เพิ่งรู้วันนี้ว่างบฯ จัดงานเมื่อคืน (วันที่ ๕ ธันวา) ถึง ๕๘ ล้านกับ ๖ แสนบาท รัฐบาลจ่าย (เงินของชาติที่มาจากประชากร) เมื่อวานเหมือนกัน ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตามสเป็ค ตรวจสอบการทำงานรัฐบาลด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังฟุบแล้วฟุบอีก
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แตะ รมว.คลังป้ายแดง ผ่านงานสองเดือนกว่า “พ้นช่วงฮันนีมูน...ถึงเวลาต้องตอบคำถามกับประชาชนอย่างจริงจังเสียที ว่าจะพาประเทศหลุดจากหน้าผาการคลังนี้โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่มได้อย่างไร”
เธอแจงไว้บนเฟชบุ๊คถึง ‘fiscal cliff’ ว่า “ถ้าปีหน้าจัดเก็บภาษีหลุดเป้าไปเพียงแสนกว่าล้านบาท เราก็อาจจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.กู้เงินเพิ่มกันอีกรอบ” เนื่องจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐมีแผน “ปรับโครงสร้างภาษี”
อ้างว่า “เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะสามารถรองรับการใช้จ่ายในอนาคตได้ เพราะงบประมาณ ๗๐% เป็นเรื่องรายจ่ายประจำ ตรงนี้ลดยาก มีทางเดียวคือการเพิ่มประสิทธิภาพผ่านการขยายฐานภาษี” สำหรับท่านๆ ที่ยังงงๆ กับภาษารัฐมนตรี เขาหมายถึง ‘ถอนขนห่าน’ อะ
ส.ส.ฝ่ายค้านคนนี้ “ถามว่าจะลดได้มั้ย บางรายการก็ไม่สามารถลดได้ (ทันที)” เธอบอกถ้าระยะยาว “ลดจำนวนหน่วยงาน ลดจำนวนบุคลากร ยุบรวมหน่วยงานที่มีภารกิจทับซ้อน หรือภารกิจที่รัฐไม่จำเป็นต้องทำเอง”
ส่วนระยะไม่ต้องยาว “ส่วนที่เหลือนั้นลดได้อย่างแน่นอน คือโครงการที่มีความซ้ำซ้อน โครงการที่วัดผลไม่ได้จริง เช่น โครงการอบรม สัมมนา งบประชาสัมพันธ์ งบดูงานต่างประเทศ (สวัสดิการทางอ้อม)” แทนที่จะ “มารีดภาษีเพิ่มจากประชาชนแทน”
ข้อสำคัญส่วนที่รอดร่องไปได้อย่างไม่น่าจะเป็น คือ ‘ส่วนที่ยังไม่เข้าฐานภาษี’ เช่น “ไปหาแนวทางจัดเก็บภาษีจากคนรวยที่มีรายได้จากทรัพย์สิน ทั้งค่าเช่า จากการลงทุนโดยที่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบน่าจะได้ภาษีเป็นกอบเป็นกำมากกว่า”
เธออธิบายต่อถึง “ช่องโหว่ด้านกฎหมาย เช่น กลุ่มที่มีรายได้จากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ และผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศ” ซึ่ง “ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี” ในขณะที่ “กลุ่มที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเสียภาษี ๑๕% เงินปันผลเสีย ๑๐%
แต่รายได้จากเงินเดือนเก็บที่อัตราสูงสุด ๓๕% กลายเป็นช่องให้เกิดหลบเลี่ยงภาษีได้มหาศาล” นี่ไงคนทำมาหากินเดือนต่อเดือนโดนหนักกว่าบรรษัทยิ่งใหญ่ ก็พอดีช่วงนี้เห็นมีพูดกันหนักเรื่องความไม่สมดุล ไม่เท่าเทียม ‘disparity’ ไปถึง ‘ไม่แฟร์’
อันหนึ่งที่แตะตา ก็ ‘สยามพิวรรธน์’ อลังการริมน้ำเจ้าพระยา ที่มี “กองทุนลดาวัลย์ และ ธ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในเครือ สนง.ทรัพย์สินฯ (ส่วนพระองค์)” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และพระน้องยาเธอสิรินทรกับพระราชบิดาภูมิพล ถือหุ้นรอง
จากโพสต์ของ Tanawit Kalanthokpan ทราบว่า “ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ที่ได้มา (พระน้องยาเธอฯ) สิรินธร ได้รายได้ในฐานะผู้ถือหุ้นสยามพิวรรธน์ ๑๔๕ ล้านบาท หรือเกือบ ๑ ใน ๔ ของรายได้ทั้งหมดที่บริษัทแจกจ่ายให้ผู้ถือหุ้นในแต่ละปี”
นอกจากนั้นเขาอ้าง ดร.แซร์หัต อูนาดิ “คำนวณว่าในฐานะเจ้าของที่ดิน (รายได้ต่อที่หนึ่ง) พระเทพฯ น่าจะมีรายได้จากค่าเช่าต่อปีราว ๑.๖๘ พันล้านบาท” ทั้งนี้จาก “ราคาเช่าที่ดินกลางกรุงเทพ ๖๐๐ ล้านบาทต่อไร่ จำนวน ๗๐ ไร่ และการขึ้นราคาค่าเช่า ๔% ต่อปี”
และต้องมีเจ้าของหุ้น เจ้าของที่ดิน ลักษณะนี้อีกนับสิบๆ (อาจไม่ถึงร้อย) รวมมูลค่าแล้วถ้าได้หักภาษี ๓๕% ก็หูย สรรพากรควรตาโตสิ แต่คงโตไม่ออกโดนปิดไปเสียก่อน แถมยังปิดหูกับปิดปากอีก ก็เลยต้องหา รมว.คลังมาแก้กันแล้วหลายคน ยังไม่เสร็จเสียที
ตานี้พอลงไปถึงรายปลีกย่อย อย่างในงบฯ กลาโหมงี้ ‘คณะราษฎร/คณะประชาชนปลดแอก & กลุ่มแนวร่วม’ แจ้งบ้าง อ้าว “งบกลาโหมฉาว สัญญาจัดซื้อรถบัสทหารรวมยอด ๔ ปี ๗ สัญญา จำนวน ๔๒๙ คัน มูลค่า ๒,๒๕๐ ล้านบาท
ส่อฮั้วเอกชนโกงสเป็กจัดซื้อเอื้อพวกพ้องในยุคลุงตู่” แบบนี้ไม่ใช่รั่วไหลแระ เปิดก็อกกรอกกันเลย คนโพสต์เก็บข้อมูลจากสำนักข่าว ‘อิศรา’ (อูยช่าง ‘กล้ามาก’ เล่นกับตะหาน ‘ขอบใจ’) สรุปว่าเอกชนรายนี้ “บริษัท อิทธิพรอิมปอร์ต จำกัด” รับแต่ผู้เดียว
“จัดซื้อจำนวน ๕๒ คัน ราคา ๒๓๓,๔๘๐,๐๐๐ บาท (กับ) จัดซื้อจำนวน ๒๐ คัน ราคา ๘๙,๘๐๐,๐๐๐ บาท” อีกทั้งในงบประมาณ ๖๓ “จัดซื้อ ๒ ครั้ง จำนวน ๑๐๐ คัน และ ๑๒ คัน วงเงินรวม ๕๐๔ ล้านบาท” เบ็ดเสร็จการซื้อรถบัสติดแอร์ปี ๖๒-๖๓ สี่ครั้ง ๑๘๔ คัน
ฟาดไป ๘๒๕,๙๙๒,๐๐๐ บาท จากวงเงินจัดให้ ๘๒๘ ล้านบาท เหลือเงินทอนนิดเดียว ๒ ล้านกว่าๆ ไม่พอยาไส้
(https://www.isranews.org/.../isran.../93928-repoer06-27.html และhttps://www.facebook.com/…/a.311029382…/642848333029733/)