วันพุธ, มกราคม 22, 2563

จับตาศาลรัฐธรรมนูญกับอภินิหารตีความทางกฎหมาย กรณีเสียบบัตรแทน หากมีการส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย




ศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างเหตุผลอภินิหารทางกฎหมาย ลบล้างแนววินิจฉัยเดิมของตนอย่างไร

******
......เรื่องนี้เกี่ยวกับความเชื่อมั่นต่อประเทศ สุดท้ายก็จะต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเพียงแค่ตั้งสอบอย่างนี้ผลจะสรุปออกมาอย่างไร ก็ไม่เป็นที่ยุติ เนื่องจากที่ผ่านมาเราเคยยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว

....... ครั้งนี้ จึงน่าติดตามว่า รัฐบาลจะสะดุดขาตนเอง หรือตายน้ำตื้นหรือไม่ ที่สำคัญคือที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยเดิม "ผูกพันตนเอง"ไว้แล้ว ครั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะอ้างเหตุผลอภินิหารทางกฎหมาย ลบล้างแนววินิจฉัยเดิมของตนอย่างไร

…..กรณีนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง ไม่ใช่เรื่องรับสารภาพ แต่เป็น จำนนด้วยหลักฐาน ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า มีการเสียบบัตรลงมติในขณะที่นายฉลอง ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม โดยพฤติกรรมซึ่งมีคนอื่นเสียบบัตรลงมติแทน แค่บัตรคาอยู่ตามข้ออ้างฟังไม่ขึ้น เพราะมีการโหวตเป็นคะแนนให้ฝ่ายรัฐบาลด้วย ทั้งผู้กระทำแทนดังกล่าว ก็ไม่น่าเชื่อว่า จะเป็นคนอื่นนอกจาก ส.ส.ด้วยกัน และแน่นอนว่าจะต้องเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ยิ่งนายฉลอง ปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้ใช้ให้กระทำ หรือรู้เห็นเป็นใจ...กรรมก็ยิ่งตกหนักแก่ ส.ส.ผู้ที่เสียบบัตรแสดงตนแทน ที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๙/๕ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

............นอกจากนั้น อาการที่สอดบัตรแสดงตนและลงมติเป็นคะแนนโดยเท็จว่าเป็นความเห็นของนายฉลองที่ลงมติดังกล่าว ที่มีผลต่อมติรวมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งยังมีผลต่อการใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศนี้ ด้วย ผมเห็นว่า ยังมีลักษณะเป็นการ #นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ #โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ #ความปลอดภัยสาธารณะความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ #หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ ตามความในมาตรา ๑๔ (๒) ของ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย

........อย่างไรก็ตาม นั่นเป็น ความผิดของผู้กระทำ แต่ที่น่าพิจารณาคือ ผลต่อ ร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๓ ที่จะต้องนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาอย่างไร

.........เหตุผลสำคัญใน #คำวินิจฉัยเดิม ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ #เป็นบรรทัดฐานผูกพันศาลเอง ในกรณีนายนริศร ทองธิราช เสียบบัตรลงมติแทน ส.ส.อื่น ในการพิจารณา ร่าง พรบ.เกี่ยวกับการเงิน สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ในลักษณะว่า

.......ฯลฯ...พฤติกรรมของนายนริศร ที่ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หลายใบเสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน เป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการใช้สิทธิออกเสียง ที่ ส.ส. ๑ คนย่อมมีสิทธิออกเสียงเพียง ๑ เสียง ตามรัฐธรรมนูญ ๑๒๖ วรรคสามกำหนด นอกจากนั้นแล้ว พฤติกรรมนั้นยังถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติ หรือการครอบงำใด รวมถึงต้องปฏิบัติตนด้วยความชื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย

…….“ศาลพิจารณาพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติได้ว่า นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนแทน ส.ส.รายอื่น ในการประชุมสภา เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๖ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๒๒และ ๑๒๖ ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก ๖ ต่อ ๒ เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

**********

...........เหตุผลดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญอ้าง มาตรา ๑๒๒ และ มาตรา ๑๒๖ วรรคสามของ รัฐธรรมนูญฉบับ ปี ๕๐ ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ซึ่งในรัฐธรรมนูญ ปี ๖๐ ฉบับปัจจุบัน ยังมีเนื้อความเช่นเดียวกับฉบับปี ๕๐ อยู่ครบถ้วนในมาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๑๒๐ วรรคสาม

...........จึงต้องติดตามดูว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะสร้างอภินิหารทางกฎหมาย ที่จะช่วยรัฐบาล คสช.มิให้ร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ตกเป็นโมฆะ ซึ่งมีผลไม่ต่างจาก สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ผ่านร่าง พรบ.งบประมาณ ได้อย่างไร... ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญถึงกับจะต้องกลับแนวคำวินิจฉัยของตนเอง..ให้นักกฎหมายในประเทศนี้ตะลึงตามๆกัน ด้วยเหตุผลเช่นไร...เพราะหลังจาก คสช.เข้ามาครอบงำประเทศนี้ เราได้เห็นคำวินิจฉัยทั้งขององค์กรอิสระ และของศาลรัฐธรรมนูญ อันแปลกประหลาด เหลือเชื่อ มาแล้วมากมาย ถึงขนาดที่ต้องเผาตำรากฎหมายที่มีอยู่ในสากลจักรวาลนี้ทิ้ง

/บรรณ แก้วฉ่ำ ๒๑ ม.ค.๖๓




ทีมกฎหมายของรัฐสภา เห็นตรงกับความเห็นผมที่ทำไว้ก่อนนี้ คือ จะต้องส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย แต่ผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ที่แตกต่างไปจากความเห็นของนักกฎหมายของรัฐสภา คือ

๑. ไม่ควรคิดว่า เป็นแค่ ๑ เสียง อย่างเรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง พบว่า แจกเงินให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้เลือกตนเอง แม้พบว่าแจกเพียงคนเดียว ทั้งปรากฏว่า ผลเลือกตั้ง ผู้แจกเงิน ชนะคู่แข่งเป็นหมื่นคะแนน ก็ยังต้องยกเลิกเพิกถอนผลการเลือกตั้งนั้นอยู่นั่นเอง..จะอาศัยตรรกกะว่าชนะตั้งหมื่น แต่พบแจกเพียงคนเดียว หาได้ไม่

๒. ถ้าเห็นว่าแค่ ๑ คน หนึ่งเสียง...แล้วจะเอาบรรทัดฐาน ที่จำนวนเท่าใด เป็น ๒ คน เป็น ๓ คน ๔ คน หรือ ต้อง ๕๐๐ คนจึงจะทำให้ ร่าง พรบ.ฉบับดังกล่าวเสียไป..ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากวินิจฉัยว่า แค่เสียงเดียวเป็นเรื่องเล็กน้อย..ก็จะหาหลักเกณฑ์ที่แน่นอนไม่ได้เลย

๓. ประเด็นเรื่องตรวจสอบไม่ได้ว่า ใครเป็นคนเสียบบัตร ผมคิดว่าถ้าแม้ในที่ประชุมสภา ยังตรวจสอบการกระทำผิดดังกล่าวไม่ได้ ก็จะทำให้สภา เสื่อมเสีย ขาดความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง

๔. โดยส่วนตัวผมเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะเป็นเรื่อง โกงคะแนนเสียงบิดเบือนมติของสภาผู้แทนราษฎร ความผิดลักษณะนี้ แม้กระทำกันใน อบต.เล็กๆ เช่น ลงเวลาปฏิบัติราชการแทนกัน โดยมิได้มาปฏิบัติราชการ ก็ลงโทษวินัยถึงขั้นไล่ออกจากราชการ ครับ ผมคิดว่า มาตรฐานระดับ สภาผู้แทนราษฎร ไม่ควรต่ำกว่า ระดับ อบต.

/บรรณ แก้วฉ่ำ ๒๑ ม.ค.๖๓
..