นี่ไงเวลานี้มีกษัตริย์...🐃🐃 https://t.co/dr58esAfa4 pic.twitter.com/QkGsSOmKs2
— Austin Rose lll (@natlamborghini1) December 18, 2020
ทวงบุญคุณ primordial debt ในศตวรรษที่ 21 ... สงสัยมานานละ สำหรับคนที่บรรพบุรุษก็เป็นเจ้าเหมือนกัน แต่ถูกปล้นเมืองปล้นสมบัติในอดีต ควรจะรู้สึกยังไง pic.twitter.com/8l9Q8TMQrh
— kaewmala 🌼 .|||. (@Thai_Talk) December 19, 2020
...
ทหารคอแดง: การก่อกำเนิดของเครือข่ายกษัตริย์ใหม่
2020-11-11
ประชาไท
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
การแต่งตั้งพลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนใหม่ อาจจะอยู่นอกเหนือความคาดหมายของสื่อมวลชนสายทหารและนักสังเกตการณ์ทั่วไป เพราะกระทิงเวหา ( ชื่อแอร์บูล-Airbull แปลตรงตัวได้ว่า กระทิงอากาศ เพราะเขาเกิดในเวลาที่กองทัพอากาศไทยและสหรัฐมีการฝึกซ้อมร่วมกันในปี 2504 ภายใต้รหัส Airbull)ไม่ได้เป็น 1 ใน 5 เสืออากาศ ไม่ได้เติบโตมาจากสายยุทธการหรือเป็นนักบินเครื่องบินขับไล่ไอพ่นเหมือนอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศคนอื่นๆ หากแต่เป็นนักบินลำเลียง C-130 เคยเป็นผู้บัญชาการฝูงบิน 601 กองบิน 6 ดอนเมือง และผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร(ทหารอากาศ) ประจำสิงคโปร์ ตำแหน่งก่อนที่จะได้ขึ้นกุมบังเหียนทัพฟ้าของเขาคือ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ ซึ่งใครๆ ต่างก็รู้ดีว่าเป็นตำแหน่งสำหรับแขวนนายพลที่กองทัพไม่ต้องการให้ทำอะไรนัก
คนที่รู้จักแอร์บูล ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเป็นคนอุปนิสัยใจคอดีมาก หลายคนประทับใจระหว่างที่เขารับราชการอยู่ที่สิงคโปร์ แต่นั่นไม่ใช่คุณสมบัติหลักของคนที่จะเป็นผู้นำเหล่าทัพ อีกทั้งแอร์บูลเองก็ไม่ได้มีผลงานอะไรโดดเด่นมาก่อน สิ่งที่ทำให้ม้านอกสายตาคนนี้ได้รับตำแหน่งสำคัญในกองทัพคือ เขาเคยรับผิดชอบเครื่องบินลำเลียง “พระที่นั่ง” มีความใกล้ชิดกับกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ผู้ซึ่งเป็นนักบินมาก่อน รวมถึงลูกทัพฟ้าอีกคนหนึ่งคือ พลอากาศเอก สถิตพงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง ผู้ซึ่งเคยเป็นราชเลขานุการในพระองค์ ทรงผมพระราชทานแบบเกรียนติดหนังหัวของแม่ทัพอากาศคนใหม่น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีว่า ความใกล้ชิดและการแสดงออกถึงความจงรักภักดีเป็นล้นพ้นแบบถวายหัวเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการคัดเลือกผู้นำเหล่าทัพในยุคปัจจุบัน
สถาบันกษัตริย์และกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันชนิดแยกไม่ออกมาแต่ไหนแต่ไร รัฐธรรมนูญของไทยส่วนใหญ่นับแต่ฉบับแรกที่ออกมาบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นต้นมาล้วนบัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ” มีบางฉบับเช่น ฉบับปี 2492 สมัยรัชกาลที่ 9 มาตรา 11 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง” ส่วนฉบับปี 2560 ซึ่งตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 10 บัญญัติไว้ในมาตรา 8 เพียงสั้นๆ ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย” ส่วนกองทัพไทยนั้นถือว่า หน้าที่สำคัญที่สุดคือ การปกป้องสถาบันกษัตริย์และถวายความปลอดภัยให้กับตัวกษัตริย์ ราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ ในปัจจุบันซึ่งปลอดจากสงครามจึงอาจจะถือได้ว่า กองทัพมีเพียงภารกิจนี้เท่านั้นอยู่สูงสุด กองทัพจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องกษัตริย์ตั้งแต่การรัฐประหารไปจนถึงข่มขู่ คุกคาม จับกุมคุมขัง และอาจแม้กระทั่งสังหารประชาชนที่เชื่อว่าเป็นภัยคุกคามต่อสถาบัน
กองทัพไทยสมัยใหม่นั้นถูกสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้ว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับกองทัพไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด คำว่าจอมทัพในรัฐธรรมนูญดูผิวเผินอาจจะเป็นแค่สัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ตามจารีตประเพณี แต่ความเป็นจริงทั้งกษัตริย์และกองทัพต่างได้แสดงให้เห็นโดยประจักษ์มาโดยตลอดนับแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่ากษัตริย์เป็นจอมทัพที่มีอำนาจในการบังคับบัญชาทหารได้จริงๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่กษัตริย์จะแทรกแซงการโยกย้ายแต่งตั้งแม่ทัพนายกองทั้งทางตรงและทางอ้อม และกองทัพมักจะอ้างกษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจทางการเมือง การศึกษาวิจัยในระยะหลังพบว่า กษัตริย์และกองทัพร่วมมือกันเพื่อแทรกแซง ควบคุม บงการ การเมืองเสมอมา กองทัพและการรัฐประหารเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกษัตริย์มากกว่าจะเป็นเรื่องการป้องกันประเทศและบูรณภาพแห่งดินแดน[1]
รัชกาลที่ 10 รับมรดกของความสัมพันธ์กับกองทัพแบบนี้มาจากรัชกาลที่ 9 และได้ปรับแต่งขยายอำนาจกษัตริย์ เหนือกองทัพจนเข้าใกล้ลักษณะสมบูรณาญาสิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ ในบทความนี้จะได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และกองทัพในรัชสมัยใหม่ใน 2 ส่วนคือ 1.ส่วนของหน่วยงานราชการในพระองค์ ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชอำนาจโดยตรง และ 2.ส่วนของราชการกองทัพ ซึ่งกษัตริย์ได้สร้างความสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายที่สร้างขึ้นมาใหม่เมื่อเร็วๆ นี้
กองทัพส่วนพระองค์
หน่วยงานราชการในพระองค์ซึ่งรัชกาลที่ 10 โดยรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ออกพระราชบัญญัติในเดือนเมษายน ปี 2560 สร้างให้เป็นส่วนราชการที่มีลักษณะพิเศษไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบในการบริหารราชการแผ่นดินและไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด การบริหารราชการในพระองค์ “ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย” โดยประกอบไปด้วย 3 หน่วยงานหลักคือ
(1) สำนักงานองคมนตรี ซึ่งเคยมีบทบาทมากในสมัยรัชกาลที่ 9 เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีทำหน้าที่สำคัญในฐานะผู้จัดการเครือข่ายกษัตริย์ (manager of network monarchy) แต่สมัยรัชกาลที่ 10 ให้ความสำคัญกับองคมนตรีน้อยลงอย่างมาก เมื่อคำนึงถึงว่า ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างพลเอกเปรม อดีตประธานองคมนตรีผู้ล่วงลับกับกษัตริย์ไม่สู้ดีนัก เลยพลอยทำให้บทบาทของประธานคนปัจจุบันคือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้ซึ่งเป็นลูกรักศิษย์เอกตัวตายตัวแทนของเปรมน้อยลงไปด้วย รัชกาลที่ 10 มอบหมายให้องคมนตรีทำงานเชิงประชาสัมพันธ์ ประเภทแจกของสงเคราะห์ประชาชน และดูแลโครงการหลวงซึ่งริเริ่มในสมัยรัชกาลก่อนเสียมากกว่าจะเป็นหน่วยงานที่คอยให้คำปรึกษาการบริหารราชการแผ่นดินแก่กษัตริย์จริงๆ ดั่งที่เคยเป็นมา อาจจะกล่าวได้ว่า เครือข่ายกษัตริย์เก่าลดบทบาทลงอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะยังไม่สูญสลายไปเสียเลยทีเดียวก็ตาม อีกประการหนึ่ง แม้ว่าสุรยุทธ์จะเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และ นายกรัฐมนตรีมาก่อน แต่ไม่ได้มีอำนาจบารมีเหนือกองทัพมากเท่าเปรม เขาจึงไม่อาจจะทำหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการเครือข่ายกษัตริย์ให้รัชกาลที่ 10 โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพได้อย่างมีประสิทธิภาพได้
(2) สำนักพระราชวัง ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์ทั่วไป การเลขานุการในพระองค์ การจัดการพระราชวังและงานพระราชพิธี การดูแลรักษาทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และการอื่น“ตามพระราชอัธยาศัย” โดยมีเลขาธิการพระราชวัง (สถิตพงษ์ สุขวิมล) ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการปฏิบัติราชการ
(3) หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ หน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทหารโดยตรง มีหน้าที่วางแผน อํานวยการประสานงาน บังคับบัญชา ควบคุม กํากับดูแลและปฏิบัติงานในการถวายอารักขาและถวายพระเกียรติกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ และบุคคลอื่นตามที่กษัตริย์มอบหมาย รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางพระราชพิธีตามที่ได้รับมอบหมาย และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเขตพระราชฐาน ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ผู้สําเร็จราชการ พระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนพระองค์และพระราชอาคันตุกะ
มาตรา 8 ของพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและบริหารงานบุคคลของหน่วยราชการในพระองค์ ปี 2560 กำหนดว่า “ให้หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์มีการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์”
มาตรา 9 กำหนดว่าภายใต้หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยนี้ให้มีสํานักงานผู้บังคับบัญชา สํานักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ สํานักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ กรมราชองครักษ์ หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์และสํานักงานนายตํารวจราชสํานักประจํา เป็นองค์ประกอบสำคัญ
ในความเป็นจริงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมาร และมีทหารที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาอยู่จำนวนหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว ภายใต้รหัส 904 แต่สายการบังคับบัญชาค่อนข้างสับสน เพราะหน่วยงานนี้เดิมเคยอยู่ภายใต้กองบัญชาการกองทัพไทย ก่อนที่จะย้ายเข้าอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมโดยตรงในเดือนพฤศจิกายน 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ในทางความเป็นจริงไม่มีใครในประเทศไทยจะจินตนาการได้ว่า มกุฎราชกุมารซึ่งรับบทผู้บัญชาการหน่วยทหารจะรับฟังคำสั่งของรัฐมนตรีหรือแม้แต่ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เป็นสามัญชน
ดังนั้นการปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการในพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 10 คือ การทำให้อำนาจตามจารีตในระบอบสมบูรณาสิทธิราชได้รับการรับรองตามกฎหมายในระบอบรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง การออกพระราชกฤษฎีกาเมื่อเดือนกันยายน 2562 เพื่อโอนย้ายกำลังพลและงบประมาณของกรมการทหารราบที่ 1 และ 11 เข้าไปสังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการขยายกองกำลังส่วนพระองค์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางทหารประเมินว่า 2 กรมดังกล่าวมี 6 กองพันน่าจะมีกำลังรวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 นาย และปัจจุบันพื้นที่ของค่ายทหารดังกล่าวก็กลายเป็นเขตพระราชฐานแล้ว
ในทางการเมืองเกิดข้อถกเถียงมากมายว่า กษัตริย์ไทยซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้เป็นจอมทัพอยู่แล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องมีกองกำลังส่วนพระองค์หรือไม่
ฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลใน 2 ลักษณะคือ
อย่างแรก ตามจารีตประเพณีแล้ว กษัตริย์เป็นจอมทัพจะโอนย้ายกองกำลังไปที่ใดก็ทำได้ตามพระราชอัธยาศัย รัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนทำได้เพียงตรากฎหมายรับรองการกระทำเช่นนั้น
อย่างที่สอง พิจารณาตามการเมืองที่เป็นจริง กองทหารทั้ง 2 กรมนั้นตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและเคยเป็นกำลังหลักในการทำรัฐประหารหลายครั้ง เฉพาะอย่างยิ่งในปี 2549 และ 2557 หากว่าได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของกษัตริย์เสียแล้วก็จะทำให้ประเทศไทยปลอดจากการรัฐประหารได้ เพราะเชื่อกันว่าไม่มีนายทหารคนใดกล้าทรยศกษัตริย์
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมองว่าข้อถกเถียงอย่างหลังนี้ไม่สู้จะมีน้ำหนักและตั้งอยู่บนจินตนาการที่เลื่อนลอยมาก เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ในการรัฐประหารของไทยที่ว่า การรัฐประหารจะประสบความสำเร็จได้เมื่อได้รับการอนุมัติจากวังหลวงเท่านั้น และประการสำคัญ ไม่มีรัฐสมัยใหม่ที่ใดที่อนุญาตให้ประมุขของรัฐมีกองกำลังส่วนตัวแบบนั้นได้ ประมุขของรัฐแม้อย่างในกรณีของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งทำหน้าที่ Commander in Chief ของกองทัพแห่งชาติอยู่ด้วยก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีกองกำลังรักษาความปลอดภัยส่วนตัวและครอบครัว
การมีกองกำลังส่วนตัวเช่นนั้นไม่เพียงก่อให้เกิดรัฐซ้อนรัฐขึ้นมาเท่านั้น หากแต่ยังอาจจะทำให้เกิดสภาวะแปลกแยกในกองทัพขึ้นมาได้ เพราะกองทัพไทยก็เชื่อว่าตัวเองทำหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยและเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์อยู่แล้ว ทำไมกษัตริย์จะต้องมีกองกำลังส่วนพระองค์ การให้ชื่อว่า ‘ราชวัลลภรักษาพระองค์’ นั้นโดยความหมายโดยตรงคือ เป็นกองกำลังรักษาพระองค์ที่ได้รับการโปรดปรานเป็นพิเศษ สภาวะแปลกแยกย่อมเกิดขึ้นกับหน่วยที่ไม่ได้เป็นราชวัลลภรักษาพระองค์ที่อาจมีความรู้สึกว่า ไม่ใช่ทหารคนโปรด อาจจะถูกทอดทิ้งละเลยหรือปล่อยให้อดอยาก สภาวะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งตั้งกองเสือป่าขึ้นมาเป็นกองกำลังส่วนตัว ให้การทำนุบำรุงเป็นพิเศษเหนือหน่วยทหารอื่นๆ จนเป็นสาเหตุหนึ่งให้เกิดการก่อกบฏขึ้น
เครือข่ายกษัตริย์
รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งเป็นมกุฎราชกุมารนั้นมีอาชีพรับราชการทหารและเป็นนักบิน เรียนและฝึกมาทางทหาร มีประสบการณ์ในสนามรบอยู่บ้าง เมื่อปี 2519 สมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ทำสงครามปฏิวัติ เหตุการณ์การปะทะที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในเดือนตุลาคมปีนั้นถูกนำมาไฮไลต์ในปี 2562 เมื่อมีพระบรมราชาภิเษก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้รัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์นักรบ แม้ว่าในเวลานี้จะไม่มีสงครามแล้วก็ตาม แต่พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นก็นำเรื่องนี้มาพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อตอกย้ำให้กำลังพลในกองทัพเห็นว่า กษัตริย์เป็นผู้นำทางทหารที่เก่งกล้าสามารถ เป็นทหารอาชีพที่มีประสบการณ์ในการรบ ไม่สมควรที่จะมีกำลังพลคนใดสงสัยในเรื่องนี้ เหมือนกับที่นายทหารอาวุโสในกองทัพสยามเคยสงสัยในความสามารถทางทหารของรัชกาลที่ 6 เพื่อที่ว่าทหารจะได้ไม่กระด้างกระเดื่อง ซึ่งนั่นก็เพื่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์เป็นสำคัญ เพราะกองทัพที่ไม่ภักดีเป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์มากกว่าอะไรทั้งหมด
กษัตริย์ในรัชกาลที่ 10 ไม่เพียงแต่เป็นทหารและมีกองทัพส่วนพระองค์เท่านั้น หากแต่สร้างให้คนที่อยู่แวดล้อม ตั้งแต่ราชินี ราชบุตร ราชธิดา ผู้รับใช้ใกล้ชิดทั้งหลาย หรือแม้แต่สุนัขทรงเลี้ยงล้วนแล้วแต่มียศและตำแหน่งทางทหารทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ราชินีสุทิดา อดีตพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ต้องผ่านการฝึกทางทหารและการบินหลายหลักสูตร มียศทางทหารเป็นพลเอกพิเศษ และมีตำแหน่งรองผู้บัญชาการหน่วยถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ก่อนจะขึ้นสู่ตำแหน่งราชินี ส่วนเจ้าคุณพระสินีนาฏ สำเร็จการศึกษาและประกอบอาชีพพยาบาลในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและมียศทางทหารมาก่อน แต่เมื่อได้เข้ารับใช้ใกล้ชิดแล้ว ต้องการผ่านการอบรมหลักสูตรทางทหาร ได้รับการเลื่อนยศจนถึงชั้นนายพลได้อย่างรวดเร็ว และตำแหน่งทางทหารก่อนที่จะได้เป็นเจ้าคุณพระคือ ผู้บังคับกองพันราชสำนัก กรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ หน่วยถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และทั้งสองคนเคยปฏิบัติหน้าที่นำแถวทหารในงานพระราชพิธี เช่น งานพระบรมศพรัชกาลที่ 9 และบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 10 ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนมาแล้ว บรรดาผู้ที่เข้ารับราชการในวังและได้รับพระราชทานนามสกุล วชิราลงกรณ์ สิริวชิรภักดิ์ ยุวราชบริรักษ์ หรือ บริรักษ์ภูมินทร์ ล้วนแล้วแต่มียศทางทหารด้วยกันทั้งนั้น
การให้ราชินีและผู้ใกล้ชิดเป็นทหารรักษาพระองค์ อาจดูเป็นเรื่องชวนหัวในกองทัพสมัยใหม่ แต่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นในกองทัพไทยในศตวรรษที่ 21 และอาจจะสร้างความคลางแคลงใจให้กับกำลังพลในกองทัพได้ แต่กษัตริย์รัชกาลที่ 10 ก็มีวิธีกระชับความสัมพันธ์กับกองทัพด้วยการสร้างเครือข่ายและขนบใหม่ขึ้นภายในกองทัพเพื่อให้มั่นใจว่า จะได้รับความจงรักภักดีเหมือนกับที่รัชกาลก่อนเคยได้รับ
เมื่อคราวขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ได้คัดเลือกนายทหารอาวุโสจำนวน 15 นายนำโดยอภิรัชต์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เข้ารับการฝึกหลักสูตรพิเศษที่วังทวีวัฒนา (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าไม่ใช่พระราชวังที่กษัตริย์พักอาศัย) และตั้งเป็นหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ 904) ไม่มีบุคคลภายนอกรู้แน่ชัดนักว่า หน่วยเฉพาะกิจนี้มีอำนาจหน้าที่และภารกิจใดหรือมีกองกำลังจำนวนเท่าใด มีระเบียบปฏิบัติอย่างไร ขอบเขตการปฏิบัติงานเพียงใด
สื่อมวลชนที่รายงานกิจการทหารเป็นประจำให้ข้อมูลเรื่องนี้ได้อย่างกระท่อนกระแท่น บางครั้งเช่นกรณีการสังหารหมู่ที่นครราชสีมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเข้าใจว่า ฉก.ทม.รอ. 904 เป็นหน่วยเดียวกับกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 โดยที่ตำรวจหน่วยดังกล่าวเป็นหน่วยสังกัดกองบัญชาการสอบสวนกลาง ไม่ได้เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อสำนักราชวังแต่อย่างใด ตอนหลังเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ได้มีการเปลี่ยนชื่อตำรวจหน่วยนี้เป็นกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมาและให้มีภารกิจอื่นๆ เพิ่มเติมเช่นการต่อต้านการก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของราชวงศ์ในขอบเขตพระราชฐาน
แต่ ฉก.ทม.รอ 904 ที่กล่าวถึงในที่นี้ หมายถึง นายทหารชั้นหัวกะทิ (โปรดดูตารางด้านล่าง) ที่คัดเลือกและฝึกโดยรัชกาลที่ 10 เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อทดสอบไม่เพียงแต่ทักษะวิชาทหารหากแต่ทดสอบความจงรักภักดี และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวราชประเพณีที่รัชกาลที่ 10 นำมาประยุกต์ใช้ เช่น ราชสวัสดิ์ นายทหารเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีบุคลิกเหมือนอภิรัชต์ไปเสียทั้งหมด แต่เวลาแต่งเครื่องแบบพวกเขาจะสวมเสื้อคอกลมสีขาวที่มีแถบรอบคอสีแดงเอาไว้ข้างในทุกคน จนได้ชื่อว่าเป็นทหาร ‘คอแดง’ นอกจากนี้ยังมีป้าย ‘วรรณะ’ ติดบนเครื่องแบบบ่งบอกว่าอยู่หน่วยเฉพาะกิจนี้ มีบางคนเช่นพลเอกอภิรัชต์และพลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน นิยมกลัดเข็มกลัดรูปเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติเอาไว้ที่หน้าอกเสื้อด้วย
ไม่มีใครบอกได้ว่า เกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกคืออะไร ในวงการสื่อมวลชนพูดกันแต่เพียงว่า ทุกคนต้องเนี้ยบและเป๊ะมากในด้านการแต่งกายและระเบียบวินัยในแบบที่รัชกาลที่ 10 เป็นผู้กำหนด เช่น ทรงผมเกรียนติดหนังหัว แต่มีองค์ประกอบร่วมบางประการ เช่น นายทหารส่วนใหญ่ใน ทม 904 รุ่นนี้ อยู่ในกลุ่ม ‘วงศ์เทวัญ’ คือ เริ่มรับราชการทหารในกองพลทหารราบที่ 1 และเป็น ‘ลูกผู้ใหญ่’ ที่เรียนโรงเรียนทหารในรุ่นใกล้เคียงกับอภิรัชต์ คือ เตรียมทหารรุ่นที่ 20-22 นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า การที่อภิรัชต์ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้า ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของครอบครัวของเขาเอง เนื่องจากเขาเป็นบุตรชายพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่เคยนำคณะนายทหารทำการรัฐประหารในปี 2534 โค่นล้มรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ความสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ทั้งสุนทรและอภิรัชต์เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์มาก่อนและได้มีโอกาสใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่เมื่อครั้งเริ่มฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ นายทหารในกลุ่มนี้บางคนมีลักษณะร่วมกันอีกอย่างหนึ่งคือ มีบิดาที่เคยร่วมคณะรัฐประหารปี 2534 เช่น พลตรีทรงวิทย์ หนุนภักดี บุตรชายของพลเอกอิสรพงศ์ หนุนภักดี แต่น่าสังเกตว่าไม่มีคนในตระกูล คราประยูร ที่โด่งดังในสมัยนั้นได้รับการคัดเลือก
การคัดเลือกอภิรัชต์เป็นผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจ 904 ในปี 2560 เปลี่ยนแปลงสมการทางอำนาจของกลุ่มก๊กในกองทัพบกด้วย กล่าวคือ เป็นการยุติการขยายอิทธิพลในกองทัพของนายทหารในกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ และคณะ อันมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา เป็นคนสำคัญ เพราะแม้ว่าประยุทธ์และประวิตรจะเป็นใหญ่ในรัฐบาลขณะนั้นในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ทั้งสองคนก็ไม่คัดค้านเลยเมื่อพลเอกเฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบกในสายรบพิเศษซึ่งเป็นคนของเปรม-สุรยุทธ์ที่ถูกส่งขึ้นไปตัดวงจรอำนาจก่อนหน้า ได้เสนอชื่อของอภิรัชต์เป็นผู้บัญชาการทหารบก และก็เป็นที่รับรู้กันว่าอภิรัชต์เป็นคนช่วยเฉลิมชัยจัดทำบัญชีโยกย้ายแต่งตั้งในปีที่เขาขึ้นสู่อำนาจด้วย[2] ในปีนั้นจึงปรากฏว่า นายทหารในกลุ่มวงศ์เทวัญ ซึ่งก็รวมทั้งณรงค์พันธ์และอีกหลายคนที่ได้ชื่อว่าเป็นทหารคอแดง เช่น พลตรีทรงวิทย์และพลโท เจริญชัย หินเธาว์ ได้คุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก และตลอดระยะเวลา 2 ปีที่อภิรัชต์อยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เขาได้ทำการกระชับอำนาจด้วยการแต่งตั้งให้นายทหารที่ได้ชื่อว่า จงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 10 ให้อยู่ในอำนาจและได้วางเครือข่ายของทหารคอแดงให้สืบทอดอำนาจแทนเขาด้วย
พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายนิยมเจ้าคนสำคัญก็ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 แทนตัวอภิรัชต์เองซึ่งได้เข้าไปรับใช้รัชกาลที่ 10 ในตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวัง พลเอกธรรมนูญ วิถี ได้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พลโทเจริญชัย หินเธาว์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลตรีทรงวิทย์ หนุนภักดี อาจจะดูผิดหวังเล็กน้อยที่ไม่ได้รับตำแหน่งแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 แต่ตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก ก็มีความสำคัญไม่น้อย
ในขณะที่ตัวเลือกอื่นๆ เช่น พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ทั้งประยุทธ์และประวิตรไว้วางใจที่สุดต้องถูกปัดตกไปเพราะเขาไม่ได้เป็นทหารคอแดง แต่ได้รับรางวัลปลอบใจด้วยการให้นั่งในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นงานทางด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย หลุดจากสายการบังคับบัญชาทางทหารไป ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า เครือข่ายอำนาจของประยุทธ์และประวิตรในกองทัพบกกำลังลดน้อยถอยลง ในขณะที่นายทหารที่คุมกำลังในหน่วยสำคัญๆ ล้วนแล้วแต่เป็นทหารสายวังทั้งสิ้น
ในขณะที่อภิรัชต์อวดอ้างว่าได้ทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนากองทัพบกในระหว่างที่เขาอยู่ในตำแหน่ง เขากลับไม่ได้ทำอะไรเพื่อพัฒนาให้กองทัพบกเป็นกองทัพที่มีขีดความสามารถในการป้องกันประเทศมากสักเพียงใด นอกเหนือไปจากการซื้อรถลำเลียงหุ้มเกราะจากสหรัฐอเมริกามาจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่แน่นักว่าชั่วอายุการใช้งานของรถเหล่านั้นจะได้ใช้ในภารกิจป้องกันประเทศสักกี่ครั้ง
แต่ผลงานที่แท้จริงของเขากลับเป็นความพยายามในการปลูกฝังหลักนิยมทางทหารแบบใหม่ที่ออกแบบในสมัยรัชกาลที่ 10 เช่นการสร้างพลทหารต้นแบบตามหลักสูตรพระราชทานเมื่อปี 2562 ทหารแบบใหม่ของรัชกาลที่ 10 จะต้องได้รับการเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกาย ลักษณะทางทหาร โภชนาการ จิตวิทยา การสร้างแรงจูงใจ เป็นต้น พลทหารต้นแบบตามหลักสูตรพระราชทานนี้จะเป็นการยกระดับมาตรฐานระบบการฝึกและการดูแลทหารใหม่ของกองทัพบกในภาพรวม
สำหรับการปฏิบัติ มีทั้งการฝึกบุคคลท่ามือเปล่า เช่น ท่ายืนตรง ท่าทำความเคารพ ท่าคุกเข่าวันทยหัตถ์ ประกอบท่ายกอกสะบัดหน้าซึ่งเป็นแนวทางใหม่ของพระองค์ ท่าเก็บหมวก ท่าถวายบังคม และท่าสวมหมวกนอกจากนี้ยังมีการฝึกบุคคลท่าอาวุธ อาทิ ท่าเรียบอาวุธประกอบท่ายกอกสะบัดหน้า ท่ายกปืน ท่าตรวจอาวุธ ท่าปลดดาบ ท่ารับตรวจ และท่าแทงปืนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการสาธิตถอดและประกอบปืนเล็กยาว M16A1 แบบเปิดตาและปิดตาก็จะได้รับการฝึกให้เข้มข้นกว่าเดิม ท่าทางเหล่านี้ที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างคือ ประโยคที่ว่า 'ยกอก อึ๊บ' หรือ เรียกว่า 'ท่ายกอก' ซึ่งมีที่มาจากรัชกาลที่ 10 ในครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมารทรงเห็นว่า ทหารหลายนายมีบุคลิกลักษณะไม่สง่า ผ่าเผย ยืนคร่อมตัว ไม่ยืดอกและปลายคางเชิด จึงได้ออกแบบท่าทางการทำความเคารพเสียใหม่ด้วยการยืดอก เก็บคาง สะบัดหน้าไปยังผู้รับการเคารพ ทั้งหมดนั้นคงไม่ทำให้กองทัพบกมีขีดความสามารถในการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้นมากเท่ากับเป็นการตอกย้ำอำนาจและบารมีกษัตริย์เหนือหมู่ทหาร
สิ่งหนึ่งที่อภิรัชต์ทำอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยของเขาคือ การปลูกฝังอุดมการณ์ราชานิยมในหมู่ทหาร เริ่มจากการเปิดห้องบวรเดช-ศรีสิทธิสงคราม ในอาคารสรรพาวุธพิพิธกองทัพบก เมื่อเดือนตุลาคม 2562 เพื่อเชิดชูอดีตนายทหารที่ได้ชื่อว่าเป็นทหารสายนิยมเจ้า คือพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พระญาติคนหนึ่งของรัชกาลที่ 7 และนายทหารคู่ใจ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการก่อกบฏในปี 2476 เพื่อล้มล้างรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาและฟื้นคืนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช จะว่าเป็นเรื่องบังเอิญคงไม่ใช่ที่การเชิดชูทหารสายนิยมเจ้าเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการลบความทรงจำเกี่ยวกับเกียรติประวัติของนายทหารที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของคณะราษฏรที่ปราบกบฏบวรเดช นั่นคือ การย้ายอนุสาวรีย์พระยาพหลฯ และ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จากค่ายทหารในจังหวัดลพบุรีระหว่างปลายปี 2562 ต่อต้นปี 2563 พร้อมกับการเปลี่ยนชื่อค่ายทหาร 2 แห่ง คือค่ายพหลโยธินตามชื่อพระยาพหล เป็นค่ายภูมิพล ส่วนค่ายพิบูลสงครามตามชื่อจอมพล ป.เป็นค่ายสิริกิติ์ เหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดขึ้นหลังจากการหายไปของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือที่รู้จักกันดีในชื่ออนุสาวรีย์ปราบกบฏ (บวรเดช) ที่แยกหลักสี่ เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 ชื่อของสถานที่เหล่านี้มีความสำคัญทางอุดมการณ์ เพราะไม่เพียงแต่เป็นผู้นำคณะราษฎรเท่านั้น จอมพล ป.ยังเป็นผู้สร้างวาทกรรมชาตินิยมเหนือราชานิยม ก่อนที่จะโดนรัชกาลที่ 9 ร่วมมือกับจอมพลสฤษดิ์โค่นล้มและสถาปนาอุดมการณ์ราชาชาตินิยมขึ้นมาแทนนับแต่ปี 2500 เป็นต้นมา
โดยทั่วไปแล้ว ในเครือข่ายทหารคอแดงดูเหมือนจะเต็มไปด้วยทหารบกและมีทหารอากาศแซมอยู่บ้างแต่ก็ย้ายเข้าไปอยู่ในวังโดยตรงไปแล้ว อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่ากองทัพเรือไม่เคยเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันใดมานานแล้วนับแต่กบฏแมนฮัตตันและความพ่ายแพ้ของคณะราษฎรในกลุ่มปรีดี พนมยงค์ ส่วนกองทัพอากาศนั้นมีขนาดเล็ก ไม่เพียงแต่ไม่สามารถทำตัวเป็นภัยคุกคามได้เท่านั้น หากแต่กองทัพอากาศอยู่ใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นนักบินขับไล่ไอพ่นมาก่อน และในหลายกรณีทรงทำหน้าที่ครูฝึกการบินให้กองทัพอากาศด้วย มีความเป็นไปได้ว่า จะสามารถบังคับบัญชากองทัพอากาศได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องผ่านนายหน้าทางอำนาจแต่อย่างใด การขึ้นสู่ตำแหน่งของ แอร์บูล น่าจะสนับสนุนคำอธิบายนี้ได้ดี
ทั้งหมดที่กล่าวมา ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นบางส่วนของการสร้างเครือข่ายกษัตริย์ของรัชกาลที่ 10 นอกเหนือจากเครือข่ายในกองทัพซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ยังมีเครือข่ายในภาคพลเรือนและที่สำคัญเครือข่ายมวลชนที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างพระราชวังและกองทัพ เช่น โครงการจิตอาสาพระราชทานที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 ด้วยจำนวนคนที่ลงทะเบียนเริ่มต้น (ในงานถวายเพลิงพระศพรัชกาลที่ 9 และโครงการอุ่นไอรัก) ถึง 4 ล้านคน แต่ยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบเพียงพอ นอกจากนี้แล้วก็อาจเป็นการเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า เครือข่ายกษัตริย์ที่เริ่มขึ้นในกองทัพจะทำงานอย่างไร เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเพียงใด งานจิตวิทยามวลชนหรือปฏิบัติการข่าวสาร รวมตลอดถึงการใช้กำลังพลในกองทัพและมวลชนจัดตั้งเหล่านี้แสดงพลังทางการเมืองอยู่ในเครือข่ายเหล่านี้หรือไม่ และประการสำคัญที่สุดคือ การปฏิบัติการเหล่านี้จะมีผลต่อการเมืองอย่างไรในยุคสมัยปัจจุบัน ยังไม่นับว่า บทบาทของอภิรัชต์ซึ่งขณะนี้ออกจากกองทัพและเข้าไปทำงานอยู่ในพระราชวังแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เขาจะเหมือนหรือทำหน้าที่คล้ายๆ กับที่เปรมเคยทำให้รัชกาลที่ 9 หรือไม่ เรายังไม่อาจจะล่วงรู้ได้ในเวลานี้
ประเด็นสำคัญคือ เครือข่ายที่สร้างขึ้นใหม่นี้อาจไม่จำเป็นต้องทดแทนเครือข่ายเก่าที่เคยมีอยู่อย่างแข็งแกร่งและซับซ้อนในสมัยรัชกาลที่ 9 การที่องคมนตรีไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นมากนักในรัชกาลปัจจุบันก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้ทำอะไรเลย พวกเขาอาจจะทำงานประสานกันหรืออาจจะขัดแย้งกันก็เป็นได้ เมื่อคำนึงถึงว่า เครือข่ายเหล่านี้ทำงานโดยอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของบุคคลค่อนข้างสูง ยังไม่นับว่า เมื่อมีกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อาจทำให้เครือข่ายเหล่านี้แสดงความเห็นและจุดยืนไปคนละทิศละทางอย่างสะเปะสะปะ เช่น มีข้อเสนอของคนที่เคยอยู่ในเครือข่ายกษัตริย์เก่าอยากจะเห็นรัฐธรรมนูญกำหนดให้สถาบันกษัตริย์มีบทบาทและอยู่ในตำแหน่งเดียวกับสมัยรัชกาลที่ 9 ในขณะที่เครือข่ายใหม่ก็ยังเห็นว่า สถานะกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันดีอยู่แล้ว ทั้งหมดนี้ต้องได้รับการศึกษาวิจัยและพิจารณาลงไปในรายละเอียดอีกมาก
ตารางเส้นทางทหารคอแดง (2560-2563)
[1] สนใจบทบาทของกษัตริย์และทหารต่อการเมือง โปรดดู Nattapoll Chaiching,“The Monarchy and the Royalist Movement in Modern Thai Politics, 1932-1957”,pp.147-178in Søren Ivarsson and Lotte Isager, eds., Saying the Unsayable: Monarchy and Democracy in Thailand (Copenhagen: NIAS Press, 2010), pp.170-172. ซึ่งณัฐพล ใจจริง ได้ชี้ให้เห็นบทบาทของรัชกาลที่ 9 ในการสนับสนุนการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500
ในงานของ Duncan McCargo, “Network Monarchy and Legitimacy Crisis in Thailand”,The Pacific Review 4 (2005):499-519. ได้ชี้ให้เห็น การทำงานของเครือข่ายกษัตริย์ในสมัยยุคสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีอำนาจเหนือการเมือง และ ธงชัย วินิจจะกูล ในThongchai Winichakul, “Thailand’s Royal Democracy in Crisis”, pp. 282-307 in Michael J Montesano, Terence Chong and MarkHeng, eds., After the Coup: The National Council for Peace and Order Era and the Future of Thailand (Singapore: ISEAS Publishing, 2019), pp.291-292.ได้พูดอย่างชัดเจนว่า กองทัพคือกลไกสำคัญของอำนาจกษัตริย์เหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและระบบราชการ
[2] “วิเคราะห์: บิ๊กตู่ บิ๊กป้อม เขย่าโผทหาร ฉบับฝ่าด่านพิเศษ จับตาสูตรลับบิ๊กแดง กลางสถานการณ์หมวกแดง” มติชนสุดสัปดาห์ 27 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2561 (https://www.matichonweekly.com/column/article_121055)