วันพุธ, กรกฎาคม 31, 2562

บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์... พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปฏิญาณตนในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ตัดถ้อยคำสำคัญอันเป็นหัวใจของการปฏิญาณตนว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ไป





[ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปฏิญาณตนในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ]

ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายในวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้หยิบยกประเด็นเรื่องการปฏิญาณตนของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นอภิปราย เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ และส่งผลต่อความสมบูรณ์ของการปฏิญาณตน อันอาจทำให้คณะรัฐมนตรียังไม่สามารถเข้าทำหน้าที่ได้

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าในวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ข่าวพระราชสำนักได้เผยแพร่คลิปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้นำรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 โดยพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้กล่าวนำการปฏิญาณว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนตลอดไป”

ในขณะที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 บัญญัติว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคำว่า “ตลอดไป” เพิ่มเข้ามา และไม่กล่าวคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

รัฐธรรมนูญกำหนดให้บรรดาบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรี ผู้พิพากษา ตุลาการ องคมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยในกรณีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้กล่าวปฏิญาณในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ในกรณีของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้กล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา และในกรณีขององคมนตรี รัฐมนตรี ผู้พิพากษาและตุลาการ ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์

ความข้อนี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิญาณตนในสองประการ

1. การปฏิญาณตนคือเงื่อนไขบังคับก่อนเข้ารับหน้าที่
บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ไม่อาจเข้ารับหน้าที่ได้จนกว่าจะมีการปฏิญาณ เว้นแต่กรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 24 วรรคสอง

พูดง่ายๆ ก็คือหากไม่มีการปฏิญาณ ก็ไม่มีการเข้ารับหน้าที่
หากต้องการเข้ารับหน้าที่ ก็ต้องปฏิญาณ ในนัยนี้การปฏิญาณตนจึงเป็น “เงื่อนไขบังคับก่อนเข้ารับหน้าที่” นั่นเอง สมดังที่ Talleyrand นักการเมือง-นักการทูตชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่ผ่านการปฏิญาณ 14 ครั้ง อยู่ในอำนาจมาหลายรัฐบาล หลายระบอบ เคยกล่าวเปรียบเทียบว่า “การปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งก็เสมือนการเข้าชมละครก็ต้องมีบัตรเข้าโรงละครเสียก่อน”

2. การปฏิญาณตนคือการยืนยันหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ

ในการปฏิญาณของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ รัฐธรรมนูญได้กำหนดถ้อยคำที่ต้องปฏิญาณไว้ โดยทิ้งท้ายด้วยถ้อยคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ด้วยกันทั้งหมดทุกองค์กร

นั่นแสดงให้เห็นว่าถ้อยคำในส่วนนี้เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิญาณ เพื่อยืนยันว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ต้องเคารพรัฐธรรมนูญ ต้องรักษารัฐธรรมนูญ และต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ในนัยนี้ รัฐธรรมนูญ ก็คือ กฎหมายสูงสุดนั่นเอง

เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข่าวพระราชสำนักว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญาณโดยขาดถ้อยคำ “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ไป เช่นนี้ผลของการปฏิญาณที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ดังกล่าว จะส่งผลอย่างไร?

ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีปัญหาการกล่าวปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน จึงยังไม่ทราบแนวบรรทัดฐาน อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศ เคยเกิดกรณีการปฏิญาณไม่ครบถ้วนมาแล้ว กรณีล่าสุดก็คือ บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 44 เคยกล่าวปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อปี ค.ศ. 2009

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกากำหนดให้ปฏิญาณว่า “I do solemnly swear that I will faithfully execute the office of President of the United States and will to the best of my ability preserve, protect, and defend the Constitution of the United States”.

แต่ในวันที่ 20 มกราคม 2009 จอห์น โรเบิร์ต (John Roberts) ประธานสูงสุดได้กล่าวนำการปฏิญาณให้แก่โอบามากล่าวตามว่า “I will execute the office of president to the United States faithfully...” โดยสลับเอาคำว่า “faithfully” ไปไว้ข้างหลังคำว่า “the United States”

ในวันรุ่งขึ้นโอบามาจึงได้กล่าวปฏิญาณซ่อมใหม่อีกครั้ง
จะเห็นได้ว่า กรณีของโอบามาเป็นการกล่าวถ้อยคำครบถ้วน เพียงแต่มีการสลับตำแหน่งของคำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถึงกระนั้น เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ของการปฏิญาณ โอบามาและโรเบิร์ตก็รีบจัดการแก้ไขด้วยการปฏิญาณซ่อมใหม่อีกครั้งทันที

ในขณะที่การปฏิญาณตนของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขาดถ้อยคำสำคัญอันเป็นหัวใจของการปฏิญาณตนว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ไป

เช่นนี้แล้ว จะส่งผลทางกฎหมายอย่างไร?

จะถือได้ว่า การปฏิญาณเป็นการผิดหลงเล็กน้อย สามารถปฏิญาณซ่อมได้?

หรือ การปฏิญาณผิดพลาดบกพร่องในเรื่องสำคัญ จนอาจทำให้การปฏิญาณเป็นโมฆะ อันทำให้คณะรัฐมนตรียังเข้ารับหน้าที่ไม่ได้?

ที่แน่ๆ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ถวายสัตย์ปฏิญาณคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ออกมาเช่นนี้ อาจทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์กระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญตามมาตรา 161 หรือไม่? และพร้อมที่จะไม่รักษาไว้และไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการใช่หรือไม่?

แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวนำการปฏิญาณผิดพลาด ด้วยความเผอเรอ ผิดหลง หรือจงใจเว้นคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” กันแน่?

จะว่าผิดหลง ก็คงไม่น่าใช่ เพราะภาพจากคลิปข่าวในพระราชสำนักจะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถือกระดาษอ่าน ไม่ได้กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณสดแบบไม่มีโพย หรือในโพย เขียนถ้อยคำให้ผิด ไม่ตรงกับถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161

เมื่อครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตอนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2557 ก็กล่าวถ้อยคำครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แล้วทำไมคราวนี้ จึงตกคำว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ไป

ทั้งหมดนี้ไม่มีใครรู้เจตนาของ พล.อ.ประยุทธ์ได้ ไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ คิดอะไรอยู่ในใจ นอกจากตัว พล.อ.ประยุทธ์แต่เพียงผู้เดียว


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
.