วันพุธ, มกราคม 22, 2563

ศาลอาญาสั่งจำคุก 3 ปี จำเลยคดีสหพันธรัฐไท เพราะขายเสื้อ แจกใบปลิว สหพันธรัฐไท





ศาลอาญาสั่งจำคุก 3 ปี จำเลยคดีสหพันธรัฐไทฐานเป็นสมาชิกกลุ่ม "อั้งยี่" สหพันธรัฐไท

21 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีสหพันธรัฐไทคดีที่หนึ่ง มีจำเลยห้าคนคือ กฤษณะ, เทอดศักดิ์, ประพันธ์, วรรณภาและจินดา จำเลยที่หนึ่งถึงห้าตามลำดับ ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า มีความผิดฐานยุยงปลุกปั่น และเป็นอั้งยี่ ตามมาตรา 116 และ 209 ของประมวลกฎหมายอาญาจากการแนวคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐไทที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขผ่านโลกออนไลน์และการแจกจ่ายใบปลิวและเสื้อยืดสีดำพร้อมโลโก้ธงสีแดงขาวที่หน้าอกเสื้อ


ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นกฤษณะ, เทอดศักดิ์และวรรณภาได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี ขณะที่ประพันธ์ถูกถอนประกันเนื่องจากพยายามลี้ภัยทางการเมืองไปมาเลเซียระหว่างการพิจารณาคดี ส่วนจินดาไม่ปรากฏตัวยังไม่สามารถติดตามตัวได้

ตั้งแต่เวลา 8.40 น. กฤษณะ จำเลยที่หนึ่ง เทอดศักดิ์ จำเลยที่สอง ทนายจำเลย พร้อมด้วยนายประกันทยอยมาที่ห้องพิจารณาคดี โดยวันนี้มีการสืบพยานในคดีอื่นด้วย ทำให้ห้องพิจารณาคดีมีคนค่อนข้างมาก ต่อมาเวลา 9.30 น.ประพันธ์ จำเลยที่สามถูกเบิกตัวขึ้นมาจากใต้ถุนศาล หลังจากนั้นเวลา 9.40 น. ศาลจึงขึ้นนั่งบัลลังก์สอบถามว่า จำเลยในคดีสหพันธรัฐไทมาพร้อมฟังคำพิพากษาแล้วหรือไม่ ทนายจำเลยแจ้งว่า วรรณภายังเดินทางมาไม่ถึง ศาลจึงสั่งให้ทนายจำเลยติดตามมา ก่อนจะสืบพยานในคดีอื่นไปพลาง

ต่อมาเวลา 10.00 น. วรรรภาพร้อมด้วยบุตรชายเดินทางมาถึงศาล เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทำการใส่กุญแจมือจำเลย ศาลที่มีวัยวุฒิสูงสุดบอกให้จำเลยทั้งสี่คนลุกขึ้นยืน พร้อมทั้งบอกว่า ศาลจะอ่านคำพิพากษา จากนั้นเรียกชื่อจำเลยทีคนละคนตามลำดับและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งสี่คนฟังว่า จำเลยทั้งสี่ถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องว่า กระทำความผิดความมั่นคงตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาและฐานอั้งยี่ตามมาตรา 209 ของประมวลกฎหมายอาญา ในชั้นศาลจำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ จากนั้นจึงถามจำเลยทั้งสี่คนว่า ให้การปฏิเสธถูกต้องหรือไม่ จำเลยรับว่า ถูกต้อง ศาลอีกท่านหนึ่งจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา ความโดยสรุปดังนี้

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำการค้นบ้านพักและเชิญตัวไปซักถามตามบันทึกการซักถามที่โจทก์ได้นำส่งมาเป็นหลักฐานประกอบคดี คดีนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดหรือไม่ ก่อนอื่นสมควรต้องวินิจฉัยก่อนว่า องค์กรสหพันธรัฐไทมีอยู่จริงและองค์กรได้กระทำการที่เป็นความผิดหรือไม่ โจทก์มีพยานโจทก์นำสืบในประเด็นดังกล่าวห้าคนคือ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้กล่าวหา, พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ตำรวจผู้ได้รับหน้าที่จาก คสช.ให้ทำหน้าที่สืบสวนและซักถามจำเลยทั้ง 5 ร่วมกับฝ่ายทหาร, พ.ต.ท.ณพอนนท์ ส่องแสงจันทร์ ตำรวจสันติบาลผู้สืบสวนหาข่าว, พ.ต.ท. เสวก บุญจันทร์ พนักงานสอบสวนและร.ต.อ.ครรชิต สีหรอด ตำรวจสันติบาล ที่ให้การยืนยันว่า ภายหลังคสช.ได้เข้าปกครองประเทศ ได้มีการสั่งการให้เฝ้าระวัง สืบสวนสอบสวนบุคคลที่มีพฤติการณ์ละเมิดกฎหมายความมั่นคง ก่อความวุ่นวายในราชอาณาจักร มุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

จากการสืบสวนทราบว่า วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ หรือสหายหมาน้อย ที่มีพฤติการณ์สะสมอาวุธและเคยใช้อาวุธโจมตีกลุ่มกปปส. ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง ที่เดิมฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์ สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด วัฒน์ วรรลยางกูร และสุรชัย แซ่ด่าน(ด่านวัฒนานุสรณ์) ที่เคยถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และได้รับพระราชทานอภัยโทษ ร่วมกันมีพฤติการณ์ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และมีแนวคิดเปลี่ยนแปลงระบบศาลให้เป็นระบบลูกขุน โดยทั้งหมดหลบหนีไปยังประเทศลาว จัดตั้งกลุ่มชื่อว่า สหพันธรัฐไท เผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวคิดผ่านสื่อสังคมออนไลน์เช่น ยูทูป เฟซบุ๊กและไลน์

เนื้อหาการจัดรายการผ่านสื่อสังคมออนไลน์มีลักษณะให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์และล้มล้างระบอบการปกครอง ชักชวนและปลุกปั่นประชาชนให้แสดงออกในแนวทางดังกล่าว เห็นว่า โจทก์มีพยานบุคคลหลายปาก ต่างเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่สืบสวนขึ้นเบิกความเป็นพยานโดยตรง ข้อเท็จจริงสอดคล้องว่า มีกลุ่มบุคคลดังกล่าวจริง เจ้าหน้าที่ที่ทำการสืบสวนต่างปฏิบัติงานตามหน้าที่ ไม่ปรากฏการโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน คำเบิกความจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยการกลั่นแกล้ง เป็นข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือ

ในส่วนของวัตถุพยาน(วิดีโอรายการของกลุ่มสหพันธรัฐไท) พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า ได้ทำการตรวจสอบการจัดรายการลุงสนามหลวง เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบถอดคำพูดอยู่หลายครั้ง พิมพ์ออกมาเป็นข้อความ เมื่อศาลตรวจสอบภาพและเสียง อ่านข้อความประกอบพบว่า บุคคลที่ใช้นามแฝงว่า ลุงสนามหลวง พูดในการจัดรายการ มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ชักจูงประชาชนในรายการจริง จากการตรวจสอบพบว่า มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มสหพันธรัฐไท มีลักษณะเป็นแกนนำทางความคิดตรงตามที่เจ้าพนักงานได้ทำการถอดคำพูด ข้อมูลภาพและเสียงไม่ขาดตอนต่อเนื่องเป็นเรื่องราว

เจ้าพนักงานทำการตรวจสอบปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ปราศจากข้อเท็จจริงในการสร้างหลักฐานเท็จ เนื้อหารายการที่เผยแพร่มีจุดประสงค์ในการประชาสัมพันธ์หามวลชน จึงน่าเชื่อว่า เจ้าพนักงานได้ข้อมูลมาไม่ยาก ไม่มีเหตุพิรุธในการสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำจำเลย ทั้งวัตถุพยานเป็นภาพจริงที่คณะบุคคลตามฟ้องร่วมทำ มีส่วนร่วมทำรายการในสื่อสังคมออนไลน์ยูทูป

วัตถุประสงค์ของกลุ่มดังกล่าวคือมุ่งหมายให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เชื่อได้ต่อไปว่า คณะบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท เมื่อพิจารณาแล้วมีการพูดยุยงให้ประชาชนเห้นพ้อง แสดงออกเช่นการลอบประทุษร้ายและลอบปลงพระชนม์[พระมหากษัตริย์] จึงเป็นความผิดตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต อันเป็นการกระทำที่ครบองค์ประกอบตามมาตรา 116

ประเด็นวินิจฉัยต่อไปคือ จำเลยที่หนึ่งถึงสี่ร่วมกระทำการหรือไม่ เห็นว่า จากการนำสืบของโจทก์ จำเลยที่หนึ่งและสองได้นำแผ่นใบปลิวไปวางที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ขณะที่จำเลยที่หนึ่งและสองนำใบแผ่นใบปลิวไปวาง นอกจากนี้่จากการตรวจค้นบ้านพักของจำเลยที่หนึ่งและสอง พบแผ่นใบปลิว สติกเกอร์ และเสื้อสีดำ เขียนข้อความด้วยน้ำหมึกสีน้ำเงินจำนวน 400 แผ่นที่บ้านพักของจำเลยที่สอง จากการซักถามจำเลยที่ให้ถ้อยคำยอมรับไว้ จำเลยที่สองก็ให้การยอมรับเช่นกัน

จำเลยที่สาม เจ้าพนักงานสืบทราบว่า เป็นระดับแกนนำที่เคลื่อนไหวภายในประเทศ ชักชวนบุคคลผ่านไลน์ จากการซักถามของเจ้าพนักงานจำเลยที่สามให้ถ้อยคำยอมรับไว้ จำเลยที่สี่เป็นบุตรของสมพิศ สมบัติหอมที่หลบหนีไปที่ประเทศลาว จำเลยที่สี่เป็นคนไปรับเสื้อสีดำไปส่งให้แก่สมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไททางไปรษณีย์หลายครั้ง จากการตรวจค้นบ้านพักของจำเลยที่สี่พบเสื้อดำติดธงสัญลักษณ์ขาวแดงขาวจำนวนมาก จำเลยที่สี่ให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานไว้ด้วย

การที่เจ้าพนักงานตรวจพบภาพจากกล้องวงจรปิดในตอนที่จำเลยที่หนึ่งและสองนำแผ่นใบปลิวไปวางย่อมเป็นพยานชั้นดีว่า จำเลยที่หนึ่งและสองมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท ประกอบกับการที่ตรวจพบแผ่นใบปลิว สติกเกอร์และเสื้อสีดำ จากบ้านพักของจำเลยที่หนึ่งและสอง เชื่อได้ว่า จำเลยที่หนึ่งและสองนำใบปลิวไปวางจริง และเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไทจริง แต่บทบาทหน้าที่ของจำเลยตามที่โจทก์เบิกความนั้นเห็นว่า มีเพียงการนำแผ่นใบปลิวไปวาง และเก็บแผ่นใบปลิวและสติกเกอร์ไว้ที่บ้านพักเท่านั้น

พิจารณาข้อความในแผ่นใบปลิวที่จำเลยทั้งสองนำไปวางเขียนทำนองว่า สหพันธรัฐไทเป็นการปกครองเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญแล้ว จัดให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับ มีคณะลูกขุนที่เลือกโดยประชาชน รัฐสวัดิการตั้งแต่เกิดจนถึงตาย การศึกษาฟรีตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย สนใจติดตามยูทูปช่องลุงสนามหลวง รหัส 20082008 เห็นว่า เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับสหพันธรัฐไทเท่านั้น ส่วนสติกเกอร์เขียนทำนองว่า สหพันธรัฐไทเป็นการปกครองแบบกระจายอำนาจ เลือกตั้งทุกตำแหน่งเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน เห็นว่า ข้อความไม่มีลักษณะใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่มีลักษณะปลุ่กปั่นประชาชนหรือไม่มีลักษณะให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

การกระทำของจำเลยที่หนึ่งและสองไม่น่าจะเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 116 ไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ความเกี่ยวข้องในเรื่องอื่นอย่างสำคัญ ส่วนความเกี่ยวข้องในฐานะผู้จัดรายการหรือผู้พูดในรายการ โจทก์นำสืบอ้างว่า เฟซบุ๊กของจำเลยที่หนึ่งมีการเผยแพร่ข้อความละเมิดมาตรา 116 พิเคราะห์แล้วไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยที่หนึ่งแสดงกิจกรรมที่เข้าข่ายความผิดดังกล่าว

จำเลยที่สามมีพฤติการณ์ชักชวนประชาชนผ่านไลน์ จำเลยที่สี่รับเสื้อดำที่ติดธงสัญลักษณ์ส่งให้แก่สมาชิกกลุ่มและถ่ายรูปคู่กับใบปลิวตามสถานที่ต่างๆ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยที่สี่ได้่วางแผ่นใบปลิวที่ใด ทั้งข้อความไม่มีลักษณะการปลุกปั่น การกระทำของจำเลยที่สามและสี่ไม่มีลักษณะใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่มีลักษณะปลุ่กปั่นประชาชนหรือไม่มีลักษณะให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เช่นเดียวกับจำเลยที่หนึ่งและสอง

ส่วนการพูดยุยงของคณะบุคคลดังกล่าวให้ทำการลอบประทุษร้ายและลอบปลงพระชนม์[พระมหากษัตริย์] ไม่อาจตีความได้ว่า ผู้จัดรายการพูดแทนจำเลยที่หนึ่งถึงสี่หรือเป็นการกระทำของจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ไปด้วย

พยานหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่า จำเลยที่หนึ่งถึงสี่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรสหพันธรัฐไท มีส่วนในการกระทำสนับสนุนช่วยเหลือให้คณะบุคคลดังกล่าวสามารถดำเนินงานต่อไปได้ เช่น การวางแผ่นใบปลิว สติกเกอร์หรือเสื้อดำ มีข้อความให้ติดตามทางยูทูป 20082008 รายการที่ดำเนินโดยคณะบุคคลดังกล่าวมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ฟังได้ว่า จำเลยที่หนึ่งถึงสี่เป็นสมาชิกกลุ่มที่มีวัตุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตราหนึ่งถึงสาม มีการใช้ธง ใช้รหัสตัวเลขแทนความหมายที่ทราบเฉพาะในกลุ่มของตนเอง

ในชั้นศาลจำเลยที่หนึ่งถึงสามไม่ได้เบิกความสืบพยาน เพียงให้การปฏิเสธลอยๆฟังไม่ขึ้น จำเลยที่สี่นำสืบ เบิกความว่า ไปเยี่ยมสมพิศ แม่ของจำเลยที่ประเทศลาว ที่นำส่งเสื้อดำนั้นเพียงต้องการมีรายได้ ไม่ทราบว่า เสื้อดังกล่าวมีความหมายใด หรือมีความหมายเกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท ก่อนเกิดเหตุแม่ของจำเลยถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตาม จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างดี และไม่ใช่เรื่องปกติ เมื่อจำเลยไปพบแม่ที่ประเทศลาว แม่ของจำเลยขอให้จำเลยส่งเสื้อให้ อยู่ในวิสัยที่จำเลยจำทราบได้ว่า เสื้อดังกล่าวมีความหมายถึงสิ่งใด ปรากฏตามภาพถ่ายใบปลิวที่มีข้อความที่ต่อเนื่องไปถึงองค์กรสหพันธรัฐไท การกระทำของจำเลยที่สี่ถือว่ามีส่วนช่วยให้องค์กรดำเนินงานต่อไปได้แล้ว ถือเป็นสมาชิก การหักล้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ให้ลงโทษจำเลยที่หนึ่งถึงสี่ตามมาตรา 209 วรรคหนึ่งประกอบมาตรา 83 จำคุก 3 ปี จำเลยที่สองและสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน**เป็นประโยชน์ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงโทษจำคุกจำเลยที่สองและสามสองปี

เวลา 10.27 น. ศาลอ่านคำพิพากษาจบ เทอดศักดิ์ จำเลยที่สองถามต่อศาลว่า ผมไม่เคยทำความผิดมาก่อน ศาลไม่ลดโทษให้เลยหรือ ศาลบอกว่า ลดโทษให้แล้ว วรรณภาจึงถามคำถามเดียวกัน ศาลตอบว่า ไม่มีเหตุให้ลดโทษ ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ พยานหลักฐานเห็นว่า มีส่วนเกี่ยวโยงกัน และจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ ให้อุทธรณ์ต่อไป