วันศุกร์, กรกฎาคม 12, 2562

จะดันทุรังตั้งรัฐมนตรีอย่างไร ท้ายสุดมาลงที่การทำมาหากินท้องกิ่ว เจอ ‘ทุเรียนเน่า’ หน้าด่านข้ามแดน ผักจีนถล่มตลาดไทย

จะดันทุรังตั้งรัฐมนตรีกันไปอย่างไร ท้ายที่สุดก็ต้องมาลงที่ปากท้องประชาชน เพราะภาวะการณ์ตอนนี้เหี่ยวแห้งท้องกิ่วกันจะทั่วหน้า รองนายกฯ ที่ว่าเป็นกูรูเศรษฐกิจ บอก ทั่นรองฯนี่ไม่ได้มีผมคนเดียวนะครับ แถมมาลุ๊คใหม่ “ไม่คิดว่าเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อ้าง “ถ้าจะคิดว่ามันจะรอดพ้นจากเศรษฐกิจโลกคงไม่ไหว ต้องพยายามประคองกันไป” ไม่ใช่แค่โทษเศรษฐกิจโลกท่าเดียวเท่านั้น แต่ “มีรองนายกฯ หลายคน จะแบ่งเบากันกำกับดูแล” แถมคำคม

“เวิลด์แบงก์ประเมินจีดีพีไว้ที่ ๓.๕ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกแบบนี้ถือว่าดีแล้ว ถ้าช่วยกันอาจดีกว่านี้ก็ได้ใครจะไปรู้” แน่ะเกี่ยงเพื่อนพ้องน้องพี่รัฐมนตรีประชารัฐ ที่ไหนได้รัฐมนตรีพรรคร่วมอย่างกระทรวงพาณิชย์ ก็ดันไปพูดแต่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์

ไม่บังเอิญที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรคอยู่ด้วยก็เลยงานล้นมือไปหน่อยมั้ง ก็เข้าใจ ยังดีที่อุตส่าห์ย้ำว่า ปชป.ยังยึดมั่นเป้าหมายสามอย่างรวมทั้ง ประกันรายได้เกษตรกรตอนนี้ก็โป๊ะเชะพอดี สิ้นเดือนนี้ถึงฤดูทุเรียนใต้จะออกสู่ท้องตลาด

ชาวสวนทุเรียนกำลังเจอปัญหา ทุเรียนเน่าไม่ใช่เพราะเพลี้ย แมลง หรือห่าลงหรอกนะ เรื่องอย่างนั้นชาวสวนไทยฝีมือไม่เลวแก้ไขและป้องกันได้ ปัญหาอยู่ที่ทุเรียนไปตกค้างรอตรวจอยู่หน้าด่านส่งออกจีน ผู้ซื้อรายใหญ่ซึ่งทั่นนายกฯ คนใหม่ชื่นชมเป็นนักหนา
 
หวังว่าเฮียตู๊บของผู้กองนัสจะได้ดูหรือรับรายงานรายการ ห้องข่าวไทยพีบีเอสที่เขาให้รายละเอียดเรื่องทำไมทุเรียนไทยจะแย่ พิมพิมล ปัญญานะ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจเล่าว่า ไทยกับจีนมีข้อตกลง FTA การค้าเสรีต่อกันมาตั้งแต่สมัยทักษิณ

(นอกเรื่องนิด ไม่รู้เป็นไงรัฐบาล คสช.นี่ตั้งแต่ปลายๆ ชุดที่ ๑ จนมาเข้าชุดที่ ๒ อะไรต่ออะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจมันเป็นเรื่อง ลอกการบ้าน ไปเสียเกือบทั้งนั้น ไม่นับ ส.ส.และรัฐมนตรีโขยงใหญ่หน้าตาคุ้นๆ ว่าเคยอยู่กับ ทักกี้ มาแล้ว)

ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ภาษีผ่านแดนพืชผักผลไม้อยู่ในอัตราศูนย์ เป็นผลให้ตลอดมาการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า แต่ในขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าจากจีนก็เพิ่มด้วยเหมือนกัน เพียงว่าของเขาเพิ่ม ๕ เท่า
 
หัวใจของปัญหาอยู่ที่มีประกาศกรมวิชาการเกษตรเตือนเกษตรกรสวนทุเรียนให้ระวัง ตั้งแต่ ๑ กรกฎาเป็นต้นมาทางการจีนจะเข้มงวดในเรื่องมาตรฐาน GAP –การผลิตที่ดี และ GMP –การบริหารจัดการที่ดี มากยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นจะถูกตีกลับ ไม่ผ่าน

ยังมีก้นบึ้งของปัญหาเข้ามาขย่มอีก ในเมื่อล้งทุเรียนไทยไม่ค่อยจะได้มาตรฐานสองอย่างดังกล่าว แถวภาคกลางมีประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ปรับมาตรฐานได้ตาม FTA ส่วนที่ภาคใต้อย่างดีเห็นว่ามีเพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด

หวังเช่นกันว่าทีมงานประชาธิปัตย์จะสำเหนียก เห็นใจว่าเสียพื้นที่กรุงเทพฯ ไปให้กับอนาคตใหม่แล้ว เหลือภาคใต้ก็กะพร่องกะแพร่ง โดนพลังประชารัฐแย่งไปบ้าง พรรควันนอร์ก็แข็งขึ้นมา ถ้าทุเรียนใต้เจ๊งเหมือนยางพารา เหมือนปาล์ม อีกละก็ ทั่นประธานสภาฯ จะแนะปลูกลูกเนียงแทนอีกไหมหนอ

จริงอยู่ เรื่องทำมาหากินคนไทยเวลานี้มันเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ภาคเหนือ ไน้ท์บาร์ซาร์เชียงใหม่เพิ่งเห็นบ่นอู้ด้วยเหมือนกัน “ขายมา ๒๐ กว่าปี ปีนี้แย่ที่สุด ขายวันหนึ่งไม่ถึงพันขนาดร้านใหญ่แบบนี้” เสียงสะท้อนผ่านไทยพีบีเอสจากผู้ค้าขายเสื้อผ้ารายหนึ่ง

อีกราย “คนขับตุ๊กตุ๊กย่านไนท์บาร์ซ่าบอกว่าขับรถที่นี่มา ๓ ปีแล้ว จากที่เคยมีรายได้วันหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ บาท แต่ตอนนี้รายได้ลดลงเหลือเพียง ๓๐๐-๔๐๐ บาทเท่านั้น” ทั้งหลายทั้งปวงเป็นผลต่อเนื่องอยู่ด้วยกับค่าเงินบาทแข็ง นักท่องเที่ยวลด
 
กระทั่งประธานสมาคมท่องเที่ยว แอ็ตต้าวิชิต ประกอบโกศล ที่คุยนักหนาว่าช่วงไม่กี่เดือนมานี้นักท่องเที่ยวเข้าไทยเพิ่มแล้วนะ (ราว ๐.๗% เป็น ๑๙.๖ ล้านคนในระยะ ๖ เดือนแรกของปี ๖๒ ทำรายได้ ๑,๐๑๐,๐๐๐ ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน ๐.๓%)

ก็ยังเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งจัดการปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ไม่งั้นจะไปต่อไม่รอด และไม่ต้องไปมองอิจฉาเวียดนาม มาเลย์ ล่ะ เดี๋ยวจะหมดกำลังใจกันที่เขาล้ำหน้าไปหลายขุม แต่ถ้าจะศึกษาว่าเขาทำอย่างไรที่ได้เซ็นสัญญาค้าเสรีกับอียู ก็ดีอยู่

ขนาดสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ก.พาณิชย์ ยังยอมรับว่าข้อตกลงเวียดนาม-อียู ก่อผลกระทบอุตสาหกรรมไทยหนักอยู่ คงมีการย้ายฐานการผลิตยานพาหนะและส่วนประกอบไปจากไทย (เสียดาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่งั้นเขารู้เรื่องดีการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้า เทสลาของอเมริกา)

ที่หนักหนาเฉพาะหน้าขณะนี้เรื่องทำมาหากินระดับรากหญ้าในประเทศ เพราะแม้แต่ผัก ผลไม้ ก็ถูกสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดระบม อย่างแอ้ปเปิ้ล สาลี่ แคร็อต เห็ดหอม ก็ว่าไปอย่าง แต่กระทั่งกระเทียม ส้ม และหอมหัวใหญ่ยังสยบนี่สิ อ่านสารนิพนธ์ สีจิ้นผิง ช่วยได้มั้ย

ไทยพีบีเอสเผยว่าที่แม่สาบ อ.ตะเมิง เชียงใหม่ เคยปลุกกระเทียมกันเป็นล่ำสันต้องเลิก หันไปปลูกกะหล่ำปลีและถั่วแระ เจอกะหล่ำจีนถล่มราคาต้องหันไปปลูกพืชไร่แทนแล้วตอนนี้ “ผักกาดของจีนมากิโลละ ๒๐ บาท ของเรา ๒๕ บาท ถ้าจะลดราคาให้เท่ากัน ก็คือขาดทุน”

ประเด็นคือราคาต่างกัน จีนผลิตมากกว่า ต้นทุนต่ำกว่า “ราคาต่ำมากจนคนอยากไปกิน” พิมพิมลชี้เรื่องกล้วยหอมไทยหวีละ ๔๐-๕๐ บาท พอคนซื้อเห็นราคาแอ้ปเปิ้ล (ลูกละ ๑๐ บาท) ก้หันไปหยิบแอ้ปเปิ้ลแทน” ทั้งที่คนละรส คนละประเภทนี่ละ

“ราคาเป็นสิ่งจูงใจ” เธอว่ามันเกี่ยวกับเงินในกระเป๋าด้วยละ “ยิ่งในช่วงนี้กระเป๋าแฟบอยู่ด้วย”

(https://www.youtube.com/watch?v=u9FPVCGwd5A&feature=youtu.be, https://www.bangkokpost.com/business/1710867/private-sector-sees-economic-light, https://www.khaosod.co.th/economics/news_2680712, https://www.thairath.co.th/news/politic/1613398)