วันศุกร์, มกราคม 10, 2563

บทบาทใหม่ของรัชกาลใหม่ รายงานขนาดยาว สถาบันกษัตริย์ ในทางการเมือง รอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นเช่นไร



บทบาทใหม่ของรัชกาลใหม่

ที่มา ประชาไท
ส่วนหนึ่งของบทความ

2019: สำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทยช่วง ‘รอยต่อ’

https://prachatai.com/journal/2020/01/85826




บทบาทใหม่ของรัชกาลใหม่

ปีนี้ยังนับเป็นรัชสมัยใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 10 อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่มีพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อกลางปี รัชสมัยนี้ต่างกับรัชสมัยก่อนหลายอย่าง และหลายเรื่องก็ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอย่างสำคัญ แต่ก่อนจะพิจารณาบทบาทดังกล่าว ต้องกล่าวไว้ด้วยว่าในรัชสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรา 112 อย่างสำคัญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาแทบไม่มีคดี 112 ใหม่ๆ ขึ้นสู่ศาล และมีการยกฟ้องหลายคดีที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาลโดยเฉพาะศาลพลเรือน แต่ขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า เจ้าพนักงานดูจะพยายามใช้ข้อกล่าวหาอื่นทดแทน เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา นอกจากนี้ยังพบว่ามีกระบวนการอื่นๆ นอกกฎหมายมากขึ้นสำหรับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน เช่น การคุมตัว-ขู่บังคับให้ข้อมูล-ทำ MOU

บทบาทที่สำคัญๆ ของสถาบันในทางการเมือง มีดังนี้ 

1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ

รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันผ่านการประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งว่าสำนักพระราชวังติดต่อมาโดยในหลวงทรงให้ ‘คำแนะนำพระราชทาน’ แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามตินี้เล็กน้อย

“ก็ขอเถอะเพราะเป็นเรื่องของพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน รัฐธรรมนูญชั่วคราวจำเป็นต้องแก้ไข เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านประชามติไปแล้ว ฉะนั้นเมื่อจะแก้ในส่วนนี้ต้องหาวิธีการแก้ให้ได้ โดยไม่ต้องไปทำประชามติ เพราะไม่ได้เกี่ยวกับประชาชน เป็นไปเพื่อการถวายพระราชอำนาจพระองค์ท่านเท่านั้นเอง” พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เมื่อ11 ม.ค.2560

ขณะนั้นรัฐบาลไม่ชี้แจงว่าจะมีการแก้มาตราใดบ้าง แต่ปรากฏเล็ดลอดออกมาตามสื่อว่าจะมีการแก้ไขใน 3 มาตรา คือ 5,17,187 จากนั้นจึงพบว่ามีการแก้ไขจริงทั้งหมด 7 มาตรา คือ 5,12,15,16,17,19 และ182

กรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดรัชกาลที่ 9 ซึ่งเคยมีเพียงการใช้สิทธิวีโต้พระราชทานกฎหมายคืนกลับมาในบางครั้งเท่านั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ในทางกฎหมายและแนวปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตย แต่แทบไม่ปรากฏข้อคิดเห็นใดจากนักวิชาการด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ สื่อมวลชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นที่เกี่ยวข้อง

เนื้อหาหลักที่มีการแก้ไขมีทั้งเรื่องอำนาจในการผ่าทางตันทางการเมือง, คุณสมบัติองคมนตรี, การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, การมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (อ่านที่นี่)

ในกรณีมาตรา 5 ดูจะเกี่ยวพันกับประชาชนมากที่สุด มาตราดังกล่าวว่าด้วยการ ‘ผ่าทางตัน’ ทางการเมืองที่เมื่อเกิดกรณี(การสร้างสถานการณ์)ที่ไม่รู้จะไปทางไหน รัฐธรรมนูญกำหนดไว้กว้างๆ ว่าให้เป็นไปตาม “ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ข้อความแบบนี้เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 ในมาตรา 7 ซึ่งสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำตีความว่าประเพณีดังกล่าวคือ ‘นายกรัฐมนตรีพระราชทาน’ จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อมาในร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.ได้ทำให้ความคลุมเครือนี้ชัดเจนขึ้นโดยให้อำนาจวินิจฉัยไปอยู่ในมือของประธานศาลรัฐธรรมนูญ-ประธานสภาผู้แทนราษฎร-ผู้นำฝ่ายค้าน-ประธานวุฒิสภา-นายกรัฐมนตรี-ประธานศาลฎีกา-ประธานศาลปกครองสูงสุด-ประธานศาลรัฐธรรมนูญ-ประธานองค์กรอิสระ อย่างไรก็ดี คำแนะนำพระราชทานที่ได้รับและมีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อย คือ ให้กลับไปคงข้อความแบบเดิมไว้

มาตรา ๕ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัตแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.การออกพระราชโองการ กรณีพรรคไทยรักษาชาติ

8 กุมภาพันธ์ 2562 การปรากฏตัวของแคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยรักษาชาติ - ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ นับเป็นเรื่องที่สร้างความฮือฮาอย่างยิ่ง เพราะบุคคลในราชวงศ์ชั้นสูงไม่เคยลงสู่สนามการเมืองเช่นนี้ พรรคไทยรักษาชาติระบุเหตุผลว่าทูลกระหม่อมฯ มีคุณสมบัติครบ เพราะ 1. ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์สมเด็จเจ้าฟ้าตั้งแต่ปี 2515 ทำให้สถานะทางกฎหมายเป็นสามัญชน 2.ทูลกระหม่อมฯ ได้มีหนังสือตอบรับตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าแคนดิเดตนายกฯ ต้องมีหนังสือยินยอม 3.กรณีแคนดิเดตนายกฯ เป็นผู้ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งก็ได้ กรณีนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. ยืนยันในวันที่ 7 ก.พ.2562 ว่าการไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นข้อห้ามของรัฐธรรมนูญในอดีต แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้ยกเลิกแล้ว มีข้อห้ามเพียงต้องไม่เคยเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น

ตลอดทั้งวันเกิดกระแสทั้งวิพากษ์วิจารณ์และชื่นชมการตัดสินใจของพระธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 9 และคืนเดียวกันนั้นเองที่มีพระราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 10 แสดงผ่านทีวีพูลโดยพร้อมเพรียง มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รองรับสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาทและพระบรมราชวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ดังนั้นพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จากนั้น กกต.จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยอ้างอิงถึงพระราชโองการฉบับนี้ด้วย

7 มีนาคม 2562 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรค และมีมติ 6 ต่อ 3 ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหาร 10 ปี เนื่องจากการกระทำในการเสนอชื่อครั้งนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

“(การเสนอชื่อดังกล่าว) ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง ถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย....ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะไม่อยู่ในฐานะเป็นศูนย์กลางของประชาชนชาวไทยอีกต่อไป นั่นย่อมทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย กลับต้องเสื่อมโทรม หยุดลง หรือถึงกับสูญสิ้นไป"

“ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) พรป.พรรคการเมือง บัญญัติชัดเจนในเรื่อง "เจตนา" เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หาต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือรอให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงขึ้นเสียก่อนไม่ จึงจำเป็นต้องป้องกันการเสียหายแก่สถาบันหลักของประเทศ เป็นนโยบายตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้กองไฟเล็ก โหมไหม้ จนเป็นมหันตภัยที่มิอาจต้านทานได้"

การยุบพรรคไทยรักษาชาติ มีคำถามหลายประการ เรื่องหนึ่งคือ สถานะของพระราชโองการ สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า บทบัญญัติที่จะเป็นกฎหมายได้ต้องยึดถือตามระบบกฎหมายของประเทศ มีฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ออกพระราชบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนด หรือฝ่ายปกครองออกกฎหมายลำดับรองต่างๆ ดังนั้น พระราชโองการที่ออกมาจึงมิใช่กฎหมาย เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติใดๆ เป็นแต่เพียงพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์

ขณะที่ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ เห็นว่า เรื่องความเป็นกลางหรือการอยู่เหนือการเมืองนั้นมีความเปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ โดยมีเหตุผลเฉพาะตามบริบทของมัน การดำเนินการของพรรคไทยรักษาชาติจึงอยู่ในสภาวะ “ควร” หรือ “ไม่ควร” เท่านั้น แต่องค์กรของรัฐกลับนำพระราชโองการมาเป็นฐานทางกฎหมายในการกำหนดว่า “ทำได้” หรือ “ทำไม่ได้”

“ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าด้วย “หลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์” ไม่ได้เป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัวและดำรงอยู่สืบเนื่องตลอดมาไม่เปลี่ยนแปลงนับแต่ปี 2475 แต่เป็นหลักการที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญครั้งใหญ่ในปี 2489 และกลายเป็นหลักการซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายบังคับหรือกำหนดสภาพบังคับไว้อีกแต่อย่างใด โดยดำรงอยู่ในฐานะหลักการตามวิถีทางทางการเมืองบนความรับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น” ปูนเทพระบุพร้อมสรุปบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญว่า “ทุกๆ เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในนามของผู้พิทักษ์ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งรวมถึงคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคไทยรักษาชาตินี้ จึงไม่ได้เป็นการชี้ขาดข้อพิพาททางกฎหมายแต่เป็นคำวินิจฉัยทางการเมือง”

3.อำนาจแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช

7 กุมภาพันธ์ 2560 ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 หลังจากตำแหน่งสำคัญนี้ว่างลงมากว่า 3 ปี และ สนช.มีการแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการแต่งตั้งพระสังฆราชให้ไม่ต้องผ่านมติของมหาเถรสมาคม แต่เป็นอำนาจของกษัตริย์โดยตรง และไม่จำเป็นต้องเป็นพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุดอย่างที่เคยเป็นมา

ก่อนหน้านี้เหตุการณ์การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเรียกได้ว่า ‘อลหม่าน’ มาก

5 มกราคม 2559 - มหาเถรสมาคม (มส.) นัดประชุมวาระลับพิเศษและมีมติให้สมเด็จช่วงซึ่งมีสมณศักดิ์อาวุโสสูงสุดเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ต่อมาอีกไม่ถึงสัปดาห์ พระพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน 300,000 ชื่อต่อ พล.อ.ประยุทธ์ คัดค้านการแต่งตั้งดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เดือนกุมภาพันธ์ 2559 พระสงฆ์ชุมนุมที่พุทธมณฑล สนับสนุนมติ มส.ที่เสนอสมเด็จช่วงเป็นสมเด็จพระสังฆราช อีก 3 วันถัดมาดีเอสไอสรุปว่า รถเบนซ์โบราณที่สมเด็จช่วงครอบครองอยู่มีการใช้เอกสารปลอมหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เดือนมีนาคม ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า มส.ทำผิดขั้นตอนเกี่ยวกับการเสนอชื่อสมเด็จช่วงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 เนื่องจากต้องไปเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรีก่อน แต่ต่อมาเดือนกรกฎาคมคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติว่า ขั้นตอนการแต่งตั้งสมเด็จช่วงถูกต้องแล้ว

จนสุดท้าย 29 ธันวาคม 2559 สนช.จึงมีมติแก้ไขพ.ร.บ.สงฆ์ให้อำนาจแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชให้ไปอยู่พระมหากษัตริย์ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมเหมือนก่อน และไม่จำเป็นต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุด 
 
4.การตั้งส่วนราชการในพระองค์

‘วาด รวี’ นักเขียนผู้สนใจการเมืองเคยศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ คือ ฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่สนช.โหวตไม่ผ่าน, ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ผ่านประชามติ, ฉบับปัจจุบันซึ่งมีพระราชวินิจฉัยแก้บางส่วนหลังผ่านประชามติ เขานำเสนอว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ ‘ส่วนราชการในพระองค์’ ไม่มีระบุไว้ในฉบับบวรศักดิ์ แต่มีระบุไว้ในมาตรา 15 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยซึ่งนำไปให้ประชาชนโหวต โดยที่ในระหว่างการทำประชามติไม่มีใครทราบนัยของมาตรานี้ และไม่มีการอภิปรายประเด็นนี้แต่อย่างใด

มาตรา ๑๕ การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตําแหน่ง ให้เป็นไปตาม พระราชอัธยาศัย
การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา

เดือนเมษายน 2560 หรือราว 6 เดือนหลังรัชกาลที่ 10 ทรงขึ้นครองราชย์ ได้มีการออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 โอนหน่วยงานราชการ 5 แห่งมาเป็นส่วนราชการในพระองค์ โดยการจัดระเบียบส่วนงานต่างๆ กำหนดไว้ให้เป็นไป “ตามพระราชอัธยาศัย” ได้แก่

1.สำนักราชเลขาธิการ-เดิมเป็นส่วนราชการอิสระ มีฐานะเทียบเท่ากรม ราชเลขาธิการอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี
2.สำนักพระราชวัง-เดิมเป็นหน่วยราชการในพระองค์ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
3.กรมราชองครักษ์-เดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม
4.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์-เดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม
5.สำนักงานนายตำรวจราชสำนัก-เดิมสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำหรับเหตุผลในการสร้างหน่วยงานลักษณะนี้ขึ้นมา เราอาจทำความเข้าใจได้ผ่านหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติที่ระบุว่า

โดยที่กรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ กระทรวงกลาโหม เป็นส่วนราชการที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์และพระราชกรณียกิจขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งต้องถวายงานตามโบราณราชประเพณีและพระราชอัธยาศัย การปฏิบัติราชการจึงแตกต่างจากส่วนราชการของฝ่ายบริหารทั่วไป กรณีจึงสมควรกำหนดฐานะของส่วนราชการดังกล่าวขึ้นใหม่ ให้เป็นส่วนราชการในพระองค์โดยปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มีการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลเป็นการเฉพาะให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การบริหารราชการในพระองค์เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจของราชการในพระองค์ และสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ตามพ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์ “ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด” ซึ่งนั่นส่งผลให้หน่วยงานเหล่านี้ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบต่างๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามปรกติ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือหากมีผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของหน่วยงานต้องการฟ้องร้องก็จะไม่สามารถกระทำผ่านศาลปกครองได้เหมือนกรณีกระทรวงทบวงกรมทั่วไป

อย่างไรก็ดี ในพระราชกฤษฎีกาได้กำหนดรายละเอียดว่า ส่วนราชการในพระองค์ได้แบ่งส่วนงานเป็น 3 ส่วนหลักและมีสถานะเป็น “นิติบุคคล” คือ (1) สํานักงานองคมนตรี (2) สํานักพระราชวัง (3) หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ส่วนราชการในพระองค์ตั้งงบประมาณไว้ที่ 7,685.3 ล้านบาท จากเดิมที่เคยได้ 6,800 ล้านบาทในปี 2562 เพิ่มขึ้น 885.3 ล้านบาทหรือ 13%

มาตรา ๑๔ การโอนข้าราชการในพระองค์ไปเป็นข้าราชการฝ่ายอื่นที่ไมใช่ข้าราชการในพระองค์หรือการโอนข้าราชการฝ่ายอื่นเช่นว่านั้นมาเป็นข้าราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฏหมายเพื่อให้มีการโอนตามพระราชอัธยาศัยต่อไป

มาตรานี้ในพระราชกฤษฎีกามีนัยสำคัญว่าพระมหากษัตริย์สามารถโอนย้ายกำลังพลระหว่างส่วนราชการในพระองค์และส่วนราชการอื่นได้ตามพระราชอัธยาศัย รูปธรรมสะท้อนผ่านการโอนย้ายกำลังพลที่เกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้โอนกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีจะออกเป็นพระราชกำหนด แต่สุดท้าย พ.ร.ก.นี้ก็ผ่านสภาเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเดือนตุลาคม 2562

หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งโครงสร้างหน่วยงานเป็น 1.สำนักงานผู้บังคับบัญชา 2.สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ 3.สำนักงานฝ่ายเสนาธิการในพระองค์ 4.กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 5.กองบัญชาการตำรวจราชองครักษ์ในพระองค์

จะเห็นได้ว่าไม่เพียงทหารเท่านั้นที่ต้องโอนย้ายไปสังกัดหน่วยราชการในพระองค์ ตำรวจก็เช่นกัน

ในวงการตำรวจ ปี 2562 ถือว่าเป็นปีที่ระส่ำระสายหนัก วันที่ 16 สิงหาคม 2562 คอลัมน์อาณาจักรโล่เงินใน นสพ.แนวหน้า ‘เกลือสมุทร’ คอลัมนิสต์ที่มักเขียนถึงเรื่องราวในวงการตำรวจได้เผยแพร่บทความที่มีอายุสั้นมากเพราะถูกถอดออกหลังเผยแพร่ได้ไม่กี่วัน บทความดังกล่าววิจารณ์ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อย่างรุนแรงกรณีที่ปล่อยให้นายตำรวจผู้ใหญ่บางคนสร้างความก้าวหน้าให้ตนเองด้วยการ “มัดมือชก” ตำรวจจำนวนมากให้ไปเป็น “ตำรวจราบ” ซึ่ง ไม่สังกัด สตช. อีกต่อไป แม้ไม่ได้กล่าวถึงโดยตรง แต่หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์เป็นองค์กรเดียวที่มีตำรวจอยู่ใต้สังกัดและขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์

แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ระบุว่า มีหนังสือคำสั่งให้คัดเลือกนายตำรวจชั้นสัญบัตรและชั้นประทวน “ชั้นดีเลิศ” เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมและโอนย้ายไปสังกัดหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ โดยมียอดรวม 873 นายตั้งแต่ระดับ พ.ต.อ. จนถึง ส.ต.ต. คนกลุ่มนี้ต้องได้รับการฝึกปรับพื้นฐานเป็นเวลา 6 เดือน (1 ต.ค.2562-31 มี.ค.2563) เกณฑ์การคัดเลือกดูจากมีบุคลิกภาพเหมาะสม (ขาไม่โก่ง ไม่ผอมกะหร่อง ไหล่ไม่เอียง ไม่สวมแว่นตา น้ำหนักเหมาะสม สูง 170-180 ซม.) มีความจงรักภักดี มีทัศนคติที่ดี มีร่างกายแข็งแรง มีความพร้อมทุกด้านและลงนามในบันทึกสมัครใจปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์นี้เกิดความขัดแย้งไม่น้อยเนื่องจากไม่มีความชัดเจนในโครงสร้างใหม่ การคัดเลือกมีการกำหนดกลุ่มเพียงคร่าวๆ ว่า เป็นข้าราชบริพารสังกัดใดก็ได้ กับ ข้าราชบริพารสังกัดตำรวจ ทำให้ตำรวจที่ถูกคัดเลือกจำนวนหนึ่งชิงลาออกจากราชการและอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สมัครใจโอนย้ายก็ไม่ยอมมารายงานตัว กลุ่มหลังนี้ถูก “ธำรงวินัย” ด้วยฝึกยาว 9 เดือน โดยช่วงเวลาหนึ่งต้องไปฝึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย เบื้องต้นทราบว่ากลุ่มนี้มีกว่าร้อยนาย

26 ก.ย.2562 นิตยสาร COP’S ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับตำรวจ เผยแพร่บทความระบุว่า ตำรวจชั้นประทวนจำนวนมากรู้สึกอึดอัด “พวกผมผิดอะไร หากพวกผมไม่ไปฝึก ทำไมต้องให้พวกผมลาออก” “ผมเหมือนโดนหลอก เหมือนพ่อแท้ๆ ของตัวเอง หลอกขายลูกตัวเองให้หน่วยงานอื่น”

30 ก.ย.2562 หรือก่อนเริ่มต้นการฝึกปรับพื้นฐานตำรวจราบ 1 วัน พล.ต.ท.มนู เมฆหมอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 552/2562 เรื่อง อนุญาตให้ข้าราชการตำรวจลาออกจากราชการ ตามโครงการปรับเปลี่ยนกำลังพล รุ่นที่ 20 (งบประมาณ พ.ศ.2563) รวมทั้งสิ้น 933 นาย ตั้งแต่ระดับดาบตำรวจ ไปจนถึงพันตำรวจเอก และมีระดับพลตำรวจตรี 2 นาย นี่น่าจะเป็นการลาออกครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของวงการตำรวจหรือไม่และจะส่งกระทบอย่างไรต่อประชาชน ยังคงเป็นคำถาม

5.โครงการจิตอาสาพระราชทาน

จิตอาสาพระราชทาน 904 คือ โครงการในพระราชดำริของรัชกาลที่ 10 ริเริ่มเมื่อปี 2560 เว็บไซต์สำนักพระราชวังระบุว่า พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ ของรัชกาลที่ 9 องค์กรนี้มีโครงสร้างแยกเฉพาะ สังกัดสำนักพระราชวัง พระองค์ทรงดูแลหลักสูตรเอง ส่วนกองทัพเป็นผู้ดำเนินงานหลัก แบ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น กลาง ยาว โดยหลักสูตรเน้นเรื่องความสำคัญของสถาบันกษัตริย์และองค์ความรู้ต่างๆ ในรัชกาลที่ 9 ที่มอบแก่สังคม นอกจากนี้ยังมีการเดินสายอบรมเรื่องพระมหากษัตริย์ไทยกับข้าราชการ นักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก ส่วนคนทั่วไปก็สามารถสมัครได้โดยจะมีเครื่องแบบเป็นหมวกฟ้า ผ้าพันคอเหลือง (ปัจจุบันมีข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าผ้าพันคอเปลี่ยนเป็นสีม่วงแล้ว) กองทัพระบุว่าขณะนี้มีจิตอาสาทั่วประเทศกว่า 4 ล้านคน หลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวของจิตอาสารวมตัวทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะในพระราชพิธีต่างๆ มีผู้ตั้งคำถามว่า เป้าหมายของโครงการนี้คล้ายกับการสร้าง ‘ลูกเสือชาวบ้าน’ ในยุคก่อนหรือไม่ จากการค้นหาข้อมูลเบื้องต้นพบว่าโครงการนี้มีความแตกต่างอยู่พอสมควร (อ่านที่นี่)

6.ความเปลี่ยนแปลงใน พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า พระมหากษัตริย์ของไทยร่ำรวยที่สุดในโลกอ้างตามรายงานของ Business Insider ปี 2561 ด้วยการประมาณการณ์ว่าพระองค์มีทรัพย์สินอย่างต่ำ 30,000 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับเมื่อปี 2558 ที่นิตยสารฟอร์บส์ก็ระบุว่าพระมหากษัตริย์ของไทยร่ำรวยที่สุดในโลก

ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์เริ่มมีการแบ่งให้เป็นระบบในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยแบ่งเป็น “พระคลังข้างที่” ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินส่วนพระองค์ และ “พระคลังมหาสมบัติ” คืองบประมาณประเทศซึ่งมีแหล่งรายได้จากระบบภาษีที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างท่ามกลางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างยิ่งของสยาม ข้อมูลในงานวิจัยของพอพันธ์ อุยยานนท์ ‘สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ’ (2549) ชี้ให้เห็นว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระคลังข้างที่ซึ่งมีสถานะคล้ายกรมมีรายได้จากพระคลังมหาสมบัติซึ่งมีสถานะคล้ายกระทรวงด้วย โดยเคยได้งบมากถึง 20% ของงบทั้งหมด การสะสมทุนของพระคลังข้างที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุคเปิดการค้าขายกับต่างชาติ แต่แล้วก็เริ่มลดลงจนติดลบในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะการใช้จ่ายส่วนพระองค์ สถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ประกอบกับการขาดทุนในกิจการขนาดใหญ่ที่เข้าไปร่วมทุน

ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2470 ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรกับราชสํานัก มีผลต่อการลดบทบาทของกรมพระคลังข้างที่เป็นอันมากรวมถึงมีการปรับลดงบประมาณด้วย ปี 2476 รัฐบาลได้เข้าไปจัดการทรัพย์สินของกรมพระคลังข้างที่ โดยในเบื้องต้นมีการแบ่งทรัพย์สินของกรมพระคลังข้างที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยทรัพย์สินส่วนพระองค์ต้องเสียภาษี ส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ยกเว้นภาษีอากร ปี 2479 มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ และตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้น และถูกโอนไปอยู่ในการควบคุมดูแลของกระทรวงการคลัง มีคณะกรรมการซึ่ง รมว.คลังเป็นประธาน มีกรรมการ 4 คน



งานวิจัยของพอพันธ์ อุยยานนท์ (2549)

การรัฐประหารในปี 2490 นักประวัติศาสตร์หลายคนเห็นว่าเป็นการสิ้นสุดการมีอำนาจถาวรของคณะราษฎร พอพันธ์ก็เช่นกัน เขามองว่านั่นเป็นระยะเวลาที่ฝ่ายอนุรักษ์–กษัตริย์นิยมซึ่งมีแกนกลางอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้กลับขึ้นมามีอํานาจอีกครั้งแล้วจึงเสนอแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินฯ ต่อมากลายเป็น พ.ร.บ.จัดระเบียบฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2491 แก้ไขหลายมาตราจนส่งผลให้สำนักทรัพย์สินฯ มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นอิสระจากรัฐบาล ทำนิติกรรมต่างๆ ได้โดยสะดวก มีการลงทุนให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่มากมายหรือซื้อหุ้นต่างๆ เช่น เครือซีเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เทเวศประกันภัย เป็นต้น มีการขยายการลงทุนในอีกหลายธุรกิจและสะสมทุนได้มหาศาลตั้งแต่ทศวรรษ 2500-2540

สถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นปริศนาและถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดว่าเป็นของแผ่นดินหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อฟอร์บส์จัดอันดับทรัพย์สินในรัชกาลที่ 9 โดยรวมความมั่งคั่งของสำนักงานทรัพย์สินฯ เข้าไปด้วย เรื่องนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ชี้แจงว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของรัฐและของแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยสำนักงานฯ เป็นผู้ดูแล

ขณะที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เห็นแย้งว่า ในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ รัฐบาลไม่ว่าชุดไหนๆ ก็ไม่มีอำนาจในการควบคุมดูแลจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ที่สำคัญคือกฎหมายกำหนดว่า รายได้จากสำนักงานทรัพย์สินฯ จะจ่ายได้แต่เฉพาะรายจ่ายที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพัน เงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ เงินลงทุน และรายจ่ายในการพระราชกุศล เฉพาะที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเท่านั้น รายได้หลังหักรายจ่ายจะใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัยไม่ว่าในกรณีใดๆ ในงานศึกษาของ ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ (2541) ได้บรรยายสถานภาพของสํานักงานทรัพย์สินฯ ว่า “รัฐและหน่วยงานของรัฐเองก็ไม่ทราบสถานะที่แท้จริงว่าคืออะไร อาจกล่าวได้ว่า [สํานักงานทรัพย์สินฯ] ได้หลุดพ้นออกไปจากโครงสร้างองค์กรในภาครัฐอย่างสมบูรณ์” แม้แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ตีความสถานภาพของหน่วยงานนี้ 4 ครั้งในปี 2518, 2533, 2536 และ 2543 ซึ่งการวินิจฉัยแต่ละครั้งก็แตกต่างกันไปและไม่เคยมีมติเป็นเอกฉันท์

ช่องว่างของสถานะดังที่กล่าวมา ทำให้การบริหารงานของสำนักงานทรัพย์สินฯ คลุมเครือและดูจะมีอภิสิทธิ์บางประการในบางห้วงเวลา พอพันธ์ยกตัวอย่างช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์และสถาบันการเงินทุกแห่งประสบกับความเสียหายอย่างหนัก ส่งผลให้สํานักงานทรัพย์สินฯ ต้องเพิ่มทุนเพื่อรักษาสถานภาพการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในไทยพาณิชย์ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการขณะนั้นได้นําที่ดินของสํานักงานทรัพย์สินฯ ย่านพญาไทจํานวน 484.5 ไร่ มูลค่า 16,500 ล้านบาทไปแลกกับหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ที่กระทรวงการคลังถืออยู่ ทั้งที่การแลกเปลี่ยนที่ดินกับหุ้นนั้นเป็นการกระทําที่กฎหมายไม่อนุญาตให้กระทรวงการคลังกระทําได้

ในรัชสมัยใหม่ คำถามนี้หมดไปโดยสิ้นเชิงเนื่องจาก สนช.ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 และในปีถัดมาก็ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ไอลอว์ระบุว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมลับ สนช.เห็นชอบ พ.ร.บ.ฉบับหลังนี้ด้วยคะแนนเห็นชอบ 194 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง มีผลทำให้ฉบับปี 2560 ถูกยกเลิกไป เหตุผลที่ออกกฎหมายใหม่คือ เพื่อปรับปรุงการจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้เหมาะสมแก่การบริหารจัดการยิ่งขึ้น โดยถวายเป็นพระราชอำนาจในการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

ใจความหลักของกฎหมายสำนักงานทรัพย์สินฯ ปี 2560 คือ

1.ยังคงแยกเป็น 2 ส่วน ทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยทั้งสองส่วนเรียกรวมกันว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องเสียภาษีตามกฎหมาย

2.กำหนดให้ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (จำพวกวัดวังต่างๆ ที่เคยแยกไว้ต่างหาก) ถือเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

3. คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาจากบุคคลที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้งทั้งหมด จากเดิมที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง

วันที่ 14 มีนาคม 2561 สมศักดิ์ ทวีตภาพผู้ถือหุ้นหลักธนาคารไทยพาณิชย์วันที่ 8 มีนาคม 2561 ยังปรากฏว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้น 18.14 % และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ 3.34%



ภาพจากทวิตเตอร์ @somsakjeam

ใจความหลักของกฎหมายสำนักงานทรัพย์สินฯ ปี 2561 คือ
1. ใช้คำว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไม่มีคำว่า “ใน” “ส่วน” “ฝ่าย” ใดๆ อีกแล้ว
2. ไม่มีการแบ่งแยกเป็น 2 ส่วน แต่รวมทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าด้วยกัน เป็น ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
3. ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย
4. คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ทั้งหมด แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย

16 มิถุนายน 2561 (ก่อนพ.ร.บ.ฉบับปี 2561 จะผ่านสนช.) เว็บไซต์สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เผยแพร่คำชี้แจงเรื่อง การเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จากข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ซึ่งรวมทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าด้วยกัน เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงมีภาระหน้าที่ต้องถวายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในความดูแลแต่เดิมคืนให้แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ดังนั้น สำหรับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ใดที่เดิมเป็นชื่อของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่น การมีชื่อในผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด จึงต้องเปลี่ยนเป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว




เข้าถึงเมื่อ 7 ม.ค.2562 settrade.com

"หลังจากที่โดนปล้นจากพวกหิวกระหายอำนาจและกระหายเงิน ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 - 2560 เวียงวังคลังนา ปัจจุบันได้ทยอยกลับคืนมาสู่เจ้าของที่แท้จริงแล้ว มิใช่เป็นของผู้ใดผู้หนึ่งที่จะเข้ามาแย่งกันเข้ามาหาผลประโยชน์อีกต่อไป ทรงพระเจริญ พระพุทธเจ้าข้า ม.จ. จุลเจิม ยุคล"

โพสต์ของ มจ.จุลเจิมในเฟสบุ๊คเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 อาจบอกนัยบางอย่าง

7.คืนพื้นที่ให้สำนักพระราชวัง





สวนสัตว์ดุสิต

10 ส.ค.2562 นายพิทักษ์ อุ่นซ้อน ผู้อำนวยการสวนสัตว์ดุสิต กล่าวว่า ได้รับหนังสือแจ้งจากองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ว่าให้เข้าสู่แผนการย้ายสวนสัตว์ดุสิต โดยจะเปิดให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 31 ส.ค.2562

30 พ.ย.2560 มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำคณะเข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธยเพื่อใช้ในกิจการของราชการ หนึ่งในนั้น คือ โฉนดที่ดินคลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี จำนวน 300 ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่และสถานที่ทำงานขององค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์

สวนสัตว์ดุสิต เดิมเรียก สวนดุสิต หรือ เขาดินวนา รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี 2438 เพื่อเป็นสวนพฤกษชาติเหมือนในต่างประเทศ เขาดินวนาเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต ต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิตมาจัดทำเป็นสวนสาธารณะ พระองค์เจ้าทิพอาภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้พระราชทานอนุมัติในนามของรัชกาลที่ 8 และมีการนำสัตว์ต่างๆ มาไว้ก่อนทำการเปิดสวนสัตว์ดุสิตในวันที่ 18 มีนาคม 2481 นับเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย

รัฐสภา(เก่า)

26 ธ.ค.2561 สมาชิก สนช. ข้าราชการ และสื่อมวลชน ราว 500 คนสวมใส่เสื้อสีเหลืองเครื่องแบบชุดจิตอาสาร่วมกิจกรรม "บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์" ทำความสะอาดบริเวณรัฐสภา ก่อนส่งมอบอาคารและพื้นที่โดยรอบคืนให้กับสำนักพระราชวัง เดิมกำหนดไว้ในวันสิ้นปี ต่อมาสำนักพระราชวังอนุญาตให้ สนช.ใช้อาคารรัฐสภา 1 เป็นสถานที่ประชุมได้เฉพาะในวันประชุมใหญ่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562

โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างมาแล้ว 6 ครั้ง ริเริ่มเมื่อปี 2536 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยมีแนวคิดย้ายไปที่สนามม้านางเลิ้ง ปี 2542 ย้ายมาเป็นที่ดินการรถไฟฯ “ย่านพหลโยธิน” ปี 2543 ย้ายมายังที่ราชพัสดุ แยกเกียกกาย ปี 2545 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดย้ายเมืองหลวงไปยังนครนายกแต่ถูกคัดค้านหนักจนต้องพับโครงการ เลือกพื้นที่ใหม่เป็นสนามบินดอนเมือง ปี 2551 รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช มีมติให้กลับมาใช้ที่ดินราชพัสดุเกียกกาย ปี 2556 บริษัท ซิโน-ไทยฯ ชนะประมูลงานก่อสร้างโดยเสนอราคาต่ำสุด 12,280 ล้านบาท ต้องแล้วเสร็จ พ.ย.2558 แต่ติดปัญหาส่งมอบที่ดินล่าช้าและอื่นๆ ทำให้ขยายมาจนถึงสิ้นปี 2562

ปี 2512 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร อนุมัติก่อสร้างอาคารรัฐสภาบนเนื้อที่เกือบ 20 ไร่ บริเวณด้านทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ภายใต้งบประมาณก่อสร้าง 51 ล้านบาท เป็นไปตามข้อเสนอของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา เนื่องจากพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่ประชุมรัฐสภาแห่งแรกไม่อาจรองรับสมาชิกที่มีจำนวนมากขึ้นตามสัดส่วนประชากรไทยได้ ใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 4 ปีจึงแล้วเสร็จในยุครัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์


พระที่นั่งอนันตสมาคม

13 กันยายน 2560 มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “พระที่นั่งอนันตสมาคมหลังพระบรมรูปทรงม้าจะปิดถาวรและเปิดให้เข้าถึง 30 กันยานี้ ใครยังไม่เคยเข้าไปชม รีบไปชม คุณค่าในใจ” สื่อมวลชนรายงานว่า ได้ติดต่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ของพระที่นั่งอนันตสมาคมที่มีการระบุไว้ในเวบไซต์ข้อมูลการท่องเที่ยว ได้รับคำตอบว่า เป็นเรื่องจริง โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560 จากนั้นจะปิดไม่ให้เข้าชมและยังไม่มีกำหนดว่าจะเปิดอีกเมื่อไร อย่างไรก็ตาม สิ่งของที่มีการจัดแสดงภายในพระที่นั่งอนันฯ นั้น ส่วนหนึ่งจะนำไปจัดแสดงที่เกาะเกิด จ.อยุธยา

พระที่นั่งวิมานเมฆ

5 สิงหาคม 2562 สื่อมวลชนรายงานว่า ได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังว่าขณะนี้พระที่นั่งวิมานเมฆไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวหรือบุคคลภายนอกเข้าชมแล้ว

อันที่จริงพระที่นั่งวิมานเมฆอยู่ในเขตพระราชวังดุสิต เปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่ปี 2528 และปิดปรับปรุงไปตั้งแต่กลางปี 2559 แต่เมื่อไม่นานมานี้มีการเผยแพร่ภาพถ่ายจากกูเกิลแมปในสื่อสังคมออนไลน์ที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งวิมานเมฆนั้นว่างเปล่า อาคารพระที่นั่งไม้สักทองอายุกว่า 120 ปี และอาคารโดยรอบถูกรื้อถอนไปหมดแล้วทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัย อย่างไรก็ดี Khaosod English รายงานเมื่อ 25 กรกฎาคม 2562 ว่า อาคารพระที่นั่งไม้สักทองนั้นบูรณะโดยใช้วิธีรื้อถอนแล้วประกอบใหม่ แต่หลังจากบูรณะเสร็จจะไม่เปิดให้สาธารณะเข้าชม

สนามหลวง



ถ่ายเมื่อ 6 ตุลาคม 2562

สนามหลวงขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้ กทม.มีอำนาจควบคุมดูแลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และในระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการใช้ การบำรุง และการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2555 ยังกำหนดให้ กทม. มีอำนาจดูแลทั้งกำลังคน งบ การบำรุง กำหนดเวลาเข้าออกสนามหลวงตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกรุงเทพมหานครประกาศกำหนด ผู้อำนวยการเขตพระนครเป็นผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตการขอใช้พื้นที่ท้องสนามหลวง หลังมีการล้อมรั้วและติดป้ายสำนักพระราชวัง ยังไม่พบสื่อใดสอบถามเรื่องนี้ไปยัง กทม.

สนามหลวงมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นสถานที่จัดกิจกรรมหลวง และราษฎร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทาง จนเมื่อ 13 ธันวาคม 2520 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียน “สนามหลวง” ซึ่งมีพื้นที่ 74 ไร่ 63 วา เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา ตลาดนัดสนามหลวงเกิดขึ้นในปี 2491 จนเมื่อปี 2521 รัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ต้องการใช้สนามหลวงเป็นสถานที่งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมอบที่ดินบริเวณสวนจตุจักรด้านใต้แก่กรุงเทพมหานคร จึงมีการปรับพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าจากสนามหลวงมาอยู่ที่ “ตลาดนัดสวนจตุจัก” ในปี 2525 ในช่วงหลังสนามหลวงเริ่มเป็นสถานที่ไฮด์ปาร์กแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เป็นแหล่งชุมนุมหาเสียงทางการเมืองตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 และเป็นศูนย์กลางความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ 6 ตุลาคม 2519

ชวนอ่านบทความเต็ม
ประชาไท