ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
16h ·
ในวาระที่มาตรา 112 ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับเหล่าผู้ตื่นรู้ ศูนย์ทนายฯ ชวนอ่านซีรีส์บทสัมภาษณ์สะท้อนหลากหลายเรื่องราวชีวิตของผู้อ่านแถลงการณ์ 3 ภาษา ที่การชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมันเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 – ผู้ชุมนุมกลุ่มแรกสุดของขบวนที่ไม่ได้ขึ้นปราศรัยหรือเป็นแกนนำ ทว่ากลับถูกตั้งข้อหาร้ายแรงอย่าง มาตรา 112 คู่กับมาตรา 116
ชวนสำรวจความฝัน ความหวัง และภาพสะท้อนความกล้าหาญของเหล่าคนธรรมดาสามัญที่ถูกตั้งข้อหาเพียงเพราะอาสาเป็นตัวกลางเพื่อสื่อสารกับฟากฟ้า ในวันที่ต้องเดินบนถนนสาย 112 โดยมีอนาคตข้างหน้าเป็นเดิมพัน
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รวิสรา เอกสกุล: “ถ้าไม่ใช่เรา ก็ต้องเป็นเพื่อนหรือน้องของเราที่โดน”
.
“เดียร์” รวิสรา คือหนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมันทั้งหมด 6 คน และเป็นคนกลุ่มที่สองที่ร่วมในการชุมนุมที่ด้านหน้าสถานทูตเยอรมันและได้รับหมายเรียกให้เข้าไปรับทราบ 2 ข้อกล่าวหาคือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563
.
อดีตบัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายนี้สะท้อนว่า ในอดีตก่อนหน้าที่จะอาสาออกไปอ่านแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยืน เธอไม่เคยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการเข้าร่วมในการชุมนุมของกลุ่ม #คณะราษฎร2563 การตัดสินใจเฉพาะหน้าในวันนั้นเริ่มต้นจากที่เห็นประกาศบนทวิตเตอร์ว่าทางผู้จัดการชุมนุมกำลังต้องการอาสาสมัครเพื่อออกมาอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมัน เธอจึงเสนอตัวเองอย่างไม่ลังเล
.
“เราไม่ได้รู้มาก่อนว่าจะมีการอ่านแถลงการณ์ เพิ่งจะรู้ก็เมื่อตอนไปถึงม็อบ พอลองทักไปทางต้นทวิตที่เขาประกาศหา เขาก็ช่วยประสานงานให้จนได้เบอร์ติดต่อมา พอโทรไป ทางนั้นก็บอกให้เราเดินไปที่ด้านหน้าของม็อบเพื่อเตรียมตัว”
.
“การที่เราตัดสินใจอาสาไปก็เพราะเรารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ และเราเองอยากที่จะมีส่วนช่วยในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ให้มากที่สุด ก่อนหน้านั้น เรามองว่าแค่การไปร่วมม็อบก็ถือว่าเราเป็นหนึ่งในพลังที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ในครั้งนี้พอมันเป็นภาษาเยอรมัน มันเป็นสิ่งที่เราถนัดและเชี่ยวชาญมานานมาก เลยรู้สึกว่า ถ้าเราจะสามารถใช้ความรู้ของเราเพื่อส่งสารให้กับใครต่ออีกหลายคน เราก็เต็มใจ และยินดีที่จะช่วย”
.
ถึงแม้การแสดงออกดังกล่าวจะเป็นไปด้วยเจตนาที่ดี อย่างไรก็ตาม เมื่อเลือกยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกการกระทำล้วนตามมาพร้อมกับผลลัพธ์ - ทั้งที่คาดเดาได้และคาดเดาไม่ได้ เดียร์สะท้อนความรู้สึกว่า ถึงจะเตรียมใจไว้แล้วบ้างส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็เรียกได้ว่ามีจุดที่เหนือไปจากความคาดหมาย
.
“ตั้งแต่ก่อนที่จะขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ น้องที่เป็นคนประสานงานเขาก็ถามเราว่า เราพร้อมที่จะรับความเสี่ยงไหม? พอลองคำนวณดูแล้ว เราตอบตัวเองได้ว่าเราพร้อม จังหวะที่ขึ้นไปและลงมาแล้ว เราไม่ได้คิดว่ามันจะมีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้น เพราะเหมือนทุกคนที่ขึ้นไปยืนอ่านตรงนั้นไม่มีใครรู้จักกันมาก่อน ทุกคนเป็นแค่คนธรรมดาที่ไปม็อบ ไม่มีใครเตรียมใจว่าจะมีโอกาสได้ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ พวกเราเป็นแค่คนธรรมดาที่ไม่เคยเคลื่อนไหว รัฐก็ไม่น่าจะมาเพ่งเล็งที่เราเท่าแกนนำ อย่างแย่ที่สุดที่สุดที่ประเมินไว้ตอนนั้นก็อาจจะแค่ถูกคุกคามโดยคนที่เขาไม่ชอบใจ แต่ถามว่าในใจพร้อมรับความเสี่ยงที่มากกว่านั้นไหม เราก็คิดว่า ถ้ามันจะมีอะไรที่ไม่ดีเกิดขึ้นจริง เราก็พร้อมทำใจยอมรับ”
.
“เราเริ่มเครียดตั้งแต่ตอนที่มีข่าวลือว่ามีคำสั่งให้ดำเนินคดีคนที่ออกไปอ่านแถลงการณ์ทั้ง 3 ภาษา จนตอนหลังมีข่าวว่ารัฐจะเอา 112 กลับมาใช้ เราก็ไม่ได้เครียดอะไรมากแล้ว เริ่มทำใจไว้ระดับหนึ่ง พอเราเห็นกลุ่มแรกที่ได้หมาย 112 ก่อนเรา ก็คิดว่าตัวเองก็ไม่น่ารอด ก็ได้แต่นั่งรอว่าเมื่อไหร่หมาย 112 จะมา พอมันมาแล้วก็ โอเค เครียดอยู่แค่ประมาณ 4 - 5 วัน พอถึงเวลามันก็เริ่มปลง จะมาก็มา รอ แต่ใจก็พร้อมที่จะสู้ เราโชคดีที่พ่อแม่เข้าใจด้วย เขารู้เรื่องข่าวลือพร้อมกันกับเราก็เลยพร้อมซัพพอร์ตในทุกด้าน”
.
ถึงจะยังกังวลในเรื่องของกระบวนการทางคดี แต่ในเวลานี้ เดียร์ยืนยันว่าเธอยังมีกำลังใจดี และถึงแม้การตัดสินใจในวันนั้น ณ ที่ด้านหน้าของสถานทูตเยอรมันจะเป็นต้นเหตุให้เธอถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาร้ายแรงที่อาจเปลี่ยนชีวิตและความฝันต่อนาคตแบบพลิกฝ่ามือ แต่ถ้าย้อนกลับไปได้ เดียร์ยืนยันว่าเธอก็จะยังคงทำแบบเดิม
.
“ต้องบอกว่ากำลังใจกับสภาพจิตใจของเราดีมากตอนนี้ พยายามไม่คิดอะไรเยอะ อยากที่จะสนุกกับช่วงเวลานี้ก่อนแล้วในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นยังไง เราก็พร้อมที่จะสู้ เพื่อนรอบตัวเรา พอเขารู้ข่าว ทุกคนก็ทักมา พร้อมที่จะช่วยเหลือ ทุกคนรู้สึกเดือดร้อนแทนเรามาก ๆ ก็รู้สึกดีตรงที่ว่าเหมือนไม่ได้กำลังสู้อยู่คนเดียว”
.
“เราวางแผนว่าจะไปเรียนต่อ อยากจะลองขอทุนไปเรียนด้านการศึกษาเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน เพราะอยากกลับมาช่วยพัฒนาวงการสื่อฯ ไทย อย่างในช่วงเวลานี้ มันสะท้อนให้เห็นมีความบกพร่องอยู่ในสื่อเยอะมาก สื่อดี ๆ ถูกปิดกั้น สื่อใหญ่ๆ ก็เลือกข่าวที่จะนำเสนอ เลยคิดว่าอยากจะเข้าไปแก้ไขตรงนั้น เพราะอย่างคุณยายคุณป้าเราที่อยู่ที่บ้าน เขาก็แทบไม่รู้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างในสังคมตอนนี้”
.
“ถ้าโดนตัดสินว่าผิดจริงและต้องถูกขัง เราก็อาจจะหมดสิทธิขอทุน เพราะทุนกำหนดว่าต้องเรียนจบมาไม่เกิน 5 ปี ตอนนี้เราก็เรียนจบมา 2 ปีแล้ว แพลนชีวิตของเราก็อาจต้องเปลี่ยนต้องเลื่อน ไม่รู้เหมือนกันว่าสุดท้ายพอรับโทษเสร็จ ชีวิตมันจะเป็นยังไงต่อไป โอกาสในการทำงานของเราก็น่าจะลดลง เพราะด้วยอายุที่เพิ่มขึ้นและด้วยความที่เป็นคนมีคดีติดตัว”
.
“เวลาคิดย้อนกลับไป ถามว่าเราเคยเสียใจไหมกับการที่ออกไปพูดวันนั้น แน่นอนว่ามีคิดบ้าง เพราะถ้าวันนั้นเราไม่ได้ไปชุมนุม ชีวิตของเราอาจจะสบายกว่านี้ก็ได้ คงได้ทำตามแผนการในอนาคตที่วางไว้ แต่พอทบทวนกับตัวเองจริง ๆ เออ ถ้าเราย้อนเวลากลับไปได้จริง ๆ ล่ะ เราจะยังทำอยู่ไหม? เราคิดว่าเราก็คงจะทำเหมือนเดิม เพราะในประเทศไทยมันมีแค่ไม่กี่คนที่ใช้ภาษาเยอรมันได้ ส่วนใหญ่ก็เป็นรุ่นพี่เรา รุ่นน้องเรา เพื่อนเรา ต่อให้มันไม่ใช่เรา ยังไงก็ต้องเป็นคนใกล้ตัวเราอยู่ดี ยังไงมันก็ต้องมีใครซักคนที่โดน ต่อให้ไม่ใช่เราก็ต้องเป็นคนที่เรารู้จัก”
.
“ถ้าจำเป็นต้องรับโทษ เราก็ทำใจยอมรับได้ ไม่ว่าชีวิตจะเป็นยังไงต่อ เราเชื่อว่าเราก็คงหาทางไปต่อของเราได้ตามที่วางแผนไว้”
.
อ่านเนื้อหาฉบับเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/?p=24286
...