วันศุกร์, ธันวาคม 25, 2563

บันทึกการต่อสู้ของสหายบอย : ความรู้สึกที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112



บันทึกการต่อสู้ของสหายบอย : ความรู้สึกที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112

21/12/2020
The Isaan Record
พงศธรณ์ ตันเจริญ เรื่อง

ผมชื่อ พงศธรณ์ ตันเจริญ หรือชื่อเล่น บอย อายุ 19 ปี เป็นนักศึกษาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สังกัดวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สาขาการเมืองการปกครอง ชั้นปีที่ 2 ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้กลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย

และเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาซึ่งถูกแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามมาตรา 112 จากกรณีการชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผมจะเล่าบรรยายความรู้สึกที่ผมถูกยัดเยียดข้อกล่าวหาในครั้งนี้

เช้าวันที่ 17 ธันวาคม 2563 มีสายโทรศัพท์แปลกหน้าโทรเข้ามาหาผม ปรากฏว่า เป็นเสียงตำรวจแจ้งกับผมว่า ให้มารับหมายจากตำรวจนครบาล ที่สภ.เขวาใหญ่ หลังจากจบสิ้นการสนทนาวินาทีนั้นผมก็เตรียมใจ เตรียมรับมือกับคดีใหม่ที่กำลังมาถึงมือของตัวเอง

หมายเรียกผู้ต้องหา ในคดีความมาตรา 112 ที่ พงศธรณ์ ตันเจริญ หรือ บอย ได้รับเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563

จริงๆแล้วก่อนที่จะได้รับหมายนี้มีมิตรสหายท่านหนึ่งได้แจ้งผมไว้ก่อนหน้านี้ว่าผมอาจถูกดำเนินคดีความผิดมาตรา 112 นั้นเลยทำให้ผมตั้งสติได้ทันและคิดว่าการถูกแจ้งความดำเนินคดีในลักษณะของการยัดเยียดข้อกล่าวนี้ไม่มีความเป็นธรรมและไม่ส่งผลทำให้ผมกลัว หรือยอมถอยให้กับการต่อสู้ทางการเมืองแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ผมรู้สึกว่าต้องสู้ก้าวรุดไปข้างหน้าเพื่อใช้เวลาในช่วงที่สู้คดีต่อจากนี้ให้เต็มที่มากที่สุด โดยการนำปัญหาและนำความจริงออกมาพูดให้มากยิ่งขึ้นเพื่อทำให้คนในสังคมได้ตาสว่างเห็นต้นตอรากเหง้าของปัญหาที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศไทย

สาเหตุที่ผมคิดแบบนี้ก็เพราะว่า วินาทีแรกที่ผมตัดสินใจเข้ามาทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมรู้ว่า เส้นทางระหว่างที่ตัวเองทำกิจกรรมจำเป็นที่จะต้องยอมสละโอกาสต่างๆ ในชีวิตตัวเองเพื่อแลกกับการต่อสู้ตามอุดมการณ์ที่ตั้งเอาไว้นั้นจึงทำให้ผมยอมสละโอกาสในช่วงชีวิตของตัวเอง ทั้งโอกาสที่ได้มีเวลาอ่านหนังสือ ได้เรียนหนังสืออยู่ในห้องเหมือนอย่างนักศึกษาทั่วไป

ตรงนี้ผมยอมสละ โอกาสที่ผมจะได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง อยู่กับครอบครัว อยู่กับคนที่ผมรัก ผมก็ยอมสละ โอกาสที่ผมจะได้ใช้ชีวิตปกติเหมือนอย่างวัยรุ่นทั่วไป ใช้ชีวิตสนุกสนานไปกับเพื่อน ในส่วนนี้ผมก็สละทิ้งไปเช่นกัน โอกาสทั้งหมดที่ผมพูดมา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนมองว่า คือ ช่วงเวลาชีวิตวัยรุ่นธรรมดาๆ แต่สำหรับผมแล้วการที่ผมมีความสุขได้ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นธรรมดาเพียงคนเดียว สำหรับผมเป็นเรื่องที่ขมขื่นใจ เพราะในขณะเดียวกันก็ยังมีวัยรุ่นอีกหลายล้านคนที่เขาไม่ได้มีโอกาสที่จะมีชีวิตเป็นของตัวเองและแทบไม่มีต้นทุนในการใช้ชีวิตเหมือนผมเลย ยังมีคนอีกหลายล้านคนที่ต้องทำงานอย่างยากลำบาก

ไม่มีโอกาสแม้แต่จะเรียนหนังสือในระดับสูงๆ ต้องออกไปหางานหาเงินในที่ห่างไกลบ้าน ห่างไกลครอบครัว ห่างไกลคนที่เขารัก ตัดภาพมาที่ผมซึ่งเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสต้นทุนในชีวิตที่มากกว่า ผมกลับคิดอยากที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม อยากเห็นความเท่าเทียม อยากเห็นคนเท่ากัน อยากเห็นประชาชนในประเทศมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ผมเลยเลือกที่จะสละความสบายในชีวิตตัวเอง สละโอกาสต่างๆ ในชีวิตช่วงวัยรุ่นเพื่ออุทิศตนให้กับการเคลื่อนไหวทางสังคมตามอุดมการณ์ของตัวเองเพื่อพ่อแม่พี่น้องลูกหลานอีกหลายล้านคนในอนาคตข้างหน้าจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข


พงศธรณ์ ปราศรัยในระหว่างจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองในมหาวิทยาลัย เครดิตภาพ : การเดินทางของแสง / แนวร่วมนิสิตมมส.เพื่อประชาธิปไตย – MSU Democracy Front

ผมไม่รู้สึกเสียใจแต่อย่างใดที่เลือกเส้นทางนี้ รวมไปถึงการที่ต้องถูกดำเนินคดีทางการเมือง แม้สุดท้ายปลายทางอาจต้องจบลงด้วยการเข้าคุกตาราง หรืออาจสิ้นชีพ แต่ผมกลับรู้สึกดีใจด้วยซ้ำที่ได้ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อที่จะได้เป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่สะท้อนปัญหาในสังคมที่ตัวเองเติบโตพบเจอมาตั้งเด็กจนโตจากพื้นเพที่โตมาในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ

ผมโตมาในครอบครัวข้าราชการ พ่อกับแม่ผมเป็นข้าราชการ พ่อทำงานเป็นพัฒนากรจนเป็นปัจจุบันเป็นพัฒนาการอำเภอ สมัยเด็กพ่อจะชอบพาผมไปที่ทำงานด้วย จึงทำให้เห็นสภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมือง ซึ่งเป็นบ้านที่ผมอาศัยอยู่กับชนบท ซึ่งเป็นที่ๆ พ่อผมทำงานลงพื้นที่อยู่กับชาวบ้านนั้นเลยทำให้ผมซึมซับความสงสัยที่มีอยู่ในใจมาโดยตลอดว่า ทำไมประเทศเราจึงจะพัฒนาให้คนในชนบทมีคุณภาพชีวิตเหมือนอย่างคนในเมืองไม่ได้ล่ะ

นี่เป็นจุดเริ่มแรกที่ทำใหผมเห็นปัญหาจากสมัยเด็กและผมก็ค่อยๆ ศึกษาสิ่งที่ผมสงสัยปัญหาบ้านเมืองทั้งจากในอินเตอร์เน็ตและจากหนังสือ

ผมพยายามหาคำตอบว่า อะไรคือต้นตอปัญหาของการขัดขวางการพัฒนาประเทศไทย จนกระทั่งพอถึงจุดที่ผมศึกษาเองจนอิ่มตัวเลยทำให้ผมคิดที่จะทำอะไรสักอย่างบ้างเพื่อนำการศึกษามาใช้กับการเคลื่อนไหว ซึ่งต้องใช้ความกล้าหาญพอสมควร ในระยะแรกของการเคลื่อนไหวทางการเมืองผมแทบที่จะไม่พูดหรือพูดถึงสถาบันกษัตริย์น้อยมากๆ ในที่สาธารณะด้วยความกลัวที่ครอบงำ ในสภาวะตอนนั้นที่ประเด็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่เอื้อมไม่ถึง

หลายคนที่เคยพูดถึงเรื่องนี้กลับต้องเจอกับชะตากรรมที่ไม่สู้ดีนักแต่นั้นก็เป็นการต่อสู้ที่มีมาเรื่อย ๆจากอดีตสู่ปัจจุบันและที่สำคัญคือผมนับถือคนที่ออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่ทำให้ผมเริ่มสนใจศึกษาการเมืองแล้วนั้นยังเป็นกลุ่มที่เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ผมตาสว่างและอยากที่จะสานต่อการต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับเหล่าคนที่ออกมาพูดวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่ทั้งเสียชีวิต ติดคุก และลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่มีส่วนสำคัญต่อการนำทางความคิดต่อคนในสังคมไทยยุคปัจจุบันโดยเฉพาะเยาวชน คนหนุ่มสาวที่เติบโตพร้อมกับการเล่นอินเทอร์เน็ต

“สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า ตราบใดที่เมื่อความเป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้นกับคนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อประชาธิปไตยยังไม่บังเกิดอย่างแท้จริง ผมก็จะไม่หยุดเคลื่อนไหว ไม่หยุดพูด จะขอสู้ต่อไปตราบที่ยังมีลมหายใจ”