วันอาทิตย์, ธันวาคม 27, 2563

เมื่อพุทธรับใช้ราชา พุทธไทยและพระกลายเป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ที่ไม่เป็นมิตรต่อประชาธิปไตย เป็นสองมาตรฐานทางศีลธรรม


ประชาไท Prachatai.com
December 24 at 8:00 PM ·

พุทธและราชาแนบแน่นมาแต่โบราณ สังคมไทยเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้วก็ยังไม่เปลี่ยน ต่างอิงอาศัยกันและกัน พุทธและพระกลายเป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยม สิ่งนี้สร้างผลกระทบที่ไม่เป็นมิตรต่อประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเท่าเทียม และความสองมาตรฐานทางศีลธรรม
.
ใครที่ติดตามข้อเขียนและความคิดของสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาและศาสนามาโดยตลอดจะรู้ว่า เขาสนับสนุนให้มีการแยกศาสนาออกจากรัฐด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เพื่อให้เกิดเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง เพื่อให้คณะสงฆ์ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ของรัฐ เป็นต้น
.
แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ของสุรพศเรื่อง ‘พุทธราชาชาตินิยม’ ซึ่งหยิบยืมแนวคิด ‘ราชาชาตินิยม’ ของธงชัย วินิจจะกูล มา ทำให้เขาได้ข้อเสนอเพิ่มเติมว่าการจะแยกศาสนาออกจากรัฐต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ด้วย เพื่อให้การแยกศาสนาออกจากรัฐเป็นไปได้ง่ายขึ้น เนื่องจากทั้ง ‘พุทธ’ และ ‘ราชา’ เชื่อมโยงแนบแน่นมาเนิ่นนาน
...
“คณะสงฆ์ถูกกำหนดโดยกฎหมายของรัฐว่าต้องรับใช้รัฐ พอเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ระบบนี้ก็ไม่ได้ถูกยกเลิกไป ยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้”
.
“ถ้าพระสงฆ์เทศนาสนับสนุนความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อสนับสนุนชาติ ศาสน์ กษัตริย์ก็ไม่ใช่การเมืองถือว่าทำเพื่อบ้านเมือง ทำเพื่อรักษาสถาบัน เพื่อความมั่นคง เป็นหน้าที่ของพระที่ควรจะทำ มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้พระทั่วประเทศสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นหน้าที่ที่พระดีควรจะทำ ทำแล้วก็จะเจริญในยศศักดิ์ฐานันดร แต่ถ้าพระมาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 14 ตุลาคม 6 ตุลาคมก็ถือว่ามายุ่งการเมือง ถูกลงโทษ ถูกจับสึก ถูกไล่ออกจากวัด แม้กระทั่งปัจจุบันที่ออกมาเป็นแก๊งแครอทก็ถูกไล่บี้ต่างๆ ถือว่ายุ่งการเมือง ทั้งที่มันเป็นการเมืองทั้งสองอย่าง”
.
“การอ้างธรรมาธิปไตยเพื่อเรียกร้องรัฐประหารก็เป็นการไม่รับผิดชอบต่อหลักการพุทธศาสนาด้วย ขณะที่นักการเมืองโกงกินเป็นเรื่องใหญ่มาก ยอมรับไม่ได้ แต่การรัฐประหารยิ่งหนักกว่า เพราะมันคือการปล้นอำนาจของประชาชน ปล้นระบบ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ฉีกสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งผิดหลักอทินนาของพุทธ แต่ปรากฏว่ามันไม่ผิดพุทธราชาชาตินิยมซึ่งต้องสนับสนุนกษัตริย์และมันก็เป็นเนื้อเดียวกันอยู่แล้ว”
.
“ศีลธรรมแบบพุทธราชาชาตินิยมคือรากฐานของความเป็นสองมาตรฐานทางศีลธรรม พระเทศนาอวยกษัตริย์ว่าทรงทศพิธราชธรรม มีบุญคุณต่อพสกนิกร ต่อประเทศชาติได้อย่างเดียว ตั้งคำถามไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันพระก็ชอบเอาศีลธรรมแบบพุทธมาตัดสินทางการเมือง มาตัดสินประชาชนว่าปัญหาของชาติ ของบ้านเมือง เพราะนักการเมืองไม่มีธรรมาธิปไตย ถ้าประชาชนมีคุณธรรมการเมืองก็จะดี พอพูดแบบนี้มากขึ้นมันก็เป็นสองมาตรฐานทางศีลธรรมและเบลอศีลธรรมสาธารณะ ซึ่งก็คือหลักสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชนที่เป็นศีลธรรมโลกวิสัย แต่สังคมไทยพอเวลาพูดถึงศีลธรรมเราจะมักนึกถึงแต่ศาสนา ขณะที่ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เราเอาความเชื่อส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลมาอ้างเสมือนว่าเป็นศีลธรรมของสาธารณะ แล้วยกให้มันอยู่เหนือและมากำกับประชาธิปไตยอีกทีหนึ่ง มันก็เลยเลอะเทอะไปหมด”

อ่านทั้งหมดได้ที่: https://prachatai.com/journal/2020/12/90947