ขยับเข้าไปอีกปล้อง ให้รัฐบาล ๑๙
พรรคและนายกฯ คนเดิมจากรัฐประหาร เป็นการสืบทอดอำนาจ
คสช.โดยประจักษ์ทั้งพฤตินัยและนิตินัย ดูได้จากบทบาทของ ปปช.
หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตชุดปัจจุบันที่ คสช.ตั้ง
ถึงแม้สำนักงานนี้ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระ
หลายครั้งกลายเป็นอิสระจากหลักนิติธรรม บ่อยไปถ้าคดีไหนเป็นคุณแก่
คสช.ก็ทำหน้าที่เสมือนทนายแก้ต่างให้
หากคดีใดเป็นพิษร้ายกับนักการเมืองและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย
องค์กรนี้จะแปลงกายเป็นศาลไคฟงฟันขาดสะบั้น
ตัวอย่าง ยกมาให้ดูกันในประเด็นเพิ่งเกิดหมาดๆ
หลังจากมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เลขาธิการ ปปช. วรวิทย์ สุขบุญ ออกโรงปฏิบัติหน้าที่เรื่องการยื่นแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้
ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย คือ
“หากเป็นคณะรัฐมนตรีเดิมที่ได้รับการแต่งตั้งต่อเนื่องให้เป็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช.
เพราะจะยึดจากการยื่นในครั้งแรกแล้วที่เข้ารับตำแหน่ง”
โดยทั่นประธาน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ (ที่มีเสียงซุบซิบมานานแล้วว่าเป็นเด็กในคาถาของทั่นรองหัวหน้า
คสช.-รองนายกฯปัจจุบันหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐตัวจริง) ช่วยย้ำต่างกรรมต่างวาระว่า
“ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองและยังไม่พ้นกำหนด แล้วได้รับการแต่งตั้งใหม่
ก็ไม่ต้องยื่นพ้นและไม่ต้องยื่นเข้า”
อ้างว่าเพื่อให้ลดกระบวนการลงไป เออ
มันง่ายสำหรับ ปปช. แต่ไม่ง่ายต่อผลประโยชน์ของชาติ และความโปร่งใส
ช่วงรอยต่อระหว่างการยื่นพ้นและยื่นเข้าที่ละเลยไปนี่ สักคนละสี่ซ้าห้าร้อยล้านรวมกันอาจเป็นพันเป็นหมื่นล้านก็ได้
รัฐมนตรีใหม่ที่เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล
คสช.๑ ชุดที่แล้ว ดูเหมือนจะมีราว ๒๐ คนเห็นจะได้ ข้อสำคัญอยู่ที่สามสี่คนยังค้างคาใจประชาชน
รายหนึ่งนั่นมีนาฬิกาหรู ๒๕ เรือน ยืมเพื่อนมาใส่อ้างว่าคืนแล้ว เพื่อนก็ตายแล้ว แต่ไม่รู้นาฬิกาอยู่ไหน
ปปช.ก็หยวน ยกเลิกสอบสวนซะแล้ว
หรือจะเป็นเพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีระเบียบ
ปปช.เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั่นเลขาฯ อธิบายว่า “สำหรับการยืมทรัพย์สินจะต้องแจ้ง
ป.ป.ช. ด้วยหรือไม่นั้น ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการร่างระเบียบให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่”
มีหลายประเด็นจะต้องทำการร่างให้ครอบคลุมทั่วทั้งปัญหา
“เช่น ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินของสามีหรือภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วย
รวมถึงการยืมทรัพย์สินก่อนเข้ารับตำแหน่งอยู่ในบริบทที่จะต้องแจ้งต่อ ป.ป.ช.
ด้วยหรือไม่ อีกทั้งเห็นว่าประเด็นสำคัญของการยืมทรัพย์สินคือ
ทรัพย์สินนั้นยืมมาจริงหรือไม่ หรือเป็นทรัพย์สินของตัวเองแล้วบอกว่าไปยืมมา”
นายวรวิทย์บอกว่าเหล่านั้นต่อนี้ไป “เป็นหน้าที่ของ
ป.ป.ช. ที่จะต้องตรวจสอบ” แต่กรณีที่เกิดขึ้นแล้วและเจ้าตัวผู้ถูกประชาชนชี้หน้าก็ยันว่าจบแล้ว
ทั้งเลขาฯ และประธานฯ ไม่มีใครเอ่ยถึง ไม่เห็นมีคำอธิบายให้กระจ่างว่าเกิดอะไรขึ้น
รวมทั้งคดีที่ ปปช.ชี้มูลความผิดต่อนายสุเทพ
เทือกสุบรรณ กับ พล.ตอ.ปทีป ตันประเสริฐ และพวก ในคดีโครงการก่อสร้างโรงพัก ๓๙๖
แห่งในวงเงินกว่า ๕.๘ พันล้านบาท จะเป็นการ ‘เสร็จนาฆ่าโคถึก...’
หรือไม่นั้น
ไม่สำคัญเท่าได้มีคนติดคุกเพราะเรื่องนี้ล่วงหน้าไปแล้ว
‘ก่อนเวลา’ ด้วยข้อหาหมิ่นประมาท
เพราะ ‘ไม่มีหน้าที่ชี้มูล’ ผู้นั้นคือนายธาริต
เพ็งดิษฐ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ
ได้ออกแถลงข่าวเรื่องการทุจริตดังกล่าว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องว่านายธาริตปฏิบัติตามหน้าที่
แต่ศาลฎีกากลับคำพิพากษาให้จำคุก ๑ ปี ไม่มีการรอลงอาญา ทั้งที่
ปปช.เพิ่งมาชี้มูลเมื่อ ๒๒ ก.ค.นี้เอง เป็นเหมือนดั่งว่ากระบวนยุติธรรมไทยในยุค
คสช.นี่ไม่มีครรลองอะไรที่เป็นแก่นสารได้
ยิ่งถ้าฟังรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายที่ออกมาแก้ต่างแก้ตัวให้กับทั้งนายและพวกพ้อง
ยิ่งเห็นแจ่มแจ้งว่า ขนาดมีชัย ฤชุพันธุ์
ที่ว่าแน่เขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกให้ฝ่ายหนึ่งพ่ายและผิดตลอด
อีกฝ่ายลอยตัวทุกกรณีแล้ว
วิษณุ เครืองาม แน่กว่าเยอะ ตีความให้ คสช.
และพวกพ้องนักการเมืองที่นิยมรัฐประหารหลุดคดีได้ทุกกรณี ขออนุญาตนำคำของศิโรชต์
คล้ามไพบูลย์ มาใช้ในที่นี้หน่อย เพราะสรุปได้ถ้วนเกือบทุกประเด็น
“วิษณุชี้ข่าวประวิตรนั่ง
ฮ.ไปงานพลังประชารัฐเหมือนนั่งรถหลวงแวะซื้อกับข้าว
ระบุข้าราชการการเมืองยุคนี้เอาเวลาหลวงไปตีกอล์ฟไม่เป็นไร
เพราะไม่มีระเบียบห้ามตรงๆ
ส่วนพลังประชารัฐใช้รีสอร์ทซึ่งรุกที่ป่าไม่ถือว่าผิดเพราะไม่รู้ความ”