ไม่พลาดจากความคาดหมาย (อย่างน้อยของ
ชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์) ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดี ‘อิลลูมินาติ’
แต่ “พรรคอนาคตใหม่ยังเหลือคิวรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีที่ กกต. กล่าวอ้างว่าพรรคอนาคตใหม่ฝ่าฝืนมาตรา ๗๒ แห่ง พ.ร.ป.
ว่าด้วยพรรคการเมือง”
หรือที่เรียกกันว่าคดีที่ธนาธร
ให้พรรคกู้เงิน ๑๙๐ ล้านเพื่อใช้ดำเนินการระยะเริ่มต้น และหาเสียงเลือกตั้ง ๒๔ มีนา
๖๒ ซึ่งหากวินิจฉัยว่ามีความผิด จะเพียงตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค
และ/หรือให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ให้กู้ยืม
ยิ่งชีพ (เป๋า) @yingcheep แห่ง ‘ไอลอว์’ คอมเม้นต์ทันทีว่าเป็น
“เกมการเมืองที่ชาญฉลาด ปั้นกระแสเหมือนจะยุบ มาถึงวันนี้ไม่ยุบ ถ้าวันหลังมีคำวินิจฉัยอะไรออกมา
จะกล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญเอียง ตัดสินเป็นโทษกับอนาคตใหม่ตลอด
ใครจะพูดแบบนี้ก็ไม่ได้แล้ว”
@ThaiPBSNews รายงานว่า “๑๓.๑๐ น.
(๒๑ มกรา) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค #อนาคตใหม่
แถลงหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยยกคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่ ว่า
ผมและ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จะมุ่งมั่นทำงานในสภาฯ
ตรวจสอบรัฐบาลอยากแข็งขัน โดยจะรณรงค์หลายร่างพระราชบัญญัติ เช่น ยกเลิกประกาศ
คสช. ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ”
‘ประชาไท’ ให้รายละเอียดคำตัดสินวึ่งอ่านโดย
ตลก.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ สรุปว่าพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคต่อ
กกต. ครบถ้วนตามมาตรา ๑๓ ๑๔ และ ๑๕ ของ พรป.พรรคการเมือง และได้รับอนุญาตแล้ว
“ย่อมแสดงว่า
ข้อบังคับพรรคไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดังที่ผู้ร้อง (นายณฐพร โตประยูร) กล่าวหา รวมทั้งที่อ้างว่าผู้ถูกร้องทั้งสี่
“มีแนวคิดเป็นปฏิกษัตริย์นิยม”
นั้นก็ยังไม่ “ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมาย
ในระดับที่วิญญูชนคาดให้เห็นว่าอาจคาดเห็นได้” ว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์ “ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา ๔๙ วรรค ๑”
แต่ศาลก็มีความกรุณา สร้างเกราะกำบังมิให้ผู้ร้องถูกฟ้องกลับในภายหลัง
ว่า “การยื่นคำร้องคงเป็นเพียงข้อห่วงใยของผู้ร้องในฐานะพลเมือง ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบการปกครองของประเทศ”
ทั้งยังเห็นพ้องกับผู้ร้องว่า “คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองข้อที่
๖ วรรค ๒ ว่า อนค. ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” นั้นยังคลุมเครือ ไม่ชัดเจน
จึงแนะให้ กกต.ทำตามหน้าที่ “พิจารณาให้เพิกถอนข้อบังคับนั้นได้เพื่อป้องกันความสับสนและความขัดแย้ง”
และให้ “ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขให้สอดคล้องต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญต่อไป”
นั่นคือให้ต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒ “ที่ว่าประเทศไทยมีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”