัพยากรชายฝั่งที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน
ในขณะที่ประชาชนเหยียบล้านในประเทศนั้นไร้ทั้งที่ดินทำกิน ไร้ทั้งที่อยู่อาศัย กลุ่มทุนปิโตรเลียม และปิโตรเคมีเพียง 2 แห่ง กลับถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเนื้อที่นับหมื่นไร่ในจะนะ นี่ไม่นับรวม "ที่ดินเปล่า"ที่ทุนผูกขาดอย่างไออาร์พีซีถือครองโดยไม่ใช้ประโยชน์ในระยองอีกเป็นหมื่นไร่ ซึ่งหมายความว่า ในขณะที่มีเกษตรกรไร้ที่ทำกิน และคนยากจนกระเสือกกระสนที่จะมีที่ดินเพื่อดำรงชีพอยู่จำนวนมาก ที่ดินจำนวนมหาศาลกลับกระจุกตัวอยู่ในมือนายทุนไม่กี่กลุ่ม และปล่อยทิ้งไว้เฉยๆเพื่อรอปั่นราคาสร้างกำไรในตลาด
นอกจากครอบครองที่ดินมหาศาลแล้ว การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นชายฝั่ง ยังเปิดโอกาสให้ทุนผูกขาดสามารถเข้ายึดครองทรัพยากรชายฝั่งตลอดทั้งแนว พร้อมทั้งเปลี่ยนทะเลให้กลายเป็นท่อน้ำทิ้งขนาดใหญ่ และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้า แบบฟรีๆ
ทั้งหมดนี้ เป็นความร่วมมือ ร่วมใจ สมผลประโยชน์ระหว่างทุนผูกขาดกับรัฐเผด็จการทหาร โดยฝ่ายหลัง ทำหน้าที่เป็นรัฐนายหน้า ใช้อำนาจกฎหมายในการเอื้ออำนวยให้กลุ่มทุนสามารถเข้าไปกว้านซื้อที่ดินขนานใหญ่เพื่อเปลี่ยนให้เป็นสินค้าได้อย่างง่ายดาย
คำถามเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ/นิคมอุตสาหกรรม ที่จะนะ และที่อื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแค่ผังเมืองสีม่วง หรือผังเมืองสีเขียว ประชาชนมีส่วนร่วม หรือไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนา แต่เป็นเรื่องความฉ้อฉลและไร้ความเป็นธรรมของระบอบสิทธิในทรัพยากรและกรรมสิทธิในที่ดินของไทย ที่เปิดโอกาสให้ทุนขนาดใหญ่ มีอำนาจที่ไร้ขีดจำกัดในการเข้าปิดล้อม ถีบชาวบ้านออกจากทรัพยากรท้องถิ่นของตน แย่งยึดเอาทรัพยากรมาเป็นของตนอย่างไร้ยางอาย โดยท้องถิ่นปราศจากกลไกใดๆในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิในทรัพยากรของตน
สถานการณ์ "ถีบคนออกจากทรัพยากรเพื่อแปรรูปให้เป็นสินค้า" ในนามของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประเภทนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศด้อยพัฒนา ในอินเดีย ชาวบ้านจำนวนมากได้ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐและนายทุน จนกลายเป็นสงครามที่ดินอันใหญ่โต การปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐต้องเผชิญกับการต่อสู้อย่างยืนหยัดของชาวบ้าน ซึ่งยังผลให้รัฐต้องทบทวนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เกษตรกรรมในที่สุด
กรณีจะนะ เป็นที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนทรัพยากรท้องถิ่นให้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจของทุนปิโตรเคมีขนาดใหญ่ เป็นการพรากสิทธิเพื่อยังประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม ในขณะที่ชุมชนในท้องถิ่นจะไม่เหลืออะไรเลยจากกระบวนการดังกล่าว
มีแต่รัฐที่ฉ้อฉลเท่านั้นที่สนับสนุนนโยบายที่ทำลายสังคมและชุมชนเพื่อการสะสมทุนของทุนผูกขาด และมีแต่ประเทศที่ด้อยพัฒนาทางการเมืองเท่านั้น ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ยังคงถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการผูกขาดทรัพยากรที่ดินของกลุ่มทุน ทุบทำลายหลักความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรลงโดยสิ้นเชิง

https://www.facebook.com/arunothai.ruangrong/posts/3619128321467536
...

มนุษย์กรุงเทพฯ
July 3 ·

“เราเกิดที่หมู่บ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ออกมาหน้าบ้านก็เห็นทะเล ออกมาหลังบ้านก็เห็นทะเล เดินไม่ถึงสามสิบก้าวก็เจอทะเลแล้ว ช่วงเรียนอยู่ ม.ต้น เรานั่งทำการบ้าน หันไปมองทะเลตามปกติ วันนั้นเห็นโลมาสีชมพูมาเป็นฝูง ว่ายอยู่ไม่ไกลจากฝั่งเลย เราเคยเห็นโลมาแต่ในการ์ตูน พอได้เห็นตัวจริง เป็นภาพที่ประทับใจมาจนถึงปัจจุบัน ครอบครัวของเราทำอาชีพประมง พ่อออกหาปลาด้วยเรือลำเล็ก แม่เอาปลาไปขายที่ตลาดสงขลา และในช่วงโรงเรียนปิดเทอม เราก็ช่วยแม่ขายปลาที่ตลาดด้วย รายได้ที่หล่อเลี้ยงสมาชิกในครอบครัวมาจากการทำประมงเกือบทั้งหมด เราเกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่กับทะเลมาตลอด

“จนกระทั่งปี 2553 เราได้ยินข่าวว่า กรมเจ้าท่ามีโครงการจะสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สอง ตอนนั้นเรายังเป็นเด็ก เลยไม่ได้อะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ด้วยความที่พ่อทำงานเคลื่อนไหวมานาน (รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ) เราเป็นคนติดครอบครัว เขาไปไหนก็ตามไปด้วย ระหว่างนั้นเลยได้เรียนรู้เรื่องอนุรักษ์ทะเล เริ่มค่อยๆ รับรู้ปัญหามากขึ้น ครั้งนั้นชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันต่อสู้ โครงการเลยต้องหยุดไป เวลาผ่านไปหลายปี รัฐมีความพยายามจะผลักดันนิคมอุตสาหกรรม แต่เปลี่ยนมาให้บริษัทเอกชนดำเนินงาน ออกเป็นมติ ครม. มาเลย แล้วมอบอำนาจให้ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นผู้ผลักดันโครงการ โดยไม่เคยถามชาวบ้านในพื้นที่มาก่อน

“ช่วงที่ทั่วโลกเจอกับเรื่องโควิด ประเทศไทยประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพี่น้องมุสลิมถือศีลอด เขาจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ (14-20 พฤษภาคม 2563) เราไปนั่งเรียกร้องที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เวทีเลยเลื่อนออกไป พอมาเดือนนี้ เขาจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง (11 กรกฎาคม 2563) แม้จะใช้ชื่อว่า ‘เวทีรับฟังความคิดเห็น’ แต่เนื้อในคือการจะเปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง เพื่อให้พื้นที่รองรับนิคมอุตสาหกรรม เราส่งเสียงอยู่ที่บ้านของตัวเองมาตลอด แต่เสียงไม่มาถึงผู้บริหารประเทศสักที เลยอยากเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อส่งเสียงด้วยตัวเอง สิ่งที่ต้องการคือ อยากให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น ยกเลิกมติ ครม. แล้วมาพูดคุยกับคนในพื้นที่อย่างจริงๆ จังๆ รวมไปถึงตรวจสอบการทำงานของ ศอ.บต. ด้วย

“เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ทุกฝ่ายต้องพูดคุยกัน ทั้งผู้บริหารประเทศ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักวิชาการ ก่อนจะตัดสินใจทำอะไร เราต้องเริ่มจากทบทวนว่าเมืองจะนะมีดีอะไร ถ้าจะพัฒนาควรไปในทิศทางไหน คำว่าพัฒนาควรมาพร้อมกับความยั่งยืนและความสุขของคนในพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องทำลายสิ่งเดิมเพื่อสร้างสิ่งใหม่ แต่สามารถต่อยอดจากสิ่งที่มีให้ดียิ่งขึ้นได้ ปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมีให้เห็นมากมายแล้ว ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ที่จะเปลี่ยนไป ถ้าเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นที่จะนะ เรือลำเล็กจะทำประมงได้ยากกว่าเดิม เพราะโดนจำกัดพื้นที่ทำมาหากิน ทำให้ชีวิตชาวบ้านไม่อิสระเหมือนเดิมแล้ว

“อาชีพหลักของคนจะนะที่อยู่ติดทะเลคือการทำประมง ปัจจุบันมีการแปรรูปอาหารทะเลอยู่แล้ว สินค้ากระจายไปตามจังหวัดต่างๆ รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย ถ้าอยากพัฒนาจะนะ คุณสามารถมาช่วยพัฒนาเรื่องการแปรรูป ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น การอนุรักษ์ทะเลเกี่ยวข้องกับทุกคน เราไม่ได้ออกมาเพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เพื่อคนในประเทศด้วย เพราะเราอยู่ในประเทศเดียวกัน อาศัยทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกัน และสูดอากาศร่วมกัน ตอนนี้เราเรียนอยู่ ม.6 ที่โรงเรียนบุสตานุดดีน หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย เราตั้งใจจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง เรามีความสุขและสบายใจที่ได้อยู่บ้าน ทะเลคือลมหายใจของคนจะนะ สำหรับเราแล้ว ทะเลคือสิ่งที่มีคุณค่ามาก”

---

7 พฤษภาคม 2562 มีมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพิ่มเติมเป็นเมืองที่สี่สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้นำพื้นที่ของ 'อำเภอจะนะ' พัฒนาเป็น 'เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต' ทั้งโครงการก่อสร้างท่าเรือสงขลาแห่งที่สอง การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลาแห่งที่สอง การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โครงการครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล คือ นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม รวม 16,753 ไร่ ภายใต้งบประมาณ 18,680 ล้านบาท

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ‘ไครียะห์ ระหมันยะ’ (คนในบทสัมภาษณ์นี้) ได้ออกมานั่งเรียกร้องที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อขอให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563 โดยเธอได้เขียนจดหมายน้อยถึง ‘ปู่ประยุทธ์’ ไว้ดังนี้
.
จดหมายน้อย ถึงปู่ประยุทธ์

สวัสดีค่ะ คุณปู่ประยุทธ์

หนูอยากให้คุณปู่ประยุทธ์รับฟังเรื่องราวของลูกหลานชาวประมงที่เติบโต ผูกผัน ดูแล ปกป้องทะเลจะนะ

หนูเป็นลูกหลานชาวประมง อาศัยอยู่ในชุมชนริมชายฝั่งของอำเภอจะนะ ตั้งแต่เล็กจนโต หนูเห็นพ่อแม่ทำการประมงมาตลอด พ่อจับปลา แม่เอาปลาที่พ่อจับได้ไปขายที่ตลาดสงขลา หนูไปช่วยแม่ขายปลาที่ตลาดตอนโรงเรียนปิดเทอมอยู่เป็นประจำพร้อมกับทำกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลจะนะอยู่เสมอ รายได้ทั้งหมดในบ้านมาจากการทำอาชีพประมงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

บ้านที่หนูอาศัยอยู่ เสื้อผ้าที่หนูใส่ รองเท้า ชุดนักเรียน ค่าเทอม รถจักรยานที่หนูเคยขี่ ของเล่นที่​หนูเคยมี ชีวิตทั้งชีวิของ ความสุข ความทรงจำ ทุกเรื่องราวของหนู มาจากทะเลทั้งหมด

ทะเลคือชีวิต ทะเลคือแม่ แม่ที่ไม่เคยทิ้งลูก พร้อมให้โอกาสลูกเสมอ

ป๊ะ(พ่อ) เคยเล่าให้หนูฟังว่า ”เพื่อนของป๊ะ(พ่อ)เคยออกจากบ้านเพื่อไปทำงานนอกบ้านจนมีภาระหลายอย่างที่ต้องรับผิดชอบ จนเงินที่ได้จากการทำงานไม่พออยู่ไม่พอกิน จึงต้องกลับมาบ้าน ออกทะเลทุกวัน มีเงินส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี”

ป๊ะ(พ่อ)สอนให้หนูอนุรักษ์ทะเล สอนให้ทำบ้านปลาหรือปะการังเทียมแบบธรรมชาติ พาหนูไปนั่งเล่นริมชายหาด ฟังเสียงคลื่น เสียงธรรมชาติทุกวัน ตั้งแต่เด็กเล็กจนโต

ทุกๆ ปี จะมีโลมา เต่า ขึ้นมาเล่นผิวน้ำที่ทะเลหน้าบ้านของหนู หนูรู้สึกตื่นเต้น เป็นความรู้สึกพิเศษ เวลาเห็นสัตว์ที่ “แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเล"

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 มีมติ ครม. ให้เมืองจะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยพื้นที่ 3 ตำบล นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม รวมพื้นที่ทั้งหมด 16,753 ไร่ โดยไม่มีการถามไถ่คนจะนะมาก่อน

คุณปู่ประยุทธ์บอกว่าจะนำความเจริญและการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านโครงการเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หนูได้ยินข่าว​ว่า ศอ.บต. จะมีการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563 ในพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม โดยไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนได้รับรู้​ คนนอกพื้นที่​ 3​ ตำบล​ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น​ได้​ ซึ่งเขาก็รับได้ผลกระทบเหมือนกัน โครงการระดับหมื่นล้านแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในพื้นที่รับรู้

อีกทั้งในสถานการณ์​โรคระบาดที่ผู้คนกำลังเดือดร้อนลำบาก​ และเป็นช่วงเดือนรอมฎอนถือศีลอด หนูไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่มาจัดเวที​ เวทีที่จำกัดสิทธิ​ของคนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ขอให้คุณปู่ประยุทธ์ คิดทบทวนโครงการดังกล่าวว่าควรหยุดทำหรือไม่ ในเมื่อกระบวนการไม่เป็นธรรม

ขอให้ยกเลิกเวทีในลักษณะเช่นนี้ที่ไม่มีความชอบธรรม​ ริดรอนสิทธิ​ของคนในชุมชน​ จะมีค่าอันใดเล่าหากพัฒนาเพื่อเอาผลประโยชน์จนทำลายอนาคตของลูกหลาน จะทนได้หรือคุณปู่ประยุทธ์

หนูจะนั่งและนอนตรงนี้ (หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา) จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563

ด้วยความเคารพ
นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ
วันที่ 12 พฤษภาคม 2563

-
1 กรกฎาคม 2563 ไครียะห์ พร้อมกับชาวบ้านอำเภอจะนะ เดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อยื่นจดหมายฉบับที่ 2 ถึงนายกฯ ขอให้ยกเลิกมติ ครม. ที่สำนักนายกรัฐมนตรี นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นคนมารับหนังสือ และสัญญาว่าจะยื่นให้กับนายกฯ โดยเร็วที่สุด

https://www.facebook.com/bkkhumans/photos/a.1433077766976167/2738491203101477/