วันอังคาร, กรกฎาคม 30, 2562

'สมศักดิ์ เจียมฯ' เสนอ 7 ข้อ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์





'สมศักดิ์ เจียมฯ' เสนอ 7 ข้อ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์


2019-07-29
ประชาไท


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ 7 ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมยืนยันว่ามาตการเหล่านี้ วางอยู่บนพื้นฐานที่ถูกกฎหมาย เช่น 1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 2. ยกเลิก ม.112 ฯลฯ


29 ก.ค.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (28 ก.ค.62) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศนั้น โพสต์ 7 ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมยืนยันว่ามาตการเหล่านี้ วางอยู่บนพื้นฐานที่ถูกกฎหมาย

สำหรับ 7 ข้อที่สมศักดิ์เสนอนั้นประกอบด้วย 
1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพิ่มเติมมาตราในลักษณะเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (สภาฯพิจารณาความผิดของกษัตริย์) 

2. ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 แบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน (ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง) 

4. ยกเลิก ส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่ขาดความจำเป็นให้ยกเลิก (องคมนตรี), หน่วยงานที่มีหน้าที่ (หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์, ฯลฯ) ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น

5. ยกเลิกการบริจาค/รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด 

6. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความเห็นการทางการเมือง และ 

7. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันฯทั้งหมด

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 6 ระบุว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้" ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"

หากย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน สมศักดิ์ เคยเผยแพร่ข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิริูปฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวเดียวกัน แต่เปลี่ยนจาก มาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นมาตรา 8 ในรัฐธรรมนูญปี 50 รวมทั้ง เสนอยกเลิก พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2491 และยกเลิก พระราชอำนาจ ในเรื่อง โครงการหลวง ทั้งหมด เป็นต้น

ในครั้งนั้น ผู้จัดการออนไลน์ โดย คำนูณ สิทธิสมาน รายงานด้วยว่า สมศักดิ์ ระบุไว้ตอนต้นว่าถ้าปฏิบัติตาม 8 ข้อนี้ ผลลัพธ์ไม่ใช่การล้มสถาบันกษัตริย์ แต่ทำให้สถาบันมีลักษณะเป็นสถาบันสมัยใหม่ ในลักษณะไม่ต่างจากยุโรป เช่น สวีเดน เนเธอร์แลนด์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาประชาไทได้นำเสนอข่าวว่า โพสต์ของ สมศักดิ์ เมื่อ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับบันทึก 'สัญญา ธรรมศักดิ์' ไม่สามารถเข้าถึงได้ในประเทศไทยแล้ว ขณะที่ต่างประเทศ อย่าง ฝรั่งเศส อังกฤษ หรือสวีเดน ยังสามารถเห็นได้นั้น จากการตรวจสอบสมศักดิ์ไม่ได้รับจดหมายชี้แจงเหมือนครั้งที่โดนบล็อกการเข้าถึงในลักษณะเดียวกันเมื่อ 4 พ.ค. 2560 ที่มีจดหมายแจ้งมาจากเฟสบุ๊คว่า ขอให้จำกัดการเข้าถึงกระทู้ของตนกระทู้หนึ่ง จดหมายระบุว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ส่งหมายศาลซึ่งออกโดยผู้พิพากษาทัศนีย์ ลีลาภร และผู้พิพากษาสมยศ กอไพศาล ศาลอาญาแห่งประเทศไทย ระบุว่าโพสต์บนเฟสบุ๊คต่อไปนี้ของคุณ ละเมิดมาตรา 14 (3) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (2007) พร้อมระบุว่า เมื่อบรรดารัฐบาลเชื่อว่า บางอย่างบนอินเทอร์เน็ตละเมิดกฎหมายของประเทศของเขา พวกเขาอาจจะติดต่อกับบริษัทเช่น เฟสบุ๊ค และขอให้เราจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้น เราได้พิจารณาทบทวนคำขอของรัฐบาลเหล่านั้น ตามระเบียบของเราและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง