วันอาทิตย์, กรกฎาคม 28, 2562

‘สมัชชาคนจน’ จวกยิบนโยบาย 'โหลแรก' เร่งด่วน “สร้างความมั่นคงกับบุคคลบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น”

นโยบาย ๒ โหลของรัฐบาลประยุทธ์ ๒ ที่อ่านรัว อ่านข้ามจนฟังไม่ได้ศัพท์ ซ้ำเต็มไปด้วยโวหารอันปราศจากแก่นสาร จนผู้ที่ตั้งใจฟังแล้วยังจับประเด็นจำเพาะเจาะจงอะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโหลแรกเรื่องเร่งด่วน หรือโหลหลังเรื่องหลักลอย

กระนั้นก็ยังมีผู้พยายามจับประเด็นแล้วพบว่าเต็มไปด้วยความ ย้อนแย้งและไร้ทิศทางไม่มีการระบุให้เป็นที่ชัดเจนว่า “จะมีทิศทางการพัฒนาไปในทิศทางใด รูปธรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ประชาชนอยู่ตรงไหน และจะได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายเหล่านี้”

สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์วิจารณ์นโยบายเร่งด่วน ๑๑ ใน ๑๒ ข้อของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาไว้ค่อนข้างละเอียด น่าที่จะรับฟังเพื่อสะท้อนไปยังบรรดาผู้ที่เห็นว่าความสงบราบเรียบของบ้านเมืองดีกว่าความชุลมุนอึกทึกซึ่งเต็มไปด้วยพลวัตในการมีกินมีใช้ของประชาชน

ขอย่อยเนื้อความนำมาแบ่งปันกับผู้อ่านดังนี้

เรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย และความสงบสุขในประเทศ เป็นเพียงการปกป้องอธิปไตยและเขตแดนในมิติทางการทหาร “อันคับแคบล้าหลัง” เพราะไม่ได้มีการพูดถึง ความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งแต่การจัดซื้ออาวุธ (ข้อ ๒.๒) “ไม่ก่อประโยชน์สาธารณะแก่ประชาชน”

โดยเฉพาะกำลังทหารและอาวุธนั้นถูกนำไปใช้ “ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากถึง ๓ ครั้ง” ในรอบ ๓๐ ปี “สร้างความมั่นคงกับบุคคลบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น”

แต่กับกลุ่มคนที่เสนอแนะความคิดเห็น ไม่ว่าทางการเมือง และ/หรือการพัฒนา กลับเผชิญกับความหวาดกลัวจากอำนาจรัฐ กลายเป็นการ “ลดความมั่นคงของมนุษย์ ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ไป

เรื่องการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม “ในข้อ ๓.๓ กลับระบุในเชิงบังคับว่าประเทศมีเพียงพุทธศาสนิกชน ที่ต้องเข้าถึงแก่นแท้คําสอนของพระพุทธเจ้า...ละเลยการให้คุณค่าต่อศาสนาหรือความเชื่ออื่นๆ”

สมัชชาคนจน ชี้ว่าก่อเกิดความย้อนแย้งต่อนโยบายข้อ ๒ และข้อ ๓.๔ กับ ๓.๑ ซึ่งในขณะที่บอกให้ปรับตามวัฒนธรรมสากล กลับ “ระบุให้อนุรักษ์วัฒนธรรมเอาไว้” ทั้งยัง “จำกัดเสรีภาพของสื่อจากคำว่า กระตุ้นและสร้างความตระหนักของค่านิยมที่ดี”

ด้านการสร้างบทบาทไทยในเวทีโลก สมัชชาคนจน เห็นว่า “รัฐบาลต้องปกป้องผลประโยชน์ของคนในประเทศ” มากกว่า “เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมตามสากลเพื่อเข้าสู่เวทีโลก” คือต้องให้ความสำคัญแก่ ต้นน้ำ ทางการผลิต

ในส่วนของการสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ คำแถลงนโยบาย “อาจมีการนำความมั่นคงของประเทศไปรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ตีความเพื่อใช้โจมตี หรือสกัดกั้นความเห็นต่าง ๆ ทางการเมือง” ได้

สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย เห็นชัดว่าเคว้งคว้าง “ไม่มีการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจไปในด้านใดด้านหนึ่งให้ชัดเจน”

ครั้นพอเจาะจงเรื่อง “รักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและรายได้ให้กับเกษตรกร” (ข้อ ๕.๓.๑) กลับบอกว่า “ไม่เป็นภาระกับงบประมาณแผ่นดินเกินสมควร”

มาถึงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค “เป็นการส่งเสริมให้กลุ่มทุนเข้าถึงทรัพยากร และบีบรัดคนจน คนในชนบทให้ไม่สามารถอยู่ในที่ดินของตนเอง ทำให้คนจนต้องเป็นผู้เสียสละ แบกรับต้นทุนทางสังคมให้แก่นายทุน”

หมายเหตุ มีคอมเม้นต์ต่อการอภิปรายแถลงนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ “โดยเฉพาะประเด็นเรื่องทุนใหญ่ ทุนผูกขาดที่เอ่ยชื่อมา ซีพี ไทยเบฟ ที่บอกว่าทุนเหล่านี้โตมากแล้ว ไปแข่งกับต่างประเทศได้หมดแล้ว แต่รัฐบาลดึงกลับมาเพื่อช่วยประเทศไทย ช่วยคนไทย”
Thanapol Eawsakul แย้งว่า “แต่ข้อเท็จจริงคือตลอด ๕ ปี ของคณะรัฐประหาร รัฐบาลคณะรัฐประหารออกนโยบายเอื้่อทุนผูกขาด ซีพี และไทยเบฟ นับครั้งไม่ถ้วน กลายเป็นว่า รัฐบาลคณะรัฐประหารออกนโยบายเอื้อทุนผูกขาด แล้วประชาชนทั้งประเทศต้องมาสำนึกบุญคุณทุนผูกขาดเหล่านี้อีก”

ข้ามไปที่ “การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยในทุกช่วงวัย” ปรากฏว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง กลับไม่มีส่วนร่วมใดๆ (ข้อ ๘.๖.๑) ซ้ำยังมีการ “ครอบงำความคิดและจำกัดเสรีภาพทางการเรียนรู้” (ข้อ ๘.๖.๕)

นโยบายที่ใช้คำคลุมเคลืออย่างมาก เป็นการพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม ที่เปิดช่องให้ “ประชาชนต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพของตนเอง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ” เช่นเดียวกับนโยบายฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม

“เหมือนเป็นการอุปมาได้ว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการต่าง ๆ เป็นการรวมศูนย์อำนาจ” โดยเฉพาะแหล่งแร่และแหล่งน้ำ นอกจากชุมชนมิได้มีส่วนร่วมแล้ว ยังไม่มีมาตรการสำหรับจัดแก้ในเรื่องผลกระทบอันจะเกิดกับประชาชน

ที่น่าขันเป็นนโยบาย ปฏิรูป การบริหารจัดการในภาครัฐ ที่บอกว่าเน้นการกระจายอำนาจในเรื่องบริการสาธารณะ แต่ในความเป็นจริง “เป็นการดึงอำนาจการบริหารประเทศมารวมศูนย์ในรัฐส่วนกลางแบบคอขวด ไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที”

มาถึง การป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ดดยแท้จริง “มีเพียงการระบุว่าจะเปิดเผยสถานการณ์ของข้อมูล ไม่ได้ระบุว่าจะเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูล”

ประการสำคัญยิ่งในเรื่องกระบวนการยุติธรรม สมัชชาคนจน แจงถึงเรื่องการ “ลดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของคนจน เพราะในความเป็นจริงกระบวนการยุติธรรมนั้นมีค่าใช้จ่ายในการสู้คดีสูง จนคนจนไม่สามารถแบกภาระได้”

สรุปแล้วนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คสช.๒ ไม่ได้ให้เบาะแสเลยว่าจะมีการลงมือทำจริงอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรม เท่ากับไม่ไม่ได้เร่งด่วนแต่อย่างใด