วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 24, 2563

“Falling Men” เมื่อศิลปะส่งเสียง ทวงถามถึง ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

22/12/2020 The Isaan Record เจาะประเด็น

ชลธิชา ทักษิณาเวศน์ นักศึกษางาน The Isaan Reccord เรื่อง
จนิสตา อาภาแสงเพชร นักศึกษาฝึกงาน The Isaan Record ภาพ


บ่ายแก่ๆ วันที่ 18 ธันวาคม 2563 เสียงกรีดร้อง “โอย…” ดังก้องกังวานซอยเล็กๆซอยหนึ่ง หลังมหาวิทยาลัยขอนแก่น บ้านสองชั้น ครึ่งปูน ครึ่งไม้ บริเวณสวนหลังบ้าน เต็มไปด้วยอุปกรณ์ ถังสี พู่กัน ผ้าเขียนป้าย งานประท้วงต่างๆ ตั้งแต่ต่อต้านเหมืองทองคำ จนถึงขับไล่รัฐบาล

ปรากฏคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกห้อมล้อมด้วยกล้องและโทรศัพท์นับ 10 ตัว ผ้าคลุมศพสีขาว ใบหน้าอันซีดเซียว กำลังใช้มือเปรอะเปื้อนสีแดง คล้ายเลือด ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ราวกับว่าพวกเขากำลังบอกอะไรบางอย่าง ที่สังคมไม่พูดถึง



กลุ่มละครเนื้อหาสะท้อนสังคม B-floor theater ร่วมกับนักศึกษาและศิษย์เก่าเอกศิลปะการละคร คณะศิลปกรรม ม.ขอนแก่น เนรมิตศิลปะการแสดงในงาน Khon Kaen Manifesto กลางลานบ้านดาวดิน โดยมีจุดประสงค์เพื่อระลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย (Forced Disappearance) ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

พื้นที่ทำการของกลุ่มดาวดินได้แปรสภาพ จากพื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วยบ้านยกสูงหนึ่งหลังกับสวนขนาดย่อมหลังบ้าน บ้านดาวดินกลายเป็นพื้นที่ทางศิลปะ และกลายเป็นเวทีสำหรับศิลปะการแสดง

บ้านดาวดิน คือสถานที่รวมตัวนักเรียนนักศึกษา เผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรืออีกชื่อคือ กลุ่มดาวดิน เปรียบเสมือนบ้านอีกหลังของสมาชิกที่มีไว้พูดคุย พบปะ สังสรรค์ และจัดกิจกรรม สถานที่แห่งนี้เป็นเหมือนที่เก็บกักประวัติศาสตร์ของการต่อสู้นักเรียนนักศึกษายุคนี้

สวนหลังบ้านดาวดิน เต็มไปด้วยหุ่นคล้ายศพจำลองห่อด้วยผ้าสีขาวกองเรียงรายชวนจินตนาการถึงศพผู้ถูกอุ้มหาย ในช่วงเวลาประมาณบ่ายแก่ ๆ นักแสดงกว่าสิบชีวิตร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะ ทุกคนแต่งกายด้วยชุดสีขาวล้วน และเปรอะเปื้อนไปด้วยสีแดงบนเรือนร่าง ระหว่างการแสดงไม่มีประโยคใดเอื้อนเอ่ยออกมาจากปากของนักแสดง เพราะศิลปะชิ้นนี้สื่อสารผ่านทางกิริยาของร่างกายและเสียงเท่านั้น 



“Falling Men การแสดงชุดนี้มีจุดประสงค์เพื่ออุทิศและเล่าถึงคนที่ถูกอุ้มหาย“

ธีระวัฒน์ มุลวิไล ผู้ออกแบบเนื้อเรื่องการแสดงและตัวแทนจาก B-floor กล่าว

ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชาชนถูกบังคับสูญหายแล้วไม่ต่ำกว่า 80 คน อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหาย ได้นิยามความหมายของ การบังคับสูญหาย (Forced Disappearance) ว่าเป็น การจับกุม กักขังหน่วงเหนี่ยว หรือลักพาตัวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าตัว อันเป็นการกีดกันเสรีภาพซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือใครก็ตามที่ได้รับสนับสนุนจากรัฐ

เมื่อ 2 ปีก่อน ช่วงเวลาเดือนธันวาคมนี้ ริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม พบศพผู้ถูกบังคับสูญหาย โดยสภาพ 2 ศพที่เจอ บ่งชี้ได้ว่าผ่านการฆาตรกรรมมาอย่างเลือดเย็น ศพถูกมัดแขนขา รัดคอ มีใบหน้าเละ คว้านท้องเอาแท้งปูนยัด และมัดด้วยตาขายและผ้าหอศพ ท้ายที่สุดพบว่าเป็นศพของ ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และ ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) ที่ถูกอุ้มหายไปพร้อมกับ สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ทั้ง 3 คน เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ไปยังประเทศลาว แม้ว่าจะพบร่างของ สหายภูชนะและสหายกาสะลอง แล้ว ก็ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของ สุรชัย ว่าเป็นอย่างไร คดีความเรื่องนี้ก็ไม่คืบหน้า เกิดคำถามขึ้นมาว่าใครฆ่าพวกเขา?



“ประเด็นนี้ผมรู้สึกว่าคนทั่วไปรับรู้น้อย ถ้าไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้อง เช่นเรื่องคนที่ถูกบังคับสูญหาย หรือถูกอุ้มหายโดยรัฐมันมีมาตลอด โดยเท่าที่รับรู้เนี่ยมันมีมานานแล้ว เช่น ฮะยีสุหลงจากภาคใต้ ทนายสมชาย” ธีระวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ ธีรวัฒน์กล่าวเสริมถึงประเด็นที่ต้องการให้ผู้ชมรับรู้ผ่านชิ้นนี้ว่า “อย่าลืมว่าก่อนหน้านั้นก็มีการถีบลงเขา เผาถังแดง ในยุคคอมมิวนิสต์ นั่นก็คือเป็นการบังคับสูญหาย รัฐพยายามที่จะบอกว่าคนนี้เป็นคอมมิวนิสต์ มันคือยุคมืดอย่างหนึ่ง และผมรู้สึกว่ายุคถังแดงเมื่อ 40 ปีที่แล้วกับเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมามันไม่ได้ต่างกันเลย”

“เรารู้สึกว่าคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อุดมการณ์ในเชิงสิ่งแวดล้อม ต่อสู้เพื่อแผ่นดินของเขา หรือชุมชนของเขา คนหลายคนที่ต่อสู้แบบนี้โดนอุ้มหายเยอะมาก ผมเลยอยากจะสดุดีคนเหล่านี้ที่มาก่อนเราแล้วเขาสูญหาย” ธีระวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

นักแสดงทุกคนต่างมีบทบาทและหน้าที่เป็นของตัวเองซึ่งเล่าเรื่องราวแยกออกจากกัน ระหว่างการแสดง มีเสียงร้อง “โอย..” ด้วยลักษณะคล้ายหมอลำอันแฝงด้วยความเจ็บปวดจากนักแสดงคนหนึ่ง เธอพันตัวเองเข้ากับตาข่ายสื่อสารกับผู้ชมผ่านทางร่างกายและเสียงใต้ตาข่ายที่ห่อหุ้มเธอไว้

ปาลิตา ศรีวบุตร ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการละคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือเจ้าของเสียงนั้น เธออธิบายที่มาของเสียงว่า “เราก็สนใจหมอลำด้วย และมันก็เป็นพื้นที่อีสานด้วย ความเจ็บปวดจะสามารถแสดงออกผ่านเสียง ‘โอย’ ของหมอลำได้หรือไม่ เราไม่ได้คิดว่ามันจะม่วนหรือไม่ม่วน เราแค่รู้สึกว่าความเจ็บปวดจะแสดงออกมาผ่านเสียงนี้ได้อย่างไร”



“เราเก็บเอาความรู้สึกของญาติผู้ถูกอุ้ม ความรู้สึกเจ็บปวด ทรมานที่เล่าออกมาไม่ได้ว่าเจ็บปวดขนาดไหน แต่เราแสดงออกผ่านร่างกาย เสียง และแสดงออกผ่านพื้นที่” ปาลิตา กล่าว

ปาลิตา อธิบายถึงที่มาที่ไปในการใช้ตาข่ายประกอบการแสดงว่า สิ่งของที่เกิดขึ้นมันก็เกิดจากพื้นที่บ้านดาวดิน เราก็หาอะไรที่มันสามารถทำงานกับมันได้ เราก็เอามาทำ เราไม่ได้กำหนดว่ามันคืออะไรแน่ชัด

“แต่ในความรู้สึกของความเจ็บปวด ของความถูกกักขัง มันก็รู้สึกได้ถึงความทรมาน ไม่ว่าจะเป็นดาง (ตาข่าย) ที่ไปจับ ไม่ได้ไปจับปลา แต่มันเป็นการจับความรู้สึกเจ็บปวด เหมือนเราทำอะไรไม่ได้นอกจากปีนป่าย เราก็รู้สึกว่ามันสื่อได้ว่ามันเจ็บปวด ทรมาน เราก็ไม่รู้ว่ามันขนาดไหน แต่เรารู้สึกว่าเราทำได้ประมาณนี้” ปาลิตา เล่าถึงงานแสดงชิ้นนี้



ถนอม ชาภักดี ผู้ริเริ่มเทศกาลศิลปะ Khon Kaen Manifesto เล่าถึงการใช้อุปกรณ์และพื้นที่บ้านดาวดินเป็นที่แสดงงานศิลปะชิ้นนี้ว่า อุปกรณ์ประกอบการแสดงทั้งหมดคือสิ่งที่กลุ่มนักแสดงหยิบมาจากพื้นที่บ้านดาวดิน ไม่ว่าจะตาข่าย ฟูก หรือกองฟาง ทุกอย่างไม่ใช้สิ่งที่ถูกเตรียมมาก่อน การใช้พื้นที่ บ้านดาวดิน เป็นพื้นที่ในการแสดงนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เราต้องการให้ศิลปะมันง่ายขึ้นกับคนทั่วไป สะท้อนเรื่องราวการเมืองและสังคม

“งานนี้แสดงที่บ้านดาวดินได้โดยไม่ต้องใช้โรงละคร… พื้นที่นี้ คนไม่เคยคิดว่าจะสามารถเป็นพื้นที่ของศิลปะการแสดงได้ แต่เขาสามารถที่จะเอาอะไรก็ได้ในนี้มาร่วมแสดงได้ จะฟูกเก่า จักรยานสัปปะรังเค“

ผู้ริเริ่มเทศกาลศิลปะ Khon Kaen Manifesto กล่าว