เห็นความวิเศษแห่งกฎหมายในยุค
คสช.กันไหมล่ะ รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๙ วรรคสองและสาม ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับฟ้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่
ผู้ร้องเป็นใครก็ได้ยื่นตรงต่อศาล รธน. ถ้าอัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการภายใน ๑๕
วัน
รธน.ไม่ได้บอกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับฟ้องเสมอไป
แต่ศาลชุดนี้ (ที่ คสช. ตั้ง) ก็ “จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
แจ้งให้ผู้ร้องทราบ ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้ง 4
ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง”
อันที่จริงมาตรา ๔๙
นี้ไม่จำเป็นต้องต้องกำหนดให้ผู้ร้องต้องยื่นต่ออัยการสูงสุดก่อนก็ได้
ในเมื่อใครก็ตามที่ ‘ทราบว่า’ คนที่ตนฟ้อง “มีการกระทําอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
คล้ายๆ กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ นั่นละ
ใครก็ได้อยากจะฟ้องใครก็ฟ้อง โดยในทางปฏิบัติตำรวจมักจะรับแจ้งความทันที
และศาลก็มักจะประทับรับฟ้องไว้ก่อนด้วย
ผู้ถูกฟ้องที่แม้ปรากฏภายหลังว่าไม่ผิดก็ต้องติดคุกฟรีไปก่อนแล้ว
คดียุบพรรคอนาคตใหม่นี่คนฟ้องชื่อ ณฐพร
โตประยูร บอกว่าตนไม่รู้จักหัวหน้าและเลขาฯ พรรคนี้ แต่เห็นว่ามีพฤติกรรมการกระทำ
รวมไปถึง ‘ข้อบังคับของพรรค’ ด้วยว่า “เขียนในลักษณะไม่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
เป็นเหตุผลส่วนตัวของผู้ฟ้องโดยแท้ ที่ศาล
รธน.ให้ความสำคัญประทับรับฟ้อง โดยไม่ต้องคำนึงว่านายณฐพรผู้นี้ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฟอกเงินขายที่ดินสหกรณ์คลองจั่นมูลค่ากว่า
๔๗๗ ล้านบาท โดยนายณฐพรเป็นผู้รับโอนเงินค่านายหน้าขายที่ดินดังกล่าว ๖๐ ล้านบาท
คดียืดเยื้อมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ นายศุภชัย
ศรีศุภอักษร ผู้ต้องหาหลักเป็นเจ้าของบัญชีที่มีการโอนทรัพย์สินเข้าไปไว้ ๔๗๗ ล้าน
เพื่อขายทอดตลาดใช้หนี้แก่สหกรณ์คลองจั่น นายณฐพรคนที่ฟ้องพรรคอนาคตใหม่นี่ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมเมื่อ
๑๐ พ.ย. ๒๕๕๙
เขาอ้างกับสำนักข่าวอิศราเมื่อปี ๒๕๖๐
เมื่อปรากฏได้รับแต่งตั้งเป็น “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงฯ”
ว่าเขายังไม่ได้ถูกตั้งข้อหาอย่างทางการจากดีเอสไอ
แต่ในเวลาต่อมา ‘อิศรา’ อ้างแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ ว่ามีเบาะแส
“นายณฐพร เตรียมลาออกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายดังกล่าว”
เท่ากับว่าข้อหาร่วมฟอกเงินคดีสหกรณ์คลองจั่น น่าจะทำให้ร้อนรุ่มไม่เบา
ประเมินจาก ‘คนละเรื่องคล้ายกัน’
ในกระบวนการ ‘ดูด’ อดีต
ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ
ไปเข้าพรรคพลังประชารัฐเพื่อลงเลือกตั้งเป็นฐานคะแนนเสียงในสภาผู้แทนฯ หนุนให้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า
คสช.ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องใช้อำนาจรัฐประหาร
นักการเมืองที่เต็มใจให้ดูดหลายคนมีคดีความเป็นชนักปักหลังอยู่
บางคนเช่นแรมโบ้อีสานเอย ตระกูลคุณปลื้มเอย กำนันเซี้ยเจ้าพ่อเมืองกาญจน์เอย โดนคดีการเมืองบ้าง
คดีฉ้อโกงบ้าง ต่างหลุดคดีไม่ว่าก่อนหรือหลังถูกดูดเล็กน้อยทั้งนั้น
หากจะสันนิษฐานว่านายณฐพรคนนี้ทำการยื่นฟ้องพรรคอนาคตใหม่
“อย่างเงียบๆ” ด้วยข้อหาร้ายแรงแต่หลักฐานหน่อมแน้ม จะได้อาณิสงค์ที่บังเอิญถูกใจ
คสช.ในกระบวนการไล่ล่ากำจัดพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลประยุทธ์ด้วยไหม
ตอนนี้อาจจะยังไม่รู้ ต้องคอยดูเมื่อพรรคอนาคตใหม่และฝ่ายค้านสามารถ
ล้มล้างผลพวกรัฐประหาร และกำจัดการสืบทอดอำนาจของ คสช.ได้สำเร็จเด็ดขาดเสียก่อน
อันเป็นเรื่องที่ยากยิ่งในสถานการณ์ขณะนี้ ที่พลพรรคและลิ่วล้อ คสช.โหมหนักกว่าเก่า
จะเอาพรรคอนาคตใหม่ออกจากการเมืองให้ได้
ในความพยายามนี้
มีคนหนึ่งที่รู้จักกันดีว่าฟ้องดะ
แต่ที่ฟ้องพวกพลังประชารัฐไม่ตามติดคดีเหมือนที่ตามจี้อนาคตใหม่
นั่นคือนายศรีสุวรรณ จรรยา
กล่าวหาว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เดินสายต่างประเทศพบปะเจ้าหน้าที่อียู
และสื่อมวลชนสหรัฐ
ถือว่าเป็นการ “เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
อ้าง ชักศึกเข้าบ้าน ต้องฟาดด้วยความผิดอาญามาตรา ๑๑๙
โทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตนั่นเลยเชียว