วันพฤหัสบดี, มกราคม 30, 2563

"จักรภพ เพ็ญแข" โพสต์แชร์ บทเรียนสมัยไข้หวัดนกและซาร์สระบาดยุคนายกทักษิณ ว่าได้รับบทเรียนอะไรบ้าง




เรื่องโรคระบาดขณะนี้เป็นเรื่องใหญ่ เวลาทุกวินาทีมีค่าและมีความหมาย สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้ จึงไม่มีเจตนาจะโจมตีกันทางการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น แต่อยากให้รีบช่วยชาติก่อน

ช่วงไข้หวัดนกและซาร์สระบาด ผมเป็นโฆษกรัฐบาลของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เราได้รับบทเรียนดังนี้

1. อย่ากลัวที่จะยอมรับต่อหน้าประชาชน สื่อมวลชน และต่างชาติว่าเราพลาดอะไรไปบ้าง ตอนนั้นผมใช้คำว่า เรา "screwd up" ซึ่งแปลว่าพลาดไป พูดต่อหน้าสื่อเต็มห้องที่ศูนย์แถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ เพราะระบบราชการเราขณะนั้นไม่ได้เตรียมพร้อมเกี่ยวกับโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ๆ เก่งแต่โรคเก่าที่เคยมีมาแล้ว ผมนึกว่าผมอาจจะถูกท่านนายกฯ ปลด เพราะพูดให้รัฐบาลเสียหาย แต่นอกจากจะไม่ปลดแล้ว ท่านยังอาศัยท่าทีที่ยอมรับความจริงของไทยแบบนี้ เดินหน้าต่อไปจนถึงจุดที่เราแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ บทเรียนในเรื่องนี้คือ อย่าโกหก อย่าเห็นแก่หน้า จงยอมรับความจริง และมุ่งหน้าบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

2. ไม่มีกี่คนที่จะรู้ว่า นายกฯ ทักษิณ เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่กระจายอำนาจอย่างที่สุด ท่านไว้ใจรองนายกฯ ของท่านทุกคน และมอบอำนาจ (delegate) ให้คนอื่นจนแทบหมดตัว ท่านทำอย่างนี้เพื่อให้นายกรัฐมนตรีมีเวลาคิดอ่านในเรื่องสร้างชาติบ้านเมือง และมีเวลาแก้ไขปัญหา วันหนึ่งท่านใช้เวลาในราว 15 นาทีลงนามมอบงานให้รองนายกฯ และเอาเวลามาคิดงานใหญ่ๆ แทน การทำเช่นนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้นายกฯ ทักษิณ แก้ไขปัญหาทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว ทำได้เยอะ และมีประสิทธิภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นตอนโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก คลื่นยักษ์สึนามิ และอื่นๆ อีกมากมาย ก็ลงเอยดีหมด บทเรียนข้อนี้โดยสรุปคือ นายกรัฐมนตรีต้องทำตัวว่างสำหรับบริหารงานบ้านเมือง ไม่ใช่เซ็นหนังสือมากแล้วโม้ว่าทำงานมาก แบบนี้อายเขา เพราะเท่ากับสารภาพว่าทำงานไม่เป็น ไม่รู้ว่าอะไรสำคัญไม่สำคัญ

3. ในสมัยเราเป็นรัฐบาล มีการประชุมประจำระหว่างนายกฯ ทักษิณ กับปลัดกระทรวงและเทียบเท่า (ซี 11) ทุกกระทรวง กลไกนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถปรึกษาหารือและสั่งงานข้ามกระทรวงในเรื่องที่จำเป็นได้ สามารถนำมาแก้ไขปัญหาอย่างไวรัสโคโรน่าได้อย่างเหมาะเจาะมาก มัวแต่รอประสานงานแบบเก่า ประชาชนก็ตายก่อน

4. นายกรัฐมนตรีต้องใช้ ส.ส. เป็นตัวแทนทำประชุมย่อย (workshop) ในระดับเขตพื้นที่ เพื่อเอาข้อมูลมาถ่วงดุลและคานกับข้อมูลจากแห่งอื่นๆ ข้อมูลมีผิดมีพลาดได้ ล้าสมัยได้ เชื่ออะไรแหล่งเดียวก็เจ๊ง ถ้าไม่ใช้แล้วจะมีระบบตัวแทนประชาชนไว้ทำอะไร

5. ยอมรับกันสักทีว่า ระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตยปลอมๆ อย่างเดี๋ยวนี้ มันคือต้นแบบของระบบบริหารที่ไม่กล้ายอมรับความจริง ไม่ว่าจะเรื่องนี้หรือเรื่องไหน รัฐบาลนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องสอพลอตอแหลและอวดเบ่งกันเหมือนแมงป่องชูหาง อย่าลืมนะครับว่าเมืองไทยเป็น 1 ใน 5 ของประเทศต้นทางในเรื่องโรคร้ายนี้ โลกทั้งโลกเขากำลังจ้องมองเรา โดยนำเราไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นอยู่ อย่าทำกระจอกโชว์ใดๆ ให้ลูกหลานมันต้องอายนักเลย

อย่างไรก็ตาม ขอให้แก้ไขให้สำเร็จครับ แล้วค่อยมาฟาดกันต่อทางการเมือง!

จักรภพ เพ็ญแข
28 มกราคม พ.ศ.2563