วันพฤหัสบดี, มกราคม 30, 2563

คาดผิดกันไปตามๆ ศาล รธน.รับพิจารณาคำร้อง 'เสียบบัตรแทนกัน'


อ้าว ไหน สว.ตู่ตั้งบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยปม ส.ส.รัฐบาลตู่กำลังเป๋เสียบบัตรแทนกันไง วานนี้ (๒๙ มกรา) ศาล รธน.เปิดอ้ารับคำร้องของ ส.ส. (รัฐบาล ๑๐๙ คน ฝ่ายค้าน ๘๔ คน) แล้วนะ ในประเด็นการตราร่าง พรบ. งบประมาณปี ๖๓ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลมีคำสั่งให้ ส.ส. ๓ คน และเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ยื่นหนังสือชี้แจงภายในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ (ส.ส.ทั้งสามคือนายฉลอง เทอดวีรพงศ์ กับนายสมบูรณ์ ซารัมย์ พรรคภูมิใจไทย และนางสาวภริม พูลเจริญ พรรคพลังประชารัฐ)

Jin Somroutai ผู้สื่อข่าวช่อง ๓ ตั้งข้อสังเกตุว่า “ที่แปลกใจคือไม่มีชื่อ ส.ส.นาที (รัชกิจประการ) ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่ง “เป็นอีกคนที่นิพิฏฐ์ (อินทรสมบัติ) ออกมาแฉว่ามีการโหวตขณะที่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ในห้องประชุม (เดินทางไปเมืองจีน)”

เธอเสริมด้วยว่า “ส.ส.นาที ก็เก็บตัวเงียบ ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ตั้งแต่วันที่นิพิฏฐ์ออกมาแฉ จำได้ปะคะ ก่อนหน้านี้ ส.ส.นาที เคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก ๑ เดือน รอลงอาญา ๑ ปี คดียื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ ตอนนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์”
 
นั่นควรจะน่าสงสัยว่าทำไมหายไปได้ ในเมื่อศาลออกข่าวว่า ประธานฯ เป็นผู้ส่งคำร้องจาก ส.ส. ๓ กลุ่ม คือค่ายรัฐบาลโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ฝ่ายค้านโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ฤาว่าทั้งสองกลุ่มนี้หลงลืมตรงกัน ไม่ได้ใส่ชื่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทยรายนี้

กลุ่มที่สามเป็นของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส โดยมี ส.ส.ร่วมเข้าชื่อ ๗๗ คน แต่ศาลบอกว่าใน ๗๗ คนมีซ้ำกับของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ๓๐ คน ทำให้จำนวนที่เหลือไม่ถึง ๑ ใน ๑๐ ของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา คืออย่างน้อย ๗๕ คน

“กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๔๘ วรรค ๑ ประกอบกับ พรป.ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗ (๑) จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย”


จะอย่างไรก็ดี ส.ส.นาทีหลุดได้นี่สะใจ สว.ตู่ตั้งตัวเอ้รายหนึ่ง เสรี สุวรรณภานนท์ เพิ่งออกมาโวยว่าปมการเสียบบัตรแทนกันนี้เป็นเรื่องของสภาต้องแก้กันเอง ศาลไม่เกี่ยว เขาใช้คำพูดอ้างน่าจำไว้ใช้กับเจ้าตัวเองคราวหน้าคราวหลัง

“การทำหน้าที่ในสภาฯ เป็นเอกสิทธิของ ส.ส.และ ส.ว. ที่เป็นอำนาจสูงสุดของประเทศ ดังนั้นไม่มีองค์กรใดจะก้าวก่ายแทรกแซงได้” จะส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อเป็นประเด็นที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ “หรือเป็นทางตันที่สภาฯ ไม่สามารถหาทางออกได้”


สว.ผู้ที่ผ่านมามักมีความเห็นเอื้ออำนวยต่อรัฐบาลชุดที่คนกุมอำนาจในนั้นตั้งตนเข้ามา อ้างว่าเรื่องเสียบบัตรนี่ทำนองเดียวกับองค์ประชุมไม่ครบ ต้องให้สภาเป็นผู้จัดการแก้ไขเอง แกคงเพ้อเจ้อไปนิด ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด

เพราะประเด็นที่เขายื่นศาลพิจารณาเป็น ความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่าง พรบ.งบประมาณที่มีการกระทำผิดนั่นต่างหาก ไม่ควรรีบกระโจนเข้าไปขวางคลองก่อนศึกษาให้ถี่ถ้วน ควรเงี่ยฟังนักกฎหมายอื่นๆ ไว้บ้าง
 
อย่าง พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักกฎหมายมหาชนของจุฬาฯ บอกว่าการทำคำร้องของ ส.ส.กลุ่มรัฐบาล ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔๘ ที่ใช้อ้างนั้น นั่นคือไม่ใช่ทำคำร้องเพื่อ “สอบถามความเห็นทางกฎหมาย (Legal advisory opinion)

ในคำร้องดังกล่าวถามศาลว่า การตรา พรบ.โดยมีเสียบบัตรแทนกันนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ถ้าขัดจะทำให้ร่าง พรบ.นั้นตกไปหรือไม่ และถ้าร่างตกไปจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากจะสอบถามความเห็นอย่างนั้นต้องใช้ช่องทางอื่น

ทางด้าน ธีระ สุธีวรางกูร จากฟากธรรมศาสตร์ ชี้ว่าตามมาตรา ๑๔๘ วรรค ๑ “ผู้เสนอคำร้องจะต้องมีความเห็นก่อนว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้นตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ” ดังนั้นการทำคำร้องแค่ ถาม เฉยๆ นี้ “ซึ่งหากไม่มีการแก้ไข ศาลก็ต้องไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณา”

นักกฎหมายหนึ่งในคณะนิติราษฎร์ผู้นี้มีข้อสังเกตุด้วยว่า ฝ่ายรัฐบาลมีมือกฎหมายที่ฟู่ฟ่าอย่างรองนายกฯ (วิษณุ เครืองาม) ไม่น่าปล่อยให้ ส.ส.ข่ายตนทำอะไรผิดๆ อย่างนั้น หรือว่าเป็นการเสนอ “ให้ศาลยกคำร้อง แล้วเดินเกมการเมืองต่อไป”

เป็นอันว่าคาดผิดกันไปตามๆ ศาลรับพิจารณาคำร้องแล้ว ส่วนจะวินิจฉัยอย่างไร ตีตกภายหลังด้วยข้ออ้างใดก็ตามแต่ หรือว่าสั่งให้โหวตงบประมาณกันใหม่ ไม่รู้ได้ เสียดายว่ามีเรื่อง #ไวรัสโคโรน่า เข้ามาขัดตาทัพ แม้ว่าจะทำให้รัฐบาลบักโกรกไปหน่อย จากการรับมืออย่างสะเพร่า

นี่ถ้านักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนวัย ๓๒ ปี ที่เสียชีวิตในรีสอร์ท อ.แม่ริม ซึ่งเพิ่งบินจากกวางโจวเข้าเชียงใหม่เมื่อ ๒๘ มกรานี่เอง เกิดชันสูตรพบว่าตายด้วยไวรัสโคโรน่าละก็ฟุ้งใหญ่ รัฐบาลต้องโอดโอยเรียกร้องความสามัคคีต่อสู้โรคร้าย ลืมเรื่องทุจริตในแวดวงรัฐบาลไปได้เลย
ในเมื่อชาวอู๋ฮั่น ๕ ล้านคนที่ชิงออกนอกพื้นที่ได้ก่อนเกิดข่าวระบาดครึกโครม นอกจากที่ไปอยู่ตามที่ต่างๆ ในจีนเอง ๔.๙ ล้านคนแล้ว ที่ออกไปต่างประเทศมีไทยละมากที่สุด ๒ หมื่นคนเสียด้วย