วันพฤหัสบดี, มกราคม 23, 2563

รางวัลสื่อมวลชน เพื่อสิทธิมนุษยชน 2562 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย




ที่มา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

วันที่ 22 มกราคม 2562 เวลา 13.30 น. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัล “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2562 ณ ห้องประชุมลูนาร์ ชั้น 10 โรงแรม อวานี ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ (AVANI Riverside Bangkok) โดยมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสื่อโทรทัศน์

นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า สื่อมวลชนเปรียบเสมือน “ครู” ผู้ทำหน้าที่ในการร่วมกันบ่มเพาะคนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม และสื่อมวลชนจะได้มีพลังในการยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อไป ในส่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม

ที่ปรึกษาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินผลงานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2562 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสายสื่อมวลชนและสายสิทธิมนุษยชน จากการคัดสรรและตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด ผลการตัดสินมีดังนี้

รางวัลชมเชยข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ 1 รางวัล ได้แก่
ผลงานชุด “Friendly Design เมืองไม่พิกล คนไม่พิการ” นิตยสารสารคดี

รางวัลดีเด่นข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ 2 รางวัล ได้แก่
ผลงานเรื่อง “แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล” เว็บไซต์บีบีซีไทย
ผลงานเรื่อง “ประเทศไร้ใบหน้า ผู้คนไร้แผ่นดิน ตามหาความเป็นมนุษย์ในคำว่า ‘ชาติ’ " เว็บไซต์ 101.world


รางวัลชมเชยข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ 4 รางวัล ได้แก่
ผลงานเรื่อง “นิตยา ม่วงกลาง: ฉากและชีวิตของผู้ยากไร้ในอุทยานไทรทอง” เว็บไซต์อีสานเด้อ
ผลงานเรื่อง “สิ่งที่เราเห็นแล้วรีบเดินผ่าน... ‘ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน อยู่อย่างไร’ ใครดูแล” เว็บไซต์ประชาไท
ผลงานชุด “จากตำรวจในสงครามยาเสพติดสู่ชีวิตนักโทษประหาร” เว็บไซต์ Pepperoni News
ผลงานชุด “ค้านเหมืองแร่โพแทชเมืองสกลฯ ชัยชนะที่รอวันสิ้นสุด” เว็บไซต์อีสานเรคคอร์ด


รางวัลดีเด่นข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวไม่เกิน 20 นาที) 1 รางวัล ได้แก่
ผลงานเรื่อง “SLAPPs ฟ้องปิดปาก ปิดเสียง” สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์

รางวัลชมเชยข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวไม่เกิน 20 นาที) 3 รางวัล ได้แก่
ผลงานเรื่อง “สืบสิทธิ์ สุสานมอแกน” สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ผลงานเรื่อง “พลิกแฟ้มคดี ‘ซีอุย’ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นมนุษย์กินคน” สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี 36
ผลงานเรื่อง “คนข้างถนน” สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี 36


รางวัลดีเด่นสารคดีหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที) 2 รางวัล ได้แก่
ผลงานเรื่อง “ดีเอ็นเอ-ซิมการ์ด ปฏิบัติการสองแพร่ง” รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ผลงานเรื่อง “การกลับมาของบิลลี่” รายการสารตั้งต้น สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี 36


รางวัลชมเชยสารคดีหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที) 2 รางวัล ได้แก่
ผลงานเรื่อง “ติดคุกเพราะบุกรุกป่า” รายการบิ๊กสตอรี่ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ผลงานเรื่อง “ผู้ลี้ภัยในเงา” รายการเปิดปม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส


นายสมชาย หอมลออ กล่าวต่อว่าในปีนี้ยังจัดให้มีการปาฐกถาในหัวข้อ “การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม: Journalism is not a crime” โดย ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีที่ถูกฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท

ในตอนท้ายนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้กล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่เป็นบุคคลสำคัญที่สุดของงานในวันนี้ที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนและเป็นสื่อกลางในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั้งที่ผ่านมาและจะทำต่อไป