วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 25, 2562

ทำไมประเทศไทยถึงกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากอันดับต้นๆ (คนจนที่สุดต้องทำงาน 3.8 เดือนเพื่อให้ได้รายได้เท่ากับหนึ่งวันของคนที่รวยที่สุด)




https://adaymagazine.com/thai-inequality-with-mark-jenmana/


ถ้าเปรียบเทียบรายได้จากทรัพย์สินมันกระจุกมาก คนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ รายได้จากทรัพย์สินประมาณเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากทรัพย์สินทั้งประเทศ และมันไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นขนาดนั้น นี่คือสาเหตุที่ทำให้รายได้โดยรวมทั้งหมดไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น เพราะหลักๆ มาจากการที่รายได้จากทรัพย์สินไม่ลดลง ความเหลื่อมล้ำมันไม่ลดลง

ยิ่งถ้าดูข้อมูลจากปี 2544 จนถึงปัจจุบัน เหมือนว่าส่วนประกอบรายได้ของคนที่รวยที่สุดในประเทศในกลุ่ม 1 เปอร์เซ็นต์และ 0.001 เปอร์เซ็นต์นั้น ส่วนแบ่งของรายได้จากคนกลุ่มนี้มันเริ่มเอนไปที่รายได้จากทรัพย์สินมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ค่อยมีนโยบายที่แก้เรื่องนี้ได้เพียงพอ เพราะรายได้จากทรัพย์สินหลายส่วนก็ไม่ได้เก็บภาษี และภาษีทรัพย์สินเองก็ไม่ได้เก็บได้ดีขนาดนั้น ภาษีมรดกหลังจากพ่อแม่ตายแล้วส่งให้ลูก ก็ยังเก็บได้ไม่มาก





สิ่งที่พูดได้คือ ทำไมประเทศไทยถึงเหลื่อมล้ำมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นมันมีปัจจัยอื่นๆ ที่อธิบายยังไงก็อธิบายได้ไม่ครบ ที่ไทยเหลื่อมล้ำมาก ผมคิดว่ามันเป็นโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ตั้งรากฐานมาตั้งแต่ยุค 50s ยุค 60s นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยตั้งแต่อดีตมันสร้างโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมอยู่แล้ว คนที่ตัดสินใจ คนที่ออกแบบนโยบาย อยู่บนพื้นฐานสังคมที่ไม่เท่าเทียมมาก

อีกเรื่องหนึ่งก็คือการที่รัฐไทยในอดีตไม่เคยสนใจปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำสักเท่าไหร่ เหมือนๆ กับประเทศที่กำลังพัฒนายุคนั้น คือสนใจว่าเราจะโตอย่างไร เพราะฉะนั้นโครงสร้างระบบทุนนิยมเศรษฐกิจไทยมันเลยออกมาในรูปแบบที่มีนายทุนใหญ่ๆ ไม่กี่คน รัฐที่สนับสนุนกิจกรรม กิจการใหญ่ๆ เหล่านี้เพื่อการส่งออกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตเร็ว ซึ่งพอมันเป็นอย่างนี้มันก็เลยเกิดสังคมที่ค่อนข้างเหลื่อมล้ำมาก

รัฐบาลไทยเพิ่งเริ่มมีความสนใจเชิงโครงสร้างเรื่องความเหลื่อมล้ำจริงๆ หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 นี่เอง ก่อนหน้านี้เป็นเรื่องการปฏิรูปสถาบันประชาธิปไตย เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องปฏิรูปกองทัพอย่างนี้มากกว่า แต่สุดท้ายมันเกี่ยวกันหมด ระบบทุนนิยมไทยมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่ยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำสำหรับไทยตอนนี้จะอยู่ในกลุ่มที่ศัพท์ของแล็บที่เรียกว่า World Inequality Frontier ก็คือกลุ่มประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุด ซึ่งมีบราซิล อินเดีย ประเทศไทยตอนนี้เหลื่อมล้ำเกือบเท่าอินเดีย เหลื่อมล้ำมากกว่าจีนและสหรัฐอเมริกา
.
สุดท้ายปัญหาเรื่องเศรษฐกิจก็หนีไม่พ้นเรื่องการเมือง พอไม่พ้นเรื่องการเมือง ในฐานะคนรุ่นใหม่ทำอะไรได้บ้าง คนรุ่นใหม่ต้องพยายามตั้งคำถามว่าระบบการเมืองที่เราอยากได้เป็นยังไง นโยบายที่เราอยากได้เป็นยังไง เราควรสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำไหม หรือเราควรจะสนใจเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ซึ่งสุดท้ายแล้วผมบอกไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่ควรจะทำอย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องของสาธารณะ

เรื่องความเหลื่อมล้ำนี่มันไม่มีจุดยืนทางเศรษฐศาสตร์ หรือจุดยืนทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าความเหลื่อมล้ำที่ควรจะเป็นคือเท่าไหร่ บางคนก็บอกว่าความเหลื่อมล้ำของไทยตอนนี้มันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น คนรุ่นใหม่บางคนก็บอกว่าความเหลื่อมล้ำเยอะจริง สุดท้ายมันเป็นเรื่องการพูดคุยในที่สาธารณะอย่างเดียว มันต้องดีเบตผ่านพื้นที่ทางการเมืองที่มันพูดคุยได้ ซึ่งปัจจุบันมันไม่ใช่

ดังนั้นคำถามที่ว่าคนรุ่นใหม่จะทำอะไรได้ก็ควรเริ่มที่สมรภูมิทางการเมืองมากกว่า ทำให้มันเป็นพื้นที่เปิด ทำให้อย่างน้อยรัฐบาลมี check and balance มากกว่านี้ คือเสียงทางการเมืองหรือเสียง concern ของผู้คนสุดท้ายมันจะสะท้อนไปทีหลังได้ก็ด้วยระบบรัฐที่มันตอบเสียงของคน ซึ่งก็คือผ่านการเลือกตั้ง พอดูจากรัฐธรรมนูญปัจจุบันแล้วสุดท้ายก็ต้องมาคุยเรื่องนี้ แต่ถ้าใครสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ต้องมาพูดเรื่องภาษี ต้องยอมเสียภาษีกัน

เราต้องมองให้ครบทั้งหมด แต่คนเราความเชื่อไม่เหมือนกัน คนที่เลือกพลังประชารัฐก็เชื่ออย่างนั้น คนที่เลือกประชาธิปัตย์ก็เชื่ออย่างนี้ สุดท้ายก็ต้องมีพื้นที่พูดคุยกัน ฟังกันเยอะๆ

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์บางคน ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมากๆ ที่ผ่านมาลดได้ด้วย 3 อย่าง หนึ่งคือสงคราม สองคือการปฏิวัติ สามคือภัยพิบัติ นอกจากนี้มันหายากมากที่จะหาเหตุการณ์ที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ไม่มีใครอยากให้สังคมมันเหลื่อมล้ำและการเมืองแบ่งขั้วจนถึงจุดแตกหักจนต้องมีคนมาล้มตาย ในประเทศไทยก็เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่เราเหมือนเดินย้อนกลับไปในอดีต เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วเราก็ต้องวกกลับมาคุยกันว่า หน้าตารัฐไทยและการเมืองไทยแบบไหนที่เราอยากได้ แต่ผมก็เป็นแค่นักวิจัยตัวเล็กๆ ก็บอกไม่ได้ คนรุ่นใหม่ก็ต้องสู้ต่อไป
.
ผมว่าบทเรียนหนึ่งคือเราได้เรียนรู้คือนโยบายสวัสดิการเวิร์กจริง นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเวิร์กจริง อย่างน้อยมันทำให้ความเหลื่อมล้ำหยุดเพิ่มขึ้นได้หลังยุค 2540 แต่ก็ยังไม่พอที่ทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไทยมันปรับตัวดีขึ้น สุดท้ายหนีไม่พ้นนโยบายภาษี ซึ่งในสภาพการเมืองแบบนี้ก็ยาก
.
การที่จะลดรวยกระจุกจนกระจายได้ก็คือ ต้องมองบนแล้วก็มองล่าง มองบนก็คือนโยบายภาษีรายได้ที่มันก้าวหน้ากว่านี้ การเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีรายได้ที่มันก้าวหน้ากว่านี้ ประวัติศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าเหล่านี้มันเวิร์กจริง ส่วนเรื่องคนจน เราต้องเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เข้าถึงแหล่งงานที่มีคุณภาพ การให้เสียงของเขาผ่านสถาบันแรงงานต่างๆ อย่างสหภาพแรงงาน


อ่านบทความเต็มได้ที่...
https://adaymagazine.com/thai-inequality-with-mark-jenmana/