วันจันทร์, ธันวาคม 07, 2563

กลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยเป็นพลังสำคัญในการต่อต้านอำนาจเผด็จการและปกป้องประชาธิปไตยอยู่ตรงไหนในการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาในครั้งนี้


ส่วนหนึ่งจากบทความ
การเดินทางของคนเสื้อแดง (A journey of the red shirts)
The Isaan Record

คำถามสำคัญ คือ กลุ่มคนเสื้อแดงที่เคยเป็นพลังสำคัญในการต่อต้านอำนาจเผด็จการและปกป้องประชาธิปไตยอยู่ตรงไหนในการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาในครั้งนี้ จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสอบถามคนเสื้อแดงในจังหวัดในอีสานและบางท่านที่เข้าไปร่วมชุมนุมกับนักเรียนนักศึกษาในกรุงเทพ สิ่งที่พบคือ

ประการที่หนึ่ง ในช่วงแรกที่มีนักเรียน นิสิตและนักศึกษาประท้วง กลุ่มคนเสื้อแดงยังไม่กล้าที่จะออกมาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะไม่รู้ว่าทิศทางการเคลื่อนไหวจะเป็นไปในทางไหน แต่เมื่อมีการกล่าวขอบคุณคนเสื้อแดง การยกย่องเขาจากนิสิต นักศึกษาและนักเรียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ รวมถึงในต่างจังหวัดทำให้รู้ว่า พวกเขาไม่เคยถูกลืมไปจากหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของไทยและคนเหล่านี้ไม่ได้รังเกียจพวกเขาว่า เป็นคนบ้านนอกหรือถูกชักจูงมา ส่งผลให้พวกเขากล้าจะออกมาที่ยืนเคียงข้างขบวนการนักเรียน นิสิตและนักศึกษา และต่อสู้ไปด้วยกัน อย่างเช่น กลุ่มแกนคนเสื้อแดงอีสานมีการขึ้นเวทีประกาศตัวในการร่วมต่อสู้กับนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 หรือ ที่บริเวณทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563

ประการที่สอง คนเสื้อแดงบางกลุ่มปรับบทบาทของตนเองในการขบวนการต่อสู้เรียกร้องของตน จากที่เคยเป็นผู้นำในการต่อสู้ต่อต้านเผด็จการภายหลังรัฐประหาปี 2549 ตอนนี้พวกเขาบางคนกลายมาเป็นผู้สนับสนุน นักเรียน นิสิต และนักศึกษาในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น การช่วยเหลือในเรื่องของเงินบริจาค การออกมาให้กำลังใจนิสิต นักเรียนและนักศึกษา เมื่อมีการจัดม็อบประท้วงรัฐบาลหรือช่วยปราศรัยในเวทีกับนักเรียน นิสิตและนักศึกษา ในลักษณะการสร้างความบันเทิงผ่านบทเพลงต่างๆ ของคนเสื้อแดง เช่น เพลงดาว รอเธอกลับมา รักคนเสื้อแดง ดอกหญ้าสีแดง ของแป๊ะ บางสนาน ศิลปินของคนเสื้อแดง เป็นต้น

ประการที่สาม คนเสื้อแดงบางกลุ่มเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมกับ นักเรียน นิสิตและนักศึกษาในลักษณะของผู้ตามมากกว่านำในการจัดการชุมนุม เพราะหลายคนคิดว่าควรให้ขบวนการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นพลังบริสุทธิ์ซึ่งมีกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาเป็นผู้นำมากกว่า ในช่วงแรกของการชุมนุม เพราะถ้าเข้าไปยุ่งมากขบวนการเคลื่อนไหวจะถูกกล่าวหาจากฝ่ายตรงข้ามว่า ถูกครอบงำ

ประการที่สี่ พ่อค้าแม่ค้าเสื้อแดงเริ่มมีการนำสินค้ามาขายในม็อบที่ประท้วงรัฐบาลประยุทธ์มีมากขึ้นกว่าช่วงแรกที่มีการชุมนุมประท้วงโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ ในอีสาน การที่มีสิ่งของของคนเสื้อแดง เช่น เสื้อ Truth Today ธงเสื้อแดง ตีนตบ หรือ สัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับ นปช. ที่มีมากขึ้นในม็อบนั้น เป็นสิ่งสะท้อนว่า สัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงยังเป็นที่ต้องการของผู้ชุมนุมและการต่อต้านเผด็จการ ถ้าเราสังเกตให้ดีผู้ชุมนุมบางท่านจะมีตีนตบหรือใส่เสื้อแดงเข้าร่วมมากขึ้น

ประการที่ห้า คนเสื้อแดงที่เคยติดสัญลักษณ์ของเสื้อแดง เช่น สติ๊กเกอร์ หรือ ข้อความสนับสนุนเสื้อแดงในอดีต เริ่มมีการนำมาติดที่ร้านของตนมากขึ้นเพื่อประกาศให้รู้ว่าเป็นคนเสื้อแดงผู้รักประชาธิปไตย หลังจากที่ต้องหลบซ่อนภายหลังรัฐประหารปี 2557

จากที่กล่าวมา เป็นเส้นทางการเดินทางของกลุ่มคนที่เรียกว่า คนเสื้อแดงที่ต้องสู้กับเผด็จการมาก่อน หลายคนต้องสูญเสียญาติพี่น้อง คนที่รักจากการปราบปราบของเจ้าหน้าที่รัฐ หลายคนต้องติดคุกหรือติดคุกอยู่ตอนนี้ หลายคนต้องหลบหนีไปต่างประเทศเพราะกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หลายคนต้องหลบซ่อนตัวเองให้รอดพ้นจากการไล่ล่าจากอำนาจเผด็จการ วันนี้พี่น้องเสื้อแดงได้กลับมาสู่สนามรบกับเผด็จการและพร้อมที่จะยืนเคียงข้างกับนักเรียน นิสิต นักศึกษาและผู้รักประชาธิปไตยทุกคนอีกครั้ง และเขาจะต่อสู้ไปเรื่อยๆจนกว่าประเทศจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เหมือนดังเพลง นักสู้ธุลีดิน ที่ถูกแต่งให้กับคนเสื้อแดง

สุดท้ายเพื่อเป็นการสดุดีและยกย่องคนเสื้อแดง ผู้รักประชาธิปไตยทุกท่านที่สู้มาก่อนและทุกวันนี้ยังคงต่อสู้อยู่ ผมขอจบบทความด้วยคำปราศรัยของ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ

“เราเกิดบนผืนแผ่นดิน เราโตบนผืนแผ่นดิน เราก้าวเดินบนผืนแผ่นดิน เมื่อเรายืนอยู่บนดิน เราจึงห่างไกลเหลือเกินกับท้องฟ้า เมื่อเรายืนอยู่บนดิน ต้องแหงนคอตั้งบ่า แล้วเราก็รู้ว่า ฟ้าอยู่ไกล เมื่อเราอยู่บนดิน แล้วก้มหน้าลงมา เราจึงรู้ว่า เรามีค่าเพียงดิน….แต่ผมแน่ใจว่า ด้วยพลังของประชาชนที่จะมากขึ้นทุกวัน ทุกวัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทุกนาที ทุกนาที แม้เรายืนอยู่บนผืนดิน แม้เราพูดอยู่บนผืนดิน แต่จะได้ยินถึงท้องฟ้า แน่นอน!”

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฏบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

ข้อมูลอ้างอิง

1.Andrew Walker. (2012). Thailand’s Political Presents: Power in the modern Rural Economy. Madison: University of Wisconsin Press.

2.Keys, Charles. (2014). Finding Their Voices: Northeastern Villagers and the Thai State. Chiang Mai: Silkworm Books

3.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี Becoming Red: กำเนิดและพัฒนาการเสื้อแดงในเชียงใหม่ [บรรณาธิการ]. (2556). เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4.วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย.(2555). หมู่บ้านเสื้อแดง : การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชุมชนชนบทไทย กรณีศึกษาหมู่บ้านนาใหญ่ จังหวัดอุดรธานี. (วิทยานิพนธ์ปริญามหาบัณฑิต). กรุงเทพมหานคร. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

5.Charoenmuang, Tanet. (2016). THE RED SHIRTS AND THEIR DEMOCRATIC STRUGGLE IN NORTHERN THAILAND, APRIL 2010 TO MAY 2015. Singapore: ISEAS Publishing.

6.Alexander, Saowanee T.. (2019). Cooptation doesn’t work: How redshirts voted in Isan. Retrieved 21 October 2020 from https://www.newmandala.org/cooptation-doesnt-work-how-redshirts-voted-in-isan/

ชวนอ่านบทความเต็ม
https://isaanrecord.com/2020/12/06/a-journey-of-the-red-shirts/?fbclid=IwAR1md8aBsVzEMIQUp-Vp5Zyyg3queFyVNUnvP_SyeaH7kHsRFmwlE6CKy-c