ถ้าจะให้คิดเข้าข้างคนไม่มี ’ตังค์ ข้อเสนอนักวิชาการ ‘ทีดีอาร์ไอ’ ให้ขยายฐานภาษีเก็บเพิ่มค่า ‘แว้ต’ แนะ ‘ถอนขนห่าน’ นี่ ขี้ครอกเผด็จการขนานแท้
เริ่มต้นทำเนียน “แนวทางแรกที่อยากจะให้เกิดขึ้นแต่อาจจะเป็นไปได้ยากทางการเมือง
คือการเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น” ก็เลยยกไป เอาง่ายๆ ใช้วิธี ‘ถอนขนห่าน’ แทน อ้างญี่ปุ่นทำแล้ว
ปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไปเป็น ๑๐ เปอร์เซ็นต์
ที่งี้คิดเอาอย่างยุ่น เรื่องอื่นน่าเอาอย่างตั้งเยอะไม่เคยคิดถึงกัน
แถมไม่ฟังอีร้าค่าอีรมว่าฐานผู้เสียภาษีมันต่างกัน ต้องขอนุญาตนักวิชาการอาวุโส นณริฏ
พิศลยบุตร ให้ไปฟังน้าถึก (Atukkit Sawangsuk)
เขาหน่อย
“ขึ้น VAT ไม่กระทบคนจนเพราะมีบัตรคนจนคุ้มครอง
ถามสิ แรงงานขั้นต่ำค่าแรงวันละ ๓๒๕ บาท ได้บัตรคนจนหรือเปล่า คนมีบัตรคนจนจำนวนมาก
กลับเป็นคนมีรายได้ที่อยู่นอกระบบภาษี” ใช่เลย
แต่เจ้าประคุณทีดีอาร์ไอบอก “ขณะนี้รัฐบาลมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว”
เขาว่าจะช่วยได้ถ้าปรับเพิ่มแว้ตมากกว่า ๗ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นอยู่ เพราะ “อยากให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น”
แต่ภาษีคนรวยอย่างภาษีรถยนต์ไรบ้าง เรือย้อร์ช
(จอดขึ้นคาน) บ้างอย่างนี้ “มีการจัดเก็บอยู่แล้ว
และขณะนี้มีการเก็บเพิ่มภาษีความหวาน ภาษีความเค็มมาก” อีกด้วย “ถือเป็นแนวทางที่ดี”
มิน่าอธึกกิตถึงต้องจวกว่า “งี่เง่าปานนี้”
มาดูที่ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
เขียนถึงเรื่องนี้หน่อย เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์สอนอยู่ ม.แถวท่าพระจันทร์ พาดพิงกรณีนายตอ
บ้วนขี้เลื่อยออกมาเป็นเสียง “ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสุทธิได้มาแค่ ๑๑% มีคนเสียจริงแค่ ๔% สี่ล้านคนเสียภาษีน่ะ
ทั้งหมดเนี่ยอะไรที่เป็นของคนจน เราไม่ได้ภาษีหรอกครับ”
‘สลิ่ม’
จะเข้าใจกันอย่างไรไม่ทราบ แต่คนทั่วไป ใครๆ ที่ไหนรู้ว่านายกฯ มั่ว
นี่มันเรื่องเก่าถกกันตั้งแต่ปีมะโว้แล้วได้ข้อสรุปแน่นอนว่า เมื่อปี ’๕๗ รายได้ภาษี ๖๑ เปอร์เซ็นต์มาจาก “ภาษีบริโภค ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีสรรพสามิต อากรขาเข้า-ขาออก ค่าธรรมเนียม ฯลฯ”
ที่คนไทย ‘ทุกคน’ ต้องจ่ายกันพร้อมหน้าอย่างเท่าเทียมอยู่แล้ว พูดได้อย่างไร “คนจนไม่เสียภาษี...ประชุมกับข้าราชการกระทรวงคลังสารพัดเรื่องมาห้าปี
โดยเฉพาะคือ พรบ.งบประมาณที่ผ่านครม.ทุกปี
ไม่เคยมีข้อมูลภาษีประเทศผ่านสายตาเข้ามาบ้างเลยหรือ”
ไม่เท่านั้น ‘ลูกหมอเหวง’ นพ.สลักธรรม โตจิราการ อธิบายให้เห็นแจ้ง
“จริงๆแล้ว ถ้าเอาเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มมาดู
เทียบกันแล้วคนจนเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าคนรวยนะครับ”
เขาคิดเป็นตัวเลขเทียบเคียงได้ว่า
คนจนมีรายได้ ๑ หมื่น รายจ่าย ๖ พัน
เท่ากับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม “0.6×0.07×100 =4.2% ของรายได้ทั้งหมดของเขา” ขณะที่คนรวยรายได้ ๑ แสน รายจ่าย ๔ หมื่น เท่ากับเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
“0.4×0.07×100 = 2.8%” มันต่างกันตรงนี้
“อย่าลืมว่าคนรวย มีแนวโน้มที่จะใช้ทรัพยากรของสังคมสูงกว่าคนจน”
นพ.สลักธรรมเพิ่มเติมด้วยตัวอย่าง ๒ กรณี เช่นการใช้ถนนคนมีเงินซื้อรถส่วนตัวย่อมรับบริการสาธารณูปโภคมากกว่าคนจนที่ใช้รถเมล์-รถทัวร์
หรือเรื่องน้ำ เจ้าของโรงงานย่อมได้ประโยชน์จาก ‘น้ำดิบที่ได้ฟรีจากระบบชลประทาน’
มากกว่าชาวบ้านริมคลอง
ความคิดที่ว่าปัญหาประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีอยู่ที่
‘ฐานแคบ’ อย่างที่นักวิชาการทีดีอาร์ไออ้าง
นักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิตอย่าง อนุสรณ์ ธรรมใจ ก็มองเห็นเช่นกัน แต่เขา ‘เข้าถึง’ และ ‘approaches’ ปัญหาต่างไป
แทนที่จะมองจากมุมของ ‘รัฐบาล’ ชุดนี้ แบบนายนณริฏ ดร.อนุสรณ์กลับมองว่าในเมื่อฐานภาษีแคบ
“ผู้มีรายได้สูงหรือมีฐานะร่ำรวยได้ประโยชน์จากสังคมและระบบเศรษฐกิจมาก
ย่อมมีหน้าที่ต้องสละรายได้ให้แก่สังคมในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย”
มิหนำซ้ำ โดยสัดส่วนรายได้ “บริษัทจำกัดขนาดกลางและขนาดเล็กต้องจ่ายภาษีมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่
เพราะรัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทขนาดใหญ่มากกว่า” ดังนั้นการจัดเก็บภาษีจึงควรเป็นไป
“ตามหลักผลประโยชน์”
(https://prachatai.com/journal/2019/07/83635,
https://www.facebook.com/thai.udd.news/photos/a.2033688453573282/2410618099213647, https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_215048 และ https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1601454)
แล้วยัง “คิดว่าการบังคับเก็บภาษีจากผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์ไม่น่าจะเป็นธรรม”
ด้วย ดร.อนุสรณ์มีข้อเสนอน่าฟังอย่างยิ่งต่อการที่รัฐบาล คสช.๑ ต่อเนื่องไปยัง
คสช.๒ กำหนดโครงการขนาดยักษ์ ‘อีอีซี’
หรือระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก
ที่ทีมประยุทธ์ ๑ ถลุงเงินคงคลังไปแล้วจำนวนมหาศาล
และจะถลุงต่อในทีมประยุทธ์ ๒ อีกมหาศาล (ถ้าคลังยังมีพอให้ตักตวง) เป็นการอัดฉีดขนานใหญ่ที่บรรดาเจ้าสัวอุตสาหกรรมและบริการถูกใจยิ่งนัก
เพราะทำให้กิจการอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าสัว ‘บูม’
อย่างหาครั้งใดเทียบได้
ดร.อนุสรณ์แนะให้ขยายฐานภาษีไปเก็บกับทรัพย์สิน
‘ลาภลอย’
ต่อ “จากบุคคลหรือนิติบุคคล
ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดิน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์
เจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” เช่นที่กำลังจะผุดในพื้นที่อีอีซีอย่างบางคล้า
บางน้ำเปรี้ยว