วันพุธ, ธันวาคม 02, 2563

กับดักความจนของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการเกษตร


สุริยา อุษาคเนย์
November 27 at 1:09 AM ·

เกษตรพอเพียง หรือในชื่อที่เป็นทางการว่า "เกษตรทฤษฎีใหม่" เป็นการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการเกษตรโดยเน้นหัวใจสำคัญสามอย่างคือ การจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การพอดีพอตัวพอประมาณ และการรวมตัวกันเพื่อความมั่นคง(ต่อรองผลประโยชน์) ศาสตร์นี้ไม่ใช่อยู่ๆจะเกิดขึ้นมาเป็นระบบเองได้เลย แต่มันคือศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งประยุกต์มาจากอะไรบ้าง ดังนี้
1. ประยุกต์จากระบบฟิวดัลในยุคกลางของยุโรปเมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว ระบบนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การจัดสรรที่ดินและพึ่งพาตนเอง โดยระบบนี้ขุนนางจะเป็นเจ้าของที่ดิน มีปราสาทอยู่ตรงกลาง ที่ดินของเขาจะถูกจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการแบ่งการจัดการเป็นส่วนต่างๆเช่น พื้นที่สำหรับปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด ผักผลไม้ ปศุสัตว์ มีทั้งบ่อน้ำและระบบคลองส่งน้ำ รวมทั้งโรงแปรรูปต่างๆ เช่นโรงทอผ้า ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะถูกใช้แรงงานจากทาสเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ระบบนี้แทบไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสังคมภายนอกเลย กระทั่งทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจพอเพียงได้หยิบระบบนี้มาใช้โดยการย่อขนาดที่ดิน ตัดทาสออก และใช้ตัวเองเป็นแรงงานแทน ซึ่งสุดท้ายแล้วการพึ่งพาตนเองหรือพึ่งพาคนอื่นให้น้อยที่สุดอย่างนี้ก็จะไปสู่ทางตันในระบบเศรษฐกิจแบบปัจจุบัน ทางตันอย่างไร ผมอยากให้ทุกคนคิดตาม เกษตรกรทุกคนแบ่งพื้นที่ 30 : 30 : 30 : 10 มีข้าว ผักผลไม้ เนื้อสัตว์ กินกันทุกบ้าน แล้วเศรษฐกิจในชุมชนจะเนินไปได้อย่างไร ในตลาดสดก็คงเอาของที่ปลูกจากบ้านมาขายกันแล้วก็นั่งมองหน้ากัน เพราะที่บ้านเราก็มีไม่จำเป็นต้องชื้อ เราทำเองกินเองได้ แต่เราจะเอารายได้จากไหนไปให้ลูกเรียนหนังสือ เราจะเอารายได้ที่ไหนพาแม่ไปหาหมอ คนที่ทำเศรษฐกิจพอเพียงแล้วยังอยู่ได้ปัจจุบันคือ ขายผลผลิตให้กับคนที่ไม่ได้ทำ แล้วถ้าคนหันมาทำเหมือนกันจะเกิดอะไรขึ้น จึงจำเป็นจะต้องใช้ ข้อ 2 และ 3 เข้ามาช่วย
2. ประยุกต์จากหลักทางสายกลางของศาสนาพุทธ ซึ่งแนวนิดนี้มีหัวใจหลักคือ การประมาณตนด้วยความพอดี ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่ตึงเกินไปไม่หย่อนเกินไป เป็นหลักการที่พระพุทธเจ้านั้นใช้ปฎิบัติและแผ่กระจายไปพร้อมกับศาสนา เศรษฐกิจพอเพียงหยิบหลักการนี้มาใช้เพื่อ ลดความเสี่ยงในเรื่องไม่ดีที่จะเกิดจากตัวผู้ปฎิบัติเอง โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่าย และหลักการนี้เกี่ยวเนื่องกับศาสนาทำให้เข้าถึงและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมได้ง่าย
3. ประยุกต์จากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ซึ่งใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ หัวใจหลักที่เหมือนกันของสองระบบนี่คือ รัฐเป็นผู้ดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชาติทั้งด้านการผลิตและการจำหน่าย ซึ่งข้อ 3 นี้ถูกประยุกต์ใช้เพื่อเป็นการอัพเกรดหรือต่อยอดให้ข้อที่ 1 และ 2 โดยจะกำหนดให้ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเข้ามารวมตัวกันในชุมชน ซึ่งการรวมตัวของคนขึ้นเป็นสังคมนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดรัฐในทางรัฐศาสตร์ ในบริบทนี้เปรียบได้เหมือนกับการจำลองระบบเศรษฐกิจของรัฐสังคมนิยมขึ้น โดยการตั้ง สหกรณ์ โรงงานอุสาหกรรมแปรรูปต่างๆขึ้นในชุมชน เมื่อมีการรวมตัวกันจึงมีอำนาจต่อรองกับกลุ่มอื่นๆเพิ่มขึ้นไปด้วย สมาชิกต้องนำผลิตผลป้อนให้กลุ่ม แล้วกลุ่มจะดำเนินการขายให้กับคนภายนอก จากนั้นกลุ่มก็จะจัดการแบ่งผลประโยชน์ให้กับสมาชิก การที่คนมารวมตัวกันเพื่อต่อรองกับสังคมภายนอกหมายถึงอะไร หมายถึงเราต้องการผลประโยชน์จากเขา แล้วกลุ่มที่เราจะเอาของไปขายให้ก็จะต้องไม่ใช่กลุ่มแบบเราด้วย ดังนั้นกลุ่มพอเพียงของเราก็จะต้องเข้าไปหากินกับระบบทุนนิยมภายนอก สุดท้ายก็วนเข้ามาสู่การพึ่งพาระบบทุนนิยม ซึ่งถ้าหากคุณต้องการเพียงแค่พึ่งพาตนเองคุณก็จะติดกับอยู่ในข้อ 1 ที่ผมเรียกว่า กับดักความจน

ปัจจุบันกลุ่มที่พัฒนาตนมาถึงขั้นที่ 3 ได้นั้น คือกลุ่มที่ใช้คำว่า อโศก ตามท้าย ซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่ทางการโปรโมทออกทีวีแต่อย่างใด โดยกลุ่มนี้ก็ประยุกต์หลายๆอย่างเพิ่มเข้าไปอีก ส่วนในทีวีที่โฆษณากันคือติดอยู่ข้อแรกทั้งนั้น บางคนอาจภูมิใจที่ทำแบบนี้แล้วมีคนสนใจ แน่นอนว่าการโปรโมทย่อมทำให้เป็นที่สนใจ แต่ลึกๆจะรู้ตัวดีว่ากำลังหลอกตัวเอง จากใจคนทำเกษตรพอเพียงมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ที่เรายังจนอยู่ไม่ใช่เราฟุ่มเฟือย แต่เป็นเพราะเราเลือกใช้ระบบที่เป็นกับดักความจน เราถึงต้องติดอยู่แบบนี้ เราอยู่ในโลกทุนนิยม ยังไงเราก็ต้องใช้ชีวิตในแบบทุนนิยม ที่ผมบอกเพราะไม่อยากให้คนในประเทศต้องติดกับดักตามๆกันไป บางคนถึงขั้นออกจากงานเอาเงินเก็บทั้งชีวิตเป็นล้านมาลงกับเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ทีวีโปรโมท สุดท้ายมานั่งขายผักมัดละ10บาทข้างๆกันกับเรา ก็ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้เงินล้านคืน โอเคถ้าหากมีความสุขก็ไม่ว่าอะไร แต่ประเทศเราก็จะพัฒนาช้าหน่อย เพราะภาษีจากคนพอเพียงแบบเรานั้นเข้ารัฐน้อยมาก ถ้าหากจะทำเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ แนะนำให้ไปเข้ากลุ่ม อโศกต่างๆดีกว่า พวกเขาพัฒนาถึงขั้นที่ 3 แล้ว ..
Author
สุริยา อุษาคเนย์

สำหรับคนที่ไล่ให้ผมไปทำเกษตรพอเพียงนะครับ ผมและพ่อเคยยอมรับและคลั่งไคล้ทฤษฎีนี้มาก พ่อผมทำเกษตรกรรมกับปู่มาตั้งสมัยยังเด็ก ปัจจุบันพ่ออายุ 60 ปี เริ่มทำตามรูปแบบเกษตรกรทฤษฎีใหม่เมื่อตอนอายุประมาณ 30ปี รายได้มีแค่พออยู่พอกิน ไปโรงพยาบาลก็ใช้แค่สิทธิบัตรทอง ไม่มีรายได้พอที่จะส่งลูก 3 คน เรียนมหาวิทยาลัย(ซึ่งมีรายจ่ายตกอยู่ปีละ 1.7 แสนบาท) ผมเองจบ ป.ตรี รัฐศาสตร์เนื่องจากมีคนอุปการะ ในขณะที่เรียนอยู่นั้น ก็มีวิชาที่เป็นเศรษฐศาสตร์ปนอยู่ด้วยความสงสัยจึงได้หาคำตอบเกี่ยวบกับเกษตรพอเพียงอย่างจริงจัง ว่าทำไมเราพอเพียงแล้วคุณภาพชีวิตถึงแตกต่างจากคนอื่น จนมาตกผลึกได้คำตอบตามที่เขียนในบทความนี้
เราทำเกษตรพอเพียงเราปลูกไปซะทุกอย่าง ทำให้เราไม่มีเวลาพอที่จะดูแลแต่ละอย่างใด้เต็มที่ ผลผลิตที่ได้ก็จะอยู่ในเกรดตลาดสด ก็พอขายและเลี้ยงชีพได้ แต่สู้สวนใหญ่ๆไม่ได้
3 ปีก่อนผมจึงบอกให้พ่อเลิกทำนา เลิกปลูกผัก เลิกเลี้ยงสัตว์ แล้วเอาเวลามาดูแลผลไม้ 3อย่างที่ทำเงินได้ดีที่สุดในสวนอย่างจริงจัง ผลตามคาด เรามีรายได้เพิ่มขึ้นมาก เรามีเงินเก็บ ผลไม้เราสามารถตีตลาดสู้เจ้าอื่นได้ ปัจจุบันเรากำลังจะขยายสวน มีแผนจ้างแรงงาน และใช้การตลาดแบบทุนนิยมเข้ามาจัดการอย่างเต็มตัว ตอนนี้ผมออกมาทำอาชีพเกษตร และหากผมมีลูกผมก็สามารถส่งลูกเรียน ป.ตรีได้แน่นอน

https://www.facebook.com/100187841686805/photos/a.117763853262537/191609759211279/