วันพุธ, ธันวาคม 23, 2563

“หยุดใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งปิดปากประชาชน”



Chaturon Chaisang
17h ·

“หยุดใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งปิดปากประชาชน”
.
วันนี้ ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่มีการกล่าวหาผมว่าทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งเป็นคดีที่โอนมาจากศาลทหารกรุงเทพและมีการพิจารณาคดีต่อที่ศาลยุติธรรม
โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลย เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายไม่เป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนออกมาต่อต้านการยึดอำนาจของ คสช. และไม่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือวิธีการรุนแรงใดๆทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือรัฐบาล แต่กลับเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองของจำเลยในการไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารด้วยจิตวิญญาณของตัวเอง รวมถึงเป็นการเรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารใช้ความอดทนและเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธี และเรียกร้องให้ คสช. ไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่เห็นต่าง และเป็นการเรียกร้องให้ คสช. มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว นอกจากนั้นการดำเนินคดีอาญาของตำรวจเป็นการดำเนินคดีที่ผิดและขัดต่อหลักการตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของจำเลย โดยการควบคุมและจับกุมจำเลยก่อนและตั้งข้อหาจำเลยตามป.อ. มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมารวบรวมพยานหลักฐานภายหลังเพื่อดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาดังกล่าว ซึ่งคำพิพากษาชี้ให้เห็นว่าการดำเนินคดีกระทำไปในลักษณะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปิดปากผู้มีความเห็นต่างและเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล
ผมใช้เวลาต่อสู้คดีนี้ยาวนาน 6 ปี 6 เดือน 26 วัน
คดีนี้เกิดหลังการรัฐประหาร 2557 และได้มีการออกคำสั่งให้บุคคลมารายงานตัว ซึ่งผมตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เพราะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ทำให้ประเทศเสียหาย ล้าหลังและไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้ง แต่การที่จะหลบอยู่ตลอดไปคงไม่เป็นประโยชน์ เมื่อสถานการณ์มีความชัดเจนจึงตัดสินใจปรากฎตัวเพื่อสู้คดีอย่างตรงไปตรงมา
ผมเลือกปรากฏตัวที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 เพื่อแถลงข่าวเป็นภาษาอังกฤษเรียกร้องให้ คสช.เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหลักนิติธรรม ขอให้ทุกฝ่ายละเว้นการใช้ความรุนแรงต่อกันและแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร พร้อมยืนยันว่าจะต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยสันติวิธี
หลังการแถลงข่าว ทหารชุดหนึ่งมาเชิญตัวผมแล้วนำตัวผมไปที่ สน.ลุมพินี เพื่อให้ตำรวจตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัว แต่ต่อมาฝ่ายทหารบอกว่าจะยังไม่ตั้งข้อหา เนื่องจากกรณีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ของผมเกิดขึ้นก่อนที่ คสช.จะมีคำสั่งให้คดีเกี่ยวกับความมั่นคงไปขึ้นศาลทหาร โดยนายทหารที่มาดำเนินการกับผมได้โทรศัพท์คุยกับนายของเขาหลายครั้งแล้วมาบอกกับผมต่อหน้าตำรวจว่าจะต้องตั้งข้อหาเพิ่มเพื่อจะได้เอาผมไปขึ้นศาลทหาร
จากนั้นก็นำตัวผมขึ้นรถทหาร คลุมหัวปิดตาเดินอีก 2-3 ชั่วโมง เพื่อเอาไปขังไว้ที่บ้านหลังหนึ่งในค่ายทหาร วันรุ่งขึ้นทหารชุดนี้จึงนำตัวผมมาที่กองปราบเพื่อให้ตั้งข้อหาตามมาตรา 116 แล้วนำตัวผมไปฝากขังที่ศาลทหาร ซึ่งศาลได้สั่งขังและไม่ให้ประกันตัว
คดีนี้เป็นคดีการเมืองที่ขึ้นศาลทหารเป็นคดีแรกหลังการรัฐประหาร 2557และผมได้กลายเป็นพลเรือนคนแรกๆ ที่ต้องขึ้นศาลทหาร
ในระหว่างที่ผมถูกขัง มีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมคือการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยอ้างว่ามีการเผยแพร่เนื้อหาการแถลงข่าวที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในเฟชบุ๊ก ซึ่งเป็นการยั่วยุปลุกปั่น ต่อต้านการยึดอำนาจของ คสช. ทั้งๆที่ตั้งแต่ 27 พฤษภาคม 2557 ถึง 6 มิถุนายน 2557 ที่ผมถูกควบคุมตัวและถูกขังอยู่ ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือใดๆ ที่จะนำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียได้ และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าเฟชบุ๊กดังกล่าวนั้นเป็นของใคร
ผมถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 3 ข้อหาคือ 1.ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ให้บุคคลมารายงานตัว 2.ข้อหาตามมาตรา 116 และ 3.ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ได้ต่อสู้จนในที่สุดมีข้อสรุปว่าศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่มีอำนาจพิจารณาคดีในอีกสองข้อหาที่เหลือ เมื่อจะมีการเลือกตั้งปี 2562 จึงมีการโอนคดีในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม ผมจึงมาสู้คดีในศาลอาญา กระทั่งมีคำพิพากษาในวันนี้
ผมเชื่อมั่นว่าการแสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารโดยสุจริต เป็นสิทธิเสรีภาพและไม่ใช่เรื่องที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ใช่การชักชวนให้ประชาชนมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หรือยุยงให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องและความไม่สงบในบ้านเมือง แม้การรัฐประหารจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่สิทธิเสรีภาพของบุคคลตามหลักการประชาธิปไตยยังคงอยู่ ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถือเป็นประเพณีการปกครองของไทยที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ตลอดจนสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีอีกหลายฉบับ
การที่ คสช. ดำเนินคดีกับผมเป็นเพียงการพยายามที่จะกลั่นแกล้ง ปิดปาก สร้างความลำบากเดือดร้อนเพื่อให้ผมหยุดแสดงความคิดเห็นหรือเลิกความคิดที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ซึ่งไม่สามารถทำได้
ผมไม่สามารถเปลี่ยนความคิด จุดยืนและอุดมการณ์ เพียงเพราะเกรงกลัวต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรมและความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นได้
แม้จะถูกดำเนินคดีและต่อมาก็ถูกสั่งห้ามเดินทางไปต่างประเทศ ถูกยกเลิกหนังสือเดินทางและถูก คสช.ออกคำสั่งระงับการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน ผมก็ยังคงยืนยันจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและยืนยันในสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด
จากการที่ผมถูกดำเนินคดีมาตลอด 6 ปี 6 เดือน 26 วัน ทำให้มีประสบการณ์โดยตรงและชัดเจนว่าคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น ความผิดตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นี้ถูกใช้เป็นเครื่องในการกลั่นแกล้ง สร้างความลำบากเดือดร้อนเพื่อบีบคั้นกดดันผู้ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมือง ซึ่งนอกจากเกิดขึ้นกับผมแล้ว ยังมีอีกนับร้อยๆ คดีที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาและประชาชน ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
ผมตั้งใจจะให้คดีนี้เป็นตัวอย่าง ในการเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย หลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งปิดปากประชาชนอย่างที่เป็นอยู่ โดย
1.จะดำเนินการเรียกร้องไปยังอัยการสูงสุดใน 2 ประเด็น คือ
1.1 ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาถอนฟ้องคดีนี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมและขัดหลักนิติธรรม
คดีนี้ไม่ควรมาถึงศาลยุติธรรมตั้งแต่แรก ตั้งแต่เริ่มต้นคดีโดยกองทัพที่อยู่ใต้อำนาจของคณะรัฐประหาร การตั้งข้อหา การสอบสวนและการฟ้องคดีมีความไม่ชอบมาพากลตลอดกระบวนการ มีการตั้งข้อหาเกินความเป็นจริงเพื่อจะเอาคดีไปสู่ศาลทหารซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจเสนอสั่งฟ้องทั้งๆ ที่ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอและอัยการทหารสั่งฟ้องทั้งๆ ที่เห็นบันทึกการสอบปากคำพยานเกือบทุกคนที่ให้การว่าไม่เห็นว่าข้อความที่มีการแถลงข่าวนั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และคำเบิกความของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนที่เป็นคุณต่อจำเลยไม่ถูกนำเข้าไว้ในสำนวน
อีกทั้งยังมีการดำเนินคดีที่ล่าช้าผิดปกติ คือคดีอยู่ที่ศาลทหารกว่า 5 ปี สืบพยานไปได้เพียง 2 ปากเท่านั้น แต่เมื่อมีการโอนคดีมาที่ศาลอาญา ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนก็สืบพยานทุกปากเสร็จสิ้นลงได้ นอกจากนี้ในการสืบพยานทั้งหมดทั้งในศาลทหารและศาลอาญาปรากฏว่านอกจากทหาร 2 นายที่ทำตามคำสั่งของ คสช.ให้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว พยานโจทก์ปากอื่นๆ ไม่มีใครให้การว่าจำเลยกระทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ผมเข้าใจว่าพนักงานอัยการผู้ทำคดีนี้ย่อมมีอิสระที่จะพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์คดี และผมจะไม่ก้าวล่วงการตัดสินใจของพนักงานอัยการเจ้าของคดี แต่เนื่องจากการดำเนินคดีนี้ตั้งแต่ขั้นของการตั้งข้อหา การสอบสวน การสั่งฟ้องและการฟ้อง มีลักษณะเป็นการใช้กฎหมายปิดปาก กลั่นแกล้ง สร้างความลำบากเดือดร้อนแก่ผู้ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกดำเนินคดี เมื่อผมได้รับบันทึกคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์แล้ว ผมและคณะทนายจะไปยื่นเรื่องร้องต่ออัยการสูงสุดในทันที
1.2 ขอให้อัยการสูงสุดวางหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินคดีที่รับโอนมาจากศาลทหารเสียใหม่
เมื่อมีการโอนคดีจากศาลทหารมายังศาลอาญา ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายควรจะใช้ดุลยพินิจตรวจสอบสำนวนและความเป็นมาของคดีเสียใหม่ ซึ่งในการพิจารณาคดีนี้ในศาลยุติธรรมปรากฏชัดเจนว่าคดีนี้ไม่ควรตั้งข้อหาและสั่งฟ้องมาตั้งแต่ต้น ดังนั้นเมื่อมีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้เช่นนี้แล้ว ผมก็จะทำเรื่องร้องต่ออัยการสูงสุด ขอให้กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับการดำเนินคดีที่โอนมาจากศาลทหารให้ชัดเจน โดยจะต้องมีการพิจารณาสำนวนเสียก่อนว่าการดำเนินคดีก่อนหน้านั้นถูกต้องและเป็นธรรมต่อจำเลยหรือไม่
และ
2. เดินหน้าเพื่อสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานความยุติธรรมตามกฎหมาย คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน
คำพิพากษาที่ออกมาได้สะท้อนถึงระบบยุติธรรมที่บกพร่องอย่างสำคัญ ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย การใช้กฎหมาย ไปจนถึงการใช้ดุลยพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรม
ผมจะดำเนินการเรียกร้องไปยังองค์กรในฝ่ายนิติบัญญัติขอให้แก้ไขกฎหมายระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคงไม่ให้ใช้อย่างพร่ำเพรื่อตามอำเภอใจอย่างที่เป็นอยู่ และขอเรียกร้องให้ รัฐบาล องค์กรและเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจใช้ดุลยพินิจเกี่ยวกับการดำเนินคดีทั้งหลาย ขอให้ยุติการใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงในทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน ขอให้ใช้อำนาจและดุลยพินิจอย่างถูกต้องและยุติธรรม ไม่ขัดต่อข้อเท็จจริงและกฎหมาย เพื่อให้หยุดการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งปิดปากประชาชนอย่างที่เกิดขึ้น