วันพุธ, ธันวาคม 30, 2563

วาระสุดท้ายพระเจ้าตาก ยังทรงห่วงไพร่



Matichon Book - สำนักพิมพ์มติชน
December 27 at 9:00 PM ·

วาระสุดท้ายพระเจ้าตาก “สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย”
.
วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี นับเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว
.
สำนักพิมพ์มติชนขอนำเนื้อหาวาระสุดท้ายพระเจ้าตาก จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่” ของ คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร มาให้นักอ่านได้รับรู้เรื่องราวก่อนการสิ้นพระชนม์ โดยมีเนื้อหาดังนี้
.
นายบุญมา เป็นผู้เดียวจากตระกูลขุนนางอยุธยาเดิมที่ได้ร่วมขบวนกับสมเด็จพระเจ้าตากสินที่จันทบุรี หลังจากนั้นได้กลายมาเป็นแม่ทัพที่เก่งกาจและมากประสบการณ์ที่สุดของพระองค์ นำทัพไปตีล้านนา ลาว และเขมร หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงตั้งมั่นที่กรุงธนบุรีแล้ว นายบุญมาได้นำนายทองด้วง พี่ชายผู้ไม่ได้มีตำแหน่งที่อยุธยา แต่ที่ราชบุรีได้แต่งงานกับบุตรสาวของตระกูลดังที่นั่น ให้เข้ามาร่วมด้วย นายทองด้วงก็ประสบความสำเร็จเป็นแม่ทัพเช่นน้องชายและได้ตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรี ราว พ.ศ. 2320
.
ทองด้วง (เจ้าพระยาจักรี) มีบทบาทขึ้นเป็นผู้นำของกลุ่มผู้ดีเก่าในบรรดาขุนนางดั้งเดิมซึ่งไม่สบายใจกับวิถี “วิปริต” ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมากขึ้น แทนที่จะหยุดยั้งอิทธิพลของนายทองด้วงที่เพิ่มขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรับธิดาของเขาเป็นพระมเหสี เมื่อธิดาของเขาประสูติกาลพระราชโอรส พระองค์อาจจะพระราชทานยศที่สูงขึ้นแก่นายทองด้วง แต่พระองค์ก็คงลงโทษโบยนายทองด้วงด้วยเมื่อพ่ายแพ้สงครามดังที่เกิดกับขุนนางคนอื่นๆ ด้วยเช่นเดียวกัน และทรงให้โบยภรรยาของเขาด้วยเมื่อเป็นโทษ ภายหลังจากที่คณะสงฆ์แตกแยกกันในปี พ.ศ. 2322 -2323 กลุ่มของเจ้าพระยาจักรีแน่ใจว่าต้องสกัดสมเด็จพระเจ้าตากสินและวางแผนรัฐประหาร
.
พ.ศ. 2324 บุญมาและเจ้าพระยาจักรีนำทัพไปตีเขมร เมื่อกำลังจะเดินทัพกลับสู่กรุงธนบุรี หลานชายของเจ้าพระยาจักรีที่เป็นเจ้าเมืองโคราชเดินทางเข้ากรุงธนบุรีอย่างเงียบเชียบเพื่อเตรียมการรัฐประหาร สถานการณ์ยุ่งยากเมื่อพระยาสรรรค์นำอีกกลุ่มหนึ่งกระทำการรัฐประหารเข้ายึดกรุงธนบุรีได้ในคืนเดียว
.
สมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ได้ต่อสู้แต่อย่างใด ทรงยอมแพ้แก่ฝ่ายกบฏด้วยพระราชดำรัสว่า “สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย” ทรงขอชีวิตและออกผนวชที่วัดแจ้ง 28 วันหลังจากพระยาสรรค์รัฐประหาร เจ้าพระยาจักรียกทัพกลับมา และตั้งศาลซึ่งตัดสินว่า “มุขมนตรีทั้งหลายพร้อมกับกราบทูลว่า พระเจ้าแผ่นดินละสุจริตธรรมเสีย ประพฤติการทุจริตเช่นนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ควรจะให้สำเร็จโทษเสีย”
.
อีก 150 คน เป็นโทษประหารรวมทั้งพระยาสรรค์และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายชายในสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่บางพระองค์รอดไปได้ รวมทั้งพระราชโอรสประสูติแต่ธิดาเจ้าพระยาจักรี คำอธิบายเหตุการณ์ที่ให้แก่เมืองบรรณาการกล่าวว่า “เทพยดาก็บันดาลให้เจ้าแผ่นดินก่อนประพฤติทุจริตผิดบูราณราชประเวณี ก็เกิดฆ่าฟันกันเอง ล้มตายพินาศฉิบหายปกป้องครองแผ่นดินมิได้”
.
วิกฤติความพ่ายแพ้ พ.ศ. 2310 (เสียกรุงฯ ครั้งที่ 2) สมเด็จพระเจ้าตากสินรุ่งขึ้น เป็นคนนอกของชนชั้นนำดั้งเดิม และได้สยบผู้ท้าชิงที่มาจากชนชั้นนำทุกกลุ่มทุกพวก การปกครองของพระองค์ย้อนรอยไปยังกษัตริย์-นักรบสมัยสมเด็จพระนเรศวร รวมถึงการเมืองของความจงรักภักดีผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเจ้าเมืองใหญ่และเจ้าเมืองเล็ก อันเป็นการปกครองที่มีพื้นที่ไม่มากนักให้แก่กลุ่มขุนนางซึ่งได้เจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นใจและทรงอำนาจตลอดช่วงร้อยปีก่อน และได้ขัดกับแนวคิดว่าด้วยวิถีประพฤติปฏิบัติอันเหมาะอันควรของกษัตริย์ พอดีพอร้ายอาจทำให้เครือข่ายของตระกูลภายในกลุ่มชนชั้นนำดั้งเดิมวางแผนรัฐประหารเพื่อฟื้นฟูอิทธิพลของกลุ่มดังที่เคยเป็นมา
.
ทว่าเสียกรุง พ.ศ. 2310 เป็นจุดแตกหักสำคัญ ผู้ปกครองต่อมาไม่ได้ฟื้นฟูสยามมากเท่ากับก่อร่างสร้างสยามขึ้นมาใหม่ที่กรุงเทพฯ
.
ข้อความจากหนังสือ : ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่
ผู้เขียน : คริส เบเคอร์, ผาสุก พงษ์ไพจิตร
สั่งซื้อได้ที่นี่ https://cutt.ly/4gOGBGW
.
.
#ประวัติศาสตร์อยุธยา #ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ #matichonbook