วันเสาร์, มกราคม 25, 2563

การเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีผลเสีย(อย่างน้อย) 4 ประการต่อรัฐบาล




การเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นอกจากจะส่งผลต่อร่างกฎหมายแล้วยังส่งผลต่อ ส.ส. ที่เสียบบัตรแทนกันด้วย ซึ่งจากนี้คือผลกระทบ 4 ข้อ จากการเสียบบัตรแทนกัน

➊ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะการออกเสียงไม่สุจริต

ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินเมื่อปี 2557 เมื่อมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรแทน ส.ส. คนอื่นทำให้ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ซึ่งผ่านสภาแล้วมีอันต้องตกไป

➋ ส.ส. เสียบบัตรแทนถูก ป.ป.ช. ไต่สวนถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ประเด็นนี้ ป.ป.ช. เคยไต่สวนอดีต ส.ส.เพื่อไทย จนนำไปสู่การส่งเรื่องให้ สนช. ในปี 2557 เพื่อถอดถอน ส.ส. ซึ่งนำมาสู่การตัดสิทธิทางการเมือง

ซึ่งจากเหตุการณ์ปัจจุบัน ป.ป.ช. สามารถไต่สวน ส.ส. เสียบบัตรแทนได้ เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาตัดสิน

➌ ส.ส. เสียบบัตรแทนถูกศาลฎีกาตัดสิทธิทางการเมืองไม่เกิน 10 ปี

ประเด็นนี้ หากศาลฎีกาตัดสิน ส.ส. เสียบบัตรจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไม่เกิน 10 ปี ซึ่งต่างจากกรณีของ ส.ส. เพื่อไทย ที่ สนช. ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

➍ ส.ส. เสียบบัตรแทนถูกดำเนินคดีอาญา โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับสูงสุด 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประเด็นนี้ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยกำลังถูกดำเนินคดีอาญาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง ส.ส. เสียบบัตรแทนในกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก็เข้าข่ายต้องเข้าสู่กระบวนการนี้ด้วยเช่นกัน
.
.
๐ อ่านต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5531